CARS

THE SUBCULTURE: BOSOZOKU BIKE SIAM มากกว่าการขับขี่คือมิตรภาพและความหลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

By: JEDDY January 28, 2022

เมื่อคุณหลงใหลและชื่นชอบอะไรบางอย่างมาก ๆ มันจะมีพลังที่จะทำให้คุณยอมทุ่มสุดตัวเพื่อแลกกับสิ่งเหล่านั้นให้ได้มาครอบครอง ประโยคนี้สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งกับกลุ่ม Bosozoku Bike Siam กลุ่มผู้นำวัฒนธรรมการขับขี่รถจักรยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่นข้ามน้ำข้ามทะเลมาสู่ท้องถนนในประเทศไทย

พวกเขามาพร้อมสไตล์การแต่งรถที่ถอดแบบจากแดนปลาดิบมาทุกตารางนิ้ว ทุกเอกลักษณ์ถูกถ่ายทอดมาจากความรักและแพชชั่นที่มีต่อ Bozosoku

Bosozoku Bike Siam ได้ส่ง นนท์ (Kawasaki zephyr 400), โน (Kawasaki zephyr 750), จักร (Honda cb650 Custom) และแพท (Kawasaki zephyr 400) 4 ตัวแทนมาร่วมถ่ายทอดความสุดให้ชาว UNLOCKMEN ได้ทำความรู้จักพวกเขากับบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ


จุดเริ่มต้นความชื่นชอบ BOSOZOKU

นนท์ : เริ่มแรกมาจากการอ่านการ์ตูน แล้วแบบเฮ้ยมันมีหรอวะ มันมีจริง ๆ หรือเปล่า พอโตขึ้นมาก็เลยศึกษาดู และเห็นรุ่นพี่ที่สุพรรณทำก็เลยติดต่อเขาไป เริ่มคุยกัน จนสุดท้ายได้ไปซื้อจากทางที่ญี่ปุ่นกลับมาทำที่ไทย

โน: จุดเริ่มต้นแรกมาจากการบ้ามอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่น เมื่อก่อนจะบ้ารถโกดัง รถสี่สูบเรียง, Superfour พอมาวันหนึ่งเราอ่านการ์ตูนมาก ๆ รถเห็นมันอยู่ในการ์ตูน อยู่ในมังงะทั้งหมดเลย หลังจากนั้นก็เริ่มมาศึกษาวิธีการแต่ง ของแต่ง อะไหล่แต่ง พอรู้จักเพื่อนคนนี้ (นนท์) เพื่อนก็เอาหัวจรวดมาให้ จากนั้นค่อย ๆ เอามาปั้นและสั่งอะไหล่ จนเป็นแบบนี้ครับ 

จักร: จริง ๆ แล้วชอบมาตั้งแต่เด็กจากการ์ตูนญี่ปุ่นกับพวกแก๊งซิ่ง และบวกกับเราชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น การแต่งตัวแบบญี่ปุ่น ก็เลยคิดว่าแนวนี้เหมาะกับเราครับ

แพท: ของผมมาจากการชอบมอเตอร์ไซค์ ผมไม่ได้มาจากรถแบบนี้ ผมชอบช็อปเปอร์ ชอบมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก แล้วคราวนี้เราได้มาเห็นอะไรที่มันแปลกใหม่ แล้วมันควรจะลองทำดูนะ เลยศึกษาก็เลยได้ไปเจอกับพวกพี่ ๆ ครับ  


นนท์ BOZOSOKU BIKE SIAM

ศึกษาจากช่องทางไหนบ้าง

แพท: สำหรับผมเมื่อก่อนมันจะศึกษาได้น้อย แต่สมัยนี้ด้วยอินเตอร์เน็ตกับโซเชียลมีเดีย ทำให้ทุกอย่างมันสื่อสารด้วยกันได้หมดเลย เราอยากรู้ว่าญี่ปุ่นตอนนี้เขาเสพอะไร เราก็ศึกษาจากทางอินเตอร์เน็ตก่อน แล้วเราก็มาคุยกันในกลุ่มปรึกษากันว่าควรเป็นแบบไหน 

จักร: ของผมหลัก ๆ ก็มาจากหนังสือการ์ตูน แล้วก็ทาง Instagram และเราก็จะมาศึกษาดูว่า Bosozoku แบบไหนคือสไตล์เรา แบบไหนที่คิดว่าเหมาะกับเรา เราก็มาขัดเกลา เลือกหยิบสไตล์ที่เราชอบใส่รถเรา

โน: ส่วนตัวผม ถ้าเป็นอย่างพวกของแต่งที่จะทำให้รถเป็นแนว Bosozoku ผมไม่ได้ตามพวก Instagram หรือ Twitter เพราะว่าเล่นไม่เป็น เราใช้วิธีการดูหนังสือแต่งรถญี่ปุ่นสมัยเก่า ผมซื้อมาจากโกดัง แล้วก็มาดูการแต่ง ดูรายละเอียดรถ ใช้การสังเกตเอา มีประมาณนี้แล้วก็เดินโกดังบ้านเรา พอเจอแล้วค่อยสะสม แล้วก็ตามหารุ่นรถที่ชอบ อย่างผมขี่ตระกูลคาวาซากิ ก็เลยไปเลือกเอา Zephyr 750 มาทำ เพราะรถมันแรง ดูแลรักษาง่ายครับผม 

นนท์: ตอนไปญี่ปุ่น ได้ไปดูของเขา แล้วก็ติดต่อคุยกับเขาว่าผมอยากแต่งรถ มีอะไหล่ มีอะไรแนะนำไหม  อะไหล่แต่งเป็นอย่างไรบ้าง อันนี้ควรจะใส่ ควรจะมีนะ โชคดีอย่างเราไปเห็นของจริงก็เริ่มง่าย เราเห็นแล้ว อ๋อ น่าจะเป็นแบบนี้แล้วดูวิดีโอที่เราถ่าย ดูรูป และเอามาทำสั่งอะไหล่มาแต่ง จนเป็นแบบนี้ 


ความหมายของ BOSOZOKU

แพท : มันเกิดจากคำว่า “Zoku” คำว่า Zoku มันคือกลุ่ม เช่นคำว่า “Cityzoku” ก็คือกลุ่มของ City คำว่า Zoku มันคือคำแสลงที่เขาเรียกกัน จริง ๆ ความหมายมันก็พอ ๆ กับคำว่า “Yankee (แยงกี้)”  ก็เหมือนบ้านเราที่เปรียบเทียบเรียกว่า “แว๊นซ์” หรือ”แก๊งซิ่ง”

นนท์ : Bosozoku มันไม่ตายตัว มีทั้งรถยนต์ รถป๊อบ รถสิบล้อ พวกจักรยานก็มี อย่างสมัยก่อนตอนประถม อยากเป็นโบโซก็เอาจักรยานมาแต่งมา Custom ใส่ไฟ แล้วก็ขี่ไปตามงานอวดกัน พอโตหน่อยก็เป็นมอเตอร์ไซค์และรถเก๋ง 

แพท : ความชื่นชอบในยุคนั้นมันมาพร้อมกับค่าใช้จ่าย เด็กที่เริ่มเล่นที่ญี่ปุ่น เรื่องแรกต้องมีใบขับขี่ เขาให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้ ต้องมีใบขับขี่ อายุต้องถึง เพราะว่าโดนจับทีเขาหนักกว่าเราหลายเท่า เด็ก ๆ ที่อยากมีก็เริ่มต้นจากจักรยานก่อน แล้วอนาคตก็ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไป 

นนท์: ช่วงอายุคนเล่นประมาณ 35-50 ปีขึ้นไปก็ยังมี เพราะว่าเขามีกำลังที่จะกลับมาไล่ตามสิ่งที่เขาใฝ่ฝันตั้งแต่สมัยเด็ก

แพท BOZOSOKU BIKE SIAM


ความเป็นมาของ BOSOZOKU

นนท์: Bosozoku เริ่มมาตั้งในปี 70’s รถก็เริ่มออกมาเยอะแล้ว แต่ถ้าประวัติจริง ๆ ที่เคยอ่านมา มันเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1972 และมาบูมสุดคือช่วง 80’s – 90’s บูมหนักมาก จริง ๆ มีข้อมูลลึกกว่านี้มากแต่เขาไม่ค่อยบอกกัน สมัยก่อนมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี แบบขี่รถข้ามเขตคุณก็โดนทำร้ายแล้ว สมัยนี้เบาลงแล้วเพราะคนที่เล่นรถคือคนรวย คนมีเงิน เพราะรถเก่าภาษีแพงมาก ตอนนี้รถพวกนี้ในไทยก็จะหายากแล้ว 

โน: ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป แต่ก่อนรถแนวนี้คือรถแก๊งซิ่ง เป็นรถที่วัยรุ่นขี่ไปประชุมแก๊ง หรือรวมตัวข้ามเขตไปตีกันแบบที่เรารู้จักกัน แต่พอเวลาผ่านไปวัยรุ่นกลุ่มพวกนั้นก็เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ตอนนี้ในเมืองไทยมีมอเตอร์ไซค์จำนวนมากถูกซื้อกลับไป ก็เป็นคนกลุ่มนี้แหละที่ซื้อกลับไป 

นนท์: ทำไมญี่ปุ่นถึงมีรถน้อยก็เพราะวัยรุ่นไม่มีเงินซื้อ ต้องเป็นคนอายุ 30-40 ขึ้นไปที่เขาซื้อเก็บ บางทีขโมยหายไปเยอะก็มี ดูจากใน Twitter เพราะรถสามารถแยกอะไหล่ขายได้ อย่างเช่น Z1 ราคาเป็นล้านบาทไทย อยู่ที่ญี่ปุ่นไม่ต้องพูดเลยราคาโดดมาก ญี่ปุ่นเขาไม่เล่นรถใหม่ เล่นแต่รถเก่า แถมภาษีรถเก่าที่นู้นแพงมากเขาเรียกว่าภาษีมลภาวะที่ต้องเสีย

จักร BOZOSOKU BIKE SIAM


เอกลักษณ์ของการแต่งรถแบบ BOSOZOKU

นนท์: เป็นความชอบส่วนบุคคลเลย ไม่มีที่มาที่ไป อยู่ที่เราอยากใส่ไอเดียอะไร แต่ละคันไม่เหมือนกันเพราะว่าทุกคนมีไอเดียแตกต่างกัน แค่ไม่ให้หลุดสไตล์ ให้มองเห็นว่ารถคันนี้คือ Bosozoku นะ อยากจะใส่เบาะยาวก็แล้วแต่คุณ custom เอง  ความเป็นญี่ปุ่นอย่างหนึ่งคือไม่แบ่งแยก ไม่เหยียด บางคันอยากจะติดจรวด 4-5 อันก็ยังได้ และมันสวยทุกคัน ผมเคยถามว่าคันไหนสวย เขาตอบสวยทุกคัน

แพท: การแต่งมันไม่มีกรอบเลย แต่เราต้องศึกษามันหน่อยว่ามันเป็นแบบที่เราได้ศึกษามาจริง ๆ ไหม จะได้สนุกกัน หรือรถ Bosozoku ที่พูดมา จริง ๆ แล้วรถอะไรก็ทำได้ แต่ต้องอยู่ในสไตล์ของมัน ผมไม่ได้เหยียดรถนะครับ แต่ผมกำลังสื่อสารว่า รถบางคันของแต่งตรงรุ่นหมด แต่ถ้าเราเอารุ่นอื่นมี่ไม่มีของแต่งเราจะต้องสร้างมันเพิ่มขึ้น พอสร้างเพิ่มขึ้นคุณก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมรายละเอียดมันถึงวางไม่เหมือนกัน ก็เพราะมันไม่มีอะไหล่ที่รองรับของรุ่นที่ต้องการทำ ผมเลยอยากแนะนำรุ่นที่มีอะไหล่ เพราะว่าเราจะได้สนุกกับมัน แบบว่าเราอยากได้อันนี้นะโดยไม่ต้องสร้าง ก็กดซื้อมาเลยจะได้จบไป 

นนท์: อย่างที่บอกว่า Bosozoku ไม่จำเป็นต้องหัวจรวดนะ แค่ใส่ไฟกลมและทำเบาะสูง สิ่งสำคัญคือเบาะยาว ก็เป็น Bosozoku แล้ว นอกจากนี้ในการขี่ มันจะมีบางสถานที่ที่เค้าห้าม Bosozoku เข้าก็มีนะ ห้ามหัวจรวด ห้ามท่อแบบนี้ ก็แค่ถอดออกทำรถเดิม เขาจะเรียกว่าแนวคาเฟ่เลเซอร์ญี่ปุ่น  มีการตกแต่งเหมือนรถแข่งสมัยโบราณ แต่ของแต่งแพงมาก แค่ชุดครอบถัง ครอบหน้า ชุดไฟก็แสนกว่าบาทแล้ว

แพท: แต่ของพวกนี้มันตรงรุ่นมันเลยมีมูลค่าในตัวของมันอยู่ประมาณนี้ครับ

โน BOZOSOKU BIKE SIAM


ความแตกต่างกับจักรยานยนต์รุ่นอื่น ๆ 

แพท: ที่เห็นได้ชัดเจนคือ หัวจรวด แต่หัวจรวดเรามีหลายแบบ มีไฟเดี่ยว ไฟคู่ ชิลด์ก็จะเป็นพลาสติกอะคริลิค ไม่ใช่กระจกเด็ดขาดเพราะเวลาล้มมันจะอันตราย อะคริลิคสามารถยืดหยุ่นได้  อย่างตัวบังโคลนจะเป็นรุ่นปีเก่า พวกนี้เราจะต้องตามหามันเพราะสมัยใหม่ไม่มีผลิตแล้ว มันเคยบูมในช่วงปี 80’s สภาพมันเลยไม่ค่อยสมบูรณ์แบบมากนัก ต่อมาเป็นเบาะที่มีความสูง แล้วแต่เจ้าของรถเลยว่าอยากได้แบบไหน ถ้าบางคนอยากได้สูงก็สั่งทำสูง สามารถพิงได้ 100% ส่วนแตรแล้วแต่ว่าจะติด 5 ปาก 6 ปาก หรือ 10 ปาก แล้วแต่เจ้าของรถ มันจะบ่งบอกถึงเจ้าของรถด้วยว่าเป็นสไตล์ไหน 

ต่อมาคืออกล่าง มันจะช่วยซัพบริเวณด้านล่างของรถ เป็นของแต่งของค่าย One’s ค่ายนี้จะมีของแต่งเยอะ ต่อมาก็เป็นแฮนด์ก็จะเปลี่ยนให้เข้ากับสรีระของแต่ละคัน มีสั้นยาวแล้วแต่ความถนัด แบบแฮนด์โหนเหมือนจิ๊กโก๋ก็มี แต่ถนนบ้านเราจะใช้งานไม่สะดวก สุดท้ายจะเป็นของจุกจิก เราอยากแต่งอะไร ปกติไฟเลี้ยวจะเป็นวงกลม ไฟดาว หัวใจ แล้วแต่เรา อยากได้แบบไหนหาซื้อรุ่นนั้นมาใส่ 

อย่างคันนี้ (สีม่วง) ของแต่ง One’s จะมีเยอะมาก ไฟ LED วิ่ง แล้วแต่ว่าอยากให้วิ่งแบบไหน มีแบบวิ่งโชว์เครื่อง โชว์ใต้เครื่อง หรือจะติดเครื่องเสียง ติดจอ LCD ก็ได้ มีติดให้ครบหมดเลย 


การนำเข้าอะไหล่รถ

นนท์: จะดีลกับทางสำนักแต่ง One’s แบบที่ผมใส่เสื้ออยู่ และเป็นสำนักแต่งของแก๊งด้วย เลยสั่งอะไหล่กับเขา และบางทีฝากเขาหาของด้วย ให้เขาส่งมาที่ไทย ส่งทางเรือบ้าง ส่งทางเครื่องบินบ้าง ภาษีโหดมากเลยครับ แต่จ่ายทุกอย่างถูกต้อง 100%

โน่: ของผมได้มาจากโกดังรถเก่าบ้านเราครับ บางครั้งก็ได้จากเพื่อนที่เล่นรถแนวนี้และไม่ได้เล่นต่อแล้ว ส่วนหนึ่งที่ผมชอบคืออะไหล่ Bosozoku ตกค้างในบ้านเราค่อนข้างเยอะ ต้องค่อย ๆ หา จะมีอยู่ตามโกดังของคนที่เล่นแนวนี้ จึงค่อย ๆ หาเอามาแต่งรถตัวเอง เพราะแนวที่ผมชอบเป็นแนว Old school เน้นสไตล์ 80’s และ 90’s เน้นหาของแต่งตามปี ตามยุคครับ 

จักร: โดยพื้นฐานรถผมเป็นสไตล์ Classic Bike เพราะฉะนั้นจะแต่งไม่เยอะ หาของในกลุ่ม facebook ได้ง่าย ๆ เลย และคงคอนเซปต์ “วินเทจ” จะไม่ Bosozoku จ๋ามาก เพราะในชีวิตประจำวันจะได้แต่งตัวได้ง่ายครับ 

แพท: ของผมสั่งจากญี่ปุ่นตามคอนเซปต์ ไม่จำเป็นต้องของญี่ปุ่นแท้ ๆ คือทุกอย่างเราทำสร้างขึ้นมาได้หมด อยู่ที่เราเลยว่าชิ้นไหนควรสร้าง ชิ้นไหนควรสั่ง เราก็เอาของมาตบจัดวางให้เข้าทรง ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็อยู่ที่ความพึงพอใจของเจ้าของรถแต่ละคัน 


งบประมาณในการแต่งรถ

นนท์ : ของผมไม่เคยนับเรื่องเงินเลยเพราะรู้แล้วมันเครียด แต่ก็เยอะอยู่เพราะผมเล่นอะไหล่ญี่ปุ่น เรื่องเงินมันอยู่ที่งบของแต่ละคนมากกว่า ไม่จำเป็นต้องแต่งของแพง อะไหล่ญี่ปุ่นหรืออะไหล่บ้านเราก็ได้  เพราะการ Custom คือการเอามาทำดูแล้วเข้าใจได้ว่านี่คือแนว Bosozoku นะ 

โน: ความจริงการแต่งรถแนวนี้คือการคุมโทน เพราะว่ารถแนว Bosozoku ที่เห็นในการ์ตูนส่วนมากจะเป็นหัวจรวด มีเบาะยาว หรือบังโคลนแต่ง ในแนวทางของการ custom แบบนี้ผมเรียกว่ารถถังหน้า เราสามารถเอามาดัดแปลงให้รถเป็นฟีลแบบนี้ ขี่แล้วไม่เขิน


การแต่งตัวกับสไตล์ของรถ

นนท์: ผมว่าอยู่ที่คนชอบมากกว่า อย่างผมใส่เสื้อสำนัก เสื้อแก๊ง การแต่งตัวเป็น lifestyle ของแต่ละคนครับว่า ชอบอะไรไม่ชอบอะไร ไม่มีขอบเขตครับผม

โน: สำหรับผมถ้าวันไหนหยิบรถคันนี้มาขี่ ก็จะแต่งตัวให้เข้ากับรถของเรา จะคอยหาพวกพร็อพประมาณนี้มาใส่ แต่ถ้ามาเจอเพื่อน ๆ เอาจริง ๆ กลุ่มเราจะไม่ค่อยเข้มงวดกันว่าจะต้องแต่งแบบไหน อย่างที่เขาบอก (นนท์) ถนัดใครถนัดมัน

จักร: ในแต่ละวันผมสนุกกับมัน เสื้อผ้าแต่ละวันมันจะ match กับรถผมที่ขี่ออกไป ถ้ามันจอดอยู่ แม้ตัวผมไม่ได้อยู่ที่รถ คนเห็นจะรู้เลยว่านี้ผมคือเจ้าของรถคันนี้ มันเป็นเรื่องราวเดียวกันทั้งคนทั้งรถ

แพท: สำหรับผมได้ทุกชุดครับ ใส่ได้ทุกชุดหมด ขออย่างเดียวให้สุภาพและอะไรก็ได้ที่เป็นเรา อันนั้นคือผมครับ 


ลีลาการขับที่ชวนหวาดเสียว

นนท์: เอาจริงมันมาจากความสนุกกับการขี่มากกว่า บางคนอยากยกล้อ ยกเป็นกิโลก็มี บิดไปบิดมาก็ทำได้ แต่เขาก็ทำตอนถนนโล่ง ๆ ไม่ใช่ตอนรถเยอะ ๆ 

แพท: สมัยนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว มีการแข่งขึ้นมา แข่งยกหน้า แข่งเบิ้ลประชัดเสียงท่อโดยที่ไม่ต้องมาเสี่ยงอะไรบนท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่จะไปแข่งกันที่งานเฉพาะ ไม่ใช่ที่สาธารณะ

นนท์: มีการจัดงาน ทำกิจกรรมให้ เช่าสนามรถยนต์ มาแข่งเบิ้ลกันในสนามเซอร์กิต เขาปิดเกาะแล้วก็ให้พวกสิงห์มอเตอร์ไซค์เข้าไปขี่ ไประบายกันได้ในนั้น โดยที่ไม่เสี่ยงอันตรายต่อคนรอบข้าง เพราะ

สมัยนี้ที่ญี่ปุ่นเขาจะมีกลุ่มคนอายุมาก เรียกว่า “คิวซาไค” เป็นกลุ่มคนที่ชอบรถพวกนี้ แต่ไม่ใช่พวกที่บ้าระห่ำที่หลายคนติดภาพว่าตกกลางคืนจะต้องขับรถไปกลางสี่แยก ไปตีกัน จุดพลุ ควงไฟจราจร แบบนั้นนะ กลุ่มนี้เขาก็จะมีขี่เล่นด้วยกันตลอดครับ และคอยส่งรูปมาให้เราดูด้วยตลอดด้วยว่าไปงานนู้นงานนี้มานะ ถ้ากลุ่มนี้จัดงานก็ไปช่วยเขา กลุ่มเราจัดงานเขาก็มาช่วยเรา ช่วยเหลือกันแบบนี้


นักเลงที่เลือนหายด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

นนท์: ที่ญี่ปุ่นพวกอันธพาลจะตอบว่าหมดไปจากสังคมก็ไม่ได้ มันยังมีอยู่แต่น้อยมาก 

แพท: แต่ก็คงไม่ขนาดที่เข้าไปตีเขาทุกคัน มันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะยุคนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่หันมาสนใจรถแบบนี้กันเพราะตอนเด็กเขาไม่มีกำลังเงินมากพอ พอเขามีเงินและมีกำลังเขาถึงมาเสพกัน มันก็เลยเกินคำว่ายกพวกต่อยตีไปแล้ว 

โน: บางคนมาเสพย้อนวัยก็มี หลายคนมากครับที่เป็นอดีตแยงกี้เก่า แต่เขาก็หลุดพ้นจากวงโคจรนั้น มาประสบความสำเร็จในชีวิต เขาก็ไปซื้อรถในสมัยที่เขาชอบตอนเป็นวัยรุ่น เแล้วส่วนมากรถจะไม่เกินปี 85’s ช่วงวัยรุ่นของคนพวกนั้นก็ตรงกับยุค 90’s ครับ


ประสบการณ์ซ้อนท้าย BOSOZOKU ที่ญี่ปุ่น

นนท์: ต้องเท้าความก่อน เริ่มแรกเห็นใน Facebook ของพี่อ๋องที่อยู่จังหวัดสุพรรณบุรี เขาเป็นคนทำ Bosozoku คันแรกในบ้านเรา เห็นแล้วถูกใจเลยจึงทักไปคุยกับแก ได้ความว่าจะเอารถ GTO มาทำ ที่เป็นรถส่งแก๊สสมัยก่อน พอเขาจะไปญี่ปุ่นเลยขอเขาไปด้วย นั่นเป็นการเจอกันครั้งแรกเลย

โชคดีที่ทางพี่อ๋องเขามีคอนเนคชั่นกับทั้งแก๊งและสำนักแต่งในญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงได้ไปสัมผัสกับ Bosozoku ของจริงเลย ซึ่งวันนี้มันเป็น culture และ history ที่คนญี่ปุ่นภูมิใจมาก และการที่ผมเอาสิ่งนั้นกลับมาเผยแพร่วัฒนธรรมในประเทศไทย คล้าย ๆ กับทูต Bosozuku ยิ่งทำให้ทางนั้นดีใจมาก

ตอนแรกทางนั้นเขาบอกว่าจะมีออกมาวิ่งรวมตัวกันประมาณ 20 กว่าคัน เลยไปซ้อนรถกับเขา เขาให้ขี่เลยแต่เราไม่กล้า กลัวทำรถเขาพัง แต่พอไปจริงเจอตั้ง 50 กว่าคัน เป็นการรวมกันของหลายแก๊งมาก และได้ไปเจอคนที่สุดยอดที่สุดในญี่ปุ่นเลย เป็นคนโอซาก้า เรียกว่าระดับบอสใหญ่ เป็นคนจัดงานใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นในงานแก๊งซิ่ง แบบปิดทั้งเกาะเลย เอารถมาเบิ้ลแข่งกัน เป็นงานใหญ่ที่คนมาทั้งประเทศ 

ตอนไปซ้อนก็รู้สึกตื่นเต้น เขาก็ขี่ร่อนไปร่อนมาไปเลย ก็สนุกและแปลกดี เขาชอบขี่ไปกินข้าวกันทีนึง 100 กว่ากิโลเมตร สนุกมาก ทางญี่ปุ่นเขาต้อนรับเราดีมากครับ ดูแลอาหารการกินที่หลับที่นอน ดูแลดีทุกอย่าง พอไปสัมผัสถึงวัฒนธรรมจริง ๆ แล้วมันสนุกมาก ไม่คิดว่าเราจะได้ไปถึงจุด ๆ นั้น ขนาดคนญี่ปุ่นอยู่มา 4 ปี ยังทำแบบผมไม่ได้

ทุกวันนี้ Bosozoku ญี่ปุ่นก็น่ารักครับ เป็นคนมีอายุที่ซื้อรถมาเก็บ ว่างก็เอารถขี่ไปทานข้าว ชมเมือง วันเกิดเอาเค้กมาปาหน้ากัน แกล้งกันเหมือนสมัยเด็ก ๆ พอวันที่ใครเสียชีวิตเขาจะเอาดอกไม้มาวางท้ายรถและนำไปวางจุดที่เสียชีวิต 


มุมมองต่อคนในบ้านเรา

จักร: การเป็น Bosozoku ในประเทศไทยย่อมหนีการถูกมองจากมุมสายตาที่หลากหลาย ทั้งจากการแต่งตัวและการแต่งรถ บางคนก็งงว่าพวกมันใส่ชุดอะไรยาว ๆ มีชื่อแก๊ง โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลารวมตัวตามงานชุมนุม ทุกคนจะใส่เต็มทั้งคนทั้งรถ

นอกจากนี้ Bosozoku ยังเป็นสีสันบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นตอนติดไฟแดง ทุกครั้งที่ผมมองกระจกหลังผมก็เห็นทุกคนยิ้มหมดเลยนะ ผมว่ามันหมดยุคที่จะต้องคิดว่าแต่งตัวแบบนี้ ขี่รถแบบนี้แล้วจะต้องไปตี ไปสร้างความเดือดร้อนกัน เพราะตอนนี้การเป็น Bosozoku ผมว่ามันได้ความสนุกและความเท่ โลกวันนี้เค้าคิดในมุมที่ดีมากกว่า ไม่มีใครคิดในมุมลบแล้ว

แพท: อยู่ที่จุดประสงค์เขาด้วย บางทีเจอคนเข้ามาจั่วหัวกวนเลยก็มี แต่ถ้าบางคนรู้เขาก็จะมาถามว่า เฮ้ยไฟแบบนี้ทำได้ไง สั่งมาจากไหน มันก็คือความตื่นตาตื่นใจกับคนที่พบเห็นอยู่แล้ว อยู่ที่เขามองเราแบบไหนเท่านั้นเอง 

นนท์: ของผมอย่างที่พี่เขาบอก เวลาติดไฟแดง คนก็จะมาบอกว่านี่มันคาเมนไรเดอร์หรือเปล่า ไอ้มดแดงหรือเปล่า เวลาจอด เวลาขี่แล้วเห็นคนมีรอยยิ้มมันทำให้ผมรู้สึกดีนะ เวลาคนขำก็ไม่ซีเรียสนะ เพราะว่าผมชอบ พวกเด็กๆ จะชอบมาก มันดูแปลกตาแปลกใจ ถือว่าเป็นสีสันของท้องถนน และพวกเราก็ไม่ได้คิดจะทำตัวเกเรอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว

โน: สำหรับผมสายตาคนรอบข้างจะประมาณว่าทำไมเพิ่งจะมาทำป่านนี้ จริง ๆ แล้วที่ผ่านมา ที่เราไม่ได้ทำเนี่ยเพราะเราไม่มีวัตถุดิบ เราไม่มีมวลสารที่ผสมให้มาเป็นแบบนี้ ถ้าไปไหนมาไหนที่แยกไฟแดงส่วนมากจะยกนิ้ว (โป้ง) ให้หรือยิ้มให้ เป็นภาษากายที่แปลว่าใช้ได้ แต่ทุกคนเรียกรถแนวนี้ว่ารถไอ้มดแดงหมดเลย และที่สำคัญคือในการขับขี่ เราเอาวัฒนธรรมของการแต่งรถมา แต่เราไม่ขี่อันตราย เรามีข้อบังคับและทำตามกฏหมายจราจร และพยายามขี่ภายใต้กฏหมายไทย


สิ่งที่ทำให้ตกหลุมรัก BOSOZOKU

แพท: ถ้าสำหรับผม มันเกินคำว่าเท่ไปแล้ว เกินคำว่าสวย มันเป็นวัฒนธรรม มันสนุก ได้เจอเรื่องราวอะไรมากมาย มันเกินคำว่าความสุขไปเยอะเลยครับ  

จักร: ผมว่ารถมันมีคาแรคเตอร์ มันเป็นการใช้ชีวิตที่ไม่น่าเบื่อ ไม่จำเจ มันทำให้มีสไตล์บ่งบอกของผู้ขี่แต่ละคน มันสนุกและมันโอเคมาก 

โน: พื้นฐานจากความชอบความเป็นญี่ปุ่นอยู่แล้ว ถ้าเราอ่านการ์ตูนหนัก ๆ เสพอะไรที่มันเกี่ยวข้อง เราจะรู้สึกว่าการทำรถแบบนี้มันมีความแตกต่าง รถ Bosozoku มันคือแนวทางการ Custom อย่างหนึ่ง เป็นแนวทางการทำรถที่ตัดชิ้นส่วนน้อยมาก เราเพิ่มแค่เสริมเติมแต่งเอา ผมมองในแง่ของการใช้งาน ถ้าไปต่อทะเบียน รถแบบนี้สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ง่าย และที่สำคัญอย่างที่ทุกคนพูดกันคือ “มันแตกต่าง” และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่สนใจแนวนี้ 

นนท์: ผมคิดมาก่อนว่ามันไม่มีอยู่จริง แต่พอมาเจอจริง ๆ ก็ทำให้ตื่นเต้นและเริ่มชอบ หลัก ๆ คือเรามีมิตรภาพ มีเพื่อนทั้งคนญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่ชอบสไตล์แนวเดียวกัน ไม่ใช่แค่รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ก็มี เพื่อน ๆ ก็เริ่มเยอะขึ้น

 


คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจแต่งรถ BOSOZOKU

โน: ยุคนี้เป็นยุคของ Facebook, Twitter, IG เต็มไปหมดเลย เมื่อเราเสพได้รับข้อมูลมาพอสมควร เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เริ่มต้นได้ก็เริ่มทำเลยครับ

การทำรถพวกนี้มันไม่มีถูกผิดอยู่แล้ว แต่สุดท้ายการที่จะเป็นสไตล์แบบนี้ต้องพยายามคุมโทน เพราะถ้าเราคุมโทนไม่ได้ เอามาใส่มั่ว จะกลายเป็นบานปลาย สุดท้ายสิ่งที่เราทำมันอาจจะไม่ตอบโจทย์เราและอาจจะไม่สามารถคุยได้อย่างเต็มปาก

สุดท้ายรถพวกนี้มันเป็นรถสังคม เราทำรถพวกนี้มาเพื่อให้คนอื่นดูนั่นแหละ เวลาเราเจอรถอะไรที่มันใกล้เคียงและคุยกันบางทีมันก็เข้าใจง่าย สุดท้ายเราเล่นอะไรก็ได้ที่เราชอบ มีความสุข ไม่เดือนร้อนคนรอบข้าง อย่างผมกว่าจะเริ่มทำคือเพื่อนมาเชียร์ตลอด หาของมาให้ มีเพื่อนคอยยุ จนทุกวันนี้ซื้อเยอะกว่าเพื่อนอีก ฮ่า ๆๆ “อยากทำเริ่มทำ ทำเลยครับ” 


ช่องทางการติดตาม

แพท: Facebook Fan Page: Bosozoku Bike Siam และกลุ่ม Bosozoku Bike Thailand ทั้ง 2 ช่องทางนี้ติดต่อได้เลย อยากจะทำอะไร หรืออยากจะทำเอง ไม่สะดวกยกมาเพราะไกล ทักมาคุยกันได้ มีคำแนะนำได้ตลอด ไม่ต้องกลัวว่าถามพี่แล้วจะตอบมั้ย ไม่ต้องห่วง ผมตอบได้ทุกคำถาม ของแบบนี้ต้องเป็นคนที่ชอบจริง ๆ ครับ

 

ต้องขอขอบคุณกลุ่ม Bosozoku Bike Siam เป็นอย่างมาก ที่สละเวลามารวมตัวให้พวกเราได้สัมภาษณ์กัน รวมไปถึงขอบคุณร้าน Moldna Club ซอยจรัญสนิทวงศ์ 92 สำหรับสถานที่ในการถ่ายทำ ใครอยากหาร้านอาหารอร่อย ๆ บรรยากาศดี ๆ มีลานให้เล่นเซิร์ฟสเก็ต ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ

Photographer : Krittapas SuttiKittibuth

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line