Business

ใคร ๆ ก็ส่ายหน้าหนี? ‘5 วิธีรับมือกับคนทัศนคติแย่’ในที่ทำงานที่โลกต้องขอบคุณ

By: PSYCAT April 26, 2017

 

ทัศนคติคือเรื่องที่สำคัญมากกับการใช้ชีวิต เพราะมีส่วนสำคัญต่อการมองโลก การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร รวมถึงส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่คนอื่นจะมองเราด้วย

การปรับทัศนคติตัวเองยังเป็นเรื่องที่พอทำได้ แต่การต้องร่วมงานกับคนที่มีทัศนคติลบ ๆ ก็อาจเป็นเรื่องชวนปวดหัวได้เหมือนกัน นอกจากเราจะเปลี่ยนทัศนคติเข้าไม่ได้ และไม่อาจเลี่ยงการอยู่ร่วมกันได้แล้ว ถ้าเราไม่รู้จักวิธีรับมืออย่างถูกวิธีเราอาจเผลอรับทัศนคติลบ ๆ เข้ามาในชีวิตโดยไม่รู้ตัว การรับมือกับคนที่มีทัศนคติลบ ๆในที่ทำงานอย่างถูกวิธีจึงเป็นเรืองที่ผู้ชาย UNLOCKMEN ไม่ควรพลาด

1.อย่า อย่าคิดไปเป็นพวกเดียวกันกับเขา!

pexels-photo-218413

ทัศนคติลบ ๆ อาจมาในรูปแบบของการบ่นทุกเรื่อง ติทุกอย่างในที่ทำงาน แต่ไม่ใช่การวิจารณ์เพื่อหาแนวทางการแก้ไข เพื่อนร่วมงานเราอาจจะบ่นว่าเงินเดือนน้อยเกินไป งานเยอะเหลือเกิน อุปกรณ์สุดห่วย แต่ไม่ได้พยายามเสนอแนะกับองค์กร หรือหาทางปรับปรุงเท่าที่พอจะทำได้

การที่เราแสดงความเห็นอกเห็นใจ หรือเริ่มแสดงออกว่าเห็นด้วย เช่น “โอ๊ยย จริงด้วย ผมคิดเหมือนคุณเลย เงินที่นี่มันน้อยไปจริง ๆ นั่นแหละ งานก็หนักจนทนจะไม่ไหวแล้ว” ไม่ว่าเราจะเริ่มพูดตามเพราะไม่มีอะไรจะคุย หรืออยากแสดงออกให้เขารู้ว่าเราเห็นใจเขา แต่การทำแบบนั้นไม่ดีกับตัวเราเลย เนื่องจากมันมีแนวโน้มที่จะทำให้เรามีทัศนคติลบ ๆ แบบนั้นตามเพื่อนร่วมงานไปด้วย

ดังนั้นท่องให้ขึ้นใจว่าอย่าแสดงความเห็นอกเห็นใจ อย่าแสดงอาการเออออ เพราะมันอาจทำให้เรามีทัศนคติแบบนั้นตามไปโดยไม่รู้ตัว

2. ใช้ทัศนคติที่ดีและการให้กำลังใจเข้าสู้

pexels-photo-165907

การมีทัศนคติที่ดี การมองโลกในแง่ดี เหมือนการมีพลังงานดี ๆ แผ่ออกมาเผื่อคนรอบ ๆ ข้างได้ ไม่ต่างกับทัศนคติลบ ๆ ที่สามารถแผ่ออกมาถึงคนรอบข้างได้เช่นกัน

ดังนั้นเมื่อเพื่อนร่วมงานของคุณเริ่มต้นแผ่พลังงานลบใส่คนอื่น เช่น “เหนื่อยแทบตายแล้วเนี่ย ไม่รู้จะทำงานหมดได้ยังไง” แทนที่จะตอบไปห้วน ๆ ว่า “ผมก็เหนื่อยเหมือนกัน” แล้วเสี่ยงที่จะรู้สึกแย่กันไปหมด หรือตอบไปว่า “หรอ แต่ผมไม่เหนื่อยเลยนะ ชิลมากเลย” แม้เราจะรู้สึกดีแต่ไม่มีอะไรรับประกันเลยว่าคนอื่นจะรู้สึกโอเคกับคำพูดเรา แถมอาจเพิ่มบรรยากาศไม่ดีในที่ทำงานเข้าไปอีก

ลองพูดว่า “ผมว่าคุณทำได้นะงานแค่นี้เอง เชื่อสิ ผมเห็นคุณทำมันได้ดีเสมอเลย” นี่เป็นวิธีที่แสดงพลังด้านบวก รวมถึงให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานไปในตัว เชื่อเถอะ ว่าเขาต้องแอบมีพลังขึ้นมาบ้างแหละน่า

3. รักษาระยะห่างเข้าไว้

pexels-photo-314040

การช่วยเหลือเป็นเรื่องที่ดี ถ้ามีอะไรที่ต้องทำงานร่วมกัน หรือนาน ๆ เขามาขอความช่วยเหลือสักที การช่วยเหลือ การให้กำลังใจเขาก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องคอยเทคแคร์ดูแลเพื่อนร่วมงานที่มีทัศนคติแย่ ๆ ตลอดเวลา

จำไว้ว่าเราไม่ได้มีหน้าที่เปลี่ยนทัศนคติใคร หรือเป็นคนคอยปลอบโยนใคร เราทำเท่าที่ทำได้ การรักษาระยะห่างจะช่วยให้เราหลบจากบรรยากาศแย่ ๆ ที่แผ่ออกมาจากตัวเขา และทำให้เราเหลือพลังไปใช้ในเวลาที่สมควรใช้

4.ไม่ต้องพูดถึงทัศนคติของเขามากนักหรอก

pexels-photo-70292 (1)

คนที่มีทัศนคติที่ดีมันแผ่รังสีออกมาให้เห็นเด่นชัด คนที่มีทัศนคติไม่ดีก็เห็นชัดได้พอ ๆ กัน ดังนั้นถ้าคนที่มีความคิดเชิงบวกถูกพูดถึงถูกชื่นชม ก็ไม่แปลกอะไรที่คนที่มีทัศนคติเชิงลบก็จะถูกพูดถึงในที่ทำงานด้วยเช่นกัน

แต่การพูดถึงทัศนคติของเขาลับหลังไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แถมเป็นเรื่องเสียเวลาที่ไม่ควรทำ ยิ่งเราพูดถึงทัศนคติที่ไม่ดีมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเสียโอกาสที่จะไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นมากเท่านั้น

5.อย่าให้ความสนใจกับเขามากเกินไป

hands-people-woman-meeting

บางครั้งคนเราก็แสดงออกทัศนคติลบ ๆ เพราะเชื่อว่าจะมีคนให้ความสนใจกับตัวเขามากขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าให้ความสนใจกับเขามากเกินไป ต่อให้เขาไม่ได้หวังให้คนมาสนใจ แต่การไปสนใจเขาเวลาเขาแสดงออกหรือพูดอะไรแย่ ๆ ออกมา ก็จะไปสร้างภาพจำผิด ๆ ให้แก่เขาว่าการทำแบบนี้แล้วได้รับความสนใจ

ลองเปลี่ยนเป็นให้ความสนใจกับเขาเมื่อเขาทำอะไรดี ๆ แทน ถ้าปกติเขาบ่นทุกสิ่งทุกอย่าง แล้ววันหนึ่งเกิดอารมณ์ดีขึ้นมายิ้มแย้ม พูดแต่เรื่องดี ๆ เราก็ตอบแทนเขาด้วยการให้ความสนใจกับเขามากกว่าปกติ หรือบอกเขาว่าเราชอบเวลาเขาพูดแบบนี้แสดงออกแบบนี้ ซึ่งสามารถช่วยให้เขาเชื่อมโยงได้ว่าการมีทัศนคติที่ดีทำให้เขาได้รับความสนใจจากเพื่อนร่วมงานมากขึ้น

ทัศนคติส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเที่ยวไปจัดการกับทัศนคติคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นนอกจากการมีทัศนคติที่ดีของตัวเราเองแล้ว การรับมือกับคนที่มีทัศนคติลบ ๆ ในที่ทำงานให้ถูกวิธีก็ยิ่งสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการทำงานของเรา และช่วยให้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line