World

NIHON STORIES: รักนิรันดร์แห่งยุคเฮเซ เรื่องโรแมนติกของสมเด็จพระจักรพรรดิกับอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน

By: TOIISAN May 2, 2019

ยุคสมัยเฮเซที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1989 เพิ่งผ่านพ้นไป การก้าวเข้าสู่ยุคสมัยเรวะของญี่ปุ่นครั้งนี้มีหลายสิ่งที่สื่อทั่วโลกต่างพูดถึงโดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องราวแสนโรแมนติกของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะกับสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ UNLOCKMEN ก็เองก็สนใจในเรื่องราวหอมหวานนี้เช่นกัน

ดังนั้นเพื่อทิ้งท้ายกับยุคสมัยเก่าเราจึงอยากเล่าเรื่องรักแรกและรักเดียวที่ต้องก้าวข้ามผ่านอุปสรรคของทั้งสองพระองค์ที่กินใจคนทั่วทั้งโลก

ช่วงสมัยที่จักรพรรดิโชวะผู้เป็นบิดากำลังครองราชย์ ตามลำดับการสืบสันตติวงศ์ของญี่ปุ่นเจ้าชายอากิฮิโตะทรงเป็นทายาทอันดับหนึ่งของราชบัลลังก์เบญจมาศตั้งแต่ประสูติ และทรงเข้ารับพระราชพิธีสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารเมื่อปี 1951 แต่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวความรักที่จับใจคนทั้งโลกเริ่มต้นขึ้นที่สนามเทนนิสเมื่อปี 1957 

เจ้าชายอากิฮิโตะทรงโปรดการเล่นกีฬาเทนนิสเป็นอย่างมาก และกีฬานี้ก็ทำให้พระองค์พบกับรักแรกกับหญิงสาวคนหนึ่งบนคอร์ดเทนนิสในเมืองคารุอิซาวะ เธอคนนั้นมีชื่อว่าโชดะ มิชิโกะ บุตรสาวของตระกูลนักธุรกิจที่อยู่ในเครือ Nisshin Seifun Group หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชื่อดังที่คนไทยเห็นผ่านตาอยู่บ่อย ๆ 

หลังจากที่ทั้งสองได้พบเจอกันที่สนามเทนนิสก็เริ่มคบหาดูใจกัน สื่อต่างสนใจเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งสองและเรียกว่า ‘Romance of thr tenis court’ เจ้าชายอากิฮิโตะทรงต้องการสานสัมพันธ์จริงจังกับมิชิโกะ และมีครั้งหนึ่งที่พ่อของมิชิโกะได้รับสารจากมกุฏราชกุมารเพื่อขอลูกสาวแต่เขาตอบกลับไปแค่ว่า “ลูกสาวของหม่อมฉันไม่คู่ควรกับพระองค์”

เจ้าชายอากิฮิโตะทรงทราบว่าพ่อของมิชิโกะไม่อยากให้เธอเข้าสู่รั้ววังเพราะกังวลเรื่องฐานันดรและความกดดันที่เธอจะได้รับ เพราะถึงแม้ว่าโชดะ มิชิโกะมาจากตระกูลนักธุรกิจที่รำ่รวย จบปริญญาตรีสาขาวรรณคดีอังกฤษด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และศึกษาต่อในหลักสูตระยะสั้นที่ฮาร์วาร์ดและออกซฟอร์ด แต่ถึงจะฉลาดและมีความสามารถมากแค่ไหนเธอก็คือสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง

ตามธรรมเนียมปฏิบัติยาวนานหลายร้อยปีของราชวงศ์ญี่ปุ่น สมาชิกราชวงศ์มักจะอภิเษกสมรสกับเครือญาติเพื่อรักษาเชื้อสายราชวงศ์  ก่อนที่เจ้าชายอากิฮิโตะจะพบกับมิชิโกะ พ่อของมิชิโกะคงไม่คิดว่าอยู่มาวันหนึ่งเจ้าฟ้าชายจะมาตกหลุมรักลูกสาวเขา ในช่วงปี 1950 จึงได้หาคู่ดูตัวให้กับลูกสาว หมายมั่นปั้นมือให้ลูกสาวของเขาแต่งงานกับมิชิมะ ยูกิโอะ นักเขียนชื่อดังที่เรียกตัวเองว่าเป็นซามูไรคนสุดท้าย

ถึงแม้ว่าครอบครัวทางฝ่ายโชดะยังกังวลหลายเรื่องที่เจ้าชายอากิฮิโตะและมิชิโกะคบหากัน แต่พระองค์ก็ไม่ย่อท้อกับความรักครั้งนี้ ทั้งสองติดต่อหากันอยู่บ่อยครั้งด้วยการเขียนจดหมายพร้อมกับคำหวานจับใจความได้ว่า “หากไม่ได้อยู่กับมิชิโกะ ชาตินี้คงนอนตายตาไม่หลับ”

ความรักครั้งนี้ทำให้ผู้คนในเวลานั้นต่างคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาว่ารัชทายาทลำดับที่หนึ่งอย่างเจ้าชายอากิฮิโตะจะต้องสละสิทธิ์ในฐานันดรหรือไม่ หรือหากตัดสินใจแต่งงานกันหญิงสาวสามัญชนเข้าสู่ราชวงศ์จะส่งผลต่ออะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายพระราชพิธีหมั้นก็ถูกจัดขึ้น

เจ้าชายอากิฮิโตะตัดสินใจอภิเษกสมรสกับมิชิโกะ ทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์นิยมของศาลเจ้าชินโตเก่าแก่ต่างคัดค้านการแต่งงานครั้งนี้เพราะมองว่ามิชิโกะไม่เหมาะสมหลายอย่าง ทั้งสไตล์การเลี้ยงดูแบบตะวันตกและการนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก

ข่าวลือสะพัดไปอย่างกว้างขวางรวมถึงรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่กล่าวว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุงก็ต่อต้านการอภิเษกสมรสด้วยเช่นกัน แถมยังมีจดหมายขู่ที่ไม่ทราบที่มาส่งไปยังบ้านโชดะด้วย

ช่วงก่อนจัดงานอภิเษกสมรส สื่อหลายสำนักสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเพื่อทำโพล โดยความคิดเห็นกว่า 87% เห็นด้วยกับการแต่งงานครั้งนี้ และมองว่าความรักของทั้งสองเหมือนกับเรื่องราวโรแมนติกในเทพนิยาย ถึงขั้นที่ว่าครอบครัวชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยยอมซื้อโทรทัศน์เพื่อดูการถ่ายทอดสดพิธีอภิเษกสมรสครั้งประวัติศาสตร์

ปี 1959 เจ้าชายอากิฮิโตะและโชดะ มิชิโกะ อภิเษกสมรสกันตามแบบราชประเพณีชินโต การแต่งงานครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นไปทั่วทั้งญี่ปุ่นเพราะเป็นครั้งแรกที่หญิงสาวจากครอบครัวสามัญชนเข้ามาเป็นสมาชิกของราชวงศ์ญี่ปุ่นในฐานะพระชายา ด้วยการวางตัว ความน่ารักของมิชิโกะ การแต่งงานครั้งนี้ทำให้เกิดกระแส Mitchiko Boom หรือ Mitchi Boom

โชดะ มิชิโกะ กลายเป็นผู้หญิงที่ได้รับการยอมรับจากวงกว้าง เป็นตัวแทนของความทันสมัย สื่อกระแสหลักเปรียบเธอเหมือนกับสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นยุคใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และลดช่องว่างของสามัญชนกับราชวงศ์ญี่ปุ่น

หลังจากอภิเสกสมรสและได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินิเมื่อปี 1989 บทบาทของสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะในด้านสังคมและการศึกษาก็มีเห็นอยู่ตลอดเวลา พระองค์จะเสด็จตามสมเด็จพระจักรพรรดิออกงานน้อยใหญ่ด้วยกันอยู่เสมอ

เมื่อทรงพระครรภ์พระองค์ปฏิบัตินอกกรอบจารีตอีกครั้งโดยเลี้ยงพระชายโอรสและพระธิดาด้วยตัวเอง ไม่พึ่งเหล่าข้าราชบริพาร จ้างครูมาสอนพระราชบุตรในวัง ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเด็กและบทกลอนไว้หลายเล่ม แต่ถึงพระองค์จะเป็นจักรพรรดินีแล้วแต่ก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ

ปี 2007 จักรพรรดินีมิชิโกะทรงให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษว่าหลังจากแต่งงานก็ต้องเผชิญกับความลำบากหลายเรื่อง เพราะผู้คนต่างก็เรียกร้องสิ่งต่าง ๆ จากเธอ

บางครั้งรู้สึกเศร้าและกดดันที่ไม่สามารถทำตามความต้องการของทุกคนได้ สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานอีกว่าจักรพรรดินีเกิดอาการเครียดจนพระโลหิตตกในพระอันตคุณ (เลือดออกในลำไส้เล็ก) จนต้องยกเลิกงานพระราชกรณียกิจ เป็นผลจากความเครียดและแรงกดดันที่ได้รับจากการก้าวขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี 

ถึงแม้จะต้องพิสูจน์ตัวเอง และต้องพบเจอกับแรงกดดันและความเครียด แต่สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะทรงมีสมเด็จพระจักรพรรดิคอยอยู่เคียงข้างให้กำลังใจอยู่เสมอ งานอดิเรกยามว่างของทั้งสองพระองค์คือการทรงดนตรีร่วมกัน โดยจักรพรรดินีทรงพระปรีชาสามารถด้านเปียโนระดับมืออาชีพ ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดิทรงโปรดเครื่องดนตรีเชลโล ส่วนเจ้าชายนารุฮิโตะทรงชื่นชอบการเล่นไวโอลิน

เรื่องราวความรักของทั้งสองพระองค์ถูกอกเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ในฐานะจักรพรรดิและจักรพรรดินีที่ครองรักกันอย่างยืนยาว จนต่อมาในปี 2016 สถานี NHK รายงานว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเตรียมสละราชสมบัติให้กับเจ้าชายนารูฮิโตะ ซึ่งการสละราชสมบัติไม่เคยมีมานานมากนับตั้งแต่รัชสมัยของจักรพรรดิโคกะกุเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว จนชาวญี่ปุ่นแซวกันว่าแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนทั้งสองพระองค์ก็ยังคงสร้างเสียงฮือฮาให้กับประชาชนชาวญี่ปุ่นได้เสมอ

ตั้งแต่ปี 1989 จุดเริ่มต้นของยุคเฮเซและสมเด็จพระจักรพรรดิคนใหม่ เจ้าชายอากิฮิโตะทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ จักรพรรดิองค์ที่ 125 ส่วนมิชิโกะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ จนมาถึงปี2019 ที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติและเปลี่ยนยุคสมัยใหม่จากเฮเซเป็นยุคเรวะ 

ถึงแม้พระองค์จะไม่ได้เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิอีกต่อไปแต่เรื่องราวความรักอันแสนโรแมนติกที่ทั้งสองคนร่วมสร้างกว่า 61 ปี ก็กินใจใครหลายคนได้อย่างง่ายดาย และสร้างภาพลักษณ์รวมถึงค่านิยมที่ดีให้กับคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่อีกด้วย 

 

SOURCE1 SOURCE2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line