Business

หมัดเดียวอยู่! ‘วิธีปฏิเสธสุดทรงพลัง’ที่ควรใช้เพื่อการทำงานที่ดีกว่าเดิม

By: PSYCAT March 28, 2017

ชอบช่วยเหลือคนอื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่บางทีถ้าเราช่วยคนอื่นทำงานมากไป งานของเราก็อาจไม่ไปถึงไหนได้ เพื่อให้การทำงานของตัวเองมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการช่วยงานคนอื่นไปด้วยในบางโอกาส ‘การปฏิเสธ’จึงเป็นทักษะจำเป็นอย่างหนึ่งที่เรามักมองข้ามไปโดยไม่รู้ตัว

17-03-28-say-no-002

ปฏิเสธอย่างทรงพลัง เลือกใช้คำให้ถูก

ถ้ามีคนยื่นงานมาแล้วขอร้องให้เราช่วย อยู่ ๆ จะตอบกลับว่าไม่ช่วย ไม่อยากช่วย ทำเองสิ! ก็ดูจะเป็นการปฏิเสธที่อาจสร้างปัญหามากกว่าเดิม (แม้ว่าเราจะอยากพูดแบบนั้นมากก็ตาม) ดังนั้นการปฏิเสธจึงไม่ใช่แค่อยู่ ๆ อยากปฏิเสธก็ปฏิเสธส่ง ๆ ไป แต่จำเป็นต้องใช้ทักษะการปฏิเสธอย่างทรงพลังชนิดที่ว่า พูดไปแล้ว จะไม่มีใครมาตื๊อขอให้ทำอะไรที่เราไม่อยากทำอีก

จากการศึกษาเรื่อง “I Don’t” versus “I Can’t”: When Empowered Refusal Motivates Goal-Directed Behavior บอกเคล็ดลับในการปฏิเสธแสนง่าย แต่มีประสิทธิภาพไว้ว่าเราต้องเลือกใช้คำให้ถูกต้อง โดยการปฏิเสธที่มีคำว่า ‘ไม่ทำ’อยู่ในประโยคนั้นจะช่วยให้เราปฏิเสธสิ่งที่เราไม่อยากทำได้มากกว่าการใช้คำว่า ‘ทำไม่ได้’อยู่ในประโยค

17-03-28-say-no-005

ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ลองนึกภาพว่าเราถูกขอร้องให้ช่วยตอบอีเมล์ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง จะเวลางานหรือไม่ เวลาพักหรือเปล่า วันหยุดยาวแค่ไหนก็ไม่สำคัญ แต่ต้องตอบลูกค้าทันทีนะ หากเราต้องการปฏิเสธ เราควรใช้คำว่า’ไม่ทำ’ ด้วยการบอกว่า “ขอโทษนะครับ ผมไม่ตอบอีเมล์ในช่วงวันหยุดยาวครับ” จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการบอกว่า “ผมตอบอีเมล์ลูกค้าในช่วงวันหยุดยาวไม่ได้ครับ”

ไม่ใช่แค่การทำงานเท่านั้น แต่กับการปฏิเสธเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตด้วยเช่นกัน การบอกว่า “ผมไม่สูบบุหรี่” มีพลังในแง่จิตวิทยามากกว่าการบอกกับตัวเองว่า “ผมสูบบุหรี่ไม่ได้” สงสัยล่ะสิว่าทำไม?

17-03-28-say-no-003

‘ไม่ทำ’มีประสิทธิภาพกว่า’ทำไม่ได้’อย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธตัวเอง อย่างการปฏิเสธที่จะทำสิ่งแย่ ๆ หรือปฏิเสธคนอื่น อย่างการปฏิเสธการขอความช่วยเหลือที่ทำให้เราเดือดร้อน การใช้คำว่า’ไม่ทำ’ก็มีประสิทธิภาพมากกว่า’ทำไม่ได้’

การบอกว่า ‘ทำไม่ได้’ มีนัยยะของการบอกว่าเราอยากทำสิ่งนั้นนะ แต่ว่าเราไม่สามารถทำได้ในเวลานี้ เช่น “ผมสูบบุหรี่ไม่ได้ครับ” อาจมีความหมายว่าผมสูบได้ ผมอยากสูบ แต่ช่วงนี้ผมทำไม่ได้ หรือการบอกว่า “ผมช่วยคุณทำบัญชีไม่ได้ครับ” อาจแปลว่าเราทำบัญชีได้ แต่ตอนนี้เรามีสาเหตุที่ทำไม่ได้อยู่

การเปิดโอกาสให้ตัวเราหรือคนอื่นรับรู้ว่าเราทำอะไรได้ แต่ขณะนั้นเราไม่สามารถทำได้ เป็นการเปิดโอกาสให้เราถูกขอให้ทำสิ่งนั้นในเวลาต่อมา เช่น “โอเค ตอนนี้คุณทำบัญชีให้ผมไม่ได้ คงยุ่ง ๆ อยู่ใช่ไหม งั้นเดี๋ยวอีก 2 วันคุณทำให้ผมหน่อยนะ” ต่างจากการบอกไปเลยว่า “ผมไม่ทำบัญชีให้คุณครับ” ซึ่งเป็นการแสดงความชัดเจนว่าคุณไม่ต้องการทำสิ่งนี้ เพราะมันเกินหน้าที่คุณ และคุณจะไม่มีวันทำสิ่งนี้แน่นอนไม่ว่าในช่วงเวลาไหน ไม่ใช่แค่ทำไม่ได้ในตอนนี้

17-03-28-say-no-001

‘การปฏิเสธ’จึงเป็นทักษะสำคัญที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ไว้ ทั้งเพื่อการทำงานของเราเองให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม (จะมัวมาช่วยงานคนอื่นตลอดเวลาไม่ดีแน่) รวมถึงช่วยให้เรารู้จักปฏิเสธสิ่งไม่ดีให้กับตัวเองด้วย ไม่ว่าผมจะไม่นอนดึกอีกแล้ว ผมจะไม่ดื่มเหล้ามากเกินไปอีกแล้ว หรือถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นปฏิเสธอะไรลองพูดประโยคนี้กับตัวเองดู “เราจะไม่ตอบรับการขอความช่วยเหลือที่จริง ๆ แล้วเราไม่อยากทำอีก!” รู้สึกมีพลังขึ้นใช่ไหมล่ะ?

อย่างไรก็ตาม’การปฏิเสธ’ก็ต้องควบคู่ไปกับการเลือกว่าสิ่งไหนที่ดีกับเรา และสิ่งไหนที่มากเกินจะรับไหว ไม่ใช่ปฏิเสธไปเสียทุกอย่าง ที่สำคัญอย่าลืมเลือกใช้น้ำเสียง สีหน้า ท่าทางที่สุภาพในการปฏิเสธด้วยล่ะ ไม่อย่างนั้นการปฏิเสธที่ควรเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน อาจกลายเป็นดับความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานไปได้

SOURCE1SOURCE2SOURCE3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line