Business

ไม่ไหวแล้วนะ! นักวิจัยบอกว่าช่วยงานคนอื่นมากไป’ประสิทธิภาพงานอาจลดลง’

By: PSYCAT March 29, 2017

ในประเทศที่เต็มไปด้วยคนมีน้ำใจอย่างบ้านเรา การช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็เป็นดาบที่มีสองคมไม่ต่างจากเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน แม้ด้านหนึ่งเราจะรู้สึกดีและมีพลังมากขึ้นเมื่อเห็นว่าความช่วยเหลือของเราช่วยให้เพื่อนร่วมงานทำงานได้ดีขึ้น หรือเข้าใจในสิ่งที่ทำมากขึ้น แต่งานวิจัยก็บอกเราว่าอีกด้านหนึ่งการช่วยเหลือคนอื่นก็อาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลงได้เช่นกัน

17-03-29-helpful-001

ช่วยคนอื่นมากไป อาจทำให้งานเราแย่ลง

Klodiana Lanaj ศาสตราจารย์ด้านการจัดการจาก University of Florida ศึกษาเรื่องการช่วยงานกันในที่ทำงานอย่างจริงจัง โดยศึกษาจากลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 68 คนเป็นเวลา 15 วัน ตลอดการทดลองกลุ่มตัวอย่างจะถูกสั่งให้บันทึกโดยละเอียดว่าวัน ๆ หนึ่งมีเพื่อนร่วมงานมาขอให้ช่วยเหลือทั้งหมดกี่ครั้ง และพวกเขาตอบสนองการช่วยเหลือไปทั้งหมดกี่ครั้ง รวมถึงบันทึกว่าการช่วยเหลือที่พวกเขาให้นั้นมีประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงานหรือไม่อย่างไร

17-03-29-helpful-004

ไม่เพียงเท่านั้นงานวิจัยนี้ยังวัดระดับพลังงานและประสิทธิภาพในการทำงานของกลุ่มตัวอย่างควบคู่กันไปด้วย ผลที่ออกมาไม่ต่างจากพลังงานของนักวิ่งมาราธอนคนหนึ่ง คือในช่วงการช่วยเหลือ 2-3 ครั้งแรก พวกเขาจะรู้สึกดี มีพลังที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน แต่หากพวกเขาให้ความช่วยเหลือมากกว่านั้น ผลปรากฏว่าพวกเขาจะสูญเสียพลังงานลงอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการโฟกัสงานตัวเองก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการควบคุมอารมณ์ก็เป็นไปอย่างยากลำบากด้วย การช่วยเหลือเเพื่อนร่วมงานหลาย ๆ ครั้งภายในหนึ่งวันจึงสร้างผลกระทบต่อตัวเรามากกว่าให้ผลดี

การศึกษาครั้งนี้ยังบอกเพิ่มเติมด้วยว่าผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเพียงวันเดียวแล้วหายไป แต่พลังงานที่หายไป การจัดการอารมณ์ที่แย่ลง ประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลงจะอยู่กับเราข้ามไปถึงอีกวัน แม้ว่าในคืนนั้นเราจะได้กลับไปพักผ่อนแล้วก็ตาม

17-03-29-helpful-002

นิสัยต่างกัน ก็อาจส่งผลทางจิตวิทยาในการช่วยเหลือ

ไม่ได้มีแค่งานวิจัยเดียวเท่านั้นที่บอกเราว่าการช่วยเหลือผู้อื่นมีราคาที่เราต้องจ่าย โดยการสำรวจจากงานวิจัย “Integrating the Bright and Dark Sides of OCB: A Daily Investigation of the Benefits and Costs of Helping Others” ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 82 คนเป็นเวลา 10 วันพบว่าการช่วยเหลือมีทั้งด้านดีและไม่ดีเหมือนทุกเรื่องนั่นแหละ และการช่วยเหลือคนอื่นก็อาจจะดีต่อจิตใจบางคน ในขณะที่บางคนก็ไม่

17-03-28-say-no-001

สำหรับคนที่ชอบความท้าทาย มีความสุขกับการได้ลองเสี่ยง ตื่นเต้นกับการทำอะไรไม่คุ้นเคย ชอบทำตามสัญชาตญานมากกว่าการวางแผนให้รอบคอบ คนลักษณะนี้มีแนวโน้มที่ช่วยเหลือคนอื่น (ในปริมาณที่เหมาะสม) แล้วจะมีความรู้สึกที่ดีหลังจากได้ช่วย

ในขณะที่คนที่ไม่ชอบเสี่ยง รักการวางแผน ป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น มีแนวโน้มที่จะรู้สึกแย่ และประสิทธิภาพการทำงานลดลงหลังให้ความช่วยเหลือผู้อื่น(ในปริมาณที่มากเกินไป)

17-03-29-helpful-003

ช่วยเหลือและขอความช่วยเหลืออย่างไรให้พอดี

การช่วยเหลือไม่ได้มีแต่ด้านแย่ ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ก็เหมือนเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี การช่วยเหลือควรเป็นไปในปริมาณที่เหมาะสม โดยผู้เชี่ยวชาญเขาก็แนะนำวิธีง่าย ๆ เช่น เราอาจจัดการงานสำคัญ ๆ ของตัวเราให้เสร็จก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือกับเพื่อนร่วมงาน หรืออาจจะเป็นการแก้ปัญหารยะสั้นอย่างการได้นอนกลางวันเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หรือบริโภคเครื่องดื่มที่มคาเฟอีให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นเล็กน้อย และหลีกเลี่ยงที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานคนเดียวหลายครั้งในหนึ่งวัน

สำหรับใครที่คิดจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานของตัวเอง แล้วกลัวว่าจะรบกวนเขาก็ลองวิธีง่าย ๆ อย่างการพึ่งพาตัวเองก่อน เช่น เราอาจไม่รู้วิธีใช้งานอุปกรณ์ง่าย ๆ ก็ search เอาจากอินเตอร์เน็ต หรือวิธีที่เป็นประโยชน์อีกวิธีหนึ่งคือการพูดคำว่า ‘ขอบคุณ’ทุกครั้งหลังได้รับความช่วยเหลือ (ดูเป็นวิธีที่ง่ายมาก แต่ผลสำรวจบอกว่าเรามักไม่พูดขอบคุณกันในที่ทำงาน) เพราะคำขอบคุณมีผลจิตวิทยาทางบวกต่อผู้ฟังมากชนิดที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ช่วยเหลือคนอื่นครั้งหน้าก็อย่าลืมท่องจำให้ขึ้นใจว่าช่วยเหลือได้ เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็อย่าให้มากเกินไปจนเป็นการทำร้ายความสามารถในการทำงานของตัวเราเอง และลองเริ่มเรียนรู้วิธีที่จะปฏิเสธเพื่อนร่วมงานอย่างมีประสิทธิภาพดูบ้าง ชีวิตเราอาจจะง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกหลายระดับ

SOURCE1SOURCE2,SOURCE3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line