Life

ซึม เศร้า เหงา หว่อง ‘6 อาการซึมเศร้าปนเหงาของผู้ชาย’ คุณมีความเสี่ยงขั้นไหนแล้ว?

By: PSYCAT June 9, 2020

ในยุคสมัยที่ผู้ชายหว่อง ๆ เหงา ๆ สไตล์พระเอกหนังของผู้กำกับหว่องกาไวกำลังถูกพูดถึงและได้รับความนิยมในหมู่สาว ๆ เป็นอันดับต้น ๆ เราเคยสงสัยไหมว่าอาการซึม เทา เศร้า เหงา หว่องที่เรามีติดตัวอยู่นั้น มันเป็นแค่ความเศร้าระดับปกติ ความเศร้าบางเวลา หรือถ้าเศร้ามากไปมันเป็นความเศร้าที่ยังธรรมดาอยู่ไหม แล้วเศร้าแค่ไหนถึงจะเข้าข่ายการเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่?

นี่เราแค่เศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่?

ความป่วยไข้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับแค่ร่างกายของเราเท่านั้น ความคิดหรือจิตใจของเราก็ป่วยได้เหมือนกัน โดยอาการเศร้ามากไป หดหู่มากไป ไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ เราไม่เข้มแข็งเสมอไป แต่อาจเกิดจากสารเคมีในสมองที่ทำงานผิดปกติจนก่อให้เกิดอารมณ์เศร้าส่วนเกินจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

แต่ถ้าเราย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนต้นศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าเราจะเศร้ามาก เศร้าน้อย เศร้าเจียนตายแค่ไหน ความเศร้าก็เป็นได้แค่ความรู้สึกชนิดหนึ่งเท่านั้น จนกระทั้งช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นี่เอง ที่วงการการแพทย์หันมาให้ความสำคัญกับ“ความผิดปกติทางจิตใจ” (Mental Disorder) หรือโรคที่มีความผิดปกติของความคิดมากขึ้น จึงเริ่มมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าเศร้าแค่ไหนนับว่าปกติ ในขณะที่ถ้าเศร้ามากเกินไปก็ควรได้รับการดูแลที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามโรคทางใจไม่ได้เหมือนกับโรคทางกาย ถ้าเราเป็นมะเร็งหมออาจตรวจพบก้อนเนื้อที่ชั่ง ตวง วัดขนาดได้ แต่โรคทางใจ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะตรวจสอบอารมณ์ของเรา

รู้อย่างนี้แล้วก็อย่ารอช้ามาลองสำรวจ’เกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน’กันเถอะว่าความเศร้า เหงา หว่องของเรานี่เป็นแค่ความเศร้าหรือเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าแล้วกันแน่


11 อาการที่อาจบอกว่าเราไม่ได้แค่เศร้าตามปกติ

1.รู้สึกเศร้า รู้สึกว่างเปล่าไร้ค่า หรือรู้สึกไม่มีความสุข

2.โกรธ หรือรู้สึกหงุดหงิดใจได้ง่าย ๆ แม้กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

3.ไม่มีความสนใจ ไม่มีความสุขกับกิจกรรมปกติที่เคยทำแล้วมีความสุขเอาซะเลย (เช่น กิจกรรมบนเตียงที่เคยดี๋ด๋า ก็หมดอารมณ์ที่จะคิดไปเสียอย่างนั้น)

4.พฤติกรรมการนอนผิดปกติไป ไม่ว่าจะเป็นการนอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไปก็นับด้วยนะ

5.เหนื่อยหน่าย อ่อนล้า ขาดพลังงาน แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อยที่เคยทำได้ แต่ตอนนี้กลับต้องอาศัยความพยายามมากกว่าปกติ

6.พฤติกรรมการกินผิดปกติไปจากเดิม ส่วนมากจะเบื่ออาหาร กินอะไรไม่ได้ น้ำหนักลดลง แต่ก็มีบางรายที่กินแบบเอาเป็นเอาตายทั้ง ๆ ที่ปกติก็ไม่ได้กินเยอะขนาดนี้

7.วิตกกังวล กระวนกระวายใจ กระสับกระส่าย อยู่เฉยไม่ได้

8.รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ยึดติดต่อความรู้สึกผิดกับความล้มเหลวที่ผ่านมาในอดีต

9.ขาดสมาธิ มีปัญหาในการโฟกัสความคิด รวมถึงมีปัหาในการตัดสินใจและการจดจำสิ่งต่าง ๆ

10.คิดถึงความตายอยู่บ่อย ๆ รวมถึงความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ไปจนถึงการพยายามฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตาย

11.มีปัญหาทางร่างกายที่หาคำอธิบายไม่ได้ เช่น อยู่ ๆ ก็ปวดหัวขึ้นมา เดี๋ยวก็ปวดหลังแบบไม่มีสาเหตุ


แต่…โรคซึมเศร้ากับผู้ชายไม่ได้เข้าใจง่ายอย่างที่คิด

สำหรับใครที่มีอาการตั้งแต่ 5 อาการขึ้นไปจาก 11 ข้อข้างบนติดต่อกันนาน 2 อาทิตย์ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า หนทางที่ดีที่สุดคือการพบจิตแพทย์ แต่โรคซึมเศร้ากับผู้ชายไม่ได้เข้าใจง่ายอย่างที่คิด แม้เกณฑ์การวินิจัยก็มีให้เห็นกันอยู่ชัด ๆ แต่ผู้ชายมักมีการแสดงอารมณ์และสำรวจตรวจตราอารมณ์น้อยกว่าผู้หญิง รวมถึงไม่ยอมรับสิ่งที่ตัวเองกำลังรู้สึก การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าของผู้ชายถึงเป็นไปได้ยากกว่าผู้หญิง

ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจึงเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในขณะที่จำนวนคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า โรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยผ่านไปเฉย ๆ มาดูอาการโรคซึมเศร้าแบบผู้ชาย ๆ บ้างว่าเราเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือยัง


โรคซึมเศร้าของผู้ชาย นี่เราเข้าข่ายบ้างไหมนะ?

1.ควบคุมความหงุดหงิดหรือความโกรธของตัวเองไม่ได้

สำหรับผู้ชายแล้ว โรคซึมเศร้าอาจไม่ได้มาพร้อมความทึมเทาหมองหม่นเสมอไป แต่บางทีก็อาจมาพร้อมกับความโกรธความหงุดหงิดที่ไม่อาจควบคุมได้เลย โดยอาจไม่ใช่ความโกรธหรือหงุดหงิดที่รุนแรงอะไร แต่มีความรู้สึกแบบนั้นอ่อน ๆ อยู่แทบตลอดเวลา

2.น้อยเนื้อต่ำใจ ทำตัวห่างเหิน

ผู้ชายที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมากอาจจะถอยห่างออกมาจากสังคม หรือถ้าอยู่ท่ามกลางผู้คนก็จะมีความรู้สึกน้อยใจอะไรบางอย่างอยู่ โดยอาจจะนั่งเงียบ ๆ แต่ภายในทั้งหงุดหงิดใจและว้าวุ่นใจอยู่ไม่น้อย

3.ความต้องการทางเพศลดลง

ผู้ชายที่เป็นโรคซึมเศร้ามักมีความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองอย่างโดพามีนที่ควบคุมเรื่องความต้องการทางเพศในร่างกายมนุษย์

4.อยู่ ๆ ก็อยากทำอะไรเสี่ยง ๆ มากกว่าปกติ

ถ้าปกติคุณไม่ใช่ผู้ชายที่รักความเสี่ยงจนอยู่ในสายเลือด แต่ก็เกิดอยากทำอะไรเสี่ยง ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการเล่นการพนัน การดื่มเหล้าในขณะที่ขับรถ หรือขี่มอเตอร์ไซค์อย่างรวดเร็วด้วยความประมาท นี่อาจเป็นสัญญานบอกวาคุณกำลังต้องการความเสี่ยงมาทดแทนความว่างเปล่าในใจคุณ

5.ดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ มากกว่าที่เคย

บางทีความเศร้าก็อาจเปลี่ยนเป็นความเหล้าความเบียร์ได้ ดื่มปกติก็ไม่เท่าไหร่ แต่หากลองสังเกตตัวเองแล้วว่าเรากำลังดื่มถี่ ดื่มบ่อย ดื่มมากกว่าปกตินั่นก็อาจเป็นสัญญานหนึ่งของโรคซึมเศร้าได้

6.ทำงานอย่างบ้าคลั่งเพราะไม่อยากคิดอะไรอีกแล้ว

โรคซึมเศร้าอาจมาในรูปแบบของการโหมทำงานหนักอย่างบ้าคลั่ง เพื่อวิ่งหนีอารมณ์ความรู้สึกแย่ ๆ ในจิตใจ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าคนทำงานหนักทุกคนจะเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป แต่ถ้าเรารู้สึกว่าเราทำเพื่อหนีอะไรบางอย่าง และมันก่อให้เกิดผลกระทบต่อด้านอื่น ๆ ในชีวิตนั่นก็เป็นสัญญานที่ไม่โอเคแน่ ๆ


 

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เส้นแบ่งตายตัวว่าผู้ชายทุกคนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ต้องเป็นโรคซึมเศร้าไปทั้งหมด สิ่งที่สำคัญคือการหมั่นสังเกตตัวเองและคนข้าง ๆ ว่ามีอารมณ์ ความรู้สึก หรือพฤติกรรมอะไรบ้างที่ต่างไปจากเดิมจนไม่ปกติ รวมถึงไม่ลืมเรียนรู้ที่จะยอมรับอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง ทบทวนสิ่งเรารู้สึกในแต่ละวัน ถ้ามีอะไรไม่มั่นใจหรือสงสัยว่านี่เราเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ก็เดินหน้าแบบแมน ๆ ไปหาหมอได้เลย กายป่วยได้ ใจก็ป่วยได้ นี่ไม่ใช่เรื่องน่าอาย อย่าปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในหลุมมืดทึมเทาลำพัง รู้จักที่จะยอมรับและเยียวยาให้ถูกวิธีก็ไม่มีอะไรน่าหวั่นใจอีกต่อไป

 

 

SOURCE1,SOURCE2
All Images from: Wong Kar Wai films

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line