Work

หมัดเด็ด! ‘วิธีใช้ภาษากายให้ทรงพลัง’ประชุมทาง VIDEO CALL กี่ครั้งก็มืออาชีพ

By: PSYCAT April 16, 2020

COVID-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเรา โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่มีทีท่าว่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ในเร็ววันนี้ การทำงานในส่วนที่ต้องใช้การสื่อสาร ยิ่งกระตุ้นให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่

เราไม่ได้เข้าพรีเซนต์งานต่อหน้าคนทั้งห้องอีกต่อไป เราไม่ได้ประชุมแบบเห็นหน้าค่าตากันโดยสะดวกอีกแล้ว ทำให้หลายคนคิดว่า “ภาษากาย” ไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่ผิดถนัดยิ่งการประชุมผ่านวีดีโอคอล หรือเทคโนโลยี คนที่ปรับตัวได้เร็วกว่า รู้จักการใช้ภาษากายผ่านเทคโนโลยีอย่างมืออาชีพมากกว่า คนนั้นคือคนที่ได้เปรียบในสมรภูมิการงานที่ต้องฟาดฟันกันอย่างดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ

สายตายังสำคัญ  อย่ามองกล้อง อย่ามองจอ แบบตรง ๆ

หัวใจสำคัญที่สุดของภาษากาย หากต้องการสื่อสารให้ทรงพลังก็ยังคงเป็น “อายคอนแทค” อยู่นั่นเอง แต่เมื่อเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการประชุม ความท้าทายก็เปลี่ยนไป จากปกติที่เราอาจไม่กล้าสบตาคนในห้องประชุม หรือผู้เข้าร่วมประชุมเยอะเกินไปจนเลือกสบตาไม่ถูก การ Video Conference ก็มีอุปสรรคในแบบของตัวเองเช่นกัน

สิ่งที่คนทำงานไม่ชินเมื่อต้อง Video Conference คือเราไม่แน่ใจว่าการสบตายังจำเป็นอยู่มากน้อยแค่ไหน? และถ้ามันจำเป็นเราจะสบตาคนที่อยู่คนละฝั่งโลก ฝั่งประเทศ หรืออยู่คนละมุมของเมืองอย่างไร? คำตอบก็คืออายคอนแทคยังคงเป็นภาษากายที่มีความหมายมาก เพราะนี่คือการสื่อทุกอารมณ์ ความรู้สึกที่คำพูดอาจบอกได้ไม่ครบถ้วน หรือช่วยเน้นย้ำคำพูดที่พูดออกไปให้ชัดเจนขึ้น

การสร้างอายคอนแทคผ่าน Video Conference นั้นไม่จำเป็นต้องจ้องไปที่กล้องของเรา หรือจ้องที่หน้าจอ มันอาจดูไม่ชินในครั้งแรก ๆ แต่อย่าลืมว่าหลายคนอาจพลาดท่าหรือทำให้เสียบุคลิกเพราะเอาแต่จ้องภาพเคลื่อนไหวของตัวเองที่อยู่บนหน้าจอ

จุดที่ควรจ้องนั้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าอาจเป็นด้านข้างของกล้องหรือข้างของจอ เนื่องจากที่จุดนั้นเราจะรู้สึกสบาย ๆ เป็นตัวเอง (มากกว่าต้องบังคับตัวเองให้จ้องที่กล้องอย่างเดียว) แต่ก็ไม่ทำให้คนที่อยู่อีกฟากของจอรู้สึกว่าเราไม่ใส่ใจเขา ยังอยู่ในจุดโฟกัสของสายตาที่ดี

จัดระเบียบร่างกายให้พร้อม ทั้งก่อนและตอนประชุม

เมื่อต้องขายงานหรือพรีเซนต์ไอเดียให้ใครสักคนที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายเรา ก็ชวนให้ใจสั่นระรัวแทบแย่อยู่แล้ว แต่แย่ขึ้นเป็นสามเท่าเมื่อเราต้องทำสิ่งนี้ผ่าน Video Conference ไหนจะต้องมาพะวงกับอินเทอร์เน็ต กังวลว่าภาพตัวเองในกล้องจะชัดไหม จะทำอย่างไรดีเมื่อไม่มั่นใจเอาเสียเลย?

หนทางแกล้งทำเป็นมั่นใจคือการจัดระเบียบร่างกายของเราให้ดีที่สุด เพราะเมื่อเวลาเราไม่มั่นใจ ร่างกายของเรามักจะฟ้องได้ชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการงอตัว ห่อไหล่ หลังค่อม ดังนั้นถ้าเกิดใจเต้นรัว ไม่พร้อมสู้ จงนั่งให้ตัวตรง ยืดอกให้ผ่าเผยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะร่างกายของเราจะตั้งอยู่อย่างมั่นคงและสง่างาม

การนั่งหลังตรง ยืดตัวและช่วงอกให้มากที่สุดนั้น ผู้ฟังจะเข้าใจว่าเรากำลังมั่นใจในสิ่งที่พูดอย่างมาก นอกจากนั้นการนั่งอย่างสง่าผ่าเผยตัวตรง จะทำให้เสียงที่เราพูดนั้นออกมาจากช่องท้อง ไม่ใช่จากลำคอ ยิ่งทำให้เสียงของเรามีอำนาจ ทรงพลังและน่าฟัง

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรมาเริ่มจัดระเบียบร่างกายของเราตอนที่ทุกคนเข้าร่วม Video Conference แล้ว เราควรใช้เวลา 5-10 นาทีก่อนที่ทุกคนจะเข้ามา โดยลองเปิดกล้องดูท่าทาง และร่างกายของเราว่าอยู่มุมไหนของกล้อง เช่นถ้ายืดตัวสุด ส่วนหัวเราขาดหรือไม่ เมื่อนั่งถ้าที่มั่นคงแล้ว เราอยู่กึ่งกลางของจอหรือเปล่า การทำให้ตัวเองอยู่ในท่าที่เรามั่นใจและสบายที่สุด มีส่วนอย่างมากให้การพูดคุยระหว่างประชุมนั้นเป็นไปได้ด้วยดี

ยิ่งนิ่ง ยิ่งสงบ ยิ่งมั่นใจ “ภาษากายที่ไม่ต้องใช้อะไรมากแค่เฉยให้เป็น”

ไม่ใช่ทุกคนที่จะชินกับการ Video Conference ทั้งในฐานะผู้พูดและผู้ฟัง แต่เมื่อไม่แน่ใจว่าสถานการณ์แบบนี้จะยืดยาวไปอีกนานแค่ไหน ทุกอย่างคือการเตรียมตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่เรามักพลาดกันเมื่อ Video Conference คือการเผลอแสดงภาษากายในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากคิดว่าคงไม่มีใครดูอยู่

อย่าลืมว่า Video Conference นั้นไม่เหมือนการประชุมแบบเห็นหน้าเห็นตัวที่เรารู้ว่าใครในห้องประชุมกำลังมองมา และตอนที่ใครไม่ได้มองเรา เราอาจจะเผลอแสดงภาษากายอะไรออกไปก็ได้ แต่การ Video Conference ขอให้เราระลึกอยู่เสมอว่าเบื้องหลังกล้องตัวจิ๋วของเรานี้ อาจมีใครสักคนที่คอยมองภาษากายเราอยู่ตลอดเวลาก็เป็นได้

การที่จะสามารถคุมสถานการณ์การประชุมอย่างมืออาชีพเสมอไม่ว่าในขณะเป็นผู้พูดหรือผู้ฟัง คือการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด เพราะอีกหนึ่งสัญญาณความไม่มั่นใจมักแสดงออกมาผ่านความลุกลี้ลุกลน ทั้งการถูมือไปมา การสั่นขา การเสยผม หรือแม้แต่การจับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายซ้ำ ๆ (โดยเฉพาะการที่เราคิดว่าไม่มีใครมองอยู่)

ดังนั้นยิ่งทำให้ตัวเองนิ่งและขยับร่างกาย (โดยไม่จำเป็น) น้อยที่สุด จะทำให้ผู้ฟัง (หรือตอนที่เราเป็นผู้ฟังเสียเอง) จะหลงเข้าใจว่าเรารู้สึกมั่นคงจากภายใน รู้สึกสงบเต็มไปด้วยสมาธิและมั่นใจเต็มเปี่ยม ต่อให้จริง ๆ ภายในเราจะสั่นเป็นลูกนกก็ตาม

ภาษากายจากผู้อื่น “คำพูดที่ไม่ได้พูด” ซึ่งห้ามมองข้าม

ไม่ว่าองค์กรของคุณจะเลือกใช้แพลตฟอร์มใดเป็นตัวกลางในการประชุมหรือสื่อสาร สิ่งสำคัญของการไม่ได้เข้าประชุมพร้อมหน้าพร้อมตากัน คือการสังเกตสิ่งที่ซ่อนไว้จากคำพูดที่ไม่ได้พูด นั่นก็คือ “ภาษากาย” ของผู้ร่วมประชุมให้ดี

มนุษย์มีแนวโน้มจะระวังตัวและควบคุมตัวเองเป็นพิเศษเมื่ออยู่ในห้องประชุมอันเป็นทางการ Video Conference จากที่บ้าน หรือการพิมพ์คุยงานผ่านแชตที่จะรู้สึกว่าอยู่ในพื้นที่ของตัวเองและเป็นตัวเองมากกว่า

เมื่อรู้สึกผ่อนคลายในพื้นที่ของตัวเอง ภาษากาย สายตา หรือแม้แต่การเผลอเบ้ปาก ส่ายหัว กลอกตา(โดยไม่ควบคุมตัวเองเพราะคิดว่ากล้องไม่ได้จับอยู่นั้นสำคัญ) ดังนั้นถ้าคุณคือผู้บริหารหรือคนนำการประชุมในแต่ละครั้ง นอกจากแค่รอฟังว่าองค์ประชุมแต่ละคนจะพูดอะไรออกมาโต้ง ๆ ก็อาจหมายรวมถึงการคอยสังเกตปฏิกิริยา ภาษากายของผู้เข้าร่วมประชุมคู่กันไปด้วย

เนื่องจากบางคำที่พลาดไป บางเรื่องที่อาจสื่อสารได้ไม่ครอบคลุม ผู้เข้าร่วมประชุมอาจไม่ได้ยกมือถามได้ง่าย ๆ เหมือนตอนประชุมอยู่ต่อหน้ากัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อาจทำให้หัวข้อดีเลย์ การเป็นผู้นำการประชุมที่คอยสังเกตสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น เช่น การที่คุณสายตาไวมากพอที่จะเห็นทุกคนในที่ประชุมมีท่าทีเหนื่อยหน่าย คุณอาจจะต้องถามพวกเขาเพื่อกระตุ้นการประชุมต่อไป หรือปรับจังหวะการประชุมให้น่าเบื่อน้อยลง

การปรับตัว เปลี่ยนแปลง ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายสำหรับใคร แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงก็มาพร้อมการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ เราอาจไม่เคยคิดมาก่อนว่าการ Video Conference จะเป็น New Normal ของการทำงาน แต่เชื่อเถอะว่ายิ่งเรียนรู้ หาทางรอด และเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าไร คนที่ได้ประโยชน์ก็คือองค์กรและตัวของเราเอง

SOURCE: 1, 2

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line