Business

หมดปัญหาเวลาเดินเร็วเกินไป ‘5 วิธีทางจิตวิทยา’ที่จะช่วยให้รู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง

By: PSYCAT May 19, 2017

เราต่างมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่า ๆ กัน บางวันเรารู้สึกว่าเวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางวันเวลาก็ผ่านไปอย่างช้า ๆ จนเราแปลกใจ ทั้ง ๆ ที่วินาทีในแต่ละวันมีเท่าเดิม แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาในแต่ละวันผ่านไปเร็วช้าไม่เท่ากัน? และจะดีแค่ไหนถ้าเรามีวิธีทำให้รู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง!

ลองจินตนาการกลับไปถึงชีวิตวัยเด็กดูกันหน่อย ปิดเทอมฤดูร้อน 3 เดือนแต่ละครั้งผ่านไปยาวนานเหลือเกิน เหมือนเรามีกิจกรรมอะไรให้ทำได้ไม่รู้จบ ช่วงชีวิตประถม มัธยม มหาวิทยาลัย แต่ละช่วงวัยแห่งความเยาว์วัยล้วนเต็มไปด้วยความทรงจำ ในทางกลับกันกับชีวิตวัยทำงานที่บางทีทำงานมา 2-3 ปี กลับไม่ค่อยมีอะไรให้จดจำ เมื่อวานทำอะไร นึกย้อนไปก็ยังจำไม่ได้ สักแต่ว่าใช้เวลาให้ผ่าน ๆ ไป

pexels-photo-28094

ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เรามโนกันไปเอง แต่ความรู้สึกที่เรามีต่อเวลาเป็นเรื่องที่ได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง โดย David Eagelman นักประสาทจิตวิทยา (Neuropsychologist) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Brain Time.” In What’s Next? Dispatches on the Future of Science

David Eagelman บอกว่าการรับรู้เรื่องเวลาของมนุษย์ยืดหยุ่นได้ไม่ต่างจากหนังยาง สาเหตุที่เรารู้สึกว่าชีวิตวัยเด็กของเราอะไร ๆ ก็ผ่านไปช้า แต่ยิ่งเรามีอายุมากขึ้น ๆ เรามักจะบ่นกับเพื่อน ๆ ว่า ทำไมเวลามันผ่านไปเร็วจังวะ? โดยเฉพาะช่วงเดือนท้าย ๆ ของแต่ละปี เราก็มักจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอีกปีอย่างรวดเร็วเหลือเกินยังไม่ได้ทันทำอะไรเลย

นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อเราสัมผัสประสบการณ์ใดเป็นประสบการ์แรก ๆ เราจะจดจ่อ ตื่นเต้น และซึมซับกับมัน ในความตื่นตาตื่นใจและการรับข้อมูลใหม่ ๆ กับประสบการณ์ใหม่ ๆ นั้น สมองส่วนที่จดจำข้อมูลจะใช้เวลาในการทำงานนาน ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกว่าเวลาเหล่านั้นมันผ่านไปอย่างช้า ๆ ตามไปด้วย

pexels-photo-28764

ลองนึกถึงตัวอย่างง่าย ๆ อย่างการขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัด ขาไปเราเห็นวิวใหม่ ๆ ซึมซับบรรยากาศใหม่ ๆ ไปถึงเราได้เห็นสถานที่ที่เราไม่เคยไปมาก่อน เราจะรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้นอย่างช้า ๆ ในขณะที่ขากลับเรามักรู้สึกว่าเดินทางกลับเร็วกว่าขาไป พูดอย่างง่าย ๆ ก็คือยิ่งเราจดจ่อ เราให้ความสนใจกับเวลาตรงหน้ามากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งรู้สึกว่าเวลาช้าลง ซึ่งไม่ต่างกับเวลาที่เราเจ็บปวด หรือรู้สึกยากลำบาก เรายิ่งจดจ่อ เราก็ยิ่งรู้สึกว่ามันผ่านไปช้า

แล้วถ้าเราอยากรู้สึกว่าเวลาเดินช้าลงจะมีวิธีไหนได้บ้าง ? UNLOCKMEN มี 5 วิธีง่าย ๆ จากนักประสาทจิตวิทยามาฝาก

1.เรียนรู้อยู่เสมอ

การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คือการนำข้อมูลความรู้ใหม่เข้าสมอง การได้ซึมซับ จดจ่อ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง

2.เดินทางไปที่ใหม่ ๆ บ้าง

จากบ้านสู่ที่ทำงาน จากที่ทำงานกลับห้อง นอน ตื่น กิน การวนเวียนอยู่ที่เดิม ๆ จำเจ ๆ ยิ่งทำให้เราไม่ได้จดจำอะไรใหม่ ๆ ไม่ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ และทำให้เรารู้สึกว่าเราใช้เวลาแค่เพื่อให้มันผ่านพ้นไป การเดินทางไปที่ใหม่ ไม่ได้แปลว่าต้องไปต่างจังหวัด ต่างประเทศเท่านั้น แค่เปลี่ยนร้านอาหารตามสั่งที่กินประจำทุกวันเป็นร้านอื่นบ้างก็เป็นอีกทางที่ดี

pexels-photo-42504

3.ทำความรู้จักผู้คน

การมีคนรู้จักที่ดีในชีวิตก็เป็นเรื่องที่ดีต่อใจมากอยู่แล้ว แต่การทำความรู้จักคนใหม่ ช่วยให้สมองได้จดจำชื่อ สัมผัสน้ำเสียง เปลี่ยนเรื่องสนทนา และใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้ช่วยให้สมองส่วนการรับรู้ได้จดจ่อมากขึ้น ความรู้สึกเรื่องเวลาของเราก็จะจดจ่อมากขึ้นเช่นกัน

4.ลองหากิจกรรมใหม่ ๆ ทำ

กิจกรรมใหม่ ๆ ต้องอาศัยความสนใจมาก เช่น ถ้าไม่เคยทำกับข้าว ก็ลองไปเรียนทำกับข้าวดูเล่น ๆ เปิดยูทูปดูไปทำไป แล้วเก็บไว้เซอร์ไพร์สแฟนสาวก็สร้างความตื่นเต้นให้ชีวิตไปอีกทาง

pexels-photo

5.ใช้ชีวิตแบบตัดสินใจกระทันหันดูหน่อย

ใครชวนไปไหนก็ไปทันที ไม่ต้องคิดอะไรมาก พรุ่งนี้มีงาน แต่ถ้าคืนนี้อยากเที่ยวก็ต้องได้ไป การใช้ชีวิตอยู่กับแพลนประจำวันเดิม ๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ความจำเจก็อาจทำลายความรับรู้เรื่องเวลาของเราได้ ลองทำอะไรแบบไม่มีแพลนดูบ้าง ยิ่งเราได้โฟกัสกับช่วงเวลาน่าตื่นเต้น เวลาของเราก็ยิ่งมีค่าน่าจดจำกว่าที่เคย

UNLOCKMEN ไม่ได้จะบอกว่าทำสิ่งเหล่านี้แล้วเราจะมีเวลาเพิ่มขึ้นมาจาก 24 ชั่วโมงเป็น 25 ชั่วโมงแต่อย่างใด แต่เราพูดถึงเวลาในแง่การรับรู้ซึ่งก็ส่งผลต่อความรู้สึกในการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างเรา ๆ เช่นกัน

เราคงไม่อยากให้ชีวิตผ่านไปวัน ๆ โดยปราศจากสิ่งที่น่าจดจำ หรือผ่านไปเป็นปี ๆ โดยเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยถูกไหม? ดังนั้นก็ลอง 5 วิธีที่จะช่วยให้เรารู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง แล้วมีเวลาไปเอนจอยกับโมเมนท์ดี ๆ ในชีวิตเพิ่มขึ้นกันเถอะ

SOURCE1,SOURCE2SOURCE3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line