Business

“10 BEST TED TALKS” ที่จะช่วยทำให้ตัดสินใจในเรื่องยาก ๆ กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ

By: HYENA March 28, 2017

หลังจากที่คนเรา ลืมตาขึ้นหลังจากการนอนหลับในตอนเช้า เราก็ต้องเผชิญกับการตัดสินใจอย่างต่อเนื่อง แทบจะตลอดทั้งวัน แม้ว่าทุกการตัดสินใจจะมีขนาดไม่เท่ากัน ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แล้วแต่เรื่องราวที่เข้ามา แต่การตัดสินใจเล็ก ๆ ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าหากคุณตัดสินใจผิดพลาด จากเรื่องเล็กก็อาจจะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงกับชีวิตได้เช่นกัน

และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้หลาย ๆ คน กลายเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย เพราะกังวลว่า จะตัดสินใจผิดพลาด และกลัวผลที่จะตามมาในภายหลังจนเกินเหตุ วันนี้เราจึงมี VDO ดี ๆ ในการสร้างแรงบันดาลจากคนเจ๋ง ๆ ที่เรารู้คุ้นเคยกันอย่าง TED Talks มาทั้งหมด 10 อัน โดย TED Talks ที่เราหยิบมาให้ชาว UNLOCKMEN ได้ดูกันทั้งหมดในวันนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก และช่วยทำให้คุณกลายเป็นคนที่ตัดสินใจในเรื่องยาก ๆ ได้ดีขึ้น แถมยังลดข้อผิดพลาดที่จะตามมาได้อีกด้วย

Ruth Chang: When it comes to making hard decisions, reasoning is more than judging.

“ส่วนหนึ่งของการมีเหตุมีผล คือการเลือกทำสิ่งที่ดีกว่าแทนที่จะทำสิ่งที่เลวร้าย แต่เหตุผลเหล่านั้นกำลังเป็นเผด็จการกับการตัดสินใจของคุณ” -Ruth Chang เธอเรียนจบด้านกฎหมาย ผู้กลายมาเป็นนักปรัชญาที่ Rutgers University

เธอกล่าวว่า บ่อยครั้งที่เราต้องทำการตัดสินใจครั้งใหญ่อะไรบางอย่าง เรามักจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะตัวเลือก ด้วยความที่ต้องชั่งน้ำหนักว่า มันจะ “ดีกว่า” หรือ “แย่กว่า” อีกตัวเลือกหนึ่ง แม้เพียงนิดเดียวก็ตาม ในทางกลับกัน ตัวเลือกเหล่านั้นอาจจะดีหรือแย่กับแต่ละคน ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไปในแต่ละแง่มุม ดังนั้นการตัดสินใจในแบบของเราเอง ไม่ใช่แค่คำนึงว่ามันดีกว่าหรือแย่กว่า จะทำให้เราเป็นคนที่ซื่อสัตย์กับตัวเองอย่างแท้จริง

Benedikt Ahlfeld: Most of the time, we underestimate the power of each decision we make.

“บางครั้งที่คุณไป Ikea ระหว่างกำลังรอคิดเงิน คุณก็พบว่ามีเฟอร์นิเจอร์มากกว่า 1 ชิ้น ที่คุณไม่ได้วางแผนจะซื้อมันแต่แรกในรถเข็นของคุณ” – Benedikt Ahlfeld 1 ในบุคคลอัจฉริยะ ผู้เป็น  Entrepreneur  พันธุ์แท้ด้วยตัวเองตั้งแต่มีอายุเพียง  16  ปี เและยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน จิตวิทยา ในเรื่องของการตัดสินใจโดยเฉพาะ เขากล่าวว่า ยิ่งเราศึกษาเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบว่าการตัดสินใจส่วนใหญ่ของมนุษย์เรานั้นเกิดขึ้นในเวลาฉับพลัน เราจึงควรใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในการเลือกตัวเลือกที่ดีกว่า และเตือนตัวเองให้เห็นถึงข้อจำกัดในพลังของการตัดสินใจ

Angela Lee Duckworth: Grit: Always decide to rise.

“ความอดทนนั้น เปรียบเหมือนกับการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งแบบสปริ้นท์” – Angela Lee Duckworth  นักจิตวิทยาแห่ง University of Pennsylvania เธอเน้นว่า เมื่อสิ่งต่างๆ กลายเป็นเรื่องที่ท้าทาย บ่อยครั้งเราต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจที่จะยอมแพ้ แต่เมื่อเราตัดสินใจที่จะทำมันต่อไป สิ่งที่เราได้รับนั้น มันมากกว่าแค่ความสำเร็จ แต่มันคือพลังที่สามารถผลักดันให้เราผ่านความยากลำบาก ซึ่งสิ่งนี้สำคัญกว่าแค่การมีความสามารถเพียงอย่างเดียว

Barry Schwartz: Limit your options for better decisions.

“ในเมื่อกางเกงยีนส์ที่ขายอยู่ในท้องตลาด มีมากมายเป็นร้อยเป็นพันแบบให้คุณเลือกซื้อ และคุณก็ดันเลือกซื้อตัวที่ใส่แล้วไม่สวยเอาซะเลยมา แน่นอน! มันทำให้คุณรู้สึกผิดหวังเป็นอันดับแรก แล้วคุณก็จะเริ่มตั้งคำถามว่าทำไม ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ? ” – Barry Schwartz นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาเกี่ยวเนื่องของจิตวิทยากับระบบเศรษฐกิจ
เขาให้ความเห็นว่า การมีตัวเลือกทำให้เรามีความสุข แต่ตัวเลือกที่มากเกินไป ก็สามารถทำให้รู้สึกตรงกันข้ามได้เช่นกัน  เนื่องจากการตัดสินใจเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความคิด และมักจะมีความเครียดเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ มันจึงทำให้เรารู้สึกแย่ เมื่อเราตัดสินใจผิดพลาด ส่งผลให้เราเครียดมากกว่าเดิม

Dan Gilbert: Examine your own goals and wants and decide what’s truly best for you.

“ผมกำลังบอกในสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว ว่า การเปรียบเทียบ จะเปลี่ยนคุณค่าของสิ่งต่างๆ” – Dan Gilbert ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัย Harvard ผู้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับความสุขกล่าวไว้ คนเรามักคิดว่า การตัดสินใจที่ดีคือ การตัดสินใจที่จะพาเราไปพบกับความสุข ที่จริงแล้ว พวกเราไม่ได้เก่งอย่างที่คิด เพราะเรามักจะเข้าใจ “สิ่งที่ดี” ผิดไป และนั่นนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดบ่อย ๆ

Sheena Iyengar: Look at the options objectively to make good decisions.

“ตัวเลือก นั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้เลือกคือใคร และผลิตภัณฑ์นั้นมีความหมายอะไรกับเขาเหล่านั้น” -Sheena Iyengar ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจ แห่ง Columbia Business School เธอศึกษาเกี่ยวกับมุมมองของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในตัวเลือกที่ต่างกัน เราทุกคนต่างก็มองหาตัวเลือก ที่จริงแล้ว ในระบบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ในทุกวันนี้ พวกเราถูกสปอยล์ด้วยตัวเลือกมากมาย มากจนเราไม่สามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติของพวกมันทีละอันได้ บางครั้งเราไม่เห็นความแตกต่างระหว่างของชิ้นหนึ่งกับของอีกชิ้นได้ด้วยซ้ำ และนี่คือเหตุผลที่เมื่อเราต้องตัดสินใจระหว่างตัวเลือกที่หลากหลาย เรามักจะใช้อารมณ์ในการเลือกมากกว่าเหตุผล

 Dan Ariely: We’re not as rational as we believe.

“สัญชาตญาณมักจะหลอกเราซ้ำๆ จากประสบการณ์ที่เคยสัมผัสมาเสมอ” – Dan Ariely นักพฤติกรรมศาสตร์เศรษฐกิจแห่ง Duke University. เขาศึกษาเรื่องปัจจัยการตัดสินใจของมนุษย์ในเชิงพฤติกรรม Dan กล่าวว่า เมื่อเราต้องตัดสินใจ เรามักจะเชื่อว่า เรามีอำนาจ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่เรื่องจริงเลย มันเป็นเหมือนกับภาพลวงตาเท่านั้น เราต่างหากที่อยู่ภายใต้อำนาจของตัวเลือกต่าง ๆ จนบางครั้งอิทธิพลจากอำนาจตัวเลือกเหล่านั้น หลอกให้เราสับสน ทั้งจากข้อมูลประกอบมากมายที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง บางครั้งก็สับสนเพราะจิตใจของเราเอง ดังนั้น เราควรตระหนักรู้ว่า มนุษย์เรานั้นไม่ได้มีเหตุผลอย่างที่คิด

Adam Grant: Sometimes, the decision of procrastinating intentionally leads to great ideas.

“การสงสัยในไอเดียนั้น เป็นสิ่งที่ดี มันกระตุ้นให้มีการทดสอบ ทดลอง และปรับปรุงให้ดีขึ้น” – Adam Grant นักจิตวิทยาระบบองค์กร ผู้ให้ความสนใจในการกระตุ้นตัวบุคคลให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หากพวกเราอยากจะเป็นคนที่สร้างสรรค์มากขึ้น เราต้องเต็มใจที่จะทำให้มากขึ้น ผลิตไอเดียให้มากขึ้น แน่นอนว่าการผัดวันประกันพรุ่งนั้นเป็นศัตรูตัวฉกาจ ของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การตัดสินใจที่จะผัดวันประกันพรุ่งอย่างจงใจ เพราะสงสัยว่าไอเดียเรานั้นดีที่สุดหรือยังนั้น บางครั้งก็นำไปสู่ไอเดียที่ดีกว่า ยิ่งใหญ่กว่า ได้เช่นกัน

Daniel Kahneman: Our life experiences and happiness affect how we make decisions.

“เหตุผลที่พวกเรา มีนิยามของความสุขที่แตกต่างกัน ก็เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนๆกัน เราต่างก็มีประสบการณ์ที่ต่างกันออกไปในการใช้ชีวิต” – Daneil Kahneman นักจิตวิทยาแห่ง Princeton University บิดาแห่งพฤติกรรมศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ เขากล่าวว่า ความสุข มีอิทธิพลมากต่อการตัดสินใจของคนเราอย่างที่คุณไม่รู้มาก่อน จากการเฝ้าสังเกตการณ์ที่ทำอย่างต่อเนื่อง และยาวนานพบว่า มนุษย์เรา มองความสุขออกเป็น 2 รูปแบบ คือ “ประสบการณ์” และ “ความทรงจำ” การเรียนรู้ถึงความแตกต่างของทั้ง 2 สิ่งนี้ จะทำให้เราเข้าใจลึกซึ้ง ถึงการตัดสินใจที่ซับซ้อน

Moran Cerf: Maybe, we don’t have that much control on our decisions.

“เราติดอยู่ในความคิดของเราเอง สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายในบางครั้งนั้น เราคิดไปเอง ว่ามันคือสิ่งที่เราต้องการ แต่ในความเป็นจริง บางครั้งเราควบคุมไม่ได้เลยแม้แต่น้อยนิด”  – Moran Cerf  ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและธุรกิจแห่ง Kellogg School of Management เขาวิจัยเกี่ยวกับประสาทวิทยาที่เกี่ยวเนื่องกับการตัดสินใจ และ อิสรภาพในการตัดสินใจของมนุษย์ เขากล่าวไว้ว่า คนเรามักชอบที่จะคิดว่าตัวเองมีอิสรภาพในการตัดสินใจ แต่การค้นพบล่าสุด เกี่ยวกับระบบประสาทวิทยา ได้ชี้ให้เห็นว่า มันเป็นไปได้ที่จะคาดเดาว่าคน ๆ หนึ่งจะตัดสินใจอย่างไร ตั้งแต่เขายังไม่ได้ตัดสินใจเลยด้วยซ้ำ

เราเชื่อว่า เรื่องที่เรานำเสนอให้กับชาว UNLOCKMEN ในวันนี้ จะเป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ชีวิต ที่ต้องตัดสินใจแทบจะตลอดเวลาในแต่ละวันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับคนที่ต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ อยู่เป็นประจำ กับคนที่ไม่มีความมั่นใจ กลัวการตัดสินใจ ว่ามันจะผิดพลาดรึเปล่า? อยากให้ทุกคนได้ลองอ่านบทความ และ ดู VDO สั้น ๆ เหล่านี้ แล้วคุณจะพบว่า มันไม่ได้ยาก เพียงแค่คุณเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจว่า การตัดสินใจที่ถูกต้อง เริ่มต้นจากตรงไหน และสิ้นสุดที่อะไร เท่านั้นเอง

 

SOURCE

HYENA
WRITER: HYENA
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line