GADGETs

ถ่ายรูปเท่ ๆ แบบไม่เกี่ยงอุปกรณ์ กับพื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ ที่ควรรู้ก่อนลั่นชัตเตอร์ !!

By: NTman May 19, 2017

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีนั้นหมุนไวจนเราแทบตามไม่ทัน ส่งผลต่อการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ไปอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่วงการถ่ายภาพ ที่ในแต่ละวันเรามักจะได้ยินข่าวการเปิดตัวอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มาพร้อมความสามารถใหม่ ๆ ดีขึ้น ชัดขึ้น โฟกัสไวขึ้น และเชื่อว่าหลายคน (รวมทั้งตัวเราเอง) ต่างก็อยากจะอัพเกรดไปสู่สิ่งที่เจ๋งกว่า ทว่ายังมีคำถามที่ขัดแย้งในใจถึงกล้องที่มีอยู่ในมือ ว่าเราใช้มันคุ้มค่าแล้วหรือยัง นี่ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนกล้องใหม่ หรือต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มแล้วจริง ๆ หรอ

เพราะถ้าลองนึกย้อนกลับไปถึงแก่นของการถ่ายภาพ มันไม่มีอะไรที่พิสดารนอกเหนือไปจากการเก็บแสงที่กระทบกับวัตถุ แล้วสะท้อนผ่านเลนส์มาฉายลงบนแผ่นฟิล์ม หรือในยุคปัจจุบันคือฉายลงบนเซ็นเซอร์รับภาพ ซึ่งความมีสเน่ห์ของภาพถ่ายที่แท้จริงนั้นไม่ได้ดูกันที่ความละเอียดของเซ็นเซอร์ หรือมูลค่าของอุปกรณ์ แต่มันเกิดจากจังหวะที่กดชัตเตอร์ เพื่อเก็บอารมณ์ รวมถึงมุมมองการจัดวางองค์ประกอบของภาพที่ลงตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความสามารถที่เกิดจากประสบการณ์ของมนุษย์ผู้อยู่หลังกล้อง และเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการวิ่งตามเทคโนโลยี หรือหยิบยกเอาความเหนือกว่าของอุปกรณ์ถ่ายภาพมาข่มกันด้วยซ้ำ

170519-dtacX3-2

Henri Cartier-Bresson

ยิ่งเป็นตากล้องมือใหม่ หรือผู้ที่ชอบถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก สิ่งที่ควรโฟกัสอาจไม่ใช่การไขว่คว้าหาอุปกรณ์ที่ล้ำที่สุด ดีที่สุดมาครอบครอง แต่ควรเน้นไปที่ความรู้พื้นฐาน และ การฝึกฝน มาก่อนเป็นอันดับแรก ดังที่ Henri Cartier-Bresson (อองรี การ์ตีเย-แบรซง) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส ปรมาจารย์ด้านการถ่ายภาพแนวสตรีทผู้ล่วงลับ เคยกล่าวเอาไว้ว่า “Your first 10,000 photographs are your worst.” แปลได้ตรงตัวคือ “ภาพถ่าย 10,000 ภาพแรกของคุณ มันจะมีแต่ภาพห่วย ๆ ทั้งนั้นแหละ” ซึ่งนี่ไม่ใช่คำดูถูก แต่มันคือใจความสำคัญที่ถูกส่งต่อเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้ช่างภาพรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าของพื้นฐานและการฝึกฝน เป็นการเปรียบเปรยให้เห็นว่า กว่าที่ปู่แบรซงจะมายืนตรงจุดนี้ได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องของพรสวรรค์ หรืออุปกรณ์ แต่มันคือความมุมานะ ทุ่มเท ฝึกฝนอย่างหนักหน่วงต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ

วันนี้ UNLOCKMEN จะมาแนะนำพื้นฐานเบื้องต้นที่สามารถนำไปต่อยอดฝึกฝนจากกล้องถ่ายภาพได้ทุกชนิด ไม่เกี่ยงเรื่องมูลค่า เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า หรือความละเอียดแต่อย่างใด เพราะเราไม่ได้ไปไกลถึงเรื่องของการตั้งค่า, ปรับรูรับแสง, ปรับสปีดชัตเตอร์อะไรให้วุ่นวาย แต่จะขอปูพื้นฐานอันเป็นหัวใจหลักนั่นคือ เทคนิคในการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งผู้รักการถ่ายภาพทั้งหลายควรฝึกฝนให้ชำนาญ เพราะแค่รู้จักจัดวางองค์ประกอบภาพได้น่าสนใจ เท่านี้ก็สามารถสร้างผลงานภาพถ่ายสวย ๆ ได้แล้ว

Rule of Thirds

170519-dtacX3-3

Rule of Thirds หรือ กฎ 3 ส่วน เป็นหลักการจัดองค์ประกอบภาพพื้นฐานที่สำคัญ และช่วยให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจได้ไม่ยาก เพียงแค่วางเส้นสมมุติในใจเพื่อแบ่งสเปซในภาพออกเป็น 3 ส่วน แล้วเลือกจัดตำแหน่งของเส้นขอบฟ้า หรือเส้นวัตถุ ให้อยู่ในอัตราส่วน 1:3 หรือ 2:3 ตามแนวเส้นที่เราแบ่งไว้ เช่นรูปตัวอย่าง ที่เราแบ่งให้แสดงภาพท้องฟ้าเป็นอัตราส่วน 2:3 (ท้องฟ้า 2 ส่วน วิวเมือง 1 ส่วน) ซึ่งช่วยให้ภาพดูมีความน่าสนใจมากกว่าการวางเส้นขอบฟ้าไว้กึ่งกลางภาพ

170519-dtacX3-4

นอกจากนี้ หากเราลองแบ่งพื้นที่ในภาพด้วยเส้นสมมุติในแนวตั้ง ก็จะเกิดเป็นช่อง 4 เหลี่ยม 9 ช่อง หรือที่เรียกกันว่าจุดตัด 9 ช่อง ซึ่งจุดสำคัญที่เหมาะแก่การวาง Object ให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจคือบริเวณจุดตัดทั้ง 4 จุดในภาพ เพราะบริเวณนั้นเป็นจุดที่ดึงสายตาของเราให้สนใจได้มากที่สุด เหมือนในรูปนี้ที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวการจิบกาแฟระหว่างทำงาน จึงเน้นแก้วกาแฟให้เด่นที่สุด และยังมีพร็อพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานวางอยู่รอบ ๆ เพื่อช่วยบอกเล่าเรื่องราวได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

Leading Line

170519-dtacX3-5

การใช้ Leading Line หรือเส้นนำสายตา ถือเป็นอีกลูกเล่นในการจัดองค์ประกอบภาพ ที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพถ่าย ให้ภาพถ่ายของดูมีมิติไม่แบนจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยนำสายตาของผู้ชมให้ไปสู่จุดที่เราต้องการเน้นในภาพถ่าย โดยเส้นนำสายตาในที่นี้จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเส้นขอบทาง, เส้นขอบของสถาปัตยกรรมต่าง ๆ, แนวเส้นที่เกิดจากการเรียงกันของวัตถุ รวมไปถึงเส้นที่เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งเทคนิคการใช้เส้นนำสายตา สามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับกฎ 3 ส่วน หรือ จุดตัด 9 ช่อง เพื่อให้ภาพถ่ายดูสวยงามลงตัวมากขึ้น

170519-dtacX3-6

ตัวอย่างการจัดองค์ประกอบภาพ โดยใช้เส้นนำสายตา ร่วมกับจุดตัด 9 ช่อง

จากพื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพข้างต้น เราอยากให้ทุกคนนำไปฝึกฝนบ่อย ๆ ด้วยการประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริง ซึ่งสามารถนำเอาอุปกรณ์ใกล้ตัวอย่างกล้องโทรศัพท์มือถือ ที่พกติดตัวอยู่ในชีวิตประจำวัน มาเป็นตัวช่วยให้การฝึกปรือฝีมือถ่ายภาพทำได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา

และเมื่อซ้อมมือบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ มีมุมมองในการถ่ายภาพที่เฉียบแหลม การจะต่อยอดไปยังเทคนิคขั้นสูงคงไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนใครที่เป็นสายอุปกรณ์ เราเชื่อว่าพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยให้คุณรีดศักยภาพของอุปกรณ์ระดับเทพในมือออกมาได้อย่างคุ้มค่า และมีความสุขกับการถ่ายภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน

ภาพถ่ายจาก dtac phone รุ่น X3

170519-dtacX3-7

170519-dtacX3-12

170519-dtacX3-9

170519-dtacX3-10

170519-dtacX3-11

170519-dtacX3-8

170519-dtacX3-13

170519-dtacX3-14

170519-dtacX3-15

170519-dtacX3-16

ภาพทดสอบการละลายฉากหลังจาก Dual Camera ของ dtac phone รุ่น X3

170519-dtacX3-20

ในบทความนี้ UNLOCKMEN นำโทรศัพท์  dtac phone รุ่น X3  มาใช้ถ่ายภาพสาธิตการจัดองค์ประกอบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่ดูสวยงาม น่าสนใจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์ใด ๆ มากมาย แค่เริ่มต้นด้วยหลักการจัดวางองค์ประกอบภาพที่ดีก็เพียงพอแล้ว

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line