Work

โดนกรีดหัวใจแค่ไหนก็สู้ไหว รู้จัก WABI-SABI ปรัชญาญี่ปุ่นช่วยกู้ความสุขเมื่อเฟลเพราะงานไม่เพอร์เฟกต์

By: anonymK January 9, 2019

“วันนี้ทำงานพลาดว่ะ” คือหนึ่งใน Topic ที่ทำให้เพื่อนที่ไม่ค่อยได้คุย ไม่ได้รวมตัวกันมานานกลับมาคุยกันเพื่อระบายอารมณ์ และไม่ว่าเพื่อนฝูงจะอยู่ระดับไหนของบริษัท เป็นคนตัวเล็กหรือใหญ่ขององค์กรประเด็นนี้ก็จะทยอยมาให้ได้ยินเหมือนกันเสมอ

“เป็นลูกน้องที่โดนลูกค้าด่า
เป็นเจ้านายที่บริหารงานไม่ดี
เป็นเจ้าของที่ไม่สร้างกำไร

ฯลฯ”

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการนั่งขยายว่าไปทำผิดอะไรมา หรือสิ่งที่พวกมันต้องจ่ายเพื่อรับผิดชอบความผิดเหล่านั้นตามขนาดความเล็กใหญ่ของเรื่องที่เจอ กลับเป็นเรื่องผลกระทบทางอารมณ์ของพวกมันมากกว่า เพราะบางคนเฟลนาน เฟลไม่จบไม่สิ้น ถึงงานนั้นจะผ่านไปจนเริ่มโปรเจกต์ใหม่ก็ไม่หายจนสุดท้ายต้องล้มเหลวจริงจากการจับจด ขณะที่บางคนแค่บ่น ยอมรับและก้าวต่อไปก็ทำงานได้ดีขึ้น

เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงปรัชญาญี่ปุ่นที่เรียกว่า 侘寂  (wabi-sabi) “วาบิ-ซาบิ” หรือการมองเห็นความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบของญี่ปุ่น ซึ่งมาจากการรวม 2 คำ ได้แก่ Wabi (侘び) ที่แปลว่า ความเรียบง่าย สมถะ และ Sabi (寂び) ที่แปลว่า ความเงียบสงัด สภาพจิตใจที่สงบนิ่ง และสูงส่ง ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้คือส่วนผสมที่ลงตัวที่ทำให้เราเห็นแง่มุมของการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน และไม่เจ็บปวด ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะสร้างบาดแผลให้เราไว้มากแค่ไหนก็ตาม เพราะสรรพสิ่งล้วนไม่สมบูรณ์ และทุกความผิดพลาดต่างมีความสวยงาม

สูงสุดจากสามัญ Zero be Hero

ที่มาของ Wabi-Sabi หรือการมองเห็นความสวยงามจากสิ่งไม่จีรังหลายคนคงเปรยว่าคล้ายกันกับ “อนัตตา” ของศาสนาพุทธเหลือเกิน บอกได้เลยว่า “บิงโก” คุณเดาถูกแล้ว เพราะแนวคิดนี้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 15 ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลเรื่องพุทธศาสนามาจากจีน จากนั้นนำมาปรับใช้กับทุกอย่างในวิถีชีวิตเพื่อสร้างความสงบสุขทางใจ โดยเจ้าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับทุกเรื่องและเราคาดว่ามันน่าจะเป็นพื้นฐานของการสร้างนิยามการใช้ชีวิตแบบ “มินิมัล” ในญี่ปุ่นด้วย เหมือนแบรนด์ MUJI ในบ้านเรา ที่สวยงามบนความเรียบง่าย แต่ไม่โดดเด่นฉูดฉาด

ธรรมชาติ ความเรียบง่าย ความไม่สมบูรณ์แบบ คือต้นทางของการปรับใจให้มองเห็นความสวยงามจากภายในแทน ดังนั้น งานที่ว่ายาก ที่ว่าแย่ หรือโดนตำหนิ เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว เราแค่พยักหน้ายอมรับและหาความดีงามที่ซ่อนอยู่ในตัวมัน แทนที่จะไปโฟกัสมุ่งแต่ความสมบูรณ์แบบจึงเป็นคำตอบที่ดีกว่า เช่นเดียวกับแก้วเซรามิกที่บิ่นรูปทรงไม่สวยเป๊ะ หากตั้งวางได้ไม่ล้มก็มีสไตล์ และยังรองน้ำดื่มได้อยู่ดี หรือใบไม้ร่วงผุพังจากต้นที่สร้างภาพสวยงามติดตาได้

 

สุขุม นุ่มลึกไปถึงรอยแตกร้าว

ไม่เพียงแค่ปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างเดียว แต่มันยังลึกซึ้งลามไปแขนงอื่นอย่างศิลปะด้วย ถ้าใครเห็นงาน Kintsugi หรือศิลปะการซ่อมภาชนะที่แตกด้วยรัก ยางไม้แห้ง แล้วทาเชื่อมด้วยสีทองโชว์ให้เห็นรอยแตก สิ่งนี้ก็ได้แนวทางจากแนวคิดของ Wabi Sabi เช่นกัน

Credit Photo: lifegate.com

Credit Photo: sanwart.com

เมื่อนักรบเก่งกาจย่อมมีบาดแผล แถมสิ่งที่คนเก่งส่วนใหญ่เลือกทำคือการยิ้มให้กับประสบการณ์ช้ำ ๆ ในชีวิตแล้วหัวเราะให้มันอย่างกล้าหาญ ดังนั้น เวลาเราพบกับการทำงานที่ผิดพลาดไม่ว่าจะมากขนาดไหน สิ่งแรกที่เราต้องทำคือการขอบคุณอุปสรรคชิ้นนี้ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและมุมมอง เพราะมันช่วยให้เราแกร่งขึ้นกว่าเดิม

 

คุณค่าที่ไม่ลดลงต่อสิ่งที่คนอื่นมอง

ต่อยอดมาจากงาน Kintsugi ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้ เห็นถ้วยเคลือบยางลงรักทาทองสวย ๆ แบบนี้ เชื่อว่าบางคนคงชมว่าสวย เดาว่าอบมาใหม่ ทาอย่างตั้งใจและอยากมีไว้ครอบครอง ทั้งที่ถ้ามองจริง ๆ อีกมุมหนึ่ง ภาชนะเหล่านี้มันก็คือซากดินปั้นที่เคยแตก เคยใช้งานไม่ได้แล้วนำมาติดกาวแท้ ๆ

รอยซ่อมที่คงความสวยงามในตัวของมัน ไม่ได้ทำให้คุณค่าหรือการใช้งานลดลง และยังสร้างมูลค่าได้ด้วย
ถ้าเอามาเปรียบเทียบและใช้กับการทำงานที่เคยพลาด มองความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา และใช้มันกระตุ้นให้เดินหน้าต่อไม่หวั่นไหว ไม่ให้คำคนอื่นมาตัดสินหรือลดคุณค่าตัวเองลง ไม่นานเราต้องลุกขึ้นใหม่ได้อย่างสวยงามแน่นอน

การเลิกโทษตัวเอง เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แล้วหันมาตั้งเป้าหมายสูงสุดบนความสามารถของตัวเอง รวมทั้งเปิดใจเรียนรู้ คือจิตวิญญาณของความสำเร็จ

เลิกไล่ตามหาความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง แล้วมองหาความสุขใกล้มือที่ทำให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จกันเถอะ

“เราจะมองต้นซากุระเพียงเวลาที่ดอกของมันบานสะพรั่ง เราจะมองดวงจันทร์เพียงเวลาที่ไม่มีเมฆบัง อย่างนั้นหรือ” – คำถามในข้อเขียน Tsurezuregusa (Essays in Idleness) ของพระเค็นโค (Yoshida Kenkō)

SOURCE: 1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line