Business

”ไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” รู้จัก Shared Leadership การทำงานเป็นทีมแบบสลับกันเป็นผู้นำผู้ตาม

By: unlockmen March 11, 2021

การทำงานในยุคใหม่ หัวหน้าควรให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ หรือ การเปิดให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น หรือ การเป็นผู้นำในบางเรื่องมากขึ้น เพราะการทำงานแบบมีผู้นำเพียงคนเดียวควบคุมทุกอย่าง อาจทำให้เกิดการไม่รับฟังความเห็นของคนอื่น และคนที่ทำงานร่วมกันสามารถรู้สึก “ถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้” UNLOCKMEN อยากจะมาแนะนำรูปแบบการทำงานในยุคใหม่ชื่อว่า “Shared Leadership” ซึ่งจะช่วยให้ทีมทำงานทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในงาน และมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม


ทำไมถึงต้องมี Shared Leadership ?

ระบบการทำงานแบบดั่งเดิม มักจะกำหนดให้มีหัวหน้าทีมเพียงคนเดียว ทำหน้าที่ในการบริหารและตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อการทำงานของทีม บางบริษัทอาจมีนโยบายเปิดประตู (open-door policy) เพื่อสร้างความเชื่อใจระหว่างลูกน้องและหัวหน้า โดยการเปิดให้ลูกน้องสามารถเดินเข้าไปในห้องของหัวหน้าเพื่อขอคำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานได้

แต่การรวมอำนาจในการตัดสินใจไว้ที่คนหนึ่งคน รวมถึง นโยบาย open-door policy ก็มีข้อเสียที่อาจกระทบประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรได้อย่างหนักเหมือนกัน เช่น มันทำให้ลูกน้องต้องพึ่งพาหัวหน้ามากเกินไป บริษัทอาจหยุดนิ่งเพราะไม่มีไอเดียใหม่ ๆ จากลูกน้อง ร้ายยิ่งกว่านั้น มันอาจทำให้เสียงของคนที่อยู่ในระดับล่างของบริษัทไม่ได้รับความสำคัญ จนพวกเขาไม่กล้ารายงานปัญหา หรือ แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทโดยรวม

การเป็นผู้นำร่วมกัน (Shared Leadership) จะช่วยให้องค์กรก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ไปได้ เพราะมันเปิดให้ทุกคนที่ทำงานอยู่ในองค์กร สามารถเป็นผู้นำและเป็นผู้ตามได้อย่างเท่าเทียมกัน และช่วยให้พวกเขามีอิสระมากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของตัวเอง และมันจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมในการทำงานของทุกคนในกลุ่มได้อย่างแน่นอน เพราะทุกคนจะไม่กลัวผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรายงานปัญหาหรือแสดงความคิดเห็น


ทำอย่างไร Shared Leadership ถึงจะเกิดขึ้น ?

ว่ากันว่า Shared Leadership เกิดขึ้นจากการที่ “สมาชิกในทีมแต่ละคนพาคนในทีมไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน” กล่าวคือ นอกจากพวกเขาจะต้องมีความสามารถในการขึ้นมาเป็นผู้นำในเวลาที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับงานที่ต้องทำแล้ว พวกเขายังต้องสามารถกระตุ้นให้คนอื่นกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและลุกขึ้นมาเป็นผู้นำได้ด้วย และ Shared Leadership จะเกิดขึ้นได้เมื่อสมาชิกแต่ละคนมีสิ่งเหล่านี้ ได้แก่ หวังผลจากการทำงานแบบเดียวกัน (Shared Purpose) สามารถให้กำลังใจสมาชิกคนอื่นไม่ว่าจะเป็นในการแสดงความคิดเห็นหรือการลุกขึ้นมาเป็นหัวหน้า (Social Support) รวมถึง รู้จักขอบคุณสมาชิกคนอื่นที่ลงแรงกายแรงใจเพื่อทีมของเราด้วย (Voice)

นอกจากนี้ Shared Leadership ยังต้องการมายด์เซ็ทแบบ Role-Exchange ซึ่งประกอบไปด้วย ความสามารถในการสลับบทบาทระหว่างการเป็นผู้นำและผู้ตามได้อย่างไม่รู้สึกอึดอัด ความสามารถในการเป็นผู้นำและผู้ตามได้อย่างถูกที่ถูกเวลาและเหมาะสมกับงาน รวมถึง ความสามารถในการกระตุ้นให้คนอื่นขึ้นมาเป็นผู้นำได้ เมื่อพวกเขามีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ ณ เวลานั้น

อีกทั้งสมาชิกแต่ละคนต้องรู้จักการเอาชนะตัวเองด้วย เพราะการเป็นหัวหน้าและความสามารถในการควบคุมได้ทุกอย่างมักทำให้เรารู้สึกดีและไม่อยากแบ่งปันสิ่งนี้กับใคร เมื่อเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เราควรจำไว้ว่า เราไม่เก่งและไม่สามารถเป็นผู้นำในทุกเรื่อง ต้องมีบางเวลาที่คนอื่นที่เก่งกว่าเราขึ้นมานำบ้าง และในเวลาที่คนอื่นต้องการเรา เราก็ควรน้อมรับอย่างเต็มใจ

แต่นอกเหนือจากเรื่องตัวบุคคลแล้ว โครงสร้างขององค์กรก็จำเป็นต่อการเกิด Shared Leadership เหมือนกัน  เช่น มีพื้นที่ที่สมาชิกทุกคนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้อย่างสบายใจ ไม่มีนโยบายลงโทษสมาชิกที่มีความเห็นแตกต่างจากคนอื่น หรือ มีการให้รางวัลตอบแทนคนที่เสนอไอเดียเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ Shared Leadership มีความแข็งแรงมากขึ้นได้


เหนื่อสิ่งอื่นใด คือ ต้องมีความยืดหยุ่น

อย่างไรก็ตาม การสร้างทีมที่ทำงานกันด้วย Shared Leadership อาจใช้เวลานานกว่าอื่น เพราะการสร้างทีมประเภทนี้ ต้องมีการสร้างความเชื่อใจ และความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างคนในทีม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน แถมบางคนในทีมอาจไม่สามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำได้ตลอดเวลา ทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและทำความคุ้นเคยกับการต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในยามที่พวกเขาไม่พร้อมอีกด้วย

ในบางสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วน การทำงานแบบ Shared Leadership เลยอาจจะไม่เหมาะสม และจะดีกว่าถ้าองค์กรแต่งตั้งหัวหน้าคนกลาง และย้อนกลับไปใช้งานวิธีการทำงานแบบเดิม ซึ่งช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่า และประหยัดเวลาในการทำงานได้มากกว่า

ดังนั้น เราเลยไม่อยากแนะนำให้ยึดติดกับวิธีการทำงานเพียงหนึ่งเดียว แต่องค์กรต้องรู้จักยืดหยุ่นวิธีการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรูปแบบการทำงานที่มีความสอดคล้องทันสถานการณ์ยุคปัจจุบันตลอดไป


Appendixs: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line