Work

“อย่าเอามาแต่ปัญหา เอาทางออกมาด้วย” ฆ่าเด็กคนนั้นทิ้งไป! คำสอนที่หัวหน้าให้เผชิญความกลัว

By: anonymK July 30, 2019

ทุกคนเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ประสบการณ์ที่พบแตกต่างกัน เช่นเดียวกับการรับมือปัญหาของแต่ละคนที่ย่อมแตกต่างกันไปตามสิ่งที่สั่งสมมาจาก “ครู” ที่อยู่รอบข้าง แต่วันนี้บทเรียนจากครูที่เราพูดถึงไม่ใช่คนที่คอยบ่มเพาะให้ในช่วง 20 กว่าปีแรกของชีวิตอย่างพ่อแม่ หรือครูในสถาบันศึกษา แต่เป็นขวบปีของการทำงานที่อยู่หลังจากนั้นไปจนชั่วชีวิตการทำงาน ครูที่บอกว่า “คุณไม่มีทางเป็นเด็กไปได้ตลอดกาล”

 

คุณยังจำเรื่องที่ “เจ้านาย” หรือ “หัวหน้า” ของคุณสอนได้ไหม
ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่เท่าไหร่ก็ตาม

 

เราจำได้แม่น จำได้ดี และคิดว่าคงเป็นประโยชน์กว่าถ้าจะแชร์บางส่วนที่หล่อหลอมมาให้หลายคนที่กำลังทำงานอยู่ตอนนี้ได้ฟัง ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เด็กที่สุดในออฟฟิศวันนี้ หรือเป็นคนที่โตกว่าคนอื่น ๆ ท่ามกลางการทำงาน เพราะที่แห่งนี้ ทุกคนพกศักยภาพกับความสามารถตัวเองมาใช้แลกเงินเดือน ไม่มีใครอยากฟังคำตอบของเด็กไม่ยอมโต ส่วนการแก้ปัญหาไม่ใช่แค่คำขอโทษหรือแค่คัดคำผิดแล้วจบไปเพื่อรอให้วันนึงข้างหน้าเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากความเสียหายที่ตามมันใหญ่กว่าสอบไม่ผ่าน หรือโดนตำหนิ

“อย่ามาหาพี่พร้อมปัญหา เอา SOLUTIONS มาด้วย”

นี่คือประโยคแนะนำการทำงานที่อดีตหัวหน้าเคยพูดกับเราที่อยู่ในฐานะคนที่เด็กที่สุดในสายงานและตำแหน่งงานเสมอ ประโยคนี้ช่วงแรกเราเคยไม่เข้าใจ เคยบ่น เคยเถียงว่าถ้าแก้ได้เองแล้วมันจะไปลอดไปถึงหัวหน้าได้ยังไง คงจะไม่เดินมาหาแบบนี้

แต่เมื่อโดนสอนให้ตั้ง “สติ” ดับความร้อนรนแล้วคิดหาทางออก เราจึงจำเป็นต้องโตขึ้นโดยอัตโนมัติ คุยแบบคนทำงานคุยกันและคิดอย่างมีเหตุผลให้รอบคอบขึ้น ถอยออกมามองปัญหาจากมุมอื่นและหาทางออก ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ดี เราพบว่ามี 5 อุปสรรคมายาที่ทำให้คิดว่าถึงทางตันจนทำงานไม่สำเร็จ ทั้งที่การแก้ไขปัญหามันไม่ได้มีเพียงทางเดียวเสมอไป ดังต่อไปนี้

  1. เราให้เวลาทุกคน แต่ไม่ให้เวลาตัวเอง: เราเคยอยู่ในตำแหน่งงานที่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น แต่คิดว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการต่อรอง เกรงใจคนอื่น เมื่อคนอื่นมาขอเวลาเรา เราให้เขา Maximum เสมอ ขอ 1 วันให้ 1 วัน ขอ 7 ให้ 7 จนยอมเบียดเวลาในการทำงานของตัวเอง แล้วสุดท้ายก็คิดว่าเมื่อมีเวลาเท่านี้เราไม่มีทางทำงานได้ทัน เมื่อการต่อรองระหว่างคนทำงานไม่เกิดขึ้นจึงเป็นธรรมดาที่เจอปัญหาแล้วจะหาทางออกไม่เจอ เพราะเราคิดว่าเรา “ต้องทำ” ในเวลาที่เหลืออยู่ คิดว่าคนอื่นจะเกลียดเราถ้าเราไปบีบเวลาของเขา ทั้งที่ในความเป็นจริงการทำงาน 1 ชิ้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาร่วมกันไปจนจบงาน
  2. เราไม่มีอำนาจ: เราคิดว่าหัวหน้าเท่านั้นที่จะจัดการแก้ปัญหานี้ให้เราได้ แต่เราก็ไม่เคยเอาทางออกมาให้หัวหน้า เวลาพุ่งเข้าไปเราพูดแต่ว่าไม่ทัน ไม่ได้ ไม่เสร็จแล้วขอทางแก้ไขด้วยการใช้อำนาจของหัวหน้า เพราะคิดว่าคนอื่น ๆ ที่อยู่ตำแหน่งลูกน้องจะต้องยอมเชื่อตามที่หัวหน้าสั่ง หัวหน้าแก้ได้หมดไม่มีใครด่า ทั้งที่ในความเป็นจริงการแก้ปัญหาทุกอย่างไม่ได้ใช้แค่อำนาจ หากใช้กระบวนการที่มีเหตุผลสำหรับแก้ไข ทำไมถึงต้องมีทางออกให้หัวหน้า? เพราะการใช้อำนาจไม่ใช่สิ่งที่ควรใช้ในทางมิชอบ เมื่อหัวหน้าอยู่ในลูปหนึ่งของการทำงานซึ่งเขาอาจจะไม่เจอปัญหาเช่นเดียวกับคุณที่อยู่หน้างาน แต่ต้องเข้าไปยุ่งในงานนั้น เขาก็จำเป็นจะต้องตอบทุกคนถามที่คนอื่นตั้งคำถามต่อคำสั่งที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
  3. เราไม่กล้าตัดสินใจ และต้องการเกราะป้องกันตัว: กี่แรงหวด กี่คำตำหนิที่ทำให้เรารู้สึกอับจนหนทาง คิดว่าตัวเองทำได้ไม่ดีและทำเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเลือกได้ดีหรือถูก มันจะทำให้เรากลัวจนวิ่งเข้าไปหาหัวหน้าเพื่อหาทางออกและเกราะคุ้มภัย ถ้าวันหนึ่งงานที่ออกมามันแย่ เราจะบอกว่ามันไม่ใช่ความคิดและการตัดสินใจของเรา เราพร้อมจะโยนกลับไปหาหัวหน้าแบบเต็ม ๆ และซ้ำว่านี่มันไม่ใช่ความคิดเราสักหน่อย แต่ก็ลืมคิดว่าใต้ใบบุญของปราการที่เราเลือก ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาดีหรือไม่ มันกลายเป็นกับดักที่ทำให้เราตกอยู่กับการคิดไม่เป็นและไม่อยากจะคิดหรือตัดสินใจ ซึ่งในระยะยาวคุณจะเป็นแค่เด็กน้อยที่ไม่รับผิดชอบต่อการกระทำและการตัดสินใจเพื่อรอวันโทษคนอื่นเท่านั้น
  4. เราไม่สื่อสารกับคนอื่น: การเก็บปัญหาไว้กับตัว เพราะ “คิดไปเอง” ไม่เพียงสร้างความระแวงแคลงใจให้กับทุกฝ่าย แต่งานยังจมอยู่กับที่ ปรับมุมมองด้วยการตั้งสมมติฐานว่าทุกคนอยากให้งานลุล่วงไปด้วยดี ทุกคนเป็นทีมเดียวกัน ปรึกษากันและลงมือทำเพื่อช่วยเหลือกัน คุณจะค้นพบว่าทางออกนั้นกว้างกว่าที่คิด แถมการระดมสมองช่วยกันแก้ปัญหายังให้ผลลัพธ์ในแง่บวกด้วย
  5. เราไม่ไว้ใจคนอื่นนอกจากตัวเอง: เราพยายามมากที่สุด เราใส่ใจงานที่สุด บางครั้งความ Perfectionist มันลวงให้เราตายน้ำตื้นไม่รู้ตัว ความคิดว่าตัวเองคือคนแบกรับงานทั้งชิ้นไว้ด้วยตัวเองจนมันทำให้จ้องจับผิดคนอื่นไม่รู้ตัว ที่สำคัญยังไม่ไว้ใจหน้าที่และตำแหน่งงานของคนอื่น ทั้งที่ตำแหน่งงานที่แตกต่างเป็นตัวกรองที่บอกว่าเขาอาจจะเก่งด้านนั้นมากกว่าคุณ เหมาะสมกับงานนั้นมากกว่าหรือมีประสบการณ์ที่มากกว่า ใช้เวลาจัดการงานนั้นน้อยกว่าและอาจเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นหากได้ปรึกษาหารือกัน

แก้ไม่ได้เลยให้คนอื่นแก้? แก้ไม่ได้ก็เลยไม่แก้? วางทิ้งมันซะเลย

ความเป็นเด็กที่คุณต้องฆ่าทิ้งไม่ใช่เด็กช่างจินตนาการ เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ เด็กที่เปี่ยมด้วยพลังบวก แต่มันเป็นการฆ่าเด็กที่ไร้ความรับผิดชอบ เด็กที่พร้อมจะทิ้งทุกอย่างเพื่อยุติความปวดหัว เพราะการทิ้งทุกอย่างไปเริ่มใหม่มันย่อมง่ายกว่าการแก้ไขความยุ่งเหยิงที่ตัวเองก่อเสมอ

การฝึกเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยการหาทางออกที่เตรียมมาพร้อมกันก่อนอธิบายให้คนอื่นฟัง ถอยออกไปจากมุมแคบที่ยืนอยู่เพื่อมองภาพรวมให้ดีขึ้น คือพื้นฐานของการเติบโตที่ดีซึ่งสอนให้เรารู้จักเริ่มต้นคิดอย่างมีเหตุผล คิดให้รอบคอบ พิสูจน์ความสามารถในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง เพราะทุกวันนี้คนเก่งที่มีทักษะมีเยอะ แต่คนที่มีทักษะแก้ไขปัญหาน้อยลง

ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ถ้ามันไม่มีทางออกจริง คุณจะเดินไปเรียกให้คนอื่นแก้ให้คุณได้ยังไง ว่าไหม?

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line