Work

อยากลาออกทำไงดี? 5 ข้อควรทำเพื่อจากกันด้วยดี เพราะการลาออกบอกความมืออาชีพได้

By: PSYCAT November 18, 2019

“ลาออก” เมื่อพูดถึงคำนี้ในชีวิตมนุษย์ทำงาน จะว่าเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากใจก็อาจใช่ แต่เมื่อตัดสินใจเป็นมั่นเหมาะแล้วจะเอาอะไรมาฉุดรั้งยั้งไว้ก็คงไม่อยู่ และเมื่อนั้นการลาออกก็ดูเป็นเรื่องง่ายแสนง่าย แค่เดินไปบอกเจ้านายว่า “พี่ครับ ผมขอลาออก” ก็ดูเหมือนทุกอย่างจะจบสิ้น

ใช่ การลาออกไม่ยากเกินไป แต่การลาออกอย่างมืออาชีพเพื่อให้จากกันด้วยดีและแสดงถึงวุฒิภาวะของเรานั้นมีความหมายต่องานต่อไป หรือแม้แต่คอนเนคชันในอนาคตอย่างมาก ดังนั้นไม่ใช่แค่อยากลาออก แล้วก็ออก จบ ๆ ไป แต่จะลาออกทั้งที จงลาออกอย่างสง่างามและมืออาชีพ

ลาออกเมื่อสถานการณ์ปกติ

เมื่อเราถูกวิจารณ์งานเละเทะ แล้วขอลาออก เมื่อเราล้มเหลวกับโปรเจกต์ล่าสุดไม่เป็นท่า แล้วขอลาออก เมื่อเราเหม็นขี้หน้าเพื่อนร่วมงาน แล้วขอลาออก สถานการณ์เหล่านี้เรียกว่าสถานการณ์ไม่ปกติ

การลาออกอย่างมืออาชีพ เราเองควรรอให้ตัวเองเผชิญหน้าหรือแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นเสียก่อน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรพยายามแก้ไขหรืออยู่กับปัญหานั้นมาสักระยะ เพื่อบอกตัวเองว่าเราทำดีที่สุดแล้ว และดูด้วยว่าเมื่อปราศจากอารมณ์ ณ ขณะนั้น เรายังอยากลาออกอยู่ไหม อีกทั้งเพื่อให้ตัวเอง รวมถึงองค์กรเห็นว่าเราไม่ได้ลาออกเพื่อหนีปัญหาแต่อย่างใด

ลาออก ต้องบอกล่วงหน้า

แต่ละองค์กรมีระยะเวลาขั้นต่ำที่กำหนดให้เราบอกว่าจะลาออกล่วงหน้าอยู่ หากแน่ใจแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเวลาขั้นต่ำแต่อย่างใด เมื่อเรามั่นใจเมื่อใด ควรบอกให้องค์กรสามารถเตรียมตัวหาคนมาแทน หรือแม้แต่ให้เราสามารถสอนงานคนที่มาแทนเราได้อย่างราบรื่น รับรองว่ายิ่งบอกล่วงหน้าให้องค์กรได้เตรียมคน เตรียมตัว เตรียมใจ มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นมืออาชีพมากเท่านั้น

ลาออก อย่าบอกเรื่องเท็จ

เมื่อต้องการลาออก อาจไม่ต้องถึงขั้นบอกละเอียดยิบว่าเราได้ทำงานที่ใหม่ในตำแหน่งไหน เงินเดือนพุ่งกระฉูดลิบขึ้นเท่าใด แต่การลาออกแบบมืออาชีพ ไม่ควรเป็นการโกหก โดยเฉพาะการโกหกด้วยเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด เช่น พ่อแม่ป่วย เราต้องรีบไปดูแล เราต้องไปเรียนต่อ  ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่ความจริง เราแค่ได้งานที่ใหม่ แต่กลัวเกินกว่าจะบอกความจริง

ลองจินตนาการดูว่าหากเราเริ่มงานที่ใหม่แล้ว อดีตเจ้านายหรืออดีตเพื่อนร่วมงานที่เราโกหกไว้ว่าต้องลาออกไปดูแลพ่อที่ป่วยมาเห็นว่าเราเริ่มงานใหม่แบบหน้าชื่นตาบาน จะมองหน้ากันติดได้อย่างไร? หรืออย่างร้ายที่สุดหากต้องร่วมงานกันในอนาคต สิ่งนี้ไม่มืออาชีพเอามาก ๆ

ทำดีจนวินาทีสุดท้าย

เราเข้าใจว่าช่วงเวลา 30 วันสุดท้ายก่อนจะโบกมืออำลาองค์กรที่เราเองอยากจากไปเสียเต็มแก่ เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ลาออกรู้สึกรื่นรมย์ที่สุด แต่ไม่ว่าจะรู้สึกหัวใจพอโตเพียงใด ก็เป็นคนละเรื่องกับการรับผิดชอบหน้าที่การงานของตัวเอง

อย่าให้ช่วงทิ้งท้ายกลายเป็นความทรงจำแย่ ๆ แม้เรากำลังจะสิ้นสุดการเป็นพนักงานที่นี่แล้ว แต่หน้าที่รับผิดชอบก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่เข้างานสาย จะลาก็ลาให้ถูกต้อง ไม่ใช่คิดว่าจะลาออกแล้วจะทำอะไรก็ได้ โลกการทำงานไม่ได้กว้างอย่างที่คิดสักวันหนึ่งคุณอาจต้องวนมาร่วมงานกับใครสักคนในองค์กรนี้ก็เป็นได้ ดังนั้นจงทำงานอย่างมืออาชีพจนกระทั่งวินาที่สุดท้าย

บอกลาสักนิด เพื่อชีวิตในอนาคต

ไม่ว่าจะเหม็นขี้หน้าเพื่อนร่วมงานแค่ไหน หรือไม่ถูกชะตากับหัวหน้ามากเท่าใด เราก็ควรบอกลาเพื่อนร่วมงานอย่างมืออาชีพ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคต ใครในที่นี้จะกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานเราอีกหน หรือบางคนอาจกลายมาเป็นหัวหน้าเราในที่ใหม่ หรือแม้แต่เป็นคู่ค้าทางธุรกิจก็เป็นได้

อย่าทำลายโอกาสตัวเองด้วยอารมณ์ความรู้สึกชั่ววูบในตอนนี้ เมื่อถึงคราวบอกลา ก็พูดเรื่องดี ๆ ที่มีต่อกัน ขอบคุณทุกคนที่ทำให้เราทำงานได้อย่างราบรื่น เพื่อให้การจากลาเป็นเรื่องน่าจดจำและดูเป็นมืออาชีพมากที่สุด

UNLOCKMEN ไม่ได้สนับสนุนให้ใครลาออกแต่อย่างใด แต่หากตัดสินใจแน่นหนักกับทางเดินชีวิตของตัวเองแล้ว เราสามารถเลือกลาออกอย่างมืออาชีพที่สุดได้ ตลอดระยะเวลาการทำงานนั้นบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง การลาออกก็เช่นกัน อย่าให้สิ่งที่เราตั้งใจทำมาตลอด ต้องมาพังลงแค่เพราะเราจากกันอย่างไม่น่าจดจำเลย

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line