Business

THE REAL : ชำแหละกระบวนการสร้างเกมออนไลน์ กับสอง CO-FOUNDER ผู้สร้าง “ECLIPSE QUEST” ที่มีเป้าหมายคือการบุกตลาดโลก

By: JEDDY December 17, 2022

เชื่อเหลือเกินว่าในยุคปัจจุบัน “เกม” ได้แทรกซึมเข้าไปสู่ทุกเพศทุกวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นผ่านมือถือ, เครื่องคอนโซล, ตู้เกมตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งบอร์ดเกม เรียกได้ว่ามีหลากหลาย และแต่ละแบบก็ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ทำให้มีจำนวนยูสเซอร์ผู้เล่นเกมเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี แต่จะมีซักกี่คนที่จะอยากลุกขึ้นมาสร้างเกมเป็นของตัวเอง 

ด้วยเหตุนี้เราจึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “คุณเม-เมธี ช่วยปู่” และ “คุณบอล-จิรายุทธ์ ลิมรัตนสราญ” สองคู่หู Co-Founder ผู้สร้างเกมออนไลน์ “Eclipse Quest” เจ้าของ 2 รางวัลใหญ่จาก งาน TGS 2022 และ Thailand Comic Con 2022 เรามาลงลึกรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการสร้างเกม, ความเชื่องโยงกับโลก NFT และความแตกต่างในความรู้สึกของผู้เล่นกับผู้สร้าง จากบทสัมภาษณ์นี้กันครับ


เริ่มต้นด้วยความชอบ

คุณเมและคุณบอล จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยในไทยด้วยกัน แต่ช่วงเวลานั้นทั้งคู่ไม่ได้สนิทสนมกันซักเท่าไหร่ จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา และก็เพราะความชื่นชอบในการเล่นเกมทำให้ทั้งคู่คุยกันถูกคอ นำไปสู่การชวนไปเล่นบอร์ดเกม จนกระทั่งกลายเป็นคู่ซี้ไปในที่สุด รวมไปถึงยังมีความคิดที่อยากจะสร้างเกมที่รู้สึกรักและชอบจริง ๆ ขึ้นมาตามความฝันของตัวเอง จนสุดท้ายมาจบที่การรวมทีมเพื่อเนรมิตจินตนาการให้เกิดขึ้นจริง

คุณเม…

“มันเกิดจากเรามองเห็นว่าเราอยากทำเกม แต่ว่าในเทรนด์ปีล่าสุดมันเป็นเรื่อง Blockchain เข้ามากับ *GameFi หรือว่า Blockchain Games

เรามองว่าเกมที่เราเล่นมาตลอด 1-2 ปี มันไม่สนุกเท่าไหร่เลย หรือไม่ก็เครียดมาก ไม่มีความบันเทิงในเกมเลย หรือไม่ก็มีแต่ Investment มีแต่ตัวเลข เราก็มองว่าอยากทำตรงนี้ให้เป็นเกมที่สนุกออกมา โดยใช้ Blockchain Technology เข้ามาพัฒนาหรือเป็นส่วนประกอบหนึ่ง

ก็เป็นจุดเริ่มต้นและมองว่าทีมแต่ละคนที่ผมรู้จักหรือเคยร่วมงานกันมา มีประสบการณ์อยู่แล้ว มีความคิดเห็นร่วมกันว่าอยากทำเกม Action Adventure เหมือนอย่าง Hades, Diablo หรือ RO ให้ออกมาเป็นเกมที่เรารักและชอบจริง ๆ ก็เริ่มต้นจากตรงนั้นเลยครับ”

(*GameFi เป็นเกมที่เล่นแล้วได้เงิน หรือเกมในรูปแบบ Play-to-Earn ซึ่งเงินที่เกิดขึ้นในเกม สามารถนำออกมาแลกเปลี่ยนในตลาดคริปโตได้)

 

รวมทีมขึ้นมาได้อย่างไร?

คุณเม…

“ต้องบอกว่าเกินครึ่งแล้วกัน มาจากบริษัทเก่าหมดเลย คนกันเอง รู้จักกันอยู่แล้ว แล้วเราก็มองว่าเราเคยคุยกันว่าอยากทำงานแบบนี้ อยากวาง Pipeline การพัฒนาเกมแบบนี้ อยากพัฒนาเกมรูปแบบนี้ แล้วเราก็ลองมา Pitching ให้ฟังกัน 

พอ Pitching เสร็จเราก็โอเค ไอเดียน่าสนใจ แล้วก็ร่วมงานกันทำขึ้นมา ใช้เวลาเซ็ตทีมประมาณ 1 เดือน แล้วก็เริ่มพาร์ตของ Pre-Production โดยมีคอนเซปต์ประมาณหนึ่ง แต่ถามว่าตัวเกมที่คิดกันนั้นมีองค์ประกอบครบไหม? มันก็ไม่ครบทั้งหมด แต่เราก็รู้ว่าส่วนนี้ทีมอาร์ตเราน่าจะช่วยให้ตัวดีไซน์ที่เราคิดเป็นตัวหนังสือออกมาเป็นภาพให้เห็นจริง ๆ ได้ 

พอเรารวมตัวกันเสร็จก็คิดเลย เอาไอเดียมาวาง เริ่มเขียนคอนเซปต์อาร์ตว่านี่คือภาพของเกม และนี่คือภาพลักษณ์ของเกมที่ควรจะเป็นครับ”

นอกจากที่กล่าวมา ทางคุณเมได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการคัดคนเข้าทีมจะต้องมีแพชชั่นและทัศนะคติที่ตรงกับทีม ต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อยากช่วยเหลืออะไรทีมบ้าง หากมีซอฟต์สกิลครบ ฮาร์ดสกิลจะตามมาเอง


ขั้นตอนการสร้างเกม = ขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์

ขั้นตอนการสร้างเกมเป็นสิ่งที่หลายคนอยากทราบแน่นอน เพราะภาพที่เราเห็นเอาแค่นึกแบบเร็ว ๆ ก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้เราได้เล่นกัน

คุณเม…

“คล้าย ๆ กับการทำหนังครับ คือ Pre-Production, Production, Post-Production

แต่ถ้าเป็นเกมมันจะแล้วแต่สถาบัน แล้วแต่ทฤษฎี แต่ของเราเริ่มจาก Concept Idea ตามด้วย Pre-Production ทดลอง Prototype ต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งหรือฟีเจอร์ 1 ฟีเจอร์ ต่อด้วยการทำ Demo Test – Beta – Alpha Master ประมาณนั้น

ตอนที่รวมทีมเสร็จ เราทำทีม Pre-Production เลย ซึ่ง Pre-Production ของเกม มันคืออะไรก็ตามแต่ที่เรามีคำถามอยู่ว่ามันเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า เช่น อาร์ตมันจะดีจริงไหม? เกมเพลย์มันสนุกไหมนะ? คนชอบไหม? หรือฟีเจอร์นู่นนี่นั่นที่เราแค่คิดฟุ้งไว้ เราก็ทำออกมาเป็นเอกสารให้หมด เอาไปคุยกับทีมว่ามันใช่ไหมนะสิ่งที่เราคิดอยู่ ถ้ามันไม่ใช่ก็ทิ้งไป” 

“แต่ถ้าทำจนจบแล้วมันไม่เวิร์กก็พับไปเลยโปรเจกต์ เพราะถ้าไปต่อมันก็เปลืองเวลา

เปลือง Cost นี่จุดเริ่มต้นครับ”

 

คุณบอล…

“แต่มันดันเวิร์ก”

คุณเม…

“แต่อันนี้เวิร์ก เราทำ Pre-Production มาจนถึง Private Demo ใช้เวลาแค่ 4-6 เดือนเอง ถือว่าเร็วประมาณหนึ่งเลยจากประสบการณ์ที่ทีมเราทำมา เรามีทั้ง Designer-Artist, Technical-Artist, Engineer มีเต็มไปหมดเลย ใครถนัดส่วนไหน หรืออะไรที่เห็นภาพชัดตรงปลายทางแล้วเราทำก่อนเลยโดยไม่ต้องสนทฤษฎี เรารู้ว่าตรงนี้ไปได้แน่นอนเราก็เอาอาร์ตนำก่อนเลยครับ”


เนรมิตคาแรคเตอร์

 

คาแรคเตอร์ หรือตัวละคร เป็นอีกสิ่งที่ดึงดูดให้คนตัดสินใจเข้ามาร่วมเล่นเกม ดังนั้นการดีไซน์มันออกมาให้เตะตาผู้เล่นย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งการทำงานส่วนนี้ก็ต้องอาศัยการ Research ด้วยเช่นกัน

คุณเม…

“เราเปิดจาก Google นี่แหละ กับ YouTube รวมถึงเกมที่เราเคยเล่นมา มาวางกอง ๆ กัน ว่ามันมีเกมสไตล์นี้ เป็นภาพ 2.5D เป็นแบบ 3D ผสม 2D ลงไป 

ส่วน Art Style อยากให้เป็นแบบฝรั่ง ๆ แต่ก็ให้มีความเป็นญี่ปุ่นหน่อย ให้มันรู้สึกว่ามันมีความเป็นเอเชียอยู่นะ แล้วก็เป็นไทย แต่ภาพมันต้องติดตาต่างชาติได้ นั่นคือสกิลที่ทีมอาร์ตเรามี ก็เริ่มจากตรงนั้น

ทั้งทีมเริ่มจากอาร์ตก่อน มี Lead คนหนึ่งที่เก่งมาก ๆ ชื่อพี่เต้ เป็นคนที่มีความสามารถที่เก่งมาก ๆ เลย แล้วก็มีน้อง ๆ ที่มีงานอาร์ตสไตล์เป็นญี่ปุ่น เขาก็มาช่วยตบให้กลายเป็นฝรั่งขึ้น

ฉากก็เหมือนกัน เกิดจากสตอรี่ คิดว่าเนื้อเรื่องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ มันเกิดดันเจี้ยนจันทราคราสเกิดขึ้น มีฉากที่เป็นซากปรักหักพัง เราก็ไป Search หาใน Google เป็นร้อยแบบเลย คิดกันเป็นสัปดาห์หนึ่งแล้วก็มารวมหัว Brainstorm กัน”


แรงบันดาลใจการสร้างเนื้อหา

 

ผ่านพ้นเรื่องของตัวละครไปแล้ว อีกสิ่งที่ปราศจากไปไม่ได้คือเรื่องราว ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่มาที่ไปของทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นภายในเกม

คุณบอล…

“เนื้อเรื่องเป็นห้องสมุดเวทมนตร์ห้องหนึ่งที่มีหนังสืออยู่หลายเล่ม และ Eclipse Quest เป็นหนังสือ 1 เล่มในห้องสมุดนี้ พอเปิดหนังสือมันก็จะดูดผู้เล่นเข้าไป ผู้เล่นจะเจอโลก Eclipsia คือโลกใน Eclipse Quest เราจะได้เจอ 2 ฝั่ง ประกอบด้วย ‘Solarist Empire’ ฝั่งที่มีความเชื่อในแสงอาทิตย์ และ ‘Lunarian Kingdom’ เป็นทีมที่เชื่อในแสงพระจันทร์”

 

คุณเม…

“ไอเดียมันเกิดจากที่ตรงนี้แหละครับ เริ่มจากที่ GameFi มันไม่สนุก มันมีเกมที่สนุกเหมือนกัน แต่ในมุมมองของเราอยากจะทำเป็นเกมจริง ๆ แล้วเราก็อยากทำให้เนื้อเรื่องของเกมเป็นเหมือนสะพานเชื่อมโลกทั้งสองฝั่ง ทั้งเกมมิ่งที่เป็น 2.0 และ NFT ด้วย ก็เลยคิดกับทีมกันว่างั้นเราสร้างตรงนี้เป็นเหมือนห้องสมุดขนาดใหญ่เลย 

ตอนนั้นเราดูหนังเรื่อง Percy Jackson ที่มันหลุดเข้าไปอยู่ในหนังสืออะไรก็ไม่รู้ แล้วไปเจอเทพปกรณัมกรีก เราก็เลยคิดคล้าย ๆ กันว่า อันนี้มันคือหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วหนังสือเล่มนี้มันเกิดเหตุการณ์พิเศษขึ้น มันเป็นหนังสือเวทมนตร์

อย่างที่คุณบอลบอก มีสองฝ่ายที่มีความเชื่อแตกต่างกัน เราอยากจะเล่นแง่ตรงนี้แหละ ในโลกสังคมเรามันก็มีเหมือนกัน ที่ความเชื่อฝั่งซ้ายฝั่งขวาที่มันไม่เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วมันก็มีอะไรที่คล้าย ๆ กันอยู่ เราก็สร้างด้วยตัวสตอรี่นี้”


เชื่อมต่อกับโลก NFT

 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของเกม Eclipse Quest นั่นคือการเชื่อมไปสู่โลกของ NFT ซึ่งจะทำให้ดันเจี้ยนจากเกมอื่น หรือตัวละครจากเกมอื่น สามารถเข้ามาปรากฏในโลกของ Eclipse Quest ได้

เม…

“ตอนนี้เรามีสตอรี่เล่มแรกคือ ‘Eclipse Quest’ แล้วเล่มอื่น ๆ อาจจะเป็น NFT เจ้าอื่นก็ได้ หรือเป็นเกมอื่นก็ได้ที่เขาอยากจะมาเชื่อมโลกกัน

เราเป็นเหมือนเกมกึ่ง ๆ แพลตฟอร์มที่สมมติว่า NFT ในยุคปัจจุบันมีงานศิลปะอยู่ อาจจะเป็นภาพวาดที่วางไว้ เราคิดว่าถ้ามีตัวละครของเขามาเดินในเกมได้มันจะเป็นอย่างไรนะ มันคล้าย ๆ กับ Metaverse แต่ไม่ได้เป็น Metaverse เราแค่ Mini-verse 

ต้องบอกว่าเรื่องนี้เกมปกติเขามีอยู่แล้ว ถ้าเราเล่นเกมอย่าง RO (Ragnarok) หรือ ROM (Ragnarok M) ในมือถือก็จะเห็นว่ามี Evangelion อยู่”

 

มีวิธีการเชื่อมโยงอย่างไร?

เม…

“การเชื่อมโยง ถ้าเป็นตามเทคนิคคือ เราแค่คุยกันว่าเราอยาก Collab กันไหม เรามีเทมเพลตตัวหนึ่ง มีตัวละคร ถ้าคุณออกแบบตัวละครตรงเทมเพลตของเรา เราก็สามารถเอาตัวละครมาได้เลย Animated เองหมดเลย แต่ทีมเราก็มาช่วยเหมือนกัน”

บอล…

“ส่วนที่ต่อยอดเราจะมีทีมดีไซน์กลางที่จะช่วยปรับให้เข้ากับตัวเกม ไม่ใช่ว่าคุณลายเส้นโหดมากเลยมาอยู่ในเกมมันก็จะโดดเกินไป เรามีทีมปรับตบกลับเข้ามาให้เป็นเนื้อโทนเดียวกัน”


การสร้างรายได้จาก NFT ของผู้เล่น

 

นอกจากจะสามารถเชื่อมโลกตัวละครและดันเจี้ยนต่างเกมได้แล้ว NFT ยังเป็นตัวช่วยในการสร้างรายได้ให้กับผู้เล่นด้วยเช่นกัน แถมมียังมีความปลอดภัยเพราะสามารถตรวจสอบ Transaction การซื้อขายไอเทมได้อีกด้วย

คุณเม…

“ตัวเกมเชื่อมกับโลก NFT ด้วยคอนเซปต์ว่าของทุกอย่างที่เป็นเกมไอเทม สามารถเป็น NFT ได้ เรามองเหมือน RO, Diablo ที่ลงดันเจี้ยนแล้วได้ดาบมาชิ้นหนึ่ง ได้เกราะมาชิ้นหนึ่ง ถ้าผู้เล่นอยากให้มันเป็น NFT ก็เอาออกมาเป็น NFT ได้

ทำไมเราต้องให้ไอเทมชิ้นหนึ่งอยู่แต่ในดาต้าเบสของ Dev (Developer หรือ ผู้พัฒนาเกม) อย่างเดียว ผู้เล่นอุตส่าห์ไปหาในโลกแฟนตาซีมา เขานั่นแหละคือเจ้าของจริง ๆ เขาเอาของชิ้นนั้นไปแลกเปลี่ยน ไปซื้อขายคนข้างนอกผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน”

คุณบอล…

“เทคโนโลยีนี้ทำให้การซื้อขายทั้งหมดมันปลอดภัยมากขึ้น แต่ก่อน RO โทรนัดกันเจอหน้าร้านข้าว

สักพักโดนต่อยด้วย บล็อกเชนมันอยู่ตรงกลาง” 

“เราเคยคุยกับผู้เล่น บางกิจกรรมถ้าคนไหนเป็นเด็กเส้น ได้ของที่ดีกว่าก็ตรวจสอบไม่ได้ แต่พอเป็นบล็อกเชนมันจะเห็นเลยว่าของมี 10 ชิ้น คืออะไรอยู่กับใครบ้าง”

 

คุณเม…

“มันดู transaction ได้ว่าตอนนี้มันไปไหน ถูกขายโดยใคร กระเป๋า Dev หรือเปล่า เราจะโวยวายกับ Community ได้ว่า Dev ไม่แฟร์นี่หว่า 

คือมันโปร่งใสมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ที่มี GM บอกว่าใส่กล่องให้คนนั้นคนนี้ จับต้องไม่ได้ บล็อกเชนก็ช่วยเรื่องนี้ขึ้นมา เรามองว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เราเอาไปใช้มากกว่า ไม่อยากให้มองมันเป็นผู้ร้าย อยู่ที่คนเอามันไปใช้อย่างไรมากกว่า”


ECLIPSE QUEST กับสไตล์เกมนิยม

 

คุณเม…

“Eclipse quest เป็นสไตล์แอคชั่น ไม่ได้แอคชั่นแบบ ‘Devil May Cry’ แต่เป็นแอคชั่นแบบเกือบ ๆ จะคล้าย Side-Scrolling เหมือน Rockman แต่เป็น Rockman ที่เดินไปข้างหน้าข้างหลังได้ ซึ่งจะเรียกตรงนี้ว่า ‘2.5D’ 

เราอยากสร้างเป็นเกมแอ็คชั่นที่ทีมเราชอบ คือเป็นเกมต่อยตีรวดเร็วประมาณหนึ่ง แต่ไม่ได้ยากเกินไปแบบ Hades ของเรามีความ Casual หน่อย ให้มันเล่นง่ายขึ้น แต่ก็ยังยากอยู่”

คุณบอล…

“มีคนมาคอมเมนต์ว่ายังยากอยู่”

 

คุณเม…

“แอ็คชั่นนี้เราก็ทำออกมาแนวตะลุยดันเจี้ยน จากตอนเด็กที่เราเล่นกัน Diablo 2 อยู่ในร้านเกม เล่นตังหมดก็ยังไปนั่งเกาะเก้าอี้ดูเขาเล่น เป็นไลฟ์โค้ชนั่งชี้ เราก็มองว่าอยากทำเกมแบบนี้ แล้ว Diablo เป็นเกมในดวงใจเกมหนึ่งที่เราชอบมาก ๆ

มันเริ่มจากแพชชั่นก่อน แล้วเราก็ไปดูตลาดจริง ๆ ว่าเกมดันเจี้ยนมันมีคนเล่นมากแค่ไหน ผมซื้อมาตลอดแต่ไม่ได้ไป Research ขนาดนั้น แล้วพอไปดูจริง ๆ ปรากฏว่าเกม Action Adventure มันติด top 3 มาโดยตลอด คนเล่นมาตลอดทุก 10 ปี ก็จะมีเกมใหม่ออก 2-3 เกม คนก็จะเล่นตลอด”

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือปัจจุบันเกมแนว Action Adventure คนเล่นจะอยู่ในระหว่างอายุ 25-60 ปีเลยทีเดียว ส่วนวิธีการเก็บเลเวลของ Eclipse quest ก็จะเป็นการตะลุยดันเจี้ยนไม่ว่าจะเป็น ดิน,ไฟ, ป่าไม้ และอื่น ๆ เพื่อต่อสู้กับสัตว์ประหลาดต่าง ๆ และสะสมเลเวลได้มากสุดถึง 100 พอถึงจุดสูงสุดก็จะมีการจุติใหม่ รวมถึงมีการแบ่งคลาสที่คล้าย ๆ กับเกม Ragnarok 


ความเสี่ยงกับการลงทุนสร้างเกม

 

การสร้างเกมหากให้ตีตัวเลขจริง ๆ คงมีไม่ต่ำกว่า 7 หลักอย่างแน่นอน เอาเฉพาะแค่ค่าทีมงานก็ดูจะเป็นการลงทนที่สูงมากแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วความเสี่ยงนั้นมีโอกาสไปได้สวยไม่น้อย เพราะตัวเลขของวงการเกมออนไลน์ในบ้านเราสะพัดมากถึง 33,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

คุณเม…

“การลงทุนเกมจริง ๆ นั้น อยู่ที่ตัวนักพัฒนาและบริษัท นักธุรกิจ นักการวางแผน นักการตลาด เกี่ยวข้องหมดเลยกับธุรกิจเกม ผมคิดว่าถ้าได้คนที่ดี หรือคนที่เข้าใจในแต่ละส่วนงานมา ผมว่าไม่เป็นความเสี่ยง

ถ้าดูจาก Data Research เขาสำรวจแล้วว่าอุตสาหกรรมเกมในไทย

มีตัวเลขกว่า 33,000 ล้านบาท

แต่ 99% เป็นของต่างชาติหมดเลย แสดงว่าธุรกิจเกมไม่ได้เสี่ยงเลย และเม็ดเงินมหาศาลมาก แล้วคนไทยเป็นแค่ศูนย์จุดกว่า ๆ เท่านั้นเอง ทำไมเราไม่มีส่วนไหนที่สามารถช่วยเหลือกันและโฟกัสให้ที่มันต่ำกว่า 20% ให้กลายเป็น 10-20% ให้เหมือนเวียดนามให้ได้

ดังนั้นผมมองว่าความเสี่ยงขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจของนักลงทุน นักพัฒนา ทีมพัฒนาเกมด้วย ถ้ามีหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยใดก็ตาม ถ้ามีอุตสาหกรรมเกมจับมือร่วมกัน แบ่ง Knowledge, Know-How ร่วมกันแล้วโตไปด้วยกัน ผมคิดว่ามันจะลดความเสี่ยงลดมาก ๆ”


กลยุทธ์การสร้างรายได้จากเกม

 

แน่นอนว่าการสร้างธุรกิจย่อมหวังผลเป็นกำไร ดังนั้นการสร้างเกมก็จำเป็นที่จะต้องคิดกลยุทธ์การสร้างรายได้ขึ้นมาเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เกมกล่อง (หรือแผ่นเกม) ก็จะขายแบบซื้อมาแล้วจบไป หรืออาจจะมีการซื้อ DLC: Downloadable Content ที่เปรียบเสมือนการซื้อแพทช์เสริมภายในเกม ยกตัวอย่างเช่นเกม The Sims จะมีชุดเสริมอีกเป็นพัน ถ้าเราโหลดมาครบจะต้องเสียเงินถึงหลักหมื่น

คุณเม…

“เกมประเภทใหม่คือ Free to Play ก็คือผู้เล่นเล่นฟรี หรือเดี๋ยวนี้เขามีแบบผสม คนซื้อเกมกล่องก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มในเกมอีก แบบนั้นคือ In-App Purchase ไปซื้อต่อในเกมได้ มีของต่าง ๆ ไปซื้อเพิ่มในเกมได้

เช่น ผมเล่น Battle Field ซื้อปืน แต่งได้ 300-1,000 เพื่อได้ปืนเท่ แต่งปืนไม่พอ มีโปรไฟล์ แบบนี้ 50 บาท ก็จ่ายไป จ่ายนิด ๆ หน่อย ๆ เรียบร้อยเป็นหมื่น

หรืออย่างเกม Hay day ผู้เล่นเข้ามาเล่นปกติไม่ต้องเสียเงิน เล่นสักพัก energy หมดก็เติม 30 บาท สักพักเติมเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่อยากให้มองเป็นตัวร้ายเหมือนกัน เรากำลังจ่ายเงินกับการซื้อความสุขบางอย่าง บางคนเครียดแล้วจ่ายเงินให้กับการกิน 30 บาท 100 บาท บางคนเครียดแล้วไปดูหนัง Embassy เป็น 1,000-2,000 บาทก็มี

ก็เหมือนกัน เกมคือพื้นที่ที่ซื้อความสุขบางอย่างกลับมา บางคนแฮปปี้ที่จะเปิดกาชาปองเพื่อได้ตัวละครที่สวย ๆ มาหนึ่งตัว เขาก็มีความสุขแล้วอย่างนี้ครับ”


อุตสาหกรรมเกมออนไลน์ในไทยเติบโตช่วงโควิด

 

ในช่วงที่โควิดยึดครองทั่วโลก ทำให้ทุกชีวิตต่างต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่สวนทางขึ้นมานั่นคืออุตสาหกรรมเกมออนไลน์ในบ้านเราที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาดังกล่าว

คุณเม…

“อันดับการเล่นเกมของไทย จำได้ว่าก่อนโควิดตัวเลขอยู่ประมาณอันดับที่ 20 กว่า ๆ แล้วมันก็มาอยู่อันดับที่ 20 นั่นหมายความว่าใน 2-3 ปีช่วงโควิด มันเติบโตขึ้นมหาศาลเลย จาก 2-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 5-600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบสองเท่าเลยนะ

จากดาต้าล่าสุด มีผู้สูงอายุในช่วงโควิดลงมาเล่นอีก คนไทยอย่างเดียวมีผู้สูงอายุเข้ามาเล่นเกมหลักล้านเลย เกมเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้เสพความบันเทิง เหมือนแทนที่ผู้สูงอายุจะเล่นไลน์ เห็นลูก ๆ เล่นเกม ก็เล่นด้วยดีกว่า ถ้าเป็นต่างชาติจะเห็นผู้สูงอายุเล่นเกมเยอะมาก Call of Duty จะมีคุณป้าแก่ ๆ คนหนึ่งใน TikTok ยิงหัวแม่นมาก ดังนั้นเกมมันกำลังเข้ามาอยู่ในทุกช่วงอายุของเรา

ผมเป็นอาจารย์ ม.กรุงเทพฯ ผมสอนเด็ก ๆ เสมอว่าจริง ๆ แล้วเกมอยู่ทุกช่วงวัยของคนเรา ไม่ว่าจะบนมือถือ หรือต่อให้เราไม่มีดิจิทัล แค่เราบอกว่า ‘เฮ้ย! เอ็งเดี๋ยวเราวิ่งแข่งกันไปตรงนั้น’ นั่นคือเกมแล้ว เมื่อเราเติบโตเห็นแค่เส้นถนนแล้วเราไปยืนบนเส้นนั่นก็คือเกมแล้วเหมือนกัน ส่วนมือถือหรือคอมพิวเตอร์ เป็นแค่อีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่ผู้เล่นเสพความสนุกได้ครับ”

คุณบอล…

“ยิ่งรุ่นเราก็เล่นจนแก่เลยครับ”

นอกจากผู้เล่นจะเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ผลิตก็มากขึ้นตามขึ้นด้วย ปัจจุบันมีสตูดิโอที่ผลิตเกมหลากหลายมากขึ้น ทั้งเจ้าเล็กและเจ้าใหญ่ มีการประกาศรับสมัคงานตำแหน่ง 3D-Artist, 3D Game, Game Designer ให้เห็นมากขึ้น รวมถึงมหาวิทยาลัยก็มีเปิดคลาสสอนทำเกมแล้ว 3-4 ที่ เมื่อวงการนี้เติบโตขึ้นก็ส่งผลให้นักลงทุนและภาครัฐให้ความสนใจมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง ก็หวังว่าเราจะสามารถไปวัดกับเวียดนามได้ เพราะในปัจจุบันพวกเขาเติบโตสุดในย่าน South East Asia


คนเล่นสนุกกว่าคนทำ

 

นี่คือสัจจธรรมของคนสร้างเกมอย่างแท้จริง เพราะการเป็นคนทำย่อมมาพร้อมกับรายละเอียดที่ต้องรับผิดชอบมากมายก่ายกอง แตกต่างจากผู้เล่นที่อย่างแย่สุดก็คงไม่มีเงินเติมเกมซื้อไอเทม

คุณบอล…

“ตอนผมเล่น พอเล่นสนุกก็เล่นอย่างเดียว พอเล่นไม่สนุกก็คอมเมนต์ไม่สนุกละ แต่พอเรามาทำเอง พอมีคนมาคอมเมนต์เราว่ามันไม่สนุกหว่ะ เราก็คิดว่า แต่นี่เรา 20 กว่าคนทำกันเลยนะ มันเพราะว่าอะไร ก็ต้องไปนั่งหาคำตอบว่าความสนุกของแต่ละคนเป็นอย่างไร ทำให้เป็นกลางที่สุด ไม่ใช่ยากที่สุดหรือง่ายที่สุด เราต้องหาค่าตรงนั้นให้ได้ ซึ่งค่อนข้างใช้ความอดทนนะ”

คุณเม…

“ม.กรุงเทพฯ มีโครงการชื่อ ‘Player to Creator’

เด็ก ๆ หลายคนที่เล่นเกมมักมีความคิดว่ามันคือความสนุกที่เขาอยากจะมาทำเอง

แต่พอมาทำเองมันคนละเรื่องเลย

ไม่เหมือนตอนเล่น ตอนเล่นเราเล่นเพื่อเสพความสุข แต่อุตสาหกรรมนี้ Creator หรือผู้สร้าง เราเป็นฝ่ายที่กำลังสร้างความสุขให้คนอื่น อันนี้คือความยาก

เราต้องดูว่าความสุขของคนเหล่านั้นคืออะไรบ้าง อย่างตอนนี้เราทำเกมออกมา จะมีผู้เล่นกลุ่มหนึ่งที่ชอบมาก กับ อีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่ามันยากเกินไป แล้วเราจะทำอย่างไรให้ทุกคนแฮปปี้ อันนี้คือเราใช้ความสุขตัวเองกับการสร้างความสุขให้คนอื่น

พอทำเกมเองจะเริ่มรู้ จากเมื่อก่อนที่บ่นคนทำเกมว่า ‘โหย! แม่งแย่ ทำไมไม่แก้บั๊ควะ! นิดเดียวเองดีดนิ้วก็เสร็จละ’ พอมาทำเอง…เป็นเดือน อะไรอย่างนี้”

 

คุณบอล…

“เข้าใจแล้วครับ ฮ่า ๆๆๆ”

คุณเม…

“เข้าใจแล้วครับ ขอโทษครับ Dev ตอนเด็ก ๆ เราก็ไม่รู้เนาะ แต่พอทำเกมเองก็รู้สึกว่ามันยากและมันใช้เวลา แก้บั๊ค 1 ตัวมันมีหลายโครงสร้างมาก

ตอนที่อยู่ที่เก่าผมได้รู้จัก Dev ด้วย เวลาเขาจะแก้ตัวหนึ่ง บั๊คมีเป็นร้อยในแต่ละ Sprint ในสองสัปดาห์แก้ให้ลดลงมาเหลือ 10 หรือ 20 พอจะเสร็จละ มา Sprint ใหม่ มันเด้งเป็น 60 อีก มันเป็นโดมิโน่ไปเรื่อย ๆ จะแก้หนึ่งอย่างมาอีกสิบอย่าง

อันนี้คืออุตสาหกรรมเกม ก็สนุกดีนะ ถ้าใครที่ชอบแก้ไขปัญหาหรือชอบสร้างความสุขให้คนอื่นผมว่าอันนี้ตอบโจทย์’


ความคาดหวังต่อเกม ECLIPSE QUEST

 

หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบว่าในปัจจุบันมีหลาย ๆ บริษัทในไทยได้มีโอกาสโกอินเตอร์ไป Partnership กับค่ายเกมระดับโลกอย่าง CAPCOM และ Bandai เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง 2 Co-Founder เองก็มีเป้าหมายในการพาเกม Eclipse Quest ไปให้ไกลในระดับโลกเช่นกัน

คุณบอล…

“ระดับโลกเลยครับ”

คุณเม…

“ผมมองว่าอยากจะเป็นอีกหนึ่งเกมที่เมื่อนึกถึงบลอกเชนเกมที่เป็นแนว Action Dungeon ในไทยต้องนึกถึง ‘Eclipse Quest’ ครับ”


เกมทำร้ายเยาวชน

 

คำว่า ‘เกมทำร้ายเยาวชน’ เราคงได้เห็นตามข่าวบ่อย ๆ เกมมักจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นแรกเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชน เราลองมาฟังมุมมองจากผู้ที่เติบโตและได้ดีมาจากการเล่นเกมกันว่ามีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องดังกล่าวบ้าง

คุณเม…

“เกมไม่เคยทำร้ายเยาวชน แต่ผมคิดว่าคนใกล้ชิดนั่นแหละ ที่ทำร้ายคนข้าง ๆ เอง สมัยเด็กพ่อแม่ผมไม่มีเวลา ผมก็เลยหาเกมเล่น จริง ๆ แล้วผมคิดว่ามันเกี่ยวความสัมพันธ์ต่างหาก เด็ก ๆ ไม่มีใครอยากทำร้ายตัวเองหรอก ไม่ได้อยากติดเกมหรอก แต่ผู้ใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ

ถ้าครอบครัวไม่ดูแลเด็ก ๆ เอง นั่นคือความสัมพันธ์ที่ค่อย ๆ ห่างเหินออกไปเรื่อย ๆ เกมเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เขาได้ทำกับเพื่อนเขาในเกม

เราไม่สามารถให้เขาออกไปเล่นข้างนอกบ้านได้ เราบังคับให้เขาตั้งใจเรียน เราบังคับเด็ก ๆ ทุกอย่าง

แต่ไม่ให้เขาหาความสุขให้ตัวเองเลยเหรอ เพราะเกมก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่จะเติมเต็มความสุขของเขาได้

ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าเกมทำร้ายเยาวชน ผมแค่อยากให้มองว่าเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่สามารถเติมเต็มความสุขได้ แต่ไม่ใช่เยอะเกินไป ถ้าเล่นเยอะเกินไปแม่ก็คงด่าอยู่แล้ว เหมือนเราทำงาน เวลาทำงาน 8 ชั่วโมง น้องมานั่งเล่นเกม 10 ชั่วโมง อย่างนี้มันก็ไม่ได้ มันต้องมีความพอดี

ของสิ่งหนึ่งมันไม่สามารถทำร้ายใครได้หรอก ไม่อย่างนั้นผมพูดบ้าง ว่าป๊อกเด้งก็ทำร้ายผู้ใหญ่ สภาก็ทำร้ายการเมือง ก็เหมือนกัน ผมว่ามันก็แค่กุศโลบายที่สร้างมาไม่ให้มันเติบโต

เราควรจะทำในสิ่งที่มันดีอยู่แล้วให้มันดีกว่าเดิม สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากซานฟรานซิสโกที่เราจบมา คือ ทุกอย่างเป็นไปได้หมด เมื่อเดินไปหัวมุมหนึ่งแล้วเจอคนแปลกหน้าก็คุยกันถึงไอเดีย พอเห็นว่าไอเดียคุณดีหว่ะ คุณทำต่อเลยเดี๋ยวฉันช่วย

ทำไมสังคมไทยไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมสังคมไทยบอกว่าเกมไม่ดี ทำอะไรไม่ได้ ทำไมไม่ช่วยกันสนับสนุนไอเดียของทุกคนที่มีความฝันอยากทำอะไรสักอย่างหนึ่ง”

 

คุณบอล…

“ผมมองว่ามันไม่ทำร้ายเยาวชนนะครับ มันเป็นส่วนที่ส่งเสริมให้เด็กได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างในโลกของเขา แต่เขาก็ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ที่มากเกินไป ต้องรู้จักการแบ่งเวลา การให้ความสำคัญในแต่ละจังหวะของชีวิต ควรแบ่งเท่าไรอย่างไร

ถ้าคุณคิดว่าคุณอยากทำงานสายเกม คุณเล่นเกมเพื่อวิเคราะห์และเข้าใจว่าเกมแต่ละเกมมีจุดประสงค์แบบไหน ทำมาเพื่ออะไร แล้วกลับมาคิดทบทวนทั้งหมดมันคือแค่นี้

เกมที่มันรุนแรงมันก็มีข้อดี มันได้ปลดปล่อย มันอยู่แค่นั้นไม่ได้ออกมาในโลกจริง แต่เวลาเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เขาเอามาอ้างว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะเกม

ถ้าเราเข้าใจสิ่งที่คนทำเกมต้องการทำ และเรานำมาใช้ในมุมของเรา เกมมันก็เป็นเครื่องมือสร้างความสุขหนึ่งอัน

บางเกมก็ให้ความรู้ บางเกมดี ๆ ที่ทำให้เข้าใจภาษาอังกฤษมากขึ้น เข้าใจทักษะต่าง ๆ การคิดเป็นขั้นตอน การวางแผนล่วงหน้ามันก็มีเกมที่ช่วยสอน”


การพูดคุยกับคุณเมและคุณบอล ช่วยให้เราได้เปิดโลกของวงการเกมเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว และทำให้เรารู้ว่าการที่จะสร้างเกมขึ้นมาซักเกมมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถ้าใจไม่รัก อดทนไม่พอ ไม่มีวันสำเร็จอย่างแน่นอน

ใครที่สนใจเกม Eclipse Quest สามารถไปจอยได้ทาง Facebook page, Discord, Twitter, Instagram, Telegram สามารถเข้าไปพูดคุยสอบถามหรือเสนอแนะกับทีมงานได้โดยตรง อีกทั้งยังมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้ติดตามอีกด้วย

อย่าลืมช่วยกันสนับสนุนเกมออนไลน์ไทยกันด้วยนะครับ

ขอบพระคุณรูปประกอบบางส่วนจากแฟนเพจ : Eclipse Quest

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line