Life

ออกกำลังกายไม่ใช่แค่แข็งแรง แต่นักวิจัยชี้ว่า ‘เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตให้ดีขึ้นด้วย’

By: PSYCAT May 19, 2017

ออกกำลังกายใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพกาย ช่วยให้เราแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยในการควบคุมน้ำหนักและอีกสารพัดเรื่องราวดี ๆ นอกจากนั้นเราต่างก็รู้ดีว่าการออกกำลังกายส่งผลต่อสภาพจิตใจตรงที่ช่วยลดความตึงเครียด ช่วยเรื่องการผ่อนคลาย แต่ถ้า UNLOCKMEN กำลังจะบอกว่าการออกกำลังกายช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเราด้วยล่ะ จะเชื่อไหม?

“จงเรียนรู้ที่จะรู้สึกสบายกับความไม่สบายที่เกิดขึ้น” นี่เป็นประโยคที่อ่านครั้งแรกแล้วอาจจะงง ๆ ว่าตกลงแล้วมันจะสบายหรือไม่สบายกันแน่ แต่นี่แหละคือประโยคที่เราจะได้ทำความเข้าใจมันจากการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง

เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น? เพราะการออกกำลังกายคือการที่เราออกคำสั่งให้ตัวเราใช้กำลังฝืนจากที่เราเคยทำเป็นประจำ ในขณะที่ร่างกายเรากำลังประท้วงว่าไม่ไหวแล้ว แต่สมองเรายังสั่งการให้เราขับเคลื่อนร่างกายฝ่าความเมื่อยล้า ฝ่าความเจ็บปวดต่อไป นั่นจะช่วยฝึกให้เราอดทนกับทุกสิ่งรอบกาย และรับมือกับความยากลำบากที่เกิดขึ้นได้มากกว่าที่เคย

บทสนทนากับคนที่เรารู้สึกว่าไม่อยากคุยด้วยเลย จะลื่นไหลขึ้น เดดไลน์ที่ใกล้เข้ามาจะดูเป็นเรื่องสงบมากกว่าเดิม เมื่อเราเคยเผชิญกับการต่อสู้กันระหว่างการอยากไปนอนพักผ่อนสบาย ๆ กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

งานวิจัยเรื่อง The effect of a single aerobic training session on cognitive flexibility in late middle-aged adults.  พูดถึงการออกกำลังกายว่าช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง แม้แต่ในวันที่พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกาย แถมการออกกำลังกายจะช่วยให้เราเผชิญหน้ากับความเครียดด้วยความอดทนอดกลั้นได้มากขึ้น และเป็นโอกาสอันดีที่จะฝึกความอดทนในวันที่โลกเต็มไปด้วยความสบายอย่างทุกวันนี้ ก็แน่ล่ะ เดินไปปากซอยก็ขี้เกียจ นั่งมอเตอร์ไซค์วินง่ายกว่า ลุกไปเปิดทีวีก็ไม่ต้อง นั่งกดรีโมทชิลกว่า ไม่อยากออกไปกินอาหารนอกบ้าน สั่งให้มาส่งถึงที่ดีกว่า

UNLOCKMEN ไม่ได้ปฏิเสธว่าความสะดวกสบายไม่ดี เรามีสิทธิทุกประการที่จะใช้มัน แต่การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนี่เองที่จะเป็นตัวฝึกร่างกายของเราให้เผชิญกับความลำบาก ในวันที่ทุกอย่างดูสะดวกสบายไปหมด

ไม่เพียงเท่านั้นงานวิจัยที่ชื่อ Longitudinal gains in self-regulation from regular physical exercise. ยังมีข้อสรุปว่านักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยที่ถูกกำหนดให้ออกกำลังกายเป็นประจำ พวกเขารับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น สูบบุหรี่น้อยลง บริโภคแอลกอฮอลล์และคาเฟอีนน้อยลง ทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น การเรียนดีขึ้น และควบคุมตัวเองได้มากกว่าที่เคย

ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าการออกกำลังกายช่วยให้เรากล้าที่จะบอกตัวเองว่า “ต้องทำ” ในขณะที่ร่างกายและจิตใจกำลังปฏิเสธอย่างรุนแรงว่า “อย่าทำเลย” ดังนั้นการออกกำลังกายของนักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจึงช่วยให้พวกเขาเผชิญหน้ากับความยั่วยวนในชีวิตอย่างมีสติได้กว่าปกติ

การออกกำลังกายสามารถส่งผลต่อวิธีคิดที่เรามีต่อตัวเองได้ขนาดนี้ เพราะการออกกำลังกาย เป็น “keystone habit” ซึ่งหนังสือเรื่อง The Power of Habit: Why We Do What We Do in Life and Business  อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่าการออกกำลังกายเป็นพฤติกรรมที่ถ้าเราทำแล้วจะส่งผลต่อพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ในชีวิตเป็นวงกว้างไปด้วย อย่างที่เรามักจะได้ยินเรื่องราวของคนที่ออกวิ่งมาราธอนระยะยาวเพื่อเปลี่ยนแปลง หรือก้าวข้ามขีดจำกัดหลาย ๆ อย่างในชีวิต

อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่าเราต้องทำอะไรยิ่งใหญ่อย่างการวิ่งมาราธอน หรือบังคับตัวเองออกไปวิ่งเช้าวิ่งเย็นทุกวัน แค่ลุกออกมาเอาชนะความอยากพักของตัวเองให้ได้ เริ่มต้นจากออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะก้าวไปสู่ความท้าทายที่มากขึ้น ๆ เพียงเท่านี้ก็เป็นการฝึกจิตใจตัวเองให้รับมือกับความกดดัน และความยากลำบากแบบเราไม่เคยฝืนตัวเองมาก่อนได้แล้ว

SOURCE1SOURCE2SOURCE3SOURCE4

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line