Life

ฝึกให้แกร่งเหมือนหน่วย SEAL ‘4 วิธีเอาตัวรอดเชิงจิตวิทยา’ในสถานการณ์เสี่ยงตาย

By: PSYCAT April 10, 2018

การฝึกความอดทนในระบบแบบทหารหาญนั้นก็ขึ้นชื่อเรื่องความโหด ท้าทาย กดดันมากพออยู่แล้ว แต่เชื่อว่าถ้าใครที่เป็นพันธุ์แท้เรื่องการฝึกระเบียบวิธีทางทหาร คงไม่มีใครไม่รู้จักหน่วย SEAL เพราะความโหดหินของการฝึกหน่วยรบทำลายใต้น้ำจู่โจมหรือ Navy Seal นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นการฝึกระเบียบวิธีทางทหารที่กดดัน หนักหน่วง และต้องอาศัยความอดทน ความกล้าสูงเป็นอันดับต้น ๆ จนเรียกว่าเจ็บจริง ตายจริง (ใช่ อ่านไม่ผิดหรอก เพราะมีการเสียชีวิตจริงระหว่างการฝึกด้วย) แล้วกว่าจะผ่านมาเป็นหน่วยรบที่แข็งแกร่งที่สุดขนาดนี้ได้วิธีเอาตัวรอดเชิงจิตวิทยาแบบไหนของพวกเขาที่เราควรนำมาใช้บ้าง?

เป็นคนธรรมดามันง่ายไป ต้องแกร่งให้ได้แบบ SEAL

หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ SEAL นั้น ในไทยเป็นหน่วยสงครามรบพิเศษทางเรือ ที่สังกัดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ใช้เวลาฝึกกว่า 7 เดือน มักถูกเรียกด้วยชื่อเล่น ๆ กันว่า มนุษย์กบ

แม้จะเรียกเล่น ๆ แต่การฝึก SEAL ก็แทบไม่ต่างกับการฝึกคนให้กลายเป็นมนุษย์กบที่แท้จริงเพราะการฝึกมีตั้งแต่การมัดมือมัดเท้าแล้วโยนลงทะเลแล้วให้ว่ายน้ำไปหลายกิโลเมตร หรือการให้นั่งแช่ในถังน้ำแข็งขนาดใหญ่เพื่อฝึกความอดทน ไหนจะการฝึกแบบไม่ปล่อยให้มีการนอนพัก การจำลองสถานการณ์หากถูกจับเป็นเชลย ฯลฯ ภารกิจทุกอย่างล้วนมีความอันตรายและได้รับการกดดันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

ดังนั้นการฝึก SEAL จึงเต็มไปด้วยความกดดันหนักหน่วงทั้งด้านสมรรถภาพร่างกาย และความแข็งแกร่งทางจิตใจที่มักจะโดนท้าทายจากสถานการณ์และผู้ฝึกอยู่ตลอดเวลา

ความแข็งแกร่งจิตใจคือเรื่องใหญ่เมื่อชีวิตถูกกดดัน

แม้ร่างกายของมนุษย์จะแข็งแกร่งมากแค่ไหน แต่ถ้าสภาพจิตใจไม่พร้อม ก็จะพาร่างกายห่อเหี่ยว ท้อถอย ไปจนถึงไม่ยอมสู้หรือไม่ตอบสนองขึ้นมาเฉย ๆ ได้ ดังนั้นสภาพจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องดูแลให้แข็งแกร่งมากพอที่จะรับทุกสถานการณ์กดดันในชีวิต

ความน่าสนใจเรื่องความแกร่งทางจิตใจของผู้เข้ารับการฝึก SEAL คือมันดันเป็นวิธีที่พ้องกันกับวิธีที่นักกีฬาโอลิมปิครับมือกับความกดดันในขณะที่พวกเขาลงแข่งขันแล้วมีคนทั่วโลกจับตามอง

งานวิจัยเรื่อง Mental Links To Excellence ซึ่งทำการศึกษาเรื่องการเตรียมร่างกายและจิตใจของนักกีฬาโอลิมปิค โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักกีฬาชาวแคนนาดาจำนวน 235 คน และจากบทสัมภาษณ์ James Waters อดีต Navy SEAL ชาวอเมริกา เมื่อนำมาผสมกันอย่างลงตัว จึงกลายมาเป็นบทสรุปแห่งการเสริมความแข็งแกร่งทางจิตใจที่จะทำให้คุณเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์กดดัน ซึ่งเอามาใช้ในการทำงานก็ได้ ใช้ในชีวิตประจำวันก็ดี

1.พูดเรื่องดี ๆ กับตัวเองบ้างเถอะ

สมองของเราทำงานอยู่ตลอดเวลา การพูดกับตัวเอง การสนทนากับตัวเองโดยเฉพาะการพูดสิ่งดี ๆ 300-1,000 คำต่อนาทีสามารถส่งอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของเราได้จริง ๆ

1 ในผู้ผ่านการฝึกจากหน่วย SEAL เปิดเผยว่าแม้ส่วนที่ยากที่สุดของการฝึกอย่างการถูกมัดแล้วถ่วงน้ำ ถ้าเอาแต่บอกตัวเองซ้ำ ๆ ว่า ตายแน่ เราต้องตายแน่ นั่นจะไม่ช่วยอะไรพวกเขาเลย

ในขณะที่การบอกตัวเองว่า รอดสิ เราต้องรอดไปให้ได้ มีผลมากต่อการฝึก โดยเขาให้เหตุผลว่าความล้มเหลวที่สุดในการฝึกคือการแพนิค การหวาดกลัวไปก่อน แม้แต่ตอนที่พวกเขารู้สึกว่าหายใจไม่ออกอีกต่อไป สิ่งเดียวที่ต้องบอกกับตัวเอง คือ การบอกว่าเราต้องผ่านมันไปให้ได้

แม้สถานการณ์จะต่างกันออกไปมาก แต่ความกดดันในที่ทำงาน หรือสถานการณ์เลวร้ายในชีวิตที่เราต้องรับมือก็สามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ได้เช่นกัน นำเสนองานครั้งหน้า ก็เปลี่ยนจากการบอกตัวเองว่ายากจัง ทำได้ไม่ดีแน่เลย มาเป็นการให้กำลังใจตัวเองกันเถอะ

2.ตั้งเป้าหมายให้ชัด

แม้การตั้งเป้าหมายจะเป็นสิ่งที่งานวิจัยไหน ๆ ก็แนะนำให้เราทำ แต่ส่วนใหญ่เราก็มักหลงลืมมันไป เพราะฉะนั้นนี่คือเวลาที่จะถามตัวเองอย่างหนักแน่นได้แล้วว่า “เป้าหมายอะไรที่เราอยากไปให้ถึงตอนนี้?”

ไม่ต่างอะไรจากผู้เข้ารับการฝึก SEAL พวกเขาจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายให้ตัวเองเช่นกัน แม้จะเป็นเป้าหมายที่ถ้ามองในสายตาคนภายนอกเข้าไปแล้วรู้สึกว่านี่เป็นเป้าหมายที่จิ๊บจ๊อยเหลือเกิน แต่การฝึกสุดทรหดที่กล้ามเนื้อทุกมัดในร่างคอยกระซิบให้เราถอนตัวจากการฝึกทุกวินาที การคิดว่าเป้าหมายของเราคือมีชีวิตรอดไปกินข้าวเย็นก็อาจมากพอที่จะสู้ต่อไปแล้ว

พอ ๆ กับนักกีฬาโอลิมปิคที่ถูกฝึกให้รู้จักมีเป้าหมายในใจว่าวันนี้พวกเขาต้องฝึกมากเท่าไหร่ กินอย่างไร พักได้มากน้อยแค่ไหน

การตั้งเป้าหมายจึงเป็นจุดเล็ก ๆ ที่สำคัญมากในการรับมือกับสถานการณ์กดดัน และนับเป็นการเตรียมความพร้อมให้เรารู้จักวางแผนจัดการชีวิตตัวเองได้อย่างอยู่หมัด

3.มองเห็นภาพตัวเองกับความสำเร็จให้ชัดเข้าไว้

การที่เราบอกว่า คุณ ๆ ลองหลับตาดูสิ แล้วจินตนาการถึงความสำเร็จหรือเป้าหมายที่คุณตั้งใจจะไปถึงเข้านะ จากนั้นค่อย ๆ นึกภาพตัวเองทำทุกสิ่งทุกอย่างทีละขั้น ๆ เพื่อไปให้ถึงตรงนั้น มีข้อแม้ว่าต้องจินตนาการให้เห็นภาพทุกขั้นตอนนะ

หลังฟังจบคุณอาจคิดว่านี่มันวิธีอะไรกัน ทำไมดูเหมือนเรื่องหลอกเด็กอะไรอย่างนี้ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าทั้งนักกีฬาโอลิมปิค และผู้รับการฝึก SEAL เขาก็ใช้วิธีนี้กัน แถมมันเวิร์คด้วยล่ะ!

ทั้งการฝึกสุดโหดและการซ้อมก่อนไปโอลิมปิค พวกเขาได้รับการฝึกให้มองเห็นภาพตัวเองก้าวทีละก้าวไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเพ้อฝัน แต่การมองทีละขั้นจะทำให้เราเตรียมการณ์ล่วงหน้าว่าเราต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง และเตรียมรับมือกับปัญหานั้นไว้ล่วงหน้า เมื่อต้องเจอกับความกดดันจริง ๆ สภาพจิตใจเราก็จะพร้อมมากขึ้น ไม่ลนลานจนสติแตกเกินไปนัก

4.ฝึกฝน เตรียมพร้อม รับรองเวิร์ค

ไม่ใช่แค่การจินตนาการให้เห็นภาพเท่านั้นที่เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อเห็นภาพ เห็นวิธีที่เราจะผ่านสถานการณ์กดดันต่าง ๆ ไปสู่เป้าหมายได้แล้ว เราก็จำเป็นต้องฝึกอย่างหนักภายใต้การจำลองว่าเราอยู่ในสถานการณ์จริงนั้นด้วย

โอเค อย่าเพิ่งงุนงงไป เราจะยกตัวอย่างจากหน่วย SEAL ของสหรัฐอเมริกา เมื่อพวกเขาต้องโจมตีฐานที่มั่นของ Osama bin Laden พวกเขาไม่ใช่แค่ฝึกอย่างหนัก แต่พวกเขาจำลองสถานที่กบดานนั้นขึ้นมาจริง ๆ ทั้งรูปแบบ ขนาดที่ใกล้เคียงกัน เพื่อฝึกจำลองว่าพวกเขาได้อยู่ในสถานการณ์อันแสนกดดันนั้น

แม้เราจะไม่ต้องจำลองสถานการณ์ถึงขนาดทำแหล่งกบดานขนาดเท่าแหล่งจริง แต่ความกดดันในการเสนองาน การประชุม การพบลูกค้าคนสำคัญ หรือการสัมภาษณ์งาน การจำลองว่าเราอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ แล้วฝึกบ่อย ๆ ก็จะยิ่งช่วยให้เราผ่านความกดดันไปได้ดีขึ้นแน่ ๆ

ความกดดันเจียนตายเหมือนได้ไปฝึกรบ หรือการแข่งขันกีฬาที่คนทั่วโลกจับตามอง เราอาจไม่ได้มีโอกาสไปสัมผัสง่าย ๆ แต่การเรียนรู้และนำเทคนิคเดียวกันกับพวกเขาเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันที่ก็กดดันไปคนละแบบก็เป็นเรื่องที่เราทำได้และควรทำให้ดีที่สุดในแบบของเราด้วยเช่นกัน

 

SOURCE1SOURCE2SOURCE3SOURCE4

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line