Business

Conversation : รู้จัก TEDxBangkok กลุ่มคนไฟแรง ที่มุ่งผลักดันไอเดียดีๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

By: Chaipohn July 5, 2016

เราเชื่อเหลือเกินว่าถ้าถามคนส่วนใหญ่ “เวลาว่างหลังจากการทำงานหรือเรียน คุณจะเอาไปทำอะไร?” หลายคนคงจะตอบว่าพักผ่อน นอนหลับ เลือกทำในสิ่งที่ชอบ หรือเลือกหารายได้เสริมอีกหลายๆ ทาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอยากพบหน้าและนั่งพูดคุยกับคุณโอ—อรรณวุฒิ ลีไพศาลสุวรรณา หนุ่มวัยรุ่นที่มีความคิดไปไกลกว่าอายุ และยังเป็น License Holder ที่เปรียบเสมือนแม่ทัพหลักของ TEDxBangkok เกี่ยวกับมุมมองและเหตุผลในการใช้เวลาส่วนตัวของทั้งตัวเองและทีมงานคุณภาพมากมายจากหลากหลายสายอาชีพ เพื่อมาเป็น Volunteer ในการผลักดันให้ไอเดียดีๆ ได้เป็นที่รู้จักในสังคมไทย โดยที่ไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเงินแม้แต่บาทเดียว

สำหรับคนที่ชอบดูมากกว่าอ่าน ด้านล่างคือคลิปวีดีโอที่เราสรุปมาให้ แต่ถ้าอยากได้รายละเอียดเต็มๆ แนะนำให้อ่านด้านล่างเพิ่มเติมเพื่อรายละเอียดที่ครบถ้วนครับ

ทำยังไงถึงได้นำ TED Talks เข้ามาสู่กรุงเทพได้?  

“เมื่อ TED Talk ประสบความสำเร็จที่ฝั่งอเมริการ และยุโรป ผู้คนต่างเล็งเห็นถึงประโยชน์และศักยภาพของการจัดงานรูปแบบนี้ แต่การที่จะจัด TED talks ไปทั่วโลกคงทำได้ยาก จึงเปิดเป็น platform ออกมาชื่อ TEDx ให้คนทั่วไปสามารถสมัครเข้าไปขอ license มาจัดในระดับ local ได้ ซึ่งการขอ license จะต้องปฏิบัติตามกฏต่างๆ หนึ่งในนั้นคือชื่อของ TEDx จะต้องผูกพันธ์กับท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ชื่อเมือง หรือ ชื่อถนน เช่น TEDxBangkok TEDxChiangmai หรือ ถ้ามีคนอยากจะจัด TEDxSilom ก็สามารถขออนุญาตได้”

TEDxBangkok มีวิธีเลือก theme ไอเดียที่จะนำเสนออย่างไร

“เดิมที TED มาจากคำว่า Technology / Entertainment / Design ก็จริงแต่เดี๋ยวนี้ จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ สิ่งที่ TED focus ตอนนี้คือ “multi-disciplinary” คือทำยังไงก็ได้ให้เกิดความหลากหลายมากที่สุด ฉะนั้นเวลาตั้ง theme จะเป็นโจทย์ใหญ่ๆ ครอบลงมาเลยว่าปีนี้มีอะไรในสังคมที่น่าสนใจ อย่างเช่นปีนี้เราใช้ชื่อ theme ว่า “Learn-Unlearn-Relearn” ซึ่งมีที่มาจากการที่ทีมงานท่านหนึ่งไปอ่านเจอ Quote ของ Alvin Toffler นักเขียนชาวอเมริกันที่ว่า “Tomorrow’s illiterate will not be the man who can’t read; he will be the man who has not learned how to unlearn.” หรือคนที่ไม่รู้หนังสือในโลคยุกใหม่ไม่ใช่เพราะเขาอ่านไม่ออก แต่เป็นเพราะเขาไม่สามารถ “unlearn” สิ่งที่เคยเรียนรู้มาทั้งหมด และ “relearn” สิ่งใหม่ที่อาจจะขัดแย้งกับความรู้เดิมๆของเขาได้ เลยรู้สึกว่า idea นี้ตอบโจทย์กับ TED มาก เพราะทุก idea ที่ควรจะ unlearn-relearn จะต้องเป็น idea ที่ worth spreading แน่”

160705-tedxbkk-1

TEDxBangkok มีวิธีการคัดเลือก Speaker อย่างไร

“ในทีมเราจะมีแบ่งเป็นทีมย่อย เช่น Production, Art Direction และทีมที่ดูเรื่อง speaker ซึ่งทีม speaker จะเป็น committee มีอยู่ด้วยกัน 10 คน มีความหลากหลายตั้งแต่ บรรณาธิการนิตยสาร น้องจบใหม่สาขาสถาปัตย์ฯ หรือคนที่มาจากมูลนิธิทำงานเพื่อสังคม นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงผู้บริหารบริษัทมหาชน

จาก theme ที่เราเลือกปีนี้เราจึงมาคิดว่าทำอย่างไรให้ multi-discipline มากที่สุด จึงสรุปกันออกมาว่าปีนี้น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ issue ต่างๆ ในสังคมไทย เช่น วัฒนธรรม, ธุรกิจ, Interactive Art หรือ innovation ที่ใช้ได้จริง เมื่อได้ topic แล้ว เราจึงเปิดให้บุคคลทั่วไปเสนอชื่อเข้ามา โดยปีนี้จะแตกต่างจากปีก่อนคือ แทนที่จะแนะนำ speaker โดยตรง เราให้เสนอ idea ขึ้นมาก่อนแล้วจึงให้คนเสนอว่า idea นี้ใครควรจะเป็นผู้พูด ปีนี้เราได้รายชื่อเข้ามา 300 คน จากนั้นทีม speaker จะไป research ว่าแต่ละ speaker เป็นอย่างไร มีอะไรน่าสนใจ แล้วให้ทีมงานกลับมา pitch แข่งกัน ทั้งหมดเราใช้เวลาไปประมาณ 2 เดือนกว่าจะได้ชื่อ speaker สุดท้าย”

ตอนนี้ TED THAILAND มีพนักงานทั้งหมดกี่คนแล้ว เข้าใจว่า TED เป็นองค์กร NON-PROFIT ORGANIZATION ทำอย่างไรถึงมีอาสาสมัครได้เยอะขนาดนี้

“ตอนนี้มี 56 คนที่ประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์ เป็น volunteer ทั้งหมด เราเปิดรับสมัครทาง facebook ประกาศเหมือนรับสมัครงานบริษัทเลยครับ มีชื่อตำแหน่ง อัตรา job description แล้วก็ให้คนสมัครเข้ามา ปีนี้มีคนสมัครเข้ามา 280 คน แล้วเรามาคัดเลือกเหลือ 56 คน

อย่างที่บอกว่าพวกเราเป็น  Volunteer  จึงไม่มีใครได้ financial compensation แต่มี benefit ด้านอื่น เช่น dinner / workshop / team building หรือ opportunity to learn เช่นเราจะจัด workshop ในทีมกันเอง เพราะเรามีความรู้มาจากหลากหลายวงการ เช่น workshop ที่เรากำลังจะจัดคือ how to curate speaker, leadership workshop และ communication”

160705-tedxbkk-2

Volunteer  ทุกคนแบ่งเวลางานประจำ กับเวลาสำหรับทำ TED ในฐานะ Volunteer อย่างไร

“สิ่งที่ผมสังเกตเห็นกลับตรงกันข้าม (คือไม่รู้สึกว่าต้องแบ่งเวลา) หลายคนที่เข้ามาทำ TED เพราะรู้สึกว่างานประจำที่ทำอยู่ไม่เติมเต็มสิ่งที่ตัวเองมองหาได้ทั้งหมด กลายเป็นว่าการทำ TED คือสิ่งที่หล่อเลี้ยง ทำแล้วได้ fufill  ตัวเอง เป็นสนามเด็กเล่นของคนไฟแรง เมื่องานประจำไม่ตอบโจทย์​ เลยมาปล่อยของที่นี่ มีพี่ๆทีมงานบางท่านบอกว่า การทำ TED กลับให้ความรู้สึกเหมือนเป็นงานประจำ แต่การทำงานประจำกลับให้ความรู้สึกเป็นงานอดิเรก”

เป้าหมายหลักของ TED ในเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง คาดหวังว่าจะสร้าง หรืออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทย

“เราอยากให้คนได้เห็นความหลากหลายทางความคิด ตามปกติเรามักจะ focus เฉพาะในสิ่งที่เราทำ ในงานที่เราทำ สิ่งที่เราเสพ ก็จะอยู่แต่ใน circle เดิมๆ การมาฟัง TED ทำให้เรารู้สึกว่ายังมีเรื่องอีกมากมายให้เรียนรู้ มีอีกหลายมุมมองมากที่เราไม่เคยนึกถึง ให้เราตระหนักถึงความแตกต่าง และเข้าใจกันมากขึ้น

แต่ที่ TED ทุกอย่างจะต้องมีความหมาย มีความหมายที่เรียกว่า  ideas worth spreading, มีความหมายยังไงต่อสังคมไทย ให้คนที่มีไอเดียดีๆ เป็นคนมีของ ได้มีโอกาสพูด ซึ่งพื้นที่สื่อปกติมักจะไม่เคยพูดถึง”

มีอะไรแตกต่างกันบ้างระหว่าง TED ไทย กับ TED เทศ

“Goal หรือ objective เหมือนกัน คือต้องการเผยแพร่ ideas worth spreading สิ่งหนึ่งที่ต่างกันคือวิธีการทำงาน พอเป็นการทำงานระดับ local ในประเทศไทย เราเจอ culture และ background ที่ต่างกัน วิธีการทำงาน หรือสิ่งที่เรายกขึ้นมาพูดก็ต่างกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าต่างกันมากๆ มาจากตอนที่เลือก speaker และได้ไปคุยกับ speaker หลายๆท่านจากหลากหลายวงการก็พบว่า สิ่งที่แตกต่างคือ “focus ของ content ที่ speaker พูด” TED เมืองนอกจะมองไปข้างหน้า จะพูดถึงวิทยาการใหม่ๆ innovation ใหม่ๆ trend  ที่กำลังจะเปลี่ยนไป เราจะรับมือกับมันได้อย่างไร เป็นการมองไปข้างหน้า

แต่คนไทย focus กับการแก้ปัญหาที่มีในปัจจุบัน แม้กระทั่งเป็นนักวิจัย หรือนักออกแบบ ที่ต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา ก็ยัง focus กับปัญหาปัจจุบัน ทำอย่างไรจึงจะปลดแอกออกจากปัญหาที่ขลุกอยู่ตรงนี้ได้ ทำให้เราไม่สามารถมองไปข้างหน้าได้ รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่ก็หดหู่เหมือนกัน”

ถอดความเทพพนม | พิเชษฐ กลั่นชื่น | TEDxBangkok

ถอดความเทพพนม | พิเชษฐ กลั่นชื่น | TEDxBangkok

นอกจาก “School kill creativity” ของ Sir Ken Robinson’ และ “Stats that Reshape Your Worldview.” ของ Hans Rosling ที่เราทราบมาว่าเป็น 2 TEDs ที่ทำให้คุณโอเริ่มสนใจ TED แล้ว มีผลงาน TED Talks ของไทยอันไหนที่คุณโอประทับใจที่สุด

“ที่ชอบที่สุดคือ clip ของ พี่พิเชษฐ กลั่นชื่น หลายคนจำชื่อกันไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าคนที่เอารองเท้าวางไว้บนหัว จะต้องนึกออกแน่นอน เพราะพี่เค้ากล้าที่จะพูดในสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งตรงกับ concept ของ TED ว่า idea หนึ่งที่ควรจะขึ้นพูดคือ idea ที่ต้อง defend ตัวเอง เป็น idea ที่ไม่ได้ถูกยอมรับในสังคม มันคือการนำเสนอความหลากหลายทาง idea ว่ายังมีชุดความคิดนี้อยู่ในสังคมนะ ผนวกกับการที่เขาเป็นนักออกแบบท่าเต้น มีทักษะในการส่งพลังให้กับผู้ชม ทำให้การนำเสนอออกมาน่าสนใจและกระแทกใจเรามาก

ในทางตรงกันข้าม สอีก talk ที่ชอบ จะเป็น talk ที่มีวิธีนำเสนอตรงกันข้ามกัน คือ talk ปลูกความคิดวิทย์วัยเด็ก ของ ดร. พงศกร สายเพชร  นักฟิสิกส์ที่จบมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในอเมริการ แต่ผันตัวมาเป็นครูอนุบาล ด้วยเหตุผลว่าวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานสำคัญของสังคม ซึ่งจำเป็นมากที่ต้องเริ่มสอนตั้งแต่วัยอนุบาล สิ่งที่น่าสนใจคือ วิธีสอนเป็นการทดลอง ไม่ใช่การเรียนในห้องเรียน แม้กระทั่งเราดูยังรู้สึกตื่นเต้น เด็กอนุบาลคงสนุกไม่แพ้กัน สิ่งที่น่าประทับใจคือ แม้ไม่ได้เป็นคน present เก่ง แต่ก็สามารถส่งต่อ idea ให้น่าสนใจได้ วิธีการถ่ายทอดไม่จำเป็นต้องยืนสง่าผ่าเผยเสมอไป”

หลายคนบอกว่า ในไทยไม่ค่อยมีคนพูดที่ดีเท่ากับที่ฝรั่งพูด จริงหรือ?

“เราคิดกันเยอะในเรื่องการเลือก speaker ว่าจะเชิญคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วหรือไม่มีชื่อ แต่แนวทางที่เราเลือกคืออยากได้คนที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสังคมมากกว่า เพราะเราอยากให้คนที่มีไอเดียแต่ไม่มีพื้นที่ได้มีเวทีของเขา
ต่อคำถามนี้ เรากำลังเปรียบเทียบกับอะไร ถ้าเรากำลังเปรียบเทียบกับ หมื่นๆ TED Talks ที่มีอยู่ทั่วโลก แล้วเราหยิบขึ้นมา 18 talks จากจำนวนหมื่นๆนั้น มาเทียบกับ 18 talks ที่จัดใน TEDxBangkok แล้วเราจะ expect ให้ตรงใจเราหมดเหมือนกัน อย่างนั้นหรือ?

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นและประทับใจมากกับการได้จัดงานนี้คือ แม้เป็น talk ที่คิดว่าพูดไม่ดีเลย แต่ถ้าลองหันไปถามคนที่นั่งข้างๆ จะพบว่าแต่ละคนชอบ talk ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละ talk จะมีคนชอบ talk นั้นเสมอ

สิ่งที่เราพยายามผลักดันคือ ทำให้คนที่มาร่วมกันฟัง จากหลากหลายสาขา ได้มาดู talk ชุดเดียวกัน แล้วเดินออกจากห้องไปถามกันเองว่า talk ไหนที่เขาชอบมากที่สุด รับประกันได้เลยว่าส่วนใหญ่จะชอบ talk ไม่เหมือนกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วประทับใจที่สุดในงานคือ พอเราได้รู้ว่าคนอื่นชอบ talk ไม่ตรงกับเรา และเผลอๆ เกลียด talk ที่เราชอบด้วยซ้ำ การได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ทำให้ภาพความเป็นมนุษย์ของเราเติมเต็มขึ้น ทำให้กรอบความคิดของเรากลมขึ้น”

160705-tedxbkk-4

คิดว่าการสร้าง TED ในเมืองไทยประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง มีอะไรที่อยากปรับปรุงให้ดีขึ้น

“ผมคิดว่าจัดงานลักษณะนี้ ต้องใช้เวลา การที่จะปั้นให้โด่งดังข้ามคืนคงไม่จีรัง คิดว่าตอนนี้ก็ยังเป็นช่วงการทดลอง เช่น ปีที่แล้วทดลองเปิดขายบัตร ทั้งที่ยังไม่ประกาศรายชื่อ speaker หรือขั้นตอนการซื้อบัตร ก็ไม่ใช่ว่าจะจ่ายเงินแล้วซื้อได้ แต่ต้องกรอกข้อมูลตัวเอง พร้อมความคาดหวังว่าฟังแล้วจะได้อะไรกลับไป ถึงจะซื้อได้
ปรากฏว่าได้รับผลตอบค่อนข้างดี ทำให้เราประสบความสำเร็จ และได้เรียนรู้ว่าคนไทยพร้อมจะเปิดรับกับการเสพข่าวสาร ตราบใดที่เป็น content ที่น่าสนใจ”

คิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ TED Thailand จะมีทิศทางยังไงต่อไป จะขยาย จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในองค์กรหรือรูปแบบอย่างไรบ้าง?

“สุดท้ายพวกเราต้องการให้ TEDxBangkok ไม่ได้เป็นแค่ event พูด แต่เราต้องการให้เป็น content platform ที่เป็นศูนย์รวม เป็นสื่อการเรียนรู้ ให้คนมา refer ไปใช้ ซึ่งเริ่มเห็นแล้วว่าเป็นไปได้ เช่น ปลายปี 2015 มีดราม่าใน Pantip ว่าเรียนวิทยาศารตร์ไปทำไม หนึ่งใน comment มาตอบด้วยการให้ไปดู clip ของ ดร.ต่าย นิศรา ที่มาพูดเมื่อ 6 เดือนก่อน”

สุดท้าย ถ้าคุณโอสามารถเลือกได้ว่าจะ UNLOCK POTENTIAL ของคนไทยได้แค่ 1 ข้อ จะเลือก UNLOCK อะไร 

“คิดว่าคนไทยเป็นชาติที่เข้าอกเข้าใจกัน แต่คิดว่าเข้าใจกันแค่ความรู้สึกอย่างเดียวยังไม่พอ สิ่งหนึ่งที่ควร UNLOCK คือ เราอยากให้คนไทยเข้าใจกันทางความคิด โดยเฉพาะความคิดที่แตกต่าง ถ้าเราเข้าใจความคิดที่แตกต่างของผู้อื่นได้ รู้ว่าเขาคิดแบบนั้นเพราะอะไร เข้าใจมุมมองของเขา และเข้าใจว่าสิ่งที่เราเห็นแตกต่างกันมันไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะเป็นเรื่องที่ผิด ก็จะมีผลดีมากทั้งการทำงานและสังคม เพราะเราคงไม่มานั่งเถียงกันโดยไม่มีข้อสรุปอีกต่อไป ซึ่งตรงกับสิ่งที่ TED กำลังทำ คือการนำเสนอ idea ที่หลายหลายครับ”

เวลากว่าครึ่งชั่วโมงที่เรานั่งคุยกับคุณโอ เรารู้สึกได้เลยว่าเป็นคนคนที่มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในความคิดที่ดีจริงๆ สมกับที่เราพยายามติดตามหาคิวมาหลายวัน สำหรับคนที่อยากติดตาม Speaker คุณภาพ หรืออยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีม Volunteer เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองท่ามกลางทีมบุคลากรดีๆ และช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทำให้ทุกคนเข้าใจและยอมรับในความคิดที่แตกต่างกันของคนในสังคม สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook page : TEDxBangkok

160705-tedxbkk-5

ขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ   BEESTON CAFE

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line