Business

ประยุกต์ 5 เทคนิคการตลาด ช่วยตัดสินใจไม่พลาด มองขาดทุกเรื่องทำธุรกิจ

By: unlockmen February 11, 2021

เมื่อว่าด้วยเรื่องการตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคนเข้าทีม เจรจาต่อรองกับคู่ค้า หรือแม้แต่ลงทุนทำธุรกิจ ล้วนต้องมีต้นทุนและราคาที่ต้องจ่าย แน่นอนว่าทุกตัวเลือกที่มีในโจทย์หลักต่างมาพร้อม “ความเสี่ยง” ด้วยกันทั้งสิ้น

แต่คุณจะเลือกอย่างไรให้เสี่ยงเสียได้น้อยที่สุด และพลิกความเสี่ยงนั้นให้กลายเป็น “โอกาสทอง” แทน นอกจากเชื่อในสัญชาตญาณแล้ว การคิดวิเคราะห์บนพื้นฐานหรือหลักการที่เป็นเหตุเป็นผลจะยิ่งช่วยชั่งน้ำหนักระหว่าง “ความเสี่ยง” กับ “โอกาส” ของตัวเลือกที่มีได้ชัดเจน ทำให้คุณตัดสินใจไม่พลาด

จริง ๆ แล้ว การตัดสินใจของคนเราจะผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และวางแผน 5 ขั้น ด้วยกัน ได้แก่

ขั้น 1 วางเป้าหมาย เพราะเป้าหมายเปรียบเหมือนเสาหลักของการร่างแผนการทำงานอื่น ๆ ตามมา
ขั้น 2 ศึกษารวบรวมข้อมูล เก็บรายละเอียดของกลวิธีหรือทางเลือกที่จะช่วยไปให้ถึงเป้าหมายนั้น โดยเจาะลึกแต่ละวิธีอย่างละเอียด
ขั้น 3 ประเมินตัวเลือก ผู้ที่มีส่วนร่วมต้องร่วมกันชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของทางเลือกแต่ละแบบ เพื่อตัดสินใจร่วมกัน
ขั้น 4 ตัดสินใจเลือกทางที่ใช่
ขั้น 5 ประเมินผลลัพธ์ ดูว่าทางเลือกที่ใช้นั้นให้ผลลัพธ์อย่างไร โดยอาจแบ่งเป็นผลลัพธ์ระยะสั้นและผลลัพธ์ระยะยาว

แน่นอนสิ่งที่เราพูดถึงกันตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่สาม หากไม่รู้จะเริ่มต้นยึดหลักการไหน ลองมาดูเทคนิคการตลาดที่ใช้ในการวางกลยุทธ์การขาย อาจช่วยให้คุณนำมาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

T-Charts

หลายคนน่าจะคุ้นเคยโมเดล T-Chart อยู่แล้ว โดยวิธีนี้เริ่มจากการร่างคอลัมน์แบ่งออกเป็นสองฝั่งคล้ายกับ
“T” อันเป็นที่มาของชื่อโมเดล ส่วนใหญ่มักใช้เปรียบเทียบความเหมือน-ความต่าง หรือข้อดี-ข้อเสีย ของตัวเลือกที่ต้องการเทียบกัน โดยลิสต์ลักษณะเฉพาะของหัวข้อย่อยหรือคุณสมบัติแต่ละอย่างออกมาเทียบกัน ทำให้เรามองเห็นภาพรวมแบบกว้างและลงลึกได้รอบด้าน

Source: Storyboardthat

ใช้เมื่อไหร่: ชั่งน้ำหนักข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบของตัวเลือก เพื่อช่วยให้มองเห็นโอกาสและความเสี่ยงของแต่ละทางได้มากขึ้น

 

Decision Tree

ดีไซน์โมเดลจะคล้ายแผนผังหรือ mind mapping ที่แตกความคิดออกไปเรื่อย ๆ โมเดลลักษณะนี้จะช่วยให้เราเห็น journey ของตัวเลือกแต่ละแบบว่าจะดำเนินไปทิศทางไหน อย่างไร หากเลือกทางนี้ต้องเดินไปในกระบวนการใด และผลลัพธ์ออกมาเป็นทางไหน มักใช้ในการตัดสินใจระดับองค์กร เพื่อประเมินน้ำหนักของตัวเลือกว่าส่งผลรูปแบบใด ต้องลงทุนเท่าไหร่ ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือผลประโยชน์ที่ได้รับปลายทางคืออะไร คุ้มค่าหรือไม่ ข้อดีคือช่วยให้คนดูผังแล้วเข้าใจได้ทันที เพราะแสดงผลออกมาในรูปกราฟิก ไม่ต้องใช้ข้อมูลตัวเลขซับซ้อน แถมยังปรับเปลี่ยนผังได้ง่าย

Source: Datascience

ใช้เมื่อไหร่: ศึกษารายละเอียดของแต่ละตัวเลือกอย่างละเอียด หรือใช้ในงานที่ต้องใช้ข้อมูลตัวเลขหรือสถิติ

 

Conjoint Analysis

วิธีนี้เป็นที่นิยมมากในบรรดาแวดวงคนทำธุรกิจ Conjoint Analysis เป็นวิธีสำรวจทางเลือกทำการตลาด
หรือทำ research เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และราคาของสิ่งที่วางแผนจะขายนั่นเอง ช่วยประเมินผลให้เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคให้ความสำคัญ ชื่นชอบ หรือกำลังมองหาสิ่งใดจากสินค้าหรือบริการของธุรกิจนั้น ๆ นำไปสู่การวิเคราะห์และวางแผนออกแบบสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแง่ของคุณสมบัติและราคา อีกทั้งยังช่วยคาดการณ์ market share และแนวโน้มของการปล่อยผลิตภัณฑ์ตัวใหม่สู่ท้องตลาดด้วย

Source: Conjointly

วิธีนี้จะรวมเอาการจำลองสถานการณ์ในชีวิตจริงกับเทคนิคทางสถิติเข้ามาใช้สร้างโมเดลสำหรับตัดสินใจเลือกต่อไป ขั้นตอนประเมินตัวเลือกประกอบการตัดสินใจด้วย Conjoint Analysis มีดังนี้

ขั้น 1 หา Attributes + Levels
ตั้งต้นจากตัวเลือกที่มีอยู่ กำหนดเงื่อนไขที่จะใช้พิจารณาตัวเลือกแต่ละตัว (Attributes) เพื่อดูว่าคุณลักษณะเฉพาะของตัวเลือกแต่ละแบบเป็นอย่างไร (Levels of Attributes)

ขั้น 2 พิจารณาโปรไฟล์ของตัวเลือก
เมื่อแตกรายละเอียดจนครบถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่าตัวเลือกแต่ละแบบ
1. เป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง 2. แตกต่างจากอีกตัวเลือกอย่างไร อันนำไปสู่คำตอบว่า ตัวเลือกไหนตอบโจทย์มากที่สุด

ขั้น 3 หาตัวเลือกที่ใช่ที่สุด
ในแง่ของทางการตลาด อาจต้องออกแบบแบบสำรวจโดยยึดข้อมูลจากโปรไฟล์ตัวเลือก แล้ว recruite ตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคจำนวนหนึ่งให้ช่วยตอบแบบสำรวจแล้วมาประเมินว่าคำตอบของโปรไฟล์ตัวเลือกไหนคือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายมองหามากที่สุด เพื่อนำไปสู่การวางแผนด้านราคา รูปลักษณ์ กลุ่มลูกค้า ตลอดจนวิธีสื่อสารทางการตลาดของธุรกิจโดยเฉพาะ

ใช้เมื่อไหร่: ต้องการสร้างสรรค์หรือเปิดตลาดของสินค้าหรือบริการตัวใหม่ ศึกษาแนวโน้มและกระแสในแวดวงธุรกิจขณะนั้น

 

SWOT Analysis

เชื่อว่าผู้สนใจด้านการตลาดต้องคุ้นชื่อนี้อยู่แล้ว เดิมที SWOT Analysis ใช้ประเมินคุณค่าขององค์กรหรือ
Brand Position ว่าจะวางไว้ให้เป็นแบบใด อันเป็นต้นแบบของการออกแบบกลยุทธ์และวิธีสื่อสารทางธุรกิจต่อไป โดยเรานำมาประยุกต์ใช้ เพื่อดูว่าวิธีไหนเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ควรไปทางไหน หรือไปด้วยเส้นทางใด โดยตัวอักษร SWOT ย่อมาจาก

S – Strengths จุดแข็ง
W – Weaknesses จุดอ่อน
O – Opportunities โอกาส
T – Threats ความเสี่ยง

แน่นอนว่าโมเดลนี้จะวิเคราะห์เจาะลึกรอบด้านเกี่ยวกับจุดแข็ง-จุดอ่อน และโอกาส-ความเสี่ยงของธุรกิจคุณอย่างรอบด้าน โดยเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ของแต่ละหัวข้อเป็น 4 ช่อง จากนั้นระดมความคิดจากบุคคลที่เกี่ยวข้องมาช่วยวิเคราะห์และลงรายละเอียดแต่ละหัวข้อ เคล็ดลับวิเคราะห์ Strengths กับ Weaknesses นั้น ให้พิจารณาจากปัจจัยภายในองค์กร (บริการขององค์กร กระบวนการทำงาน บุคลากร) ส่วน Opportunities และ Threats ให้พิจารณาจากปัจจัยภายนอกองค์กร (คู่แข่งของเรา ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดปัจจุบัน แนวโน้มหรือโอกาสเติบโตในการเจาะตลาด)

Source: Mindtools

เมื่อลิสต์รายละเอียดแต่ละอย่างมาพอสมควรแล้ว ให้ลองวิเคราะห์ต่อไปว่า คุณพอจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละสิ่งได้อย่างไร เช่น องค์กรเรามีจุดเด่นบริการด้านไหน (Strengths) ที่จะเปิดตลาดรองรับความต้องการของกลุ่มคนเจน Y ที่มีกำลังซื้อ (Opportunies) ได้บ้าง หรือเทรนด์ออนไลน์เดลิเวอรี่กำลังมาแรง (Opportunities) คุณจะเน้นเสริมบริการส่งอาหารถึงบ้านอีกทาง เพื่อหารายได้ทดแทนจากการขาดลูกค้ามากินในร้านเพราะที่นั่งไม่พอ (Weaknesses) ดีหรือไม่ เป็นต้น

ใช้เมื่อไหร่: ประเมินแนวทางธุรกิจที่องค์กรทำได้ ร่างกลยุทธ์องค์กรให้ทำได้จริง

 

 

PEST Analysis

PEST ว่าด้วยกลวิธีการบริหารจัดการ ซึ่งใช้ประเมินปัจจัยหลักภายนอกอันส่งผลกระทบต่อการบริหารขององค์กร ช่วยให้ตัดสินใจและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ตอบโจทย์กับตลาดมากที่สุด โดยปัจจัยหลักที่ว่านั้นก็มาจากตัวย่อของ PEST ประกอบด้วย

P – Political ปัจจัยทางการเมือง (พิจารณานโยบายรัฐ/การปรับเปลี่ยนกฎหมายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจบางประเภท การเสียภาษี และการว่าจ้างงาน)
E – Economic ปัจจัยทางเศรษฐกิจ (พิจารณาผลกำไร อัตราการแลกเปลี่ยน การเติบโตทางเศรษฐกิจ อุปสงค์-อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะราคาตกต่ำ)
S – Social ปัจจัยทางสังคม (พิจารณาจำนวนประชากร อายุ วัฒนธรรม ทัศนคติต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ชีวิตการทำงาน ไลฟ์สไตล์)
T – Technological ปัจจัยทางเทคโนโลยี (พิจารณาการพัฒนาและความสำคัญของนวัตกรรม เหมาะกับธุรกิจใด กลุ่มผู้ใช้งาน และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคต)

Source: Lucidchart

อย่างที่บอกไปว่า PEST Analysis ใช้วิเคราะห์ผลกระทบต่อองค์กร อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ประเด็นทางสังคม และเทรนด์นวัตกรรม ล้วนส่งผลต่อการทำมาหากินหรือกำไรของธุรกิจทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ผูกติดกับชีวิตผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้

สิ่งสำคัญของการใช้เทคนิคนี้ก็คือติดตามข่าวสารและกระแสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเสมอ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ พิจารณา และตัดสินใจ โดยมากมักใช้คู่กับโมเดล SWOT Analysis

ใช้เมื่อไหร่: พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อคาดการณ์เทรนด์หรือแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Source: Businessnewsdaily

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line