Survival

“เอางานมาอีก !!” วิธีรับมือกับ Toxic Productivity อาการคลั่งโปรดักทีฟจนเสี่ยงเบิร์นเอ้าท์

By: unlockmen April 29, 2021

ความโปรดักทีฟดูจะมีประโยชน์ต่อหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตลูกผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน หรือ การพัฒนาตัวเอง ถ้าเราตั้งใจทำงาน มีความกระตือรือร้นในการทำผลงานให้ออกมาดีอยู่เสมอ เราสามารถก้าวหน้าได้เร็วกว่าใครเพื่อน แต่ความโปรดักทีฟที่มากเกินไปอาจให้ผลแย่ต่อชีวิตของเราเหมือนกัน เพรามันอาจนำมาซึ่งความรู้สึกผิดจากการหยุดทำงาน และทำให้เราไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างสุขใจ

เราเรียกความคลั่งไคล้ความโปรดักทีฟแนวนี้ว่า Toxic Productivity หรือ ภาวะผลิตภาพเป็นพิษ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำลายสุขภาพจิตของมนุษย์ได้มากพอสมควร UNLOCKMEN เลยอยากมาแนะนำวิธีการเอาชนะอาการนี้ เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจมากขึ้น

รับรู้อาการ Toxic Productivity

ก่อนที่เราจะลงมือแก้ปัญหาอะไรก็ตาม เราควรเข้าใจปัญหานั้นในระดับหนึ่งก่อน เพราะถ้าเราไม่เข้าใจปัญหา เราก็จะไม่มีความรู้เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหา สำหรับเรื่อง Toxic Productivity ก็เช่นกัน ถ้าเราไม่รับรู้ว่าตัวเองกำลังมีปัญหานี้ การแก้ปัญหามันก็ยาก เราเลยอยากพูดถึงสัญญาณของ Toxic Productivity เพื่อให้ทุกคนลองเช็คตัวเองกันดู ได้แก่ สูญเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำหรือคิดเรื่องงาน  คาดหวังปริมาณงานที่ตัวเองควรทำได้สูงเกินไป รู้สึกผิดหรือล้มเหลวเมื่อหยุดทำงาน รู้สึกว่าทำงานได้น้อยเกินไปบ่อย ๆ  รวมถึง มีอาการนอนไม่ค่อยหลับ เพราะกังวลถึงเรื่องที่ยังค้างคา

รับฟังคนที่รู้ใจ

บางทีเราอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกเรื่องงานครอบงำชีวิตมากเกินไป หรือ บางทีก็รู้ แต่ไม่คิดว่ามันจะเป็นปัญหาอะไร เมื่อเราไม่พูดคุยกับคนอื่น เราอาจเกิดอาการคิดเองเออเอง ซึ่งส่งผลเสียต่อเราและคนรอบข้าง อย่างการใช้ชีวิตคู่ ถ้าเราเชื่ออย่างสุดใจว่าการทำงานหนักถูกต้องเสมอ ในขณะที่แฟนของเราก็ต้องการเวลาร่วมกัน หากปราศจากการพูดคุย โอกาสที่ความสัมพันธ์จะไปรอดมันก็น้อยลง ดังนั้น ควรพูดคุยและรับฟังคนรอบข้างให้มาก ๆ เพราะพวกเขาอาจช่วยเตือนในเวลาที่เราเอางานมารบกวนความรับผิดชอบอื่น ๆ ของตัวเอง

ปรับเป้าหมายให้ง่ายและดีต่อใจมากขึ้น

บางทีพอเราตั้งเป้าหมาย หรือ คาดหวังสูงเกินกว่าความเป็นจริงไปมาก สิ่งที่ตามมาอาจเป็นอาการ Toxic Productivity เพราะสิ่งเหล่านี้ทำสำเร็จได้ยาก และใช้เวลาในการทำยาวนาน การโฟกัสกับมัน จึงทำให้เราสูญเสียเวลาในการพักผ่อน แรงกาย และแรงใจมากเกินความจำเป็น ซึ่งจะทำให้เราเบิร์นเอ้าท์ได้ง่ายขึ้นด้วย วิธีรับมือกับปัญหานี้อย่างดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนเป้าหมายและความคาดหวังของเราใหม่ เช่น พยายามทำงานให้ช้าลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือ ลองดูว่าภาระอันไหนที่สามารถทำทีหลัง หรือ ขยายเดดไลน์ได้ เป็นต้น

คิดเสมอว่าต้องดูแลตัวเองทุกวัน

พอเข้าสู่ชีวิตทำงาน หลายคนอาจมีเวลาพักผ่อนน้อยลง และดูแลตัวเองได้น้อยลงเช่นกัน เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานแล้ว จึงไม่มีแรงที่อยากทำอย่างอื่นต่อไป การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันเป็นเหมือนยาเพิ่มพลังในการทำงาน หากเราไม่ดูแลตัวเอง เอาแต่ทำงานอย่างเดียว วันหนึ่งเราก็จะหมดแรงในการทำงานได้ เพราะฉะนั้น เราต้องดูแลตัวเองอยู่เสมอ เพื่อฟื้นฟูจิตใจ และผ่อนคลายความตรึงเครียดที่เกิดจากการทำงาน โดยกิจกรรมในการดูแลตัวเองเป็นอะไรก็ได้ที่อยู่ในความสนใจของเรา เช่น อ่านหนังสือเล่มโปรด ฟังเพลงที่ชอบ หรือ ทำงานอดิเรก ฯลฯ

อย่าเอาเรื่องงานมากำหนดคุณค่าของตัวเอง

พออยู่ในวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำงาน ความก้าวหน้า หรือ ฐานะทางการเงิน อย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เราอาจนำประสิทธิภาพในการทำงานมาเป็นตัวกำหนดคุณค่าในตัวของเราได้ เช่น เราอาจคิดว่ายิ่งทำงานหนักมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากคนอื่นมากเท่านั้น เป็นต้น ซึ่งความเชื่อแบบนี้สามารถพัฒนาอาการ Toxic Productivity ได้ เราเลยไม่ควรเอาเรื่องงานมากำหนดคุณค่าในตัวเอง และให้ความสำคัญกับมันในฐานะสิ่งที่เราต้องทำใน to-do list เท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งในด้านความคิด ความเชื่อ และการกระทำ ต้องใช้เวลาและพลังงานอย่างท่วมท้น ความอดทนจึงเป็นสกิลที่สำคัญต่อการกำจัด Toxic Productivity มันจะช่วยเรารับมือกับความไม่สบายใจ อุปสรรค์ และความยากลำบากได้เก่งขึ้น แล้วเราจะรักษาแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองต่อไปได้ เพราะฉะนั้น อย่าลืมฝึกเป็นคนที่มีความอดทนกันด้วยละ


Appendix: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line