World

The Skate Kitchen กลุ่มสเก็ตเตอร์หญิงที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในการเล่นสเก็ตบอร์ด

By: GEESUCH July 30, 2022

‘สเก็ตบอร์ด’ กีฬาที่น่าจะแสดงภาพของความอิสระของมนุษย์มากที่สุด ทั้งความเร็วที่เราเป็นคนกำหนดด้วยแรงของตัวเอง หรือการทะยานขึ้นไปบนอากาศเหมือนกับนกที่กำลังบิน แต่ความ ‘อิสระ’ ของสเก็ตบอร์ด มักถูกแปะด้วยภาพของผู้ชายเต็มไปหมด เหล่าสเก็ตเตอร์หญิงอยู่ตรงไหน และคำว่า ‘อิสระ’ นั้นอิสระจริงใช่มั้ย? 

เราชื่อว่าทุกสังคม ทุกกีฬา มีความไม่เท่าเทียมบางอย่างอยู่ในตัว แต่การปลดล็อคสิ่งนั้นเพื่อทลายกำแพงลง ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ย้อนกลับไปในปี 2012 มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการจะทำลายกำแพงที่ว่าโดยการตั้งกลุ่มสเก็ตบอร์ดที่มีแต่ผู้หญิงชื่อ The Skate Kitchen ขึ้น … เรื่องราวการต่อสู้ของพวกเธอถูกทำเป็นภาพยนตร์ในปี 2018 และถูกทำเป็นซีรีส์ 2 ซีซั่น ฉายทาง HBO มาแล้ว

UNLOCKMEN อยากแนะนำให้ทุกได้รู้จักกับกลุ่มสเก็ตเตอร์หญิงจากนิวยอร์ก The Skate Kitchen ผู้ลุกขึ้นสู้เพื่อความเท่าเทียม ที่ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง หรือเพื่อพื้นที่ของผู้หญิงต่อความเป็นปิตาธิปไตยของกีฬาสเก็ตบอร์ดเท่านั้น แต่พวกเธอทำเพื่อให้ทุกคนได้เล่นสเก็ตบอร์ดอย่างที่อยากจริง ๆ


ลานสเก็ตบอร์ดของ Nina Moran พื้นที่ซึ่งผู้หญิงไม่ได้ถูกรับเชิญ

Nina Moran หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม The Skate Kitchen

ไม่ว่าคุณจะดูภาพถ่ายรวมกลุ่มของ The Skate Kitchen กี่ครั้ง เสื้อมัดย้อมที่ทำขึ้นเองซึ่งเข้าชุดมากับการสวมหมวกตลอดเวลาของ Nina Moran ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีให้กำเนิดกลุ่มสเก็ตเตอร์ห้องครัวนี้จะเด่นออกมาตลอด และการเล่าความเป็นมาของกลุ่ม ก็ต้องย้อนกลับไปที่ช่วงเวลาในวัยเด็กที่ไม่ค่อยดีนักของเธอกัน 

นิน่าเริ่มเล่นสเก็ตบอร์ดจริงจังตอนอายุ 12  และเป็นครั้งแรกของชีวิตที่เธอมีสเก็ตบอร์ดเป็นของตัวเอง มันเป็นสีชมพู ซึ่งพ่อของนิน่าเป็นคนซื้อให้ ในตอนนั้นนิน่าไม่ได้ไถสเก็ตบอร์ดเล่นกับเพื่อน หรือชวนกันฝึกอะไรแบบนั้น แถมเธอออกจะเป็นคนขี้อายพอตัว นิน่าใช้ทุกช่วงเวลาหลังเลิกเรียนดูเหล่าเด็กผู้ชายจากโรงเรียนเล่นสเก็ตบอร์ด เธอฝึกจากการดูของจริง ทำตามทุกฝีกระโดดที่ได้เห็น พร้อมกับใจที่หวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าสักวันจะขอเข้าไปจอยกับกลุ่มให้ได้

วันหนึ่ง หลังจากที่บ่มความกล้าเอาไว้จนได้ที่ นิน่าเดินเข้าไปขอเล่นสเก็ตบอร์ดกับเพื่อนผู้ชายกลุ่มที่เธอเฝ้าดูมาโดยตลอด แต่แล้วประสบการณ์แย่ ๆ จากการเล่นสเก็ตบอร์ดก็ทำร้ายเธอเป็นครั้งแรก มันไม่ใช่การล้มจากราวบันได หรือกระแทกเข้ากับกำแพงหรอกที่สร้างแผลให้กับเธอ แต่เป็นคำพูดจากเหล่าผู้ชายถึงสเก็ตบอร์ดสีชมพูตัวเก่งของเธอต่างหากที่สร้างมัน 

“โห สเก็ตบอร์ดของเธอขี้เหร่มากเลยว่ะ!”

แล้วนิน่าก็กลับไปสู่จุดเริ่มต้น (ซึ่งเอาจริง ๆ เธอก็ไม่เคยไปไกลกว่าตรงนั้นด้วยซ้ำ) ยืนดูเหล่าเด็กชายที่ข้างสนาม เรียนรู้ และฝึกด้วยตัวเองเงียบ ๆ ต่อไป


สเก็ตเตอร์หญิงผู้ก้าวหน้าแต่ถูกดันให้ถอยหลัง

หลังจากที่ใช้วิธี Watch and Learn ผสมกับแพชชั่นในสเก็ตบอร์ดที่ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคง่าย ๆ เพียงเวลาไม่นานนิน่าก็เก่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเธอทำท่ายาก ๆ อย่าง Kickflip ได้ด้วยตัวเอง และตรงจุดนี้เอง เหล่าเด็กผู้ชายกลับเปลี่ยนทีท่าจากเดิม พวกเขาทึ่งในความสามารถของนิน่ามาก พร้อมให้ความสนใจและให้เธอมาลงสนามเล่นด้วยกัน

แต่ความดีใจมีอายุอยู่ได้ไม่นาน นิน่ากลับต้องเสียใจเป็นครั้งที่สอง ด้วยคำพูดใหม่จากปากเหล่าเด็กผู้ชายกลุ่มเดิม

The Skate Kitchen

“แต่เธอรู้ใช่มั้ยว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ผู้หญิงจะพยายามเล่นสเก็ตบอร์ด เพราะเธอจะไม่มีวันเก่งเทียบเท่าผู้ชายได้หรอก”

และตรงนี้เองคือจุดเปลี่ยนสำคัญ นิน่าคิดได้แล้วว่าตอ่ให้พยายามเล่นให้เก่งเท่าไหร่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะมันเป็นเรื่องของ ‘คนที่ไม่ใช่ ในสถานที่ซึ่งไม่ถูกต้อง’ ต่างหาก เธอตั้งปณิธานต่อไปว่าจะรวบรวมเหล่าสเก็ตเตอร์หญิงให้มีพื้นที่เล่นด้วยกันอย่างสนุกด้วยตัวเอง


การพบเจอของ 2 ผู้ก่อตั้ง The Skate Kitchen 

Rachelle Vinberg หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Skate Kitchen

นิน่าออกตามหาเหล่าผู้หญิงที่หลงใหลสเก็ตบอร์ดเหมือนกันในนิวยอร์กบ้านเกิดของตัวเอง เพื่อที่จะได้ตั้งกลุ่มเล่นในแบบที่จะไม่มีใครมาตัดสินได้อีก จนเธอได้พบกับคลิปวิดีโอหนึ่งใน Youtube ซึ่งอัพโหลดโดย Rachelle Vinberg เป็นคลิปของเรเชลเองที่ฝึกเล่นสเก็ตบอร์ด ทั้งล้ม ทั้งกระแทก แต่ก็ไม่มีทีท่าสะทกสะท้านแม้แต่น้อย นั่นทำให้นิน่าทึ่งจนต้องทิ้งคอมเมนต์ไว้ว่า “ที่เธอทำมันเจ๋งมากเลยนะ เธอเล่นเก่งกว่าฉันอีก”

The Skate Kitchen ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการจากตรงนี้จากทั้งสองคนที่กลายเป็นเพื่อกันอย่างรวดเร็ว ที่มาของชื่อเป็นการล้อเลียนวัฒนธรรมโบราณของสังคมชายเป็นใหญ่ประมาณว่า ‘เป็นผู้หญิงก็ต้องเข้าครัวทำกับข้าวให้สามีกินไปสิ’  

ทั้งคู่สร้างชุมชนสเก็ตบอร์ดหญิงเพื่อรวมกลุ่มทุกคนที่สนใจทั่วนิวยอร์กได้แลกเปลี่ยนความรู้ พูดคุย รวมไปถึงนัดรวมกลุ่มกันไปฝึกเล่นตามลานสเก็ต เพื่อที่พวกเธอทุกคนจะได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการสเก็ตจริง ๆ สักที นั่นคือเป้าหลักสำคัญของกลุ่มนี้

เพราะทั้งนิน่าและเรเชลต่างมีประสบการณ์คล้าย ๆ กัน ในการเป็น ‘สเก็ตเตอร์หญิง’ ที่เวลาจะเอาสเก็ตบอร์ดไปเล่นที่ลานแต่ละครั้ง ก็มักจะเจอสายตาตัดสินอัตโนมัติทันทีที่ก้าวเท้าเข้าไปถึง ผู้คนจะคิดว่าผู้หญิเล่นไม่เก่ง และมองว่าถือมาเป็นเครื่องประดับเฉย ๆ

“เรารู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องเข้าหาสเก็ตเตอร์หญิงทุกคนที่โดนกีดกัน เพราะถ้าคุณเป็นผู้ชายถือสเก็ตบอร์ด จะไม่มีใครว่าอะไรคุณเลย แต่กับผู้หญิงมันไม่ใช่ไง คุณยังไม่มีโอกาสแม้แต่จะแสดงฝีมือก็โดนมองว่าห่วยแล้ว”


The Real Skate Kitchen & ​​Crystal Moselle

​​Crystal Moselle กับ The Skate Kitchen

หลังจากเวลาผ่านไป ชุมชนสเก็ตเตอร์ห้องครัวก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มาพร้อมกับผู้ก่อตั้งและดำเนินงานหลักที่มากขึ้นอีก จากตอนแรกมีแค่นิน่ากับเรเชล ก็กลายเป็น 7 คน โดยที่ไม่ได้เป็นแค่กลุ่มรวมชุนชนสเก็ตเตอร์หญิงเฉย ๆ อย่างเดียวอีกแล้ว แต่พวกเขายังรับจัดงานเป็นดีเจ งานแสดง และดูแลจัดอีเวนท์งานสเก็ตบอร์ดต่าง ๆ อีกด้วย แล้วสาว ๆ จากกลุ่ม The Skate Kitchen ก็ไม่ได้เป็นแค่อันเดอร์กราวด์ที่ถูกมองข้ามและกีดกันอีกต่อไป แถมพวกเธอกำลังจะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในเวลาต่อมา … 

บ่ายวันหนึ่งในบรูคลิน ระหว่างที่นิน่ากับเรเชลกำลังสนทนากันอยู่ จู่ ๆ ก็มีผู้หญิงผมบลอนด์ยาวถึงเอวเดินเข้ามาทัก พร้อมกับชวนไปหากาแฟดื่มเพราะสนใจในเสน่ห์ความเป็นสเก็ตเตอร์หญิงที่ไม่ได้จะเห็นได้บ่อยนักของทั้งคู่

ผู้หญิงคนนี้ชื่อ ​​Crystal Moselle และเธอคือผู้กำกับสารคดีชื่อดังจาก The Wolf Pack ซึ่งชนะรางวัล Grand Jury Prize ของเทศกาล Sundance (เรื่องนี้ Doc Club เคยเอาเข้ามาฉายในไทยและไฮป์มาก) … เรื่องประหลาดที่เกิดขึ้นก็คือ ตอนทำสารคดีเรื่องนี้คริสตัลนั้นบังเอิญเจอกลุ่มพี่น้องนักแสดงแล้วเกิดถูกชะตาเลยเข้าไปคุยด้วยจนได้รู้ที่มาความมหัศจรรย์ ซึ่งเหมือนกับครั้งเป๊ะ ๆ เธอก็เดิน ๆ อยู่แล้วบังเอิญได้เจอกับนิน่ากับเรเชลพอดี โดยที่ก็ไม่รู้ว่าทั้งคู่มีกลุ่มที่ขับเคลื่อนสังคมสเก็ตเตอร์หญิงอยู่ แต่ที่เหมือนกันเลยคือเธอเกิดความรู้สึกว่าต้องทำหนังให้ได้อีกครั้ง

หลังจากการกินกาแฟวันนั้น คริสตัลติดต่อกับสมาชิกหลักของ The Skate Kitchen ถึง 1 ปีเต็ม ทั้งพูดคุย สัมภาษณ์ สเก็ตด้วยกัน สุดท้ายเธอจึงขอถ่ายหนังที่อิงมาจากชีวิตของพวกเธอในชื่อที่เป็นจุดเริ่มต้นอย่าง Skate Kitchen พร้อมกับให้เหล่าคนต้นเรื่องมาเป็นนักแสดงนำ


จากความเท่าเทียมในการเล่นสเก็ตบอร์ดที่ถูกส่งต่อถึงมนุษย์ทุกคน 

หนังเรื่อง Skate Kitchen ออกฉายในปี 2018 และเดินทางไกลไปทั่วโลก และเหล่า The Skate Kitchen ทั้ง 7 คนก็เดินทางไปกับทัวร์ด้วย พร้อมกับนัดเหล่าสเก็ตเตอร์หญิงจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่พวกเธอเดินทางไปออกมาพูดคุยแลกเปลี่ยน และแน่นอน ลุยสเก็ตไปด้วยกัน 

หนังเรื่องนี้เป็นการพูดคุยถึงประเด็นซีเรียสของการถูกกีดกันเป็น ‘คนนอก’ เพราะใน The Skate Kitchen เองก็มีผู้หญิงที่หลากหลายเชื้อชาติอยู่ในกลุ่ม จุดประสงค์ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าคุณไม่ควรหาวิธีผลักใครก็ตามที่เขาสนใจในสิ่งเดียวกันออกไป พร้อมกับยึดพื้นที่นั้น ๆ เป็นของตัวเอง มันไม่ได้แค่เกี่ยวกับการคุมอำนาจโดยผู้ชายเท่านั้น ปัญหาอาจจะลามไปถึงการจำกัดความหลากหลายในพื้นที่ และเมื่อคนที่มาใช้ที่นี้ไม่เห็นผู้คนที่เหมือนกับเขาอยู่ในพื้นที่แม้แต่คนเดียว เขาก็อาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัยไปเลย

เรียกว่าจุดประสงค์ของการตั้งกลุ่ม The Skate Kitchen ของเรเชลกับนิน่าเดินทางมาไกลกว่าที่ตั้งเอาไว้ลิบ ความเท่าเทียม ความปลอดภัย ความสบายใจของพวกเธอไม่ได้มีหน้าตาเป็นหญิงหรือชาย แต่ได้เกี่ยวกันถึงคำว่า ‘มนุษย์’ ไปแล้ว

“เรากำลังทำลายกำแพงทางเพศและเชื้อชาติ และไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่ในลานสเก็ตบอร์ดเท่านั้น”

 

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line