Life

คนที่มีความคล้ายกัน (SIMILARITY) ความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคนพยายาม

By: unlockmen August 15, 2020

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น สำนวนไทยที่เราได้ยินบ่อย แต่อาจใช้ไม่ได้กับทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ เพราะเรื่องความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนหลายคน มันจึงพัฒนาไม่ได้หากมีใครที่พยายามอยู่ฝ่ายเดียว

และในการสร้างความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จ เราอาจต้องคิดถึงเรื่องความเข้ากันได้ระหว่างเราและฝ่ายตรงข้ามด้วย เพราะหลายครั้งที่เราเห็นการพยายามปรับเข้าหากัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นกลับไม่ได้ดีขึ้นเลย วันนี้ UNLOCKMEN จะมาอธิบายให้ทุกคนเข้าใจถึงเรื่องนี้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ว่าทำไม ความคล้ายกัน ถึงทำให้ความสัมพันธ์ไปได้ไกลกว่า

ก่อนอื่นเราอยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า ความคล้ายคลึงกันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ได้แก่ คล้ายคลึงกันจริง (Actual similarity) และ เชื่อว่าคล้ายคลึงกัน (Perceived similarity) พูดง่ายๆ คือ คนๆ หนึ่งอาจคล้ายกับอีกคนหนึ่งจริง หรือ เชื่อว่าตัวเองคล้ายกับอีกคนหนึ่ง เช่น เราเชื่อว่าเราชอบสีดำเหมือนที่แฟนเราชอบ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราอาจจะไม่ได้ชอบมากขนาดนั้น แต่อย่างน้อยในเวลานั้น เราก็มีความรู้สึกชื่นชอบสีดำเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง ซึ่งในท้ายที่สุดท้ายก็อาจพบว่าตัวเองคิดผิดก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยก็มีความคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นอยู่ในความรู้สึกแล้วนั่งเอง (ต่างกับความรู้สึกว่า เราไม่มีอะไรคล้ายกันหรือเข้ากันได้เลย และพยายามทดลองปรับตัวเข้าหากันนะครับ)

ความคล้ายคลึง 2 ประเภทนี้จะมีบทบาทต่อการสร้างความสัมพันธ์ในบริบทที่แตกต่างกัน actual similarity จะมีบทบาทสำคัญมากในตอนที่ความสัมพันธ์ยังไม่เริ่ม โดย ยิ่งเรามีข้อมูลเกี่ยวกับคนนั้นน้อยเท่าไหร่ actual similarity จะยิ่งเพิ่มระดับความชอบที่เรามีต่อคนๆ นั้นมากขึ้นเท่านั้น

ในงานวิจัยที่ศึกษาสถานการณ์ที่คนรู้จักกับคนแปลกหน้าผ่านการอ่านข้อมูลเกี่ยวกับคน ๆ นั้นโดยไม่มีการพบกันจริง พบว่า การได้รู้ว่าตัวเองมีอะไรหลายอย่างคล้ายคลึงกับอีกคน จะส่งผลให้ความชอบในตัวคนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะเราไม่สามารถวัดความชอบจากข้อมูลอื่นได้เลย ซึ่งในการศึกษาสถานการณ์ที่มีการพบกับคนแปลกหน้าจริงๆ Actual similarity ก็สร้างความชอบเหมือนกัน แต่ไม่ได้สร้างมากเท่ากับสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอกัน

ในขณะที่ Perceived similarity จะมีผลต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวมากกว่า โดยในงานวิจัยที่ศึกษาสถานการณ์ที่ผู้ทดลองได้เจอกับคนแปลกหน้า พบว่า หากมีโอกาสมากพอในการทำความรู้จักเกี่ยวกับคนแปลกหน้าคนนั้น จนความสัมพันธ์สามารถพัฒนาเป็นเพื่อนหรือคู่รักได้ Actual similarity จะไม่มีผลต่อความชื่นชอบในตัวคนแปลกหน้าคนนั้นเลย ทว่า Perceived similarity จะมีผลต่อการสร้างความชื่นชอบมากกว่า เพราะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในระยะยาว ได้กรองคนที่ไม่มีความคล้ายคลึงกันออกไปแล้วนั่นเอง

แม้ว่า Actual similarity และ Perceived similarity จะส่งผลต่อความชื่นชอบในบริบทที่ไม่เหมือนกัน แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า ความคล้ายคลึงกันมีผลดีต่อการสร้างความสัมพันธ์จริง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยที่ผ่านมาอีกหลายชิ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น งานวิจัยจาก Wellesley College in Massachusetts และ the University of Kansas เมื่อปี 2016 ที่ระบุว่า คนที่มีทัศนคติเหมือนกัน จะใช้เวลาร่วมกันมากกว่าคนที่มีทัศนคติแตกต่างกัน หรือ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร SAGE journals เมื่อปี 2017 ที่ระบุว่า คนที่มีบุคลิกภาพคล้ายกัน เช่น มีความชอบเหมือนกัน หรือ ใช้ภาษาคล้ายกัน มักจะเป็นเพื่อนกัน ส่วนคนที่มีระดับความคล้ายคลึงกันสูงที่สุดมักจะเป็นคู่รักกัน เป็นต้น

แต่การอธิบายเหตุผลที่เราชอบคนที่มีความคล้ายคลึงกับเราก็มีความซับซ้อน เพราะมันสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฏีทางจิตวิทยาหลายอัน เช่น ทฤษฎีการตรวจสอบความเชื่อมั่น (consensual validation) ที่อธิบายว่า การพบเจอกับคนที่มีทัศนคติเหมือนเราจะช่วยให้เรามั่นใจในทัศนคติของตัวเองมากขึ้น หรือ ทฤษฎีการประเมินการรู้คิด (cognitive evaluation) ที่อธิบายว่า เราสร้างความประทับใจในตัวคนอื่นจากข้อมูลที่เราอยู่

ดังนั้น เมื่อเรารู้ว่าคนมีอะไรบางอย่างคคล้ายคลึงกับเรา มันจะทำให้เรารู้สึกดี เพราะเรารู้สึกดีกับตัวเองอยู่แล้ว เป็นต้น แต่โดยสรุป คือ คนเรามักชอบคนที่คล้ายคลึงกับตัวเอง เพราะมันทำให้เรารู้สึกโอเคที่จะเป็นตัวของตัวเอง และการอยู่กับสิ่งที่เราคุ้นเคยจะทำให้เรารู้สึกว่ามีความแน่นอนมากกว่า อย่างเช่น เวลาคิดถึงอนาคตของชีวิตคู่

อย่างไรก็ตาม แม้ความคล้ายคลึงกันจะมีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ก็จริง ก็ใช่ว่าเราจำเป็นจะต้องมีอะไรที่เหมือนหรือคล้ายกันไปหมด บางเรื่องที่เรามีแตกต่างกัน ก็สร้างสีสันให้กับความสัมพันธ์ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่เรา เพื่อน หรือ แฟน ควรมีคล้ายกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์เป็นไปได้อย่างราบรื่นนั้นมีดังนี้

การให้คุณค่าในสิ่งเดียวกัน

ทัศนคติ หรือ อุดมการณ์ ในเรื่องต่างๆ ที่มีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น การเมือง หรือ ประเด็นสังคม จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ เพราะว่า ทัศนคติในเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งประกอบสร้างตัวตนของแต่ละคนขึ้นมา ดังนั้น จึงเปลี่ยนแปลงได้ยาก และใครที่มีทัศนคติไม่ตรงกัน มักมีความเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ ไม่ตรงกัน จนทะเลาะกันบ่อย ๆ ก็อาจจะอยู่ร่วมกันยากเช่นกัน

 

บุคลิกภาพไม่ต่างกันมากเกินไป

บุคลิกภาพก็สำคัญไม่แพ้ทัศนคติ หรือ อุดมการณ์ เพราะมันบ่งบอกตัวตนของเราเหมือนกัน หากมีบุคลิกภาพแตกต่างกันมาก ๆ เช่น คนหนึ่งอาจเป็นคนติดตลก ไม่ค่อยแคร์อะไร ส่วนอีกคนซีเรียสจริงจัง และเป็น perfectionist ก็อาจจะอยู่ร่วมกันแล้วรู้สึกอึดอัด

แต่เราไม่ได้แนะนำให้ทุกคนเลือกคบคนที่เหมือนตัวเองหมดไปซะทุกเรื่องนะ แต่ควรเป็นคนที่มีบางเรื่องเหมือนหรือคล้ายกัน หรือยอมรับในความแตกต่างได้โดยไม่พยายามทำให้รู้สึกต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

 

มีงานอดิเรกและเรื่องที่สนใจร่วมกัน

การทำงานอดิเรกร่วมกัน ทำให้เราได้ใช้เวลาร่วมกันได้ และจะช่วยสร้างความผูกผันระหว่างกันที่แข็งแรงได้ ดังนั้นเราควรมีงานอดิเรกอย่างน้อยสักหนึ่งอย่างที่ทำร่วมกันได้ เช่น การออกกำลังกาย ดูคอนเสิร์ต หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น และถ้าเป็นงานอดิเรกที่เราชื่นชอบด้วยยิ่งดี เพราะเราจะไม่ต้องฝืนใจพยายามในสิ่งที่เราไม่ได้อยากทำในระยะยาว

 

มีความสามารถในการเข้าสังคมคล้ายกัน

ลองจินตนาการว่า ถ้าอีกคนหนึ่งชอบอยู่แต่ในบ้าน ส่วนอีกคนหนึ่งชอบออกไปข้างนอก มันก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ต้องเจอกับการทะเลาะกันได้ เพราะใครคนใดคนหนึ่งอาจต้องการให้ใช้เวลาร่วมกันมากกว่านี้ ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่ดีจึงต้องการคนที่มีไลฟ์สไตล์ในการเข้าสังคมที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่า คู่ที่เป็น Introvert และ Extrovert จะมีปัญหากับความสัมพันธ์นะ หากมีการพูดคุย และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ คู่ที่มีความแตกต่างกันก็เป็นคู่ที่ดีได้เหมือนกัน

 

 


Contributor: วัศพล โอภาสวัฒนกุล

Reference: 1 / 2 /

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line