Must Read

KING OF JAZZ : พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ที่ทั่วโลกยกให้เป็นอัครศิลปิน

By: HYENA October 12, 2017

สำหรับเราคนไทยทุกคน ล้วนต้องเคยได้ยินเพลงที่มีชื่อว่า “รูปที่มีทุกบ้าน” ที่ถูกขับร้องโดย เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ กันอย่างแน่นอน  ซึ่งรูปที่เพลงนี้กล่าวถึงก็คือ  พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยนั่นเอง  หนึ่งในบรรดาพระบรมฉายาลักษณ์ที่เราเห็นแล้วรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ ก็คือพระบรมฉายาลักษณ์พระองค์และสมเด็จพระราชินีประทับอยู่กับ “Elvis Presley” อย่างใกล้ชิด  อย่างที่เราชาวไทยรู้ ๆ กันอยู่ว่า พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยะภาพทางดนตรี  อีกทั้งทรงโปรดการเล่นดนตรีเป็นอย่างมากด้วย

161017-the-story-of-king-of-jazz-2

พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถภาพนี้  ถูกบันทึกไว้ครั้งที่พระองค์เสด็จเยี่ยมชม  Paramount Studio ของ Hollywood ในปี 1960  ในตอนที่  Elvis Presley  กำลังถ่ายทำละครเพลงเรื่อง  G.I. Blues  อยู่ในขณะนั้น พระองค์ทรงโปรด Elvis Presley ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงโปรดดนตรี และทรงเล่นดนตรี Jazz มากกว่า Rock and Roll ก็ตาม

161017-the-story-of-king-of-jazz-3

ถ้าหากคนทั่วโลกยกย่องให้  Elvis Presley เป็น King of Rock n Roll พระองค์ก็เปรียบเสมือน King of Jazz สำหรับคนไทยทั้งปวง และนักดนตรีชาวต่างชาติทั่วโลกเช่นกัน  เรื่องพระอัจฉริยะภาพทางด้านดนตรีของพระองค์  ก็คงจะยาวเหยียดจนไม่สามารถเขียนลงจนหมดได้

ดังนั้นเราจึงขอน้อมนำเอาใจความสำคัญ ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีของพระองค์มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน เช่น   ตำนานดนตรี  Jazz  ที่หลายต่อหลายคนนั้นต่างก็ชื่นชม และยอมรับในพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการทรง  Saxophone  ซึ่งเหล่าคนดังล้วนเคยร่วมเล่นดนตรีกับพระองค์มาแล้ว   ไม่ว่าจะเป็น  Stan Getz,  Benny Goodman รวมไปถึง  Lionel Hampton ด้วยเช่นกัน โดยที่ครั้งนึง  Linoel Hampton  เคยได้กล่าวถึงพระองค์ในนิตยสารที่ชื่อ Sawasdee เอาไว้ว่า   “He is simply the coolest king in the land.”

พระองค์ทรงเริ่มทรงทรัมเป็ตในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศ Switzerland  และต่อมาเมื่อหลังจากที่พระองคเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1946  พระองค์ทรงก่อตั้งวงดนตรี Jazz โดยมีสมาชิกทั้งสิ้น 14 คนขึ้นมา  และมีการแสดงออกอากาศในทุก ๆ วันศุกร์อีกด้วย  พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ดนตรีเป็นอย่างมาก  โดยพระองค์พระราชนิพนธ์เพลงเอาไว้ทั้งหมดเกือบ 50 เพลง เช่น เพลง แสงเทียน สายฝน และยามเย็น เป็นต้น

ตามที่บทความของ ดร. สุกรี เจริญสุข เคยได้เขียนไว้ว่า  “นักดนตรีที่ดีนั้นหายาก นักดนตรีที่ดี และประพันธ์เพลงด้วยนั้นหายากยิ่งขึ้นไปอีก   และถ้าหากจะหานักดนตรี นักประพันธ์เพลง และเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยแล้ว  มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น  พระองค์ทรงเป็นนักดนตรี ทรงเป็นดุริยกวี และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ที่ทรงเป็นนักดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ ดุจนักดนตรีอาชีพ

161017-the-king-of-thailand-and-jazz-music-1

ครั้งนึงพระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท เนื่องในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ 2 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร วันพฤหัสบดี ที่ 31 กรกฎาคม 2512 ความตอนหนึ่งว่า

 “…ดนตรีนี้มีไว้สำหรับให้บันเทิง แล้วก็ให้จิตใจสบาย ดนตรีนี่คือเสียง  แต่สิ่งประกอบยังมีว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร  นั่นน่ะ ยังเป็นคุณภาพของเสียง …พวกเราเป็นนักดนตรี นักเพลง นักเกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะในด้านการแสดง การแสดงโดยเฉพาะดนตรี พวกเรานี่มีความสำคัญมาก ไม่ใช่น้อยสำหรับส่วนรวม เพราะว่าดนตรีนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่จะแสดงออก ซึ่งความรู้สึกของชนหมู่หนึ่ง ในที่นี้ชนคนไทยก็คือ ประชาชนคนไทยทั้งหลาย จะแสดงความรู้สึกออกมา หรือจะรับความรู้สึกที่แสดงออกมา ก็ด้วยดนตรี พวกเราที่เป็นนักเพลงนักดนตรี จึงมีความสำคัญยิ่ง…”

จากที่ได้กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงออกให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรี  ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ที่เราอยากให้คนไทยได้รับรู้ถึงพระปรีชาสามารถ เพื่อส่งต่อเรื่องราวของท่านสู่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป

SOURCE

HYENA
WRITER: HYENA
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line