Entertainment

ทำไมหนังที่สร้างจากเกมส์ ถึงไม่เคยได้รับคำชม และถูกจัดเป็นประเภทหนังห่วย

By: Thada November 11, 2016

เหมือนเป็นสูตรสำเร็จที่ว่าหนังที่สร้างจากวิดีโอเกมส์ มักจะล้มเหลว หาดีแทบไม่ได้ แถมโดนวิจารณ์ จวกเละเทะ แต่มันไม่ใช่ปัญหาสำหรับค่ายหนังที่จะออกเงินทุนเพื่อสร้างหนังประเภทนี้  เพราะรายได้ของหนังที่สร้างจากเกมส์มักไปในทิศทางที่ดี และทำกำไรเสมอ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น Resident Evil ที่นอกจากภาคแรก ก็ไม่มีภาคไหนที่ได้รับคำชมอีกเลย แต่ทำไมค่ายหนังถึงยังกล้าออกเงินให้ทำต่อถึง 6 ภาค นั้นก็เพราะ เงินที่ได้เพียงอย่างเดียว แม้จะโดนแฟนเกมส์รุมประนาม ที่เอาเกมส์ที่พวกเขาบูชามายำเละเป็นโจ๊กกองปราบ

161112-games-4

เป็นเรื่องที่มีการตั้งข้อสงสัยกันมากว่าทำไมภาพยนตร์ที่สร้างจากเกมส์ ถึงไม่สามารถทำให้ออกมาเป็นหนังที่ดีได้ มีแต่ ห่วยมาก กับ ห่วยน้อย ล่าสุดก็กำลังจะมีหนังที่สร้างจากเกมส์ยอดฮิตอย่าง Assassin’s Creed ซึ่งเราว่าก็คงไม่แคล้วที่จะแป้กในแง่เสียงวิจารณ์อีกเช่นเคย ทำให้วันนี้เรามาวิเคราะห์กันว่าทำไมภาพยนตร์ที่สร้างจากเกมส์ถึงไม่เคยได้รับคำว่าเป็นหนังที่ดีเลย

161112-games-5

เกมส์ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้แปลว่าหนังต้องประสบความสำเร็จตาม

161112-games-1

ค่ายหนังมักเอาตัวเลขจากยอดขายแผ่นเกมส์ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดถึงการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ไม่ได้คำนึงว่าการสร้างหนังหนึ่งเรื่องต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเรื่อง art direction ของเกมส์ที่สามารถนำมาใช้บนความเป็นจริงได้หรือเปล่า จะสังเกตได้ว่าเกมส์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ล้วนเป็นเกมส์ในสไตล์  Open World หรือเปิดอิสระให้คนบังคับเกมส์สามารถเลือกที่จะเดินไปทางไหนก็ได้ เลือกทำภารกิจเอง

สื่อสองชนิดมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน เกมส์ยังเป็นสื่อประเภท interactive ที่ผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับความรู้สึกประสบการณ์ที่ต่างกัน ดังนั้นการที่นำเอาไปใส่สคริปในรูปแบบภาพยนตร์ลงไป ที่มีเนื้อหาตายตัว ผ่านการตีความของผู้กำกับ เหมือนเป็นการปิดกั้นจินตนาการ ไม่สามารถหยิบเอาประสบการณ์จากการเล่นเกมส์มาดัดแปลงเป็นหนังได้

ความมักง่ายของค่ายหนัง / ผู้กำกับ

161112-games-2

ต่อเนื่องจากข้อเมื่อกี้  เกมส์คือการถ่ายทอดที่ผู้ได้รับแต่ละคนจะได้รับประสบการณ์ต่างกัน แต่หนังได้รับการตีความจากมุมมองของผู้กำกับเพียงคนเดียว ที่ต้องเล่าเรื่องผ่าน 120 นาทีออกมาให้ได้ทั้งหมด ดังนั้นบางครั้งพวกเขาจึงเกิดอาการมักง่ายไม่ได้หยิบยกเอาใจความสำคัญของเกมส์ออกมาถ่ายทอด ตัวอย่างเช่น Prince of Persia ที่ผู้กำกับยกเอาเฉพาะองค์ประกอบสีสันของเกมส์ เพื่อเน้นการตอบสนองผู้ชมในวงกว้างที่ไม่จำเป็นต้องเคยเล่นเกมส์ Prince of Persia โดยไม่สนใจฐานแฟนเกมส์ดั้งเดิมว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไร กับการทำหนังแบบนี้

การนำเสนอตัวละครในมิติเดียว

161112-games-3

อย่างที่บอกด้วยเวลาที่จำกัดของหนังทำให้ ผู้กำกับ และคนเขียนบทไม่สามารถยัดคาแรคเตอร์ทั้งหมดจากเกมส์เข้าไปให้ตัวละครในหนังได้ เพราะเกมส์เป็นเรื่องของ Surreal มีการยัดหลาย genre ลงไปให้กับตัวละครในเกมส์ ตัวอย่างเช่นหนังเรื่อง Tomb Raider ที่ทางค่ายหนังพยายามจับยัดให้ Angelina Jolie ฝึกฉาก Action คิวบู๊ผาดโผน ให้สมจริงที่สุด ซึ่งในหนังก็ทำมันออกมาได้อย่างสมจริง เราคิดว่าตัวละคร Lara Croft คือสาวนักบู๊ที่แท้จริง เป็นหนัง Action สนุกๆ เรื่องหนึ่ง แต่ลืมประเด็นอะไรไปหรือเปล่า?

ตัวละคร Lara Croft เป็นนักโบราณคดีที่ต้องคอยตามหาสมบัติ ซึ่งในหนังไม่ได้ดึงความสามารถตรงนี้ออกใช้ เพื่อแสดงให้คนดูได้รับรู้เลย ทำให้ Lara Croft เวอร์ชั่นภาพยนตร์ไม่ได้ต่างจากหนังบู๊ธรรมดาทั่วไป

ดังนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะนำเอาเกมส์ออกมาสร้างให้เป็นหนังที่ดีได้ เฉกเช่นหนังที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ หรือการ์ตูน ด้วยลักษณะเส้นเรื่องที่นำมาใช้มีความแตกต่าง ทำให้เราอาจจะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่เกี่ยวกับหนังประเภทนี้ ถ้าเราเปลี่ยนเป็นการสร้างหนังที่นำโครงบางส่วนจากเกมส์ แล้วนำมาดัดแปลงให้เป็นไปในลักษณะการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ ทางนี้จะดูดีมีน้ำหนักมากกว่า  แต่เสี่ยงโดนแฟนเกมส์ด่าแน่นอน และอาจจะไม่ได้เงินจากฐานคนดูกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทำหนังต้องเลือกระหว่างหนังครึ่งๆ กลางๆ โดนด่า แต่ได้เงิน หรือจะทำหนังดีออกมา แล้วได้เงินน้อยลง เราเชื่อว่าคุณเองคงมีคำตอบแล้วอยู่ในใจแล้วว่าจะเลือกทางไหน แค่ลองนึกภาพ Warcraft ดู น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับความล้มเหลวของหนังที่สร้างจากเกมส์ยอดฮิต

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line