Life

เทพพงษ์ หงศรีเมือง ศิลปะ ความงาม สุนทรีย์ และครอบครัว

By: unlockmen August 26, 2016

ศิลปิน อาชีพเท่ๆ ติสท์แนวๆ ที่เชื่อว่าใครหลายคนคงใฝ่ฝันอยากจะเป็นกันไม่น้อย ยิ่งวันนี้โลกยุคอินเตอร์เน็ต ทำให้เราเข้าถึงเรื่องของศิลปะได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่อยู่แต่ในแกลเลอรีเหมือนแต่ก่อน สมัยนี้หอศิลป์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และคนรุ่นใหม่ก็สนใจศิลปะกันมากขึ้น

เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นงานสไตล์ไหนมันก็มีความสวยงามในแบบของมัน จนวันหนึ่งเราไปเจอกับงานภาพพิมพ์แกะไม้ ขนาดใหญ่ ที่พูดเรื่องวิถีชีวิตชนบทในหอศิลป์ใจกลางเมือง ด้วยภูมิหลังที่ต่างกันเราทำให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน เราเชื่อว่าจะช่วยเติมเชื้อไฟในจิตใจคุณได้ไม่มากก็น้อยไม่ว่าคุณจะทำสิ่งใด

ในครั้งนี้ UNLOCKMEN จึงอยากจะแนะนำศิลปินสไตล์ Woodcut กับ “เทพพงษ์ หงส์ศรีเมือง” หนุ่มร้อยเอ็ดมุ่งมั่นมานะพากเพียร จนผลงานของเขาได้ไปแสดงต่างประเทศมาแล้วอย่างประเทศจีน ไต้หวัน โปแลนด์ และ ไอร์แลนด์เหนือ

160821-life-Teppong-woodcut-artist-11
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่

ตอนนี้ก็ศึกษาปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรครับ เป็นสาขาวิชาภาพพิมพ์เหมือนเดิมที่ตอนเรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ

การเรียนศิลปะเป็นความฝันอันดับแรกในวัยเด็กของคุณเลยหรือเปล่า

ตอนเด็กๆ เลยความใฝ่ฝันเนี่ย ไม่ได้มีความคิดด้านศิลปะเลย ตอนนั้นคิดแค่อยากจะเป็นอะไรก็ได้ ที่สามารถหาเงินมาดูแลพ่อแม่ได้ ศิลปะเนี่ยไม่ได้มีความคิดอยู่ในหัวเลยว่าจะเรียน คืออยากจะเป็นนักกีฬาทีมชาติ อยากเป็นทหาร เรียกได้ว่าอยากเป็นอะไรก็ได้ที่มีเงินเดือนประจำ

160821-life-Teppong-woodcut-artist-7

แล้วมาทำศิลปะจริงจังเลยได้อย่างไร

คือต้องย้อนไปตอนสมัยเด็กๆ มันก็เหมือนจะมีพรสวรรค์เล็กๆ เกี่ยวกับการวาดรูปแต่ก็ไม่ได้ถนัดมาก ตอนนั้นเป็นนักกีฬาโรงเรียนด้วยไม่มีเวลามาคิดเรื่องศิลปะเลย (หัวเราะ) ต้องเรียนหนังสือแล้วก็เล่นกีฬาไปด้วย จริงจังกับกีฬามากๆ จนเรียนไม่ทันเพื่อน เกรดก็ต่ำ จนพอช่วงใกล้จะจบ ม.6 ก็เริ่มมานั่งคิด  จะเอายังไงกับชีวิตดีวะ ตัวเลือกมีให้ไม่มากแล้ว เราก็เลยมองกลับมาหามันเนี่ยแหละกับศิลปะ ก็ใช้โควต้านักกีฬาสอบตรงไปที่ คณะวิจิตรศิลป์ มช ตอนปี 1 ก็ยังไม่ได้แน่ใจอยู่ดีระหว่างศิลปะกับกีฬา แต่ว่ากีฬาทำยังไงดีความสามารถเราก็ยังไม่เด่นพอ และตอนนั้นร่างกายก็มีการบาดเจ็บอีกไปผ่าหัวเข่ามาด้วย แต่ตอนนั้นงานด้านศิลปะเรียกได้ว่าดีขึ้น ก็เลยได้ทุ่มเวลาให้มันจริงๆ ตอนนั้น

160821-life-Teppong-woodcut-artist-12

เทคนิค Wood Cut คืออะไร แล้วคุณเริ่มมาได้ยังไง ทำไมถึงสนใจเทคนิคนี้

ตอนแรกเลยก็ยังไม่รู้ว่าเทคนิคของภาพพิมพ์เนี่ย มันเป็นยังไง ที่รู้เป็นอันดับแรกเลยก็คือ monoprint แต่พอทำไปก็เริ่มมาคิดมันมีสารเคมีเยอะแยะมาก เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่าเราไม่ชอบ พอตัวต่อมาที่ได้เรียนคือเทคนิค woodcut พอเรียนแล้วแบบ เห้ย เรารู้สึกว่าเราชอบเทคนิคนี้ มันเหมือนถูกชะตากับเทคนิคที่ใช้พลังเยอะๆ (หัวเราะ) การแกะ การใช้เครื่องมือที่มันคมอะไรแบบนี้ มันเป็นการควบคุมของเครื่องมือที่มันมีการใช้พลังเยอะ สำหรับผู้ชาย และเทคนิคนี้มันไม่ได้ใช้สารเคมีเยอะ ผมคิดว่ามันคล้ายๆ กับ drawing นะ แต่เราใช้เครื่องมือที่มันมีความแหลมคมเนี่ย drawing แทนดินสอ มันก็เลยมีเสน่ห์ตรงนี้ และทำให้ผมหลงไหลในความประณีตกับพลังของมัน

160821-life-Teppong-woodcut-artist-8


ชอบทำงานสไตล์ไหนเป็นพิเศษ เห็นว่าชอบแกะงานชีวิตหรือความสงบ ช่วยเล่าให้ฟังถึงที่มาของงานให้ฟังหน่อย

ผลงานตอนแรกๆ  คือ พูดตรงๆ เราไม่ได้เรียนจากสายตรงมา เป็นแค่นักเรียนจากสายสามัญ แล้วทีนี้พื้นฐานเรามันยังไม่มีเหมือนคนอื่นเขา ที่เขามาจากอาชีวะหรือจบจากช่างศิลป์มา เราก็ใช้ความรู้สึกที่เรามีต่อการรักษ์บ้านเกิด มาสื่อในงานศิลปะของเรามากขึ้น ก็เลยเริ่มศึกษา และหยิบจับเรื่องพวกนี้ มาเป็นตัวสื่อของผลงาน

คือตอนแรกๆ เลยงานจะเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวอีสาน ก็จะเป็นพวกสถาปัตยกรรมของอีสาน บ้านช่องต่างๆ บ้านไม้เก่าๆ วิวทิวทัศน์ของทุ่งนา วิถีชีวิตของคนชนบท ทำไร่ไถนาเลย คือเราโตมาจากแบบนี้ จนมาถึงช่วงกลางๆ ของการทำงานศิลปะ เริ่มจะคลี่คลายจากการทำ landscape พวกวิถีชีวิตต่างๆ มาเป็นลักษณะของกึ่ง abstract ก็คือ เลือกเจาะแค่บางส่วน เลือกมุมใดมุมหนึ่งของพื้นที่นั้นๆ นำมาสร้างเป็นผลงาน คือที่เราไปเนี่ยเป็นช่วงผลงานตอนเรียนอยู่ที่ มช นะ

พอจบจาก มช มาต่อ ปริญญาโทเนี่ย สไตล์งานก็เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จากวิถีชีวิตชนบทธรรมดาๆ กลายมาเป็นวิถีของคนที่มาทำงานในเมือง ที่เขาอาศัยอยู่กลางเมืองหลวงเนี่ย แต่ยังใช้วิถีของความเรียบง่ายอยู่ ก็เลยยกประเด็นของคนงานก่อสร้าง แคมป์คนงานมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

160821-life-Teppong-woodcut-artist-3
160821-life-Teppong-woodcut-artist-1

ตัวงานของคุณอยากจะบอกอะไรกับสังคมหรือเปล่า

คือตั้งแต่แรกๆ สิ่งที่เราอยากจะสะท้อนให้สังคมได้ตระหนัก ก็คือการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ก็อยากให้คนที่เข้ามาทำงานในเมืองเนี่ย ให้เขาได้ระลึกถึงบรรยากาศวิถีชีวิตต่างๆ ของชาวบ้าน คือบางทีเขาไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้ อาจจะไม่มีเวลากลับบ้าน อาจจะคิดถึงวิถีชีวิตตรงนั้น เราก็เลยหยิบขึ้นมาให้มันสื่อถึงความเป็นพื้นบ้านท้องถิ่น ให้เขาได้เห็นและซาบซึ้งไปกับผลงานของเรา

งานชิ้นไหนที่คุณภูมิใจที่สุด และคุณประทับใจงานนั้นเนื่องจากอะไร

มันมีงานอยู่ชุดหนึ่งคือเป็นผลงานแกะไม้ชิ้นแรกที่เราตั้งใจทำส่งประกวด มันเป็นจุดที่ทำให้มีแรงฮึดที่จะทำงานศิลปะ เป็นการส่งประกวดครั้งแรกด้วยคือศิลปกรรมรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 30 ปรากฏว่าได้รางวัลสนับสนุน มันคือจุดเปลี่ยนของชีวิตเลย คือมันทำให้ใจเรารู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาว่า เห้ย! เราต้องทำงานศิลปะต่อไป มันมีหนทางที่จะไปต่อแล้ว เป็นบันไดก้าวแรกเลยก็ว่าได้ ถึงไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุดนะ แต่มันก็คือผลงานที่ภูมิใจที่สุดของผม คือไฟดวงเล็กๆ ที่จุดประกายขึ้น

maccc

“ผูกพัน” รางวัลสนับสนุน ศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปิลรุ่นเยาว์ครั้งที่ 30

พอได้รับรางวัลชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหม

อืมม (นั่งคิดสักครู่) ก็มันมีคนรู้จักเรามากขึ้น เวลาไปดูงานศิลปะก็มีคนเข้ามาทักมากขึ้น ถามว่าเปลี่ยนไปไหม คิดว่าเปลี่ยนไปนิดนึงนะ แต่การใช้ชีวิตของเราก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้คิดว่าพอได้รางวัลแล้ว จะต้องโอ้อวด หรือว่างานของเราดีสุดๆ แล้วมันไม่ใช่ ก็คือยังทำงานศิลปะเนี่ยทุกวัน เล่นกีฬา ถึงผ่าเข่าไปผมก็ยังเล่นกีฬาออกกำลังกายเหมือนเดิมนะ ถึงแม้จะไม่ได้หนักเท่าเก่า (หัวเราะ) เล่นแล้วมันผ่อนคลายสมอง มันปลอดโปร่ง คิดอะไรได้หลายอย่างขึ้น

160821-life-Teppong-woodcut-artist-6

ทุกวันนี้จากความชอบ เปลี่ยนเป็นธุรกิจได้แล้วหรือยัง? จากการจัดงาน? จากการขายงาน? หรือมีความคิดจะเปิดสอน workshop ของตัวเองบ้างไหม?

ในทางธุรกิจหรอ มันก็มีบ้างแหละ คนที่ทำงานศิลปะเราเชื่อว่าทุกคนก็หวังที่จะขายผลงานได้ เพื่อที่จะเอามาต่อยอดผลงาน หรือว่าเลี้ยงชีพใช่ไหม พอมีอยู่ในหัวบ้าง ก็เคยวางแผนนะว่าอนาคต อยากจะเปิดสตูดิโอทำ workshop แล้วก็ทำผลงานขึ้นมาเพื่อที่จะให้คนมาสนใจ และก็ติดต่อซื้อขายเนี่ยมีแน่นอน คือผมคิดว่าศิลปินทุกคนก็ต้องมุ่งหวังให้มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้วว่าต้องทำงานศิลปะ เพื่อที่จะขายได้ แล้วก็นำมาเลี้ยงชีพตัวเองก็ต้องหมุนเงินอยู่อย่างเนี่ย ก็มีจัดแสดงงานบ้าง มีติดต่อซื้อขายกันบ้างทั้งนั้นแหละ

160821-life-Teppong-woodcut-artist-9

คิดอย่างไรกับคำถามว่า “เรียนศิลปะจบไปทำอะไรกิน” อยากจะบอกอะไรกับเด็กสายอาร์ตที่กำลังจะเลือกเรียนด้านนี้แต่พ่อแม่ห้ามปรามไหม?

อันดับแรกเลยคนที่เรียนศิลปะเนี่ย มันต้องขยันหมั่นฝึกฝนตนเองไปเรื่อยๆ คำว่าศิลปะจบแล้วไปทำอะไรหรือว่าไปไหนอย่างงี้ จะแนะนำว่าอยากให้ทุกคนมุ่งมั่นในสิ่งที่ตนเองทำไว้ก่อน คือผลลัพธ์ที่มันจะออกมาเนี่ยมันมีชัดเจนอยู่แล้วว่า คุณทำผลงานของคุณตรงนั้นเยอะพอหรือเปล่า ใส่ใจกับมันมากพอหรือเปล่า ส่วนผลลัพธ์ที่มันจะออกมาเนี่ย มันจะสะท้อนจากความตั้งใจความมุ่งมั่นของคุณเองเนี่ยแหละ ไม่ใช่อะไรที่ไหน

คือมันก็มีทั้งประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ คือจริงๆ การประสบความสำเร็จในชีวิตมันไม่ได้อยู่ที่ว่าการได้รางวัลเยอะ คุณมีผลงานที่โดดเด่นไหม แต่ผมมองว่าการประสบความสำเร็จในที่นี่ว่า คุณทำมันแล้วมีความสุขไหม ถ้าคุณทำแล้วมีความสุขเนี่ยแหละคือความสำเร็จของคุณแล้ว กับการทำงานศิลปะ อย่างผมก็คิดว่าผมประสบความสำเร็จนะ แต่ผมมีความสุขที่สิ่งที่ผมทำและตั้งใจใช้มันเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ไม่ได้จำเป็นต้องร่ำรวยล้นฟ้าอะไรขนาดนั้น

160821-life-Teppong-woodcut-artist-16

มองตัวเองอย่างไรในฐานะศิลปินกว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้นะ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

คือ จากที่รู้จักศิลปินหลายๆ ท่าน จากที่เขากว่าจะมาถึงขนาดนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยอย่าง อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ที่ผมได้เข้าไปศึกษากับท่าน คืออาจารย์แกเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเนี่ยบ้านอาจารย์ยากจนมาก ไม่มีเงินที่จะเรียนด้วยซ้ำ ก็คือไปนอนที่วัด คือขอข้าววัดกินเพื่อที่จะเรียนหนังสือ สู้กับชีวิตที่ต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่ก็ทำนา ไม่มีเงินที่จะส่งเรียน ตอนเช้าต้องไปทำนากับพ่อแม่ก่อนแล้วค่อยไปเรียนหนังสือ เป็นแบบนี้ทุกเช้า

จนมาถึงขณะที่เรียนช่างศิลป์ก็ยังต้องไปขอข้าววัดกิน ไปเป็นเด็กวัด อยู่กับหลวงพ่อตลอด จนวันนึงก็ได้ทุนมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้เป็นศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ได้ช่วยแกมาตลอด จนมาถึงได้ทุนไปที่อิตาลีจนมาเป็น อาจารย์ประหยัด คงดำ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ภาพพิมพ์ พ.ศ. 2541) อย่างที่ทุกคนจดจำในทุกวันนี้

ชีวิตผมก็เรียกได้ว่ามีแกเป็นไอดอลเลยก็ว่าได้ คือการใช้ชีวิตที่มันยากลำบาก ชีวิตผมก็ยากลำบากมาก่อน ตอนนี้ก็ยังลำบากอยู่ พ่อแม่ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เราก็สู้ชีวิตมาด้วยกัน พูดตรงๆ เลยว่าเราคุยกับแม่ทุกวัน ทำไมชีวิตเรามันลำบากขนาดนี้ คือคุยทุกวัน ร้องไห้กันทุกวัน ว่าชีวิตของครอบครัวเราเมื่อไหร่มันจะดีขึ้น ก็เลยเป็นจุดหนึ่งให้ผมคิดได้ว่า ถ้าจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่กับทุกอย่างที่ต้องทำ มีคนข้างหลังเขารออยู่ไง มีพ่อแม่พี่น้อง อันนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจหลักเลยนะ ในการสร้างผลงาน ก็คือเรื่องพ่อเรื่องแม่เรื่องครอบครัวนี่แหละ

160821-life-Teppong-woodcut-artist-23

ภาพถ่ายคู่กับอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ / ภาพผลงานของอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ

เล่าให้ฟังหน่อยว่า เวลาคิดงานไม่ออกหรือมีปัญหาต่างๆ มีวิธีหาทางออกอย่างไร

มันจะมีหลายอารมณ์ ถ้าสมมุติ ว่าคิดงานไม่ออก เราจะไปท่องเที่ยวในที่ๆ เราอยาก เพื่อจะได้แรงบันดาลใจให้เกิดผลงานชิ้นใหม่ ออกไปหาข้อมูล อย่างปีที่แล้ว ทำงานเรื่องแคมป์คนงานก่อสร้าง เราก็ไปนอนที่นั่น ไปอยู่กับเขา ไปใช้ชีวิตในแบบเขา ไปสังเกตให้รู้ถึงแก่นแท้ของวิถีชีวิตของเขาใช้ชีวิตยังไง มันจะเห็นมุมเล็กๆ มุมหนึ่งของเขา คือมันจะมีหลายโมเมนต์ อย่างตอนที่ชาวบ้านรอกินข้าวกันพร้อมหน้า  มีน้อยก็แบ่งกัน มีเท่าไหนก็กินเท่านั้น หรือตอนที่เขาช่วยกันทำกับข้าวหลังเลิกงานเนี่ย ไอ้สิ่งเหล่าเนี่ยมันเป็นแรงบันดาลใจ วิถีชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ของเขามันสร้างไอเดียให้เราได้ 

ส่วนเวลาท้อๆ มากๆ เนี่ยมันจะมีศิลปินคนหนึ่งที่ผมชอบมากๆ คือพี่ตูน บอดี้สแลม เนี่ยแหละ จะชอบไปนั่งและเปิดเพลงขึ้นมาเนี่ย หรือไม่ว่าเขาจะพูดอะไรสักอย่าง มันเป็นสิ่งที่เป็นกำลังใจ เพลงของเขาบางทีท้อๆ ผมนั่งฟังผมร้องไห้เลยนะ อย่างเพลงของเขาช่วงหลังๆ มันจะเกี่ยวกับชีวิต ผมคิดว่ามันเป็นเพลงที่ให้กำลังใจคนได้สุดยอดมาก ฟังไปร้องไห้ไปก็ยังมี

160821-life-Teppong-woodcut-artist-4
160821-life-Teppong-woodcut-artist-22

แล้วเงินรางวัลที่ได้จากการประกวดหรือขายงานได้เอาไปทำอะไร

เงินรางวัลมันได้มาเร็วมันก็หมดเร็ว อย่างแรกก็คือเอามาเป็นต้นทุนในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่อไป ส่วนที่สองเราก็ส่งให้พ่อกับแม่ คือบ้านเราก็ไม่ได้ร่ำรวยอย่างที่บอก มันต้องใช้ส่งน้องเรียนอีก ทั้งน้องสาว น้องชายเรียน ป ตรี ให้พ่อแม่ที่บ้าน เพราะทำนารายได้มันก็ไม่ได้มีเยอะ ไม่สม่ำเสมอ

เหมือนเป็นกำลังหลักของครอบครัวเลยก็ว่าได้?

คือพูดตรงๆ เลยนะ เงินที่ได้รางวัลมาหรือขายงานได้เนี่ย มันไม่ได้อยู่กับเรานานเลย สมมุติได้รางวัล 2 รางวัล มันก็ใช้ชีวิตได้ คือมันปีต่อปีเลย ต้นทุนชีวิตปีต่อปี

พูดได้ว่าเราช่วยกันเก็บมากกว่า พวกเราช่วยกันดูแลกันและกันในครอบครัว เราคุยกันตลอด เราสนิทกันมาก พ่อแม่น้อง พวกเราพยายามเต็มที่เพื่อจะสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่ให้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

160821-life-Teppong-woodcut-artist-14


คุณคิดว่าศักยภาพอะไรอีกบ้างที่คุณอยากจะ  UNLOCK POTENTIAL  ของตัวเองออกมาให้ได้

สิ่งที่อยากจะ UNLOCK ในชีวิตในตอนนี้ ก็คงจะเหมือนกับคนทั่วไป ที่เรียนจบแล้ว มีงานทำ แต่สิ่งที่ผมอยากทำในอนาคตเป็นสิ่งแรกคือ อยากรีบเรียนจบปริญญาโทให้จบ เพราะผมอยากจะสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบในแบบฉบับของผมเอง คือในตอนนี้ผมอยากจะเป็นผู้นำครอบครัวที่ดี อยากพาครอบครัวไปเจอสิ่งที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยกระดับชีวิตครอบครัวในทุกเรื่องให้มันดีขึ้น

เทพพงษ์ น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ของชีวิตได้เป็นอย่างดี การวิ่งไล่หาเงินตามสมัยนิยมอาจจะทำให้หลายคนพึงพอใจกับตัวเลขในบัญชีธนาคาร แต่ท้ายสุดคุณอาจจะไม่ได้อะไรที่ตัวเองภาคภูมิใจติดตัวกลับบ้านในแต่ละวันเลยแม้แต่อย่างเดียว การมองหาความสบาย เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนเป็นกันอย่างไม่รู้ตัว แต่เทพพงษ์ก็ได้ทำให้เราเห็นการทุ่มทุกอย่างเพื่อสิ่งที่เรารักมันสำคัญมากขนาดไหน อาจจะไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อทุกอย่างที่เรารัก

วันที่เราไปสัมภาษณ์ก็ได้เจอกับเพื่อนของเขาสมัยตั้งแต่เขาศึกษาอยู่ที่ มช เขาบอกว่าวันๆ มันใช้เวลาอยู่ที่ห้องพิมพ์นั้นแหละเกือบตลอด ทำงานทุกวัน ถึงแม้จะได้รางวัลอะไรมาก็คงทำเหมือนเดิม จนถึงทุกวันนี้มันก็ยังทำงานศิลปะของมันเหมือนเมื่อวันแรกไม่มีเปลี่ยนแปลง

160821-life-Teppong-woodcut-artist-26 160821-life-Teppong-woodcut-artist-27 160821-life-Teppong-woodcut-artist-28
160821-life-Teppong-woodcut-artist-30

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line