FASHION

น้ำตาจระเข้ ใครคือเจ้าของที่แท้จริงของสัญลักษณ์ Crocodile

By: Thada March 21, 2017

เราเชื่อว่าหลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเสื้อผ้า  polo  แบรนด์ยอดฮิต  ที่มีโลโก้จระเข้ปักอยู่บริเวณอก ว่าจริงๆ แล้วมีกี่แบรนด์ที่ใช้สัญลักษณ์นี้ และใครเป็นต้นกำเนิดที่แท้จริงกันแน่ วันนี้  UNLOCKMEN  ได้ไปสืบค้นประวัติเกี่ยวกับโลโก้  Crocodile  ที่มูลค่าสูงไม่แพ้โลโก้ใดในโลกมาฝากกันว่า ใครกันแน่ที่เป็นตัวจริงเรื่องจระเข้

ย้อนกลับไปในยุค 1920s ชายชาวฝรั่งเศสนามว่า  René Lacoste  กำลังโลดแล่นอยู่ในคอร์ตเทนนิส ครองความยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเป็นว่าเล่นถึง  7  สมัย ก้าวขึ้นไปรั้งตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งของโลกในปี  1926  และ  1927  เรียกว่าเป็นปีทองยิ่งกว่ายุคภราดรคว้าแชมป์ซะอีก

crocodile-1

ในช่วงนี้เองที่  René Lacoste  ได้ฉายา  The Crocodile  มาครอง เมื่อเจ้าตัวท้า  Alan Muhr  กัปตันชาวฝรั่งเศสของ  Davis Cup Team  ในยุคนั้น ว่าถ้าตัวเค้าสามารถชนะการแข่งขันนัดเย็นวันนั้นได้  Muhr  จะต้องจ่ายเงินซื้อกระเป๋าหนังจระเข้ให้เป็นรางวัล แต่น่าเสียดายที่  René Lacoste  เป็นฝ่ายแพ้ในการแข่งขันนัดนั้น จึงอดได้กระเป๋ามาครอบครอง

อย่างไรก็ตาม การเดิมพันครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานโลโก้จระเข้ เพราะนักข่าวอเมริกันได้ยินเรื่องการเดิมพันระหว่าง  René Lacoste  กับ  Alan Muhr  จึงนำไปพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์  Boston Evening Transcript  ว่า  “The young Lacoste has not won his crocodile skin suitcase but he fought like a true crocodile.”  แม้จะไม่ได้รางวัลกระเป๋าหนังจระเข้ แต่  René Lacoste  ก็สู้เต็มที่ไม่แพ้จระเข้ตัวจริงเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อ   René Lacoste  เห็นพาดหัวข่าวนี้ กลับรู้สึกชอบฉายาที่นักข่าวตั้งให้ซะงั้น บอกว่ามันเข้ากับสไตล์การเล่นเทนนิสของเค้าเป๊ะ คือกัดไม่ปล่อย เล่นแล้วหวดไม่ยั้งจนกว่าจะเอาชนะเหยื่อของเค้าได้ 

จากฉายา  Crocodile  กลายเป็นโลโก้  ในปีที่  René Lacoste  ได้แชมป์  U.S. Open  ก็ใช้ฤกษ์งามยามดีเปิดตัวโลโก้จระเข้หันขวาเป็นครั้งแรก ซึ่งคนที่ออกแบบให้ไม่ใช่ใคร คือเพื่อนของ   René Lacoste  ที่ชื่อ  Robert George  ซึ่งแฟนพันธ์แท้  Lacoste  อาจจะพอคุ้นชื่อนี้ จาก  Speical collection  ที่ถูกผลิตเพื่อเป็นเกียรติประวัตินั่นเอง

crocodile-3

ในปี 1933,  Lacoste  ที่มีชื่อเสียงน้อง ๆ ดาราภาพยนตร์ ได้ร่วมมือกับ  André Gillier  เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส เริ่มก่อตั้งบริษัท  La Société Chemise Lacoste  แบบจริงจัง พวกเขาเริ่มจากการออกแบบเสื้อเทนนิสตามแบบฉบับของตัวเอง จนได้สินค้าที่แตกต่าง ด้วยเอกลักษณ์เสื้อคอโปโล มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดี ออกแบบให้สวมใส่ในระหว่างการเล่นจับคู่กัน โดยเสื้อทำจากวัสดุผ้าน้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี มีความยืนหยุ่นสูง ซึ่งนับว่าแปลกใหม่ในวงการแฟชั่นและกีฬามาก เพราะก่อนหน้าจะผลิตเสื้อแบบใหม่ ผู้เล่นเทนนิสมักใส่เสื้อแขนยาว แถมยังเพิ่มลูกเล่นด้วยการนำสารพัดเฉดสีเกือบทุก  pantones  ใส่ลงไปในเสื้อ  polo กลายเป็นเสื้อกีฬาที่สามารถใส่ได้ทุกวัน ยิ่งทำให้  Lacoste  ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

crocodile-5

แต่เมื่อเริ่มโด่งดังปัญหาก็เริ่มตามมา เพราะเมื่อนาย  Vincent De Paul Draddy  ประธานบริษัท  David Crystal Inc,  เข้ามาเป็นพันธมิตร เพราะมองเห็นว่าเสื้อ  Polo Lacoste  สามารถนำมาสร้างเป็นเทรนด์ให้แพร่หลายในอเมริกาได้ เขาจึงได้นำเสนอแบรนด์  IZOD  ในฐานะผู้นำพา  license  จระเข้ไปบุกตลาดแฟชั่นอเมริกา และจะให้ใช้โรงงานในสหรัฐอเมริกาผลิตเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องใช้ชื่อ  IZOD Lacoste  พร้อมโลโก้จระเข้เขียวไปใช้ด้วย ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จระเข้  Lacoste  สามารถว่ายน้ำมาบุกตลาดอเมริกาได้สำเร็จอย่างเป็นทางการในปี  1963  โดยมีความแตกต่างตรงที่  American version  จะมีชายเสื้อด้านหลังยาวกว่าด้านหน้า

crocodile-4

“เอาไปได้ แต่อย่าโมดิฟายเสื้อของฉันนะ”  การปรับเปลี่ยนรูปแบบเสื้อ รวมถึงการลดคุณภาพของผ้านำเข้า เนื่องจากต้นทุนที่แพงขึ้น ทำให้เจ้าของเดิมเริ่มไม่พอใจ นำพาไปสู่ความไม่ลงรอยในการทำธุรกิจ  เป็นที่มาของการแยกทาง และ  Lacoste  ก็ได้ซื้อหุ้นคืน รวมถึงสิทธิการทำตลาดในประเทศอเมริกามาอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนจะเปลี่ยนถ่ายการบริหารสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน จนกระทั่ง  Lacoste  เริ่มเปิดกว้างในการขาย  License  ให้สิทธิในการผลิตและจำหน่ายในแต่ละประเทศมากขึ้น ข้อเสียก็คือการควบคุมคุณภาพที่ทำได้ยาก ไม่ตรวจเข้มเหมือนสมัยรุ่นก่อตั้งโดย  René Lacoste

และอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีการนำโลโก้จระเข้มาใช้ คือบริษัทจาก  Hong Kong  ที่ชื่อว่า  Crocodile Garment  ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเห็นแบรนด์นี้กันมาบ้าง เพราะมีวางขายตามห้างสรรพสินค้าบ้านเรา แบรนด์นี้ก็นำโลโก้จระเข้มาปรับเปลี่ยนเล็กน้อยพองาม อย่างเช่นดวงตาจระเข้ที่จะใหญ่กว่าของ  Lacoste  แถมทำกลับด้านกัน ก็ไม่แคล้วที่ว่าทั้งคู่ก็มีเรื่องการฟ้องร้องกัน จนในที่สุด  Crocodile  ต้องยอมแพ้แล้วปรับเปลี่ยนให้ต่างออกไปจนดูลักษณะผิดรูป ผิดร่าง แต่ก็ยังสามารถสร้างความสับสนให้กับลูกค้าได้อยู่บ้างถ้าไม่ทันสังเกต

crocodile-6

นี่แหละคือความยากวุ่นวายจากการทำธุรกิจ เรื่องของ  branding  และ  logo  เรียกว่ามีส่วนสำคัญลำดับต้น ๆ เป็นชนวนสู่การฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนมหาศาลมานักต่อนัก ดังนั้นหากชาว  UNLOCKMEN  คนไหนมีไอเดีย หรือกำลังทำบริษัทอะไรอยู่ ก็อย่างนิ่งนอนใจ ขอให้รีบไปจดสิทธิบัตรอะไรให้เรียบร้อย จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายภาคหน้า ป้องกันปัญหาปวดใจแบบจระเข้ตัวเขียวตัวนี้นะครับ

crocodile-7

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line