World

THE PROFILES: EMMANUEL MARCOS ผู้นำแห่งการคอรัปชั่นและรอยด่างยากจะลืมของฟิลิปปินส์

By: TOIISAN February 12, 2019

การเลือกตั้งในประเทศกำลังใกล้เข้ามาทุกที ไทยเราห่างหายจากการเลือกตั้งไปเกือบ 5 ปี หลังจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 ดังนั้นก่อนที่จะเข้าคูหากาเบอร์พรรคที่ตัวเองชื่นชอบ UNLOCKMEN จะพาไปดูเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจของการต่อสู้ทางการเมือง

flickr

เรื่องราวที่ยาวนานและยืดเยื้อเริ่มต้นขึ้นเมื่อ เฟอร์ดินานด์ เอ็มมานูเอล มาร์กอส ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ดำรงตำแหน่งเป็นเวลาเกือบ 21 ปี (1965-1986) เขาสร้างชื่อจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะความร้อนแรงและอุดมการณ์อันเต็มเปี่ยมในการต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น

เมื่อเขาตัดสินใจเล่นการเมือง ชื่อเสียงตั้งแต่ช่วงสงครามโลกของเขารวมถึงนโยบายต่าง ๆ ของพรรคสามารถซื้อใจชาวรากหญ้าและชนชั้นกลางทำให้มาร์กอสชนะการเลือกตั้งในปี 1965 และดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์

Wikimedia Commons

แรกเริ่มเดิมทีเหมือนทุกอย่างจะดำเดินไปได้ด้วยดี แต่แล้วกลับไม่เป็นอย่างที่ชาวฟิลิปปินส์คาดคิด เมื่อมาร์กอสดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ต่าง ๆ สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและกลุ่มพรรคพวก อีกทั้งนโยบายประชานิยมของเขาจะต้องยืมเงินมาจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศมีหนี้สินจำนวนมาก

เมื่อได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่สอง มาร์กอสได้ประกาศกฎอัยการศึกในปี 1972 รวบอำนาจทั้งหมดมาไว้ในมือ เปลี่ยนเป็นผู้นำเผด็จการที่ทำให้ทั้งนักข่าว สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ วุฒิสมาชิกถูกจำกัดเสรีภาพด้วยกฎอัยการศึกและถูกจับตาอยู่ตลอดเวลา สำนักข่าวที่เห็นต่างถูกปิดตัวลงโดยอ้างว่าถ้าสื่อมีเสรีภาพมากเกินไปจะทำให้อำนาจกระบวนการสร้างชาติไม่สามารถดำเนินไปได้

SENSE ASEAN

ไม่ว่าจะเป็นสภา ทหาร ไฟฟ้า น้ำมัน สื่อสิ่งพิมพ์ ทุกอย่างตกอยู่ภายใต้ความดูแลของบริษัทเครือข่ายพรรคพวกของประธานาธิบดี

เขายังวางแผนที่จะอยู่ในอำนาจยาว ๆ โดยในช่วงเวลาที่มาร์กอสดำรงตำแหน่ง ธนาคารโลกได้เปิดเผยว่าฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในเอเชียจากเดิมราว 2,670 ล้านดอลลาร์ พุ่งสูงถึง 29,000 ล้านดอลลาร์ ภายในเวลาเพียงแค่ 14 ปี แต่ตัวเขาและภรรยากลับติดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

Ann Arbor District Library

หลังจากทำรัฐประหารตัวเอง ปัญหาหนี้สินมากมายของประเทศก็ยังคงอยู่ สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้รับการแก้ไข อัตราการก่ออาชญากรรมพุ่งสูงขึ้น  และการฉ้อโกงทำให้ความนิยมของประธานาธิบดีมาร์กอสลดลง

เหล่าผู้สนับสนุนประชาธิปไตยออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมาร์กอสหยุดจับกุมคนที่เห็นต่างทางการเมืองและเลิกตัดสินคดีผู้คนเหล่านั้นโดยใช้ศาลทหาร รวมถึงคืนอำนาจประชาธิปไตยที่ประชาชนพึงมีสักที

ปี 1981 ภายหลังประกาศใช้กฎอัยการศึกจึงมีการเลือกตั้งและผลคือประธานาธิบดีมาร์กอสได้รับชัยชนะ แต่อีกสองปีต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ที่เป็นที่ครหามากขึ้นเนื่องจากปี 1983 เบนิกโน นินอย อากีโน ผู้เป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของเขาและได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมากถูกลอบสังหารขณะเดินทางกลับจากสหรัฐฯ ในทันทีที่ลงจากเครื่องบินบริเวณสนามบินกรุงมะนิลา ความสงสัยทั้งหมดจึงถูกพุ่งไปที่มาร์กอสว่าเขาอาจเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารในครั้งนี้

Philippine Headline News Online

เมื่อเกิดการลอบสังหาร แทนที่เสี้ยนหนามของประธานาธิบดีมาร์กอสจะหมดไป กลับมีคู่แข่งทางการเมืองคนใหม่คือผู้หญิงที่ชาวฟิลิปปินส์ต่างคุ้นเคยกันดีอย่าง มาเรีย โคราซอน อากีโน ภรรยาของเบนิกโน อากีโนที่โดนลอบสังหารไปเมื่อปี 1983 ทำให้เธอต้องก้าวเข้าสู่โลกการเมืองเนื่องจากต้องการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมและต้องการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ประเทศฟิลิปปินส์กำลังเผชิญอยู่

ด้วยแรงกดดันจากประชาชนและการจับตามองของทั่วโลกทำให้ในปี 1985 ประธานาธิบดีมาร์กอสตัดสินใจจัดการเลือกตั้งแบบสายฟ้าแลบ และผลก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดคิด

ถึงแม้ว่าประชาชนชาวฟิลิปปินส์จะหมดความนิยมในตัวเขาแล้ว แต่ด้วยกลโกงเลือกตั้งจึงทำให้ประธานาธิบดีมาร์กอสได้รับชัยชนะ และทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ถูกเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งสกปรกที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์

Bagong Lipunan

คำถามที่ตามมาของชาวโลกคือประธานาธิบดีมาร์กอสโกงผลคะแนนเลือกตั้งได้อย่างไร ? มีการตีข่าวว่ามาร์กอสซื้อเสียงและข่มขู่นักการเมืองรวมถึงผู้เกี่ยวข้องไม่ต่างจากการเลือกตัวแทนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1970 ด้วยการโกงแบบซึ่งหน้า เรียกเหล่าผู้แทนเข้าไปพบและให้ซองสินบน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าข้อกฎหมายที่จะล้มตัวเขาจากตำแหน่งจะต้องไม่ผ่านมติของสภา

หลังจากผลเลือกตั้งในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1986 ออกมาว่าประธานาธิบดีมาร์กอสได้รับชัยชนะและจะดำรงประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ต่ออีกหนึ่งสมัย ทำให้นักการเมืองคู่แข่งอย่างอากีโนได้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง

รวมถึงประชาชนที่เหลืออดเต็มทนจึงอารยะขัดขืนพร้อมกันทั่วประเทศเป็นจำนวนกว่าล้านคน เพราะทุกคนต่างเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เต็มไปด้วยอิทธิพล การทุจริตและอำนาจในทางที่มิชอบของประธานาธิบดีมาร์กอส

SEAsite

เมื่อประชาชนเริ่มต้นประท้วง ผู้มีอำนาจหลายฝ่ายต่างยืนกรานให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ รวมถึงยื่นหลักฐานเรื่องการซื้อเสียงด้วยการข่มขู่ กรณีแย่งชิงหีบเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงหลายพันคะแนน และสิ่งที่เรียกได้ว่าพลิกเกมครั้งใหญ่ทำให้ประธานาธีบดีมาร์กอสต้องเหงื่อตกคือกองทัพอากาศประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการอีกต่อไปรวมถึงรัฐมนตรีกลาโหม ฮวน เอนริเล ที่ประกาศเลือกอยู่ข้างเดียวกับประชาชนและอากีโน

เหตุการณ์ในครั้งนี้จบลงด้วยการลี้ภัยทางการเมืองของมาร์กอส และฟิลิปปินส์ก็ได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือ มาเรีย โคราซอน อากีโน หญิงสาวที่ประกาศตั้งแต่แรกเริ่มว่าเธอนั้นเป็นเพียงแค่แม่บ้านทั่วไปคนหนึ่งเท่านั้นเอง

Liberal International

เมื่อโคราซอน อากีโนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก และเป็นส่วนหนึ่งของการล้มลางระบอบเผด็จการของอดีตประธานาธิบดีมาร์กอสได้สำเร็จ คืนประชาธิปไตยให้กับประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงยังเป็นผู้หญิงแห่งปีจากการจัดอันดับของนิตยสาร Time ประจำปี 1986 ปิดตำนานอำนาจเผด็จการที่ยาวนานกว่า 21 ปีของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ เอ็มมานูเอล มาร์กอส

 

SOURCE1

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line