Business

MINDSET : เราจะทำงานกับคนที่เข้ากับคนอื่นไม่ได้ (EQ ต่ำ) อย่างไร

By: Lady P. February 5, 2017

เป็นเวลา 25 ปีหลังจากที่คำว่า “ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence, EI)” หรือบางท่านอาจคุ้นเคยในชื่ออื่นเช่น “วุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Quotient, EQ)”  ได้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้เน้นความสำคัญของการจัดการอารมณ์ของตัวเองและของผู้อื่น ล้วนส่งผลต่อความสำเร็จในอาชีพการงาน การเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงความเป็นผู้นำ

iStock-Unfinished-Business-11

งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าคนที่มี EQ ต่ำเป็นคนที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองขาดทักษะสำคัญด้านใด นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าเราทุกคนมักเก่งที่จะประเมิน EQ คนอื่นแต่ไม่ค่อยได้ประเมิน EQ ของตนเองอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเป็นคนที่มี EQ ต่ำ เนื่องจาก EQ นั้นจะมีหมวดที่พูดถึงการประเมินความรู้ตัวของตัวเองด้วย  (Self- awareness)

แม้ว่าคนที่มี EQ ต่ำกว่าคนอื่นมักจะไม่ค่อยมีใครชื่นชมเท่าไรนัก เพราะพวกเขาจะคิดสร้างสรรค์ได้น้อย มองโลกเชิงลบ (more negative) และเป็นคนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่ค่อยมีจุดหมาย แต่ก็ยังมีหนทางมากมายที่เราจะสามารถทำงานร่วมกับคนกลุ่มนี้ได้ จากผลการศึกษาที่เชื่อถือได้จำนวนมากได้ให้คำแนะนำที่จะช่วยให้เราบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนที่มี EQ ไม่ดีนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลัก 4 ประการคือ

“สุภาพอ่อนหวาน สื่อสารชัดเจน มุ่งเน้นเหตุผล ไม่โกรธโทษเคือง”

160529-business-1

1. จงสุภาพอ่อนหวาน (Be gentle)

คนที่เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ไม่มีใครอยากคุยด้วย ก็ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องรู้สึกแย่กับเค้าด้วย ในความเป็นจริงคุณสามารถเป็นตัวแทนที่จะทำให้คนที่วุฒิภาวะทางอารมณ์ (ความฉลาดทางอารมณ์) น้อยกว่าเหล่านี้ได้รู้สึกมั่นคงในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

วิธีปฏิบัติต่อคนเหล่านี้เพียงคุณปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างสุภาพและใจเย็นก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี โปรดจำไว้ว่าการมี EQ ต่ำเป็นผลจากข้อจำกัดบางอย่างทางจิตใจที่ไม่เพียงมีผลกระทบต่อผู้อื่นแต่ส่งผลถึงคนคนนั้นเองด้วย พวกเขากำลังต่อสู้กับปิศาจร้ายในจิตใจและเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอยู่ภายในตัวเอง ความรู้สึกเหล่านี้ล้วนต้องใช้พลังงานทางอารมณ์อย่างมาก (emotional labor) คนเหล่านี้แท้จริงแล้วไม่มีความสุขเลยซึ่งเค้าก็รู้ตัวดี ดังนั้นอย่าทำให้พวกเขาทำงานได้ยากขึ้น และคุณสามารถช่วยจุดประกายความสว่างให้พวกเขารู้สึกว่าใช้ชีวิตได้เรียบง่ายขึ้น ปลอดภัยและมีความสุขขึ้น หรืออย่างน้อยกังวลน้อยลง

ตรงกันข้ามถ้าคุณตอบสนองกับพวกเขาในทางลบ พวกเขาจะรู้สึกทันทีว่าคุณคือภัยคุกคามทางด้านจิตใจและคุณเป็นสาเหตุของความเครียด ดังนั้นความเมตตาและความคิดบวกหรือการมองโลกแง่ดีเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเรื่องดีๆ กับทุกคนเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กับคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่ดีนัก เพราะฉะนั้นผู้ที่ขาดทักษะการแสดงความเมตตาและการคิดบวกย่อมไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์กับคนเหล่านี้ได้ ในทางตรงกันข้ามไหวพริบต่างๆ รวมถึงความละเอียดอ่อนก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำมาใช้กับผู้ที่มีไม่สามารถแสดงคุณภาพของตนเองออกมาได้

2. สื่อสารให้ชัดเจน (Be explicit)

160304-businessskill-1

การสื่อสารให้ชัดเจนจำเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้หลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องละเอียดอ่อน (sensitive) ทางสังคมของพวกเขา มิเช่นนั้นคุณก็จะถูกเข้าใจผิดทันที คนที่ EQ ต่ำมักจะมีความสามารถน้อยในการตีความคำพูดของคนอื่น อย่างที่ศาสตราจารย์ Simon Baron-Cohen ได้ตั้งข้อสังเกตว่าคนกลุ่มนี้จะค่อนข้างคล้ายกับพวกวิศวกรหรือพวกนักวิชาการระดับศาสตราจารย์ คือ ไม่สนใจการสื่อสารอวัจนภาษา เช่นภาษากาย และไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น บางครั้งก็อยากจะปลีกวิเวกไม่สุงสิงกับใคร พวกเขามีความสุขกับการอยู่กับตัวเอง มีความสุขกับความคิดของตัวเองมากกว่าการปฏิสัมพันธ์กับคน ทฤษฎีของศาสตราจารย์ Simon Baron-Cohen กล่าวว่า ทักษะทางเชาวน์ปัญญาจะมากขึ้นเมื่อมีทักษะทางสังคมมากขึ้น (ลองใช้ทฤษฎีนี้ทดสอบตัวคุณเองก็ได้ว่าเป็นเช่นไร)

3. มุ่งเน้นที่เหตุผล (Be rational)

160930-how-to-be-a-gentleman-7-timeless-tips-6

คนที่ EQ น้อยมักจะทำงานแบบไม่ค่อยสมเหตุสมผลเหมือนคนอื่น ยาถอนพิษเพียงขนานเดียวที่ใช้ได้คือการใช้เหตุผล โดยเริ่มด้วยการตระหนักถึงอคติของตัวเอง การใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน รวมถึงการยอมรับความเป็นไปได้ว่าคุณอาจจะผิด เมื่อต้องรับมือกับคนที่ EQ ต่ำจำไว้ว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของตัวเองมากกว่าคนทั่วไป

ดังนั้นแทนที่จะพยายามจัดการกับอารมณ์ของพวกเขา คุณต้องสร้างความไว้วางใจด้วยการพูดเหตุผลอย่างกัลยาณมิตรเพื่อพัฒนาให้พวกเขาเกิดความคิดที่เป็นตรรกะเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้คุณโน้มน้าวใจพวกเขาได้ทั้งในระยะสั้นและยังมีอิทธิพลต่อพวกเขาในระยะยาว หัวใจสำคัญคือไม่เพียงแต่การโน้มน้าวอารมณ์จะได้ผลกับพวกเขา แต่ยังทำให้พวกเขามีเหตุผลทางศีลธรรมไม่กลับไปตกอยู่ในสภาพเดิมอีก

4. จงอย่าถือโทษโกรธเคือง (Do not get offended)

160916-what-happens-to-your-body-when-you-eat-human-meat-6

หนึ่งในลักษณะร่วมของคนที่ไม่ค่อยมีความฉลาดทางอารมณ์ คือการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ทื่อๆ โฉ่งฉ่าง แบบขวานผ่าซาก พวกเขาไม่ค่อยไวต่อความรู้สึกของคนอื่นและไม่เก่งเรื่องความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้พวกเขากลายเป็นประเด็นในที่ทำงานหรือบางทีก็ทำอะไรตรงเกินไป ในทางกลับกันคนเหล่านี้เป็นคนที่โปร่งใสไม่ค่อยมีอะไรแอบแฝง คุณสามารถมองเห็นได้ชัดเจนและพวกเขามีแนวโน้มจะพูดอะไรตรงความหมายกับสิ่งที่พูด ที่สำคัญก็คือสิ่งที่พวกเขาพูดอย่าเก็บมาเป็นประเด็นติดใจ พวกเขาอาจไม่ได้แสดงออกตามมารยาทสากล แต่คุณยังสามารถหาวิธีรับมือและช่วยให้พวกเขาทำงานร่วมกับคุณได้

100216_businessstrategies_2

ท้ายสุด จำไว้ว่าการมี EQ สูงก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการยกย่องเสมอไป เช่น การมี EQ สูง ไม่ได้บอกว่าคนนั้นมีความสามารถในการใช้เหตุผล มีความเชี่ยวชาญ หรือมีความทะเยอทะยานสูงด้วยหรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายถึงขั้นโลกจะแตกหากคุณเป็นหนึ่งในคนที่มี EQ ไม่สูงนัก มันยังคงมีด้านสว่างของกลุ่มที่ EQ ต่ำ และยังมีด้านมืดของกลุ่มที่มี EQ สูงเช่นกัน คนที่มี EQ ต่ำมักจะมีฉันทะ (ความลุ่มหลงในสิ่งที่ทำ) มีความคิดสร้างสรรค์ และวิจารณ์ตัวเองบ่อยกว่า และสำหรับคนที่ EQ สูงมักเป็นคนที่ค่อนข้างหลงตัวเอง ใจแคบ และบางครั้งมองโลกในแง่ดีเกินไป

ในขณะที่มีวิธีที่สามารถเพิ่มวุฒิภาวะทางอารมณ์ได้ คนส่วนใหญ่ยังคงมีข้อจำกัดในการควบคุมบุคลิกภาพของตนเอง และบุคลิกภาพแต่ละแบบจะมีทั้งจุดแข็งในบางสถานการณ์และอาจเป็นจุดด้อยในบางสถานการณ์เช่นกัน ควาทฮือฮาเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ในปัจจุบันอาจบดบังความจริงที่ว่าคนจำนวนมากที่ยอดเยี่ยมและประสบความสำเร็จ เช่น Friedrich Nietzsche หรือแม้กระทั่ง Steve Jobs ก็ล้วนแต่เป็นคนที่มี EQ ไม่สูงนัก แต่พวกเขาก็ศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างแม้กระทั่งผู้ร่วมงานได้

เรียบเรียงโดย  นพ.มนตรี แสงภัทราชัย

Facebook Fanpage :  Smart Coach Intelligence

160203smartcoach

Reference : Harvard Business School, How to Work with People Who Are Not Good at Working with People by Tomas Chamorro-Premuzic is the CEO of Hogan Assessment Systems, a Professor of Business Psychology at University College London, and a faculty member at Columbia University.

Lady P.
WRITER: Lady P.
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line