FASHION

Bootleg งานปลอม ทำเหมือน? หรือเป็นพวกเราที่ตีค่ากันไปเอง

By: Thada August 22, 2016

ไม่รู้ว่าชาว UNLOCKMEN เคยได้ยินคำว่า Bootleg กันบ้างหรือเปล่า? ซึ่งเราก็เพิ่งจะมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับคำนี้ เมื่อไม่นานมานี้จากการได้ไปสัมภาษณ์ร้านขายเสื้อวง Oldhead  ตอนแรกเราเข้าใจว่า Bootleg นั้นเป็นการเรียกสินค้าที่ขายโดยไม่ได้ผ่านลิขสิทธิ์ จากต้นสังกัดเพียงเท่านั้น แต่ พอเราลองค้นคว้าศึกษาดีๆ ในเมืองนอกคำนี้ยังหมายถึงงาน Parody ต่างๆ อีกด้วย เพื่อเป็นการขยายความ วันนี้เราขอนำเรื่องราววิวัฒนาการของ Bootleg ในวงการแฟชั่นมาฝากชาว UNLOCKMEN กัน

ย้อนกลับไปในอดีต Bootleg ถูกตีตราว่าเป็นสินค้าเถื่อน ของละเมิดลิขสิทธิ์ โดยในสมัยก่อนคำว่า Bootleg ถูกเหมารวมในสินค้าประเภทเหล้าเถื่อน บุหรี่เถื่อน และบรรดาของเถื่อนต่างๆ ซึ่งมันผิดกฎหมายอย่างมากในสมัยนั้น แต่จริงๆ แล้วหากมองไปให้ลึกอย่างเช่น เหล้าเถื่อน คือของเถื่อนหรือ? ก็ไม่น่าใช่ เพราะมันเป็นเพียงสินค้าที่ชาวบ้านผลิตกันขึ้นมาเองแล้วขายโดยที่ไม่ผ่านรัฐ รัฐบาลจึงตีตราว่าเป็นของผิดกฎหมาย

160822-bootleg-7

160822-bootleg-11

พอเวลาผ่านไปคำว่า  Bootleg  ถูกนำไปใช้ในวงการดนตรีเริ่มจากแผ่นเสียงและบรรดาเสื้อยืดของวงดนตรี ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ อาจจะเป็นการแอบอัดจากคอนเสิร์ต หรือการทำสกรีนเสื้อกันเอง และมาวางขายหน้างาน ซึ่งต้องเข้าใจว่าสมัยก่อนไม่ได้มี  YouTube  ให้เราได้ดู หรือทุกคนจะมีกล้องวิดีโอพร้อมจะเอามาถ่าย เพื่อเก็บไว้ดูซ้ำ สินค้าที่ระลึกก็ไม่ได้มีเพียงพอต่อความต้องการ

ดังนั้นพ่อค้าหัวใสจึงเริ่มมีการแอบอัดเพลงเวลาที่วงเล่นคอนเสิร์ต หรืออาจจะเป็นเพลงเวอร์ชั่นที่ศิลปินอัดไว้แล้วไม่ชอบจึงโยนทิ้งถังขยะ แผ่นเสียงและสินค้า  Bootleg  ที่ระลึกจึงเป็นการตอบโจทย์เหล่าแฟนเพลงอีกช่องทางหนึ่ง ในเวลานั้นสินค้าเหล่านี้อาจจะยังไม่ได้มีมูลค่ามากมาย เป็นเพียงของสะสมเล็กๆ ของกลุ่มคนรักดนตรี แต่เวลาผ่านไป สินค้า  Bootleg  ก็ได้กลายเป็นของสะสมหายากยิ่งกว่างาน Master เสียอีก เพราะไม่ได้มีขายซ้ำ และหาไม่ได้จากที่ไหน บางครั้งสินค้า  Bootleg  กลับทำออกมาได้ดียิ่งกว่าของ  official  เสียอีก เรียกว่าต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ เข้าหลักการของมีจำนวนจำกัด ทำให้สินค้า Bootleg มีราคาสูงกว่าแบบ Official มาก

160822-bootleg-5

160822-bootleg-2

งาน Bootleg ในทศวรรษต่อมาก็ยังคงวนเวียนเป็นงานเสื้อวงดนตรีต่างๆ ก่อนจะมาถึงยุคปัจจุบันที่มี Zara แบรนด์ Role Model สำหรับการเปลี่ยนคำนิยามของงาน  Bootleg  มาสู่รูปแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทิศทางของแบรนด์ Zara มีความชัดเจนมากคือคอนเซ็ปต์  Fast Fashion  หรืออธิบายให้ง่ายขึ้นก็คือ  Zara  ไม่จำเป็นต้องมีดีไซเนอร์เพื่อมากำหนดเทรนด์ออกแบบเสื้อผ้า หรือคิดค้นอะไรใหม่ๆ ของตัวเองให้เสียเวลา พวกเขาแค่ใช้หลักในการตามดูเทรนด์ต่างๆ จากยี่ห้อดัง ว่ามีอะไรที่น่าสนใจ หลังจากนั้นนำมาปรับเปลี่ยนนิดหน่อย และนำออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นภาพยนตร์ก็เรียกว่าแผ่นผีชนโรง แถมยังมาในราคาที่ทุกคนซื้อได้ไม่ยาก

160822-bootleg-3

160822-bootleg-4

สำหรับต่างประเทศ  Zara, H&M  หรือ  21 Forever  ก็ไม่ได้ต่างจากงาน  Bootleg  แต่ทำไมมันถึงไม่ผิดกฎหมาย และไม่ถูกฟ้องร้อง นั้นก็เพราะแบรนด์เหล่านี้ไม่ได้ก็อปปี้ทุกสัดส่วนของตัวต้นแบบ เขานำแบบมาแกะ และปรับเล็กน้อยเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ จึงสามารถขายกันได้อย่างสบายๆ และทำกำไรอย่างมหาศาล

160822-bootleg-6

ในเมื่อคนอื่นทำได้และไม่โดนฟ้อง หลังจากนั้นเหล่า  Street Brand  คงมองเห็นคอนเซ็ปต์เดียวกันนี้เป็นช่องทางทำมาหากิน เลยเริ่มมีการนำ Pattern หรือเอาสัญลักษณ์ โลโก้ของแบรนด์ระดับท๊อปมาปรับเปลี่ยน แล้วเรียกว่าเป็นงาน Parody แทน มันเป็นที่นิยมอย่างมากในวงการ Street Fashion แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร การ  Parody  ก็เหมือนงาน Bootleg อย่างหนึ่งเช่นกัน โดยทางแบรนด์ที่ถูกนำไปเป็นต้นแบบก็ไม่ได้มีส่วนได้ ส่วนเสีย อย่างใด เพียงแต่สมัยนี้มีการใส่ความสร้างสรรค์ลงไปนิดหนึ่งแทนการลอกเอามาตรงๆ คนจึงอะลุ่มอล่วยให้ แถมดีไม่ดีบางแบรนด์ต้นฉบับ กลับเป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณา

160822-bootleg-12

ตัวอย่างชัดเจนที่ทุกคนน่าจะนึกภาพออก ร้องอ๋อมากที่สุด น่าจะเป็นรองเท้า Bape ที่มีการนำแรงบันดาลใจมาจากรองเท้ารุ่นฮิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Adidas Superstar  หรือ Nike Air Force One มาปรับเปลี่ยนตรงตราโลโก้เป็นของตัวเอง ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ Nigo หนึ่งใน Fashion Icon เป็นคนออกแบบแล้ว งานเหล่านี้คงถูกตราหน้าว่าเป็นของก๊อป ไม่มีหัวคิด

160822-bootleg-1

เราขอยกการ Parody ในอดีตที่เรียกได้ว่าเทพมากมาให้ชาว UNLOCKMEN ดูกันอีกสัก 3 งาน

งานแรกของ Brian Lichtenberg  ที่ถนัดการดึงชื่อโลโก้ของแบรนด์ดังไม่ว่าจะเป็น Balmain , Celine ,Gucci มาล้อเลียน

160822-bootleg-10

 

ชิ้นที่สองเป็นแบรนด์  Clés Clo ที่หลงใหลในงานของ Yohji Yamamoto จึงได้ทำเสื้อยืดที่ Inspration มาจากแบรนด์ Y-3 มาเป็นคำพร้องเสียงที่ชื่อว่า Y-lie แทน Y-3

160822-bootleg-9

 

ชิ้นสุดท้ายจากแบรนด์ SSUR ที่ฮิตในบ้านเรามากๆ ช่วงหนึ่งคือการ Parody แบรนด์ Comme Des Garcons เปลี่ยนเป็น COMME des Fuckdown ให้มีความดิบ และสตรีทมากขึ้น จนถูกใจไอคอนอย่าง  ASAP Rocky และสาวก Street ทั่วบ้านทั่วเมือง

160822-bootleg-8

และมีอีกมากมายในปัจจุบันที่เราไม่ได้หยิบยกมาให้ดู งาน Parody เหล่านี้แม้แต่ตัวศิลปินที่ออกแบบส่วนใหญ่เองก็ยอมรับว่างานของเขาคืองาน Bootleg ดังนั้นความหมายของคำว่า Bootleg ในยุคนี้ อาจจะไม่ได้เจาะจงถึงของที่ผิดลิขสิทธิ์อีกต่อไป แต่อาจจะเป็นการเรียกเหมารวมงานที่ดึงเอาเอกลักษณ์ หรือจุดเด่นภาพจำของแบรนด์อื่นมาแล้วปรับใช้เป็นของตัวเอง

ดังนั้น UNLOCKMEN จึงคิดว่าการจะเป็น Bootleg หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเองที่ตีค่ามันไปทางไหน เพราะเป็น Bape หรือเปล่าถึงไม่เป็น Bootleg แต่ถ้าเป็นยี่ห้อโนเนมจากจีนหรือคนบ้านเราทำ ถึงจะโดนเรียกเป็น Bootleg อันนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและความชอบของแต่ละคน แต่สุดท้ายแล้วยังไงงาน Bootleg หรือ Parody  แม้จะทำให้เจ้าของแบรนด์ต้นฉบับต้องหงุดหงิดใจอยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมีผลดีในแง่ทางเลือกสำหรับการเลือกซื้อเสื้อผ้ามาใส่กันมากขึ้น

160822-bootleg-13

 

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line