Business

INVESTOR’S VIEWPOINT : เทคนิคเอาตัวรอดในตลาดหุ้นฝ่าวิกฤต Covid-19 สไตล์ คุณกระทรวง แห่ง SUPER TRADER REPUBLIC

By: Lady P. April 21, 2020

ทีมงานมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์แชมป์สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทย 2013 ที่โลดแล่นบนสังเวียนหุ้นมา 10 ปี ลงทุนตั้งต้นตั้งแต่หลักแสน จนถึงวันนี้ “หลักร้อยล้าน”  คุณซัน กระทรวง จารุศิระ ปัจจุบันยังเป็นเจ้าของกิจการมากกว่า 10 บริษัท และหนึ่งในบริษัทที่หลายคนน่าจะพอคุ้นคือ SUPER TRADER REPUBLIC และเจ้าของโครงการ SUPER TRADER THAILAND รายการที่ค้นหาสุดยอด Trader แห่งประเทศไทย พูดได้ว่าคุณซันมีประสบการณ์โชกโชนมากมายในวงการตลาดหุ้นในประเทศไทยเลยทีเดียว ในวิกฤต Covid-19 ที่ถาโถมตลาดหุ้น ณ ขณะนี้ เราจึงไม่พลาดที่จะไปสัมภาษณ์คุณซัน เพื่อนำข้อคิดแนวทางการลงทุนดี ๆ มาแบ่งปันกัน

มุมมองสำหรับตลาดหุ้นไทย ณ ตอนนี้ คุณซัน มองว่าเป็นอย่างไรบ้าง

**บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 1266.40 จุด PE BENCHMARK อยู่ที่ประมาณ 14 เท่า

ในมุมมองของผม ผมคิดว่าตลาดตอนนี้ไม่สะท้อนภาวะที่แท้จริง เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะประกาศในไตรมาสหนึ่งและไตรมาสสองของปีนี้ จะลดลงแน่นอนจากผลกระทบทางด้านการ lockdown และการปิดประเทศ

ตอนต้มยำกุ้ง ค่า PE BENCHMARK ลงไปต่ำสุดแถว ๆ 3.8 เท่า ตอนซับไพร์ม ค่า PE BENCHMARK ลงไปต่ำสุดแถว 6 เท่า

และเมื่อผลประกอบการใน q1 และ q2 ลดลง EPS หรือ earnings per share ของตลาดย่อมลดลง ดังนั้นค่า PE 14 เท่าในปัจจุบัน สำหรับในอนาคตถ้าผลประกอบการโดยรวมมีกำไรลด ก็อาจส่งผลให้ PE BENCHMARK มีค่าสูงกว่านี้

จึงสามารถสรุปได้ว่า หุ้นตอนนี้ราคาไม่ถูก และอาจจะเข้าลงทุนได้ แต่ต้องสำรองเงินสดไว้ด้วย ผมคิดว่าถ้าตลาดจะน่าเริ่มลงทุนควรจะมีดัชนีที่ตำกว่า PE BENCHMARK ที่ 8 เท่า ถ้าระดับราคายังไม่ลงมาถึงตรงนี้ ยังไม่น่าลงทุน ทำได้แค่เทรดเท่านั้น

เพราะถ้าจะลงทุน downsized risk ต้องน้อย และ upsides gain ต้องมาก ถ้าไม่เข้า condition แบบนี้ ผมเทรด ( ซื้อมา-ขายไป ) ดีกว่า

ดังนั้น set ต้องต่ำกว่า 700 จุดจึงจะเป็นจังหวะที่ผมเข้ามาลงทุนจริงจัง สมมติว่า Set ไม่ลงมาถึง แล้วดันกลับขึ้นไปที่ 1600 จุดหรือจะ 2500 จุด (ซึ่งในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้) ผมก็ไม่เดือดร้อน เพราะผมก็เทรดหากำไรไปตลอดทางอยู่ดี

เทคนิคการเอาตัวรอดในตลาดหุ้นในภาวะวิกฤติ Covid-19 ในสไตล์ คุณซัน SUPER TRADER REPLUBLIC

จริง ๆ ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในสภาวะปกติ หรือสภาวะวิกฤติ เราต้องมีเทคนิคในการเอาตัวรอดอยู่แล้ว เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า วิกฤตจะเกิดเมื่อไหร่ บางทีกว่าเราจะรู้ เราก็อยู่ท่ามกลางวิกฤติไปแล้ว

ให้สังเกต PE BENCHMARK ของตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2518 จนถึง 2563 ตลาดบ้านเราเคยอยู่ในสภาวะฟองสบู่ และวิกฤตมาประมาณ 3 รอบใหญ่

1. ต้มยำกุ้ง
2. ซับไพร์ม
3. โควิด-19

สภาวะตลาดฟองสบู่ คือมีข่าวดีเต็มตลาด ราคาหุ้นถูกลากขึ้นไปในระดับสูง ทุกคนมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะต้องเติบโตต่อไป ตอนนั้นค่า PE BENCHMARK ของตลาดจะอยู่ในระดับที่เกิน 20 เท่า ณ จุดนั้น เราต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง

ในส่วนของสภาวะวิกฤติจะอยู่ในทิศทางตรงกันข้าม ค่า PE BENCHMARK ของตลาดจะต่ำกว่า 8 เท่า หรือบางทีอาจจะลงลึกไปถึง 5 เท่า ตอนนั้นจะมีแต่ข่าวร้ายเต็มตลาด คนเลิกพูดถึงเรื่องหุ้น แต่ในความเป็นจริง ตลาดตอนนั้นก็จะมีหุ้นดีๆราคาถูกมากมายให้เราเลือกซื้อเช่นกัน

PE BENCHMARK โดยเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์จะอยู่ที่ประมาณ 12-18 เท่า ทั้งนี้ทั้งนั้นในระดับตัวหุ้นต้องขึ้นอยู่กับ อุตสาหกรรมที่สังกัด อย่าง Property developers เป็นกลุ่มที่ค่า PE BENCHMARK ต่ำ ในขณะที่หุ้นที่เป็น monopoly ในอุตสาหกรรมจะมีค่า PE BENCHMARK สูง

ในภาวะวิกฤต COVID-19 นี้ คุณซัน มีข้อแนะนำมือใหม่ ที่อยากเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างไรบ้าง

สำหรับมือใหม่ที่เข้ามาลงทุนในช่วงนี้ ผมต้องขอแสดงความยินดีด้วย อย่างน้อยคุณก็สามารถซื้อหุ้นในราคาที่ถูกกว่าตอนดัชนีอยู่ที่ 1600 จุด

แต่อย่าชะล่าใจ ถูกแล้วยังมีถูกกว่า และเราไม่สามารถฟันธงชัด ๆ ได้ว่า ดัชนีจะสามารถลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับเท่าไหร่

สิ่งที่ผมอยากแนะนำมือใหม่ที่คิดจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ

1. อย่าคิดว่า รวยง่าย รวยเร็ว หลายครั้งที่การลงทุนสามารถทำเงินได้ง่าย เพราะตลาดพาไป แต่ถ้าประมาท เราก็สามารถขาดทุนได้ง่าย เช่นกัน คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในตลาดหุ้นขาดทุน ไม่ได้กำไร แต่ภาพที่สื่อไปจับจ้องก็จะจับจ้องแต่คนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น คนที่ล้มเหลวไม่เคยได้ออกมาพูด

2. เวลาขึ้นอย่าหลง เวลาลงอย่าท้อ คนที่ยังไม่มีจุดยืนในการลงทุน เวลาได้กำไรก็ฮึกเหิม หรืออยากได้มากขึ้น เวลาขาดทุนก็ท้อ บางคนก็ออกจากตลาดไป ถ้าเรายังเอาอารมณ์และความรู้สึกไปจับกับดัชนีของตลาด ผูกความดีใจ เสียใจไปกับมัน เราจะยืนระยะยาวๆกับมันไม่ได้ คนที่จะยืนระยะยาวไปกับตลาดได้ ต้องสามารถนิ่งพอ ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในสภาวะแบบใด

3. ในตลาดมีแต่ เสือ สิงห์ กระทิง แรด ถ้าเข้ามาแบบไม่รู้ เตรียมโดนเชือด !!!!!

คู่ต่อสู้ที่คุณต้องเจอในตลาด ไม่ว่าจะเป็น ต่างชาติที่เป็นกองทุนหัวทอง หรือฝรั่งหัวดำ ( คนไทยไปเปิดบัญชีเมืองนอก , private equity funds เงินของพวกสีเทาและนักการเมือง ) สถาบัน กองทุนต่างๆ บัญชีหลักทรัพย์ proprietary trade ( มือปืนรับจ้าง ) รายใหญ่ เจ้ามือหุ้น นักลงทุนแบบ Value investors และนักเทรดแบบ Technical analysis คุณยังต้องเจอกับ robot ที่มีทั้ง Conditional trade ที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก high-frequencies trade ที่สามารถส่งคำสั่งและแย่ง order คุณในระดับ milli-second และ. Artificial intelligence ที่พร้อมเรียนรู้การเทรดและปรับ model เพื่อให้ชนะตลอดเวลา

ถ้าคิดว่าหมู แสดงว่าคุณพลาดตั้งแต่เดินเข้ามาแล้ว คุณนั่นแหละ คือหมูที่แท้จริง

เทคนิค “รอด” ในตลาดหุ้นในภาวะวิกฤตโควิด 19

ความหมายนิยามของคำว่ารอด ผมจะไม่ใช้แค่ในสถานการณ์ช่วงนี้ คำว่า “รอด” คือหัวใจหลักในการลงทุนและการเทรด แบบต้องสลักไว้บนหัวตลอดเวลา

เราต้องรอดต่อให้ตลาดอยู่ในสภาวะไหนก็ตาม

จริง ๆ แค่รอด ไม่พอ ต้องสามารถทำกำไรได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ได้กำไรจาก cashflow รายเดือน ได้กำไรแบบ big win พลิกพอร์ต ในขณะที่เวลาขาดทุน ก็ขาดทุนในจุดที่ยอมรับได้ตั้งแต่แรก ห้ามพอร์ตระเบิดเด็ดขาด

สิ่งที่คุณจะต้องมีเพื่อให้รอด และสามารถทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ

1. เรียนรู้ที่จะ STOP LOSS ตั้งแต่จังหวะที่เข้าซื้อ

ก่อนจะซื้อหุ้นตัวใดก็ตาม ต้องมีจุด Stop loss ไม่ว่าหุ้นตัวนั้น คุณจะรักมันแค่ไหนก็ตาม เพราะเวลาตลาดเทลงมา มันเอาลงทุกตัวในตลาด

จุด stop loss สั้นไปก็ไม่ดี เพราะจะถูก stop loss บ่อย และตั้งลึกไปก็กินทุน บางครั้ง ในตัวที่มีพื้นฐานรองรับ คุณอาจทำ Short against port – ขายแล้วค่อยมาซื้อตอนลง หรือใช้ money management ช่วย หรืออาจจะ hedging ด้วย future ถ้าไม่อยาก stop แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณต้องมีจุด มอบตัว เสมอ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พอร์ตขาดทุนหนัก

2. ตั้ง Circuit breaker ให้พอร์ตตัวเอง

Circuit breaker คือระบบที่ตลาดจะหยุดทำการ 30 นาที ทันทีที่ดัชนีตลาดตกลงไปต่ำกว่า 8% ภายในวันเดียว และหากยังตกลงไปอีก ทันทีที่แตะ 15% ตลาดจะหยุดทำการอีก 30 นาที และหยุดอีกหนึ่งชั่วโมง หากดัชนีตลาดตกลงไป 20% ภายในวันเดียว

สาเหตุที่ตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องมีระบบ circuit breaker เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาทบทวนเวลาตลาดเกิด panic ไม่ให้ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจซื้อขายเกินไป

ข้อแนะนำของผมคือ ทุกคนควรมีระดับ circuit breaker เป็นของตนเอง โดยการหยุดเทรดทันทีที่ Portfolio drawdown ลงไปตาม % ที่กำหนดไว้

สำหรับตัวผมเอง ถ้าหากพอร์ตติดลบ 10% ของพอร์ตผมจะหยุดเทรดทันที 1 สัปดาห์ เพื่อทบทวนดูว่า ผมพลาดจากอะไร และจะต้องแก้ไขอย่างไร แต่ถ้าหากติดลบ 20% ของพอร์ตรวม ผมจะหยุดเทรดอีกสองสัปดาห์ หรือจนกว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเจอ

ที่ผมต้องตั้ง circuit breaker เอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พอร์ตขาดทุนเลิกจนยากเกินแก้ไข

หากเราขาดทุน 10% ต้องทำผลตอบแทนคืน 11%
หากเราขาดทุน 20% ต้องทำผลตอบแทนคืน 25%

ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะเอาคืนได้ไม่ยาก

แต่หากเราขาดทุน 30% ต้องทำผลตอบแทนคืน 42.85%

ถ้าเรายังปล่อยให้ขาดทุนไปอีก 40% เราต้องทำผลตอบแทน 66.66%

เริ่มยากแล้วใช่มั้ยครับ

ถ้าขาดทุน 50% ต้องทำผลตอบแทน 100% จึงจะได้เงินต้นคืน ยังไม่ต้องพูดถึงกำไร

ในกรณีที่คนทนขาดทุนไปถึง 90% เวลาเขาจะทำคืน เขาต้องสร้างผลตอบแทน 900% ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากถ้าจะเอาคืนแบบนั้น

Circuit breaker ของพอร์ตโคตรสำคัญที่จะทำให้เราอยู่รอด

3. ไม่แน่ใจ ให้อยู่เฉยๆ ไม่เจ็บตัว

บางคนฝืนเทรดทั้งๆที่ตลาดผันผวนหนัก ซึ่งบางครั้งการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย ไม่มีสถานะ อาจเป็นจุดที่ดีและทำให้เราปลอดภัย

บางคนกลัวตกรถ เวลาเห็นหุ้นขึ้น แล้วก็แห่ไปซื้อตาม ผลก็คือ ติดดอย จงจำไว้ว่า การตกรถไม่ทำให้เราเสียตังค์ แต่การกลัวตกรถนี่แหละที่จะทำให้เราเสียเงิน

เราต้องควบคุมทั้งความโลภและความกลัว ไม่ให้มารบกวนการตัดสินใจ เพราะจะทำให้การตัดสินใจมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย

4. อย่า overtrade ถ้าฝีมือยังไม่คมจริงๆ

สาเหตุที่คนจำนวนมากขาดทุนในระดับพอร์ตระเบิด คือเขาใช้ leverages ที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นบัญชี tfex , derivative , blocktrade หรือ Margin ซึ่งพอ leverages ด้วยแรงระดับ 2-10 เท่า โอกาสที่จะขาดทุนมหาศาลก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผมไม่ปฏิเสธว่าเครื่องมือเหล่านี้ มีประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่มีความเชี่ยวชาญและใช้ถูกเวลา เขาจะวามารถสร้างผลตอบแทนได้รวดเร็วมาก แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ เลือกใช้ในจังหวะที่ต้องใช้เท่านั้น

5. เติมความรู้ให้ตัวเองเสมอ

ในสภาวะแบบนี้ เราอาจต้องปรับตัว โดยยึดหลักปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ถ้าทุกคนที่อ่านตำรา technical analysis สามารถทำกำไรได้ ป่านนี้ทุกคนคงจะรวยกันไปหมดแล้ว

เนื้อหาภาคทฤษฎีสำคัญ แต่หลักการปฏิบัติสำคัญกว่า เราต้องสามารถผสมผสานความรู้ความเข้าใจ ทั้งในส่วนของ การวิเคราะห์ภาพรวมของเศรษฐกิจ Fund flow การวิเคราะห์อุตสาหกรรม การวิเคราะห์บริษัททั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ การประเมินผลกำไรในอนาคตและในระยะยาว การใช้เครื่องมือทางเทคนิค การบริหารจัดการหน้าตัก ( money management ) การจัดโครงสร้าง portfolio การเข้าใจคนอื่น

และที่สำคัญที่สุด คือ การเข้าใจตัวเอง

ถ้าเราเข้าใจตัวเองจริง ๆ และสามารถออกแบบการลงทุนที่ตรงกับจริตของตัวเองได้อย่างมีหลักการรองรับ เราจะเป็นผู้ที่อยู่รอดในตลาดได้อย่างแน่นอน

Lady P.
WRITER: Lady P.
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line