Work

เป็นคนทำงานเก่งมักเจ็บปวด “เหตุผลหลักที่คนทำงานมีประสิทธิภาพไม่มีความสุขในองค์กร”

By: PSYCAT July 4, 2018

ผู้ชายอย่างเรามักคิดว่าคนที่รู้สึกผูกพันกับองค์กรคือคนเก่ง คนกระตือรือร้น หรือคนที่ทำงานได้ดีมากๆ แต่กลายเป็นเรื่องช็อกระดับโลกเมื่องานสำรวจชิ้นหนึ่งออกมาบอกว่าคนที่ทำงานเก่งหรือทำงานแบบมีประสิทธิภาพกว่า 42% ไม่มีความรู้สึกสัมพันธ์หรือเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรเอาเสียเลย! (โดยเขาก็นิยามความสัมพันธ์กับองค์กรไว้ว่ารู้สึกพอใจกับองค์กร รู้สึกมีแรงบันดาลใจจะทำงาน) ในขณะที่คนที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพน้อยกว่าจะรู้สึกมีความสุขกว่า มีแรงบันดาลใจกว่า (เพราะทำงานได้เรื่อย ๆ ไม่กดดัน)

เฮ้ย มันเป็นอย่างนั้นไปได้ยังไง ? คนที่เก่ง ๆ ทำงานประสิทธิภาพสูง ๆ ก็ควรจะเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและมีความสุขกับงานสิ แต่ทำไมการเป็นคนทำงานเก่งจึงกลายเป็นความโศกเศร้าเจ็บปวดไปได้ ?

ยิ่งทำงานเก่งยิ่งได้ทำงานที่แย่ที่สุด!?

อย่าเพิ่งปฏิเสธข้อมูลนี้ แต่ลองสวมจิตวิญญาณบอสผู้กุมบังเหียนบริษัทข้ามชาติ ที่มีงานแต่ละชิ้นเป็นเดิมพันความเสียหายระดับหลายสิบล้าน แล้วบริษัทเราดันมีงานใหญ่ งานด่วนเข้ามาตอน 4 โมงเย็นวันศุกร์ แล้วต้องเสนอลูกค้าตอน 9 โมงเช้าวันจันทร์ งานนี้จะพลาดไม่ได้ เพราะการพลาดแค่ก้าวเดียวหมายถึงการเสียความน่าเชื่อถือครั้งใหญ่

ในฐานะบอส เราจะทำงานใหญ่ให้เสร็จด้วยตัวคนเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ และเมื่อเราต้องมองหาพนักงานในองค์กรสักคนที่จะเข้ามาช่วยรับมือโปรเจ็กต์ใหญ่ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์นี้ เราจะให้คนที่เพอร์ฟอร์แมนซ์การทำงานกลาง ๆ ช่วยเรา หรือจะให้คนที่เราเห็นว่าเพอร์ฟอร์แมนซ์ดีเกิน 90% มาช่วยเรา ?

คงพอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่าบางครั้งการเป็นคนทำงานดี ทำงานเก่ง หรือทำงานเข้าตาบอสก็เจ็บปวดไม่เบา เพราะทุกครั้งที่มีงานด่วน งานเร่ง งานที่ต้องการการเสียสละมาก ๆ คนเก่งจะต้องรับหน้าที่นั้น จึงเป็นเหตุผลว่าคนทำงานดีต้องรับน้ำหนักความกดดันในงานแต่ละชิ้นมากกว่า รวมถึงงานเร่ง หรืองานที่องค์กรคิดว่าคนทั่วไปทำไม่ได้ แต่โยนมาให้คนทำงานดีเพราะคิดว่าเขาต้องทำได้แน่ ๆ

เราอาจคิดว่า อ้าว คนทำงานเก่งก็ต้องทำงานใหญ่ ๆ ก็ถูกแล้วไง เราก็ไม่เถียง เพราะมันก็คือโอกาสที่จะได้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าการเติบโตก็แลกมาด้วยความเจ็บปวดกดดันและต้องพิสูจน์ตัวเองกับงานที่คนอื่นเบือนหน้าหนี และพาลให้คนเก่งอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า การที่กูเก่งไม่ได้แปลว่าต้องทำทุกอย่างนะเว้ย แต่ระบบที่ดีควรออกแบบมาให้คนเก่งและไม่เก่งทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้ต่างหาก

ความเห็นจากคนทำงานเก่งมักถูกมองข้าม

อีกเหตุผลที่คนทำงานเก่ง ๆ รู้สึกเศร้าแสนเศร้าในออฟฟิศคือการที่เขาได้ทำงานใหม่ ๆ หรืองานจำนวนมากกว่าคนอื่นจึงทำให้เขาสามารถมองเห็นปัญหา ทั้งปัญหาในตัวเอง และปัญหาระดับโครงสร้างองค์กรมากกว่าคนอื่น แต่เมื่อไหร่ที่เขาแนะนำหรือเสนอความคิดเห็นกับคนระดับหัวหน้าเขาขึ้นไป ความคิดเห็นเขามักถูกมองว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคล เพราะคนอื่นไม่เจอปัญหานี้ มีแค่คนเก่ง ๆ ที่เจอปัญหานี้เท่านั้น ดังนั้นก็อย่าทำตัวเป็นปัญหาสิ ก้มหน้าก้มตาทำส่วนของตัวเองให้ดีต่อไปเถอะ!

รวมถึงปริมาณงานบางรูปแบบที่คนเก่งได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบ เขาจึงพยายามหาวิธีกระจายงานและเสนอต่อหัวหน้างาน ซึ่งยิ่งทำให้คนที่ทำงานน้อย ๆ ไม่โอเคกับข้อเสนอนั้น

งานสำรวจที่ชื่อว่า “The Risks Of Ignoring Employee Feedback” ศึกษาเรื่องการที่หัวหน้างานไม่สนใจข้อเสนอของคนในองค์กรโดยมีคนระดับผู้จัดการ เจ้าขององค์กรเพียงแค่ 24% เปอร์เซนต์เท่านั้นที่รับฟังข้อเสนอแนะของคนในองค์กร และยิ่งกับคนที่ทำงานเยอะ ๆ และมีข้อเสนอมาให้มาก ๆ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ พวกเขาแทบไม่ถูกรับฟัง เพราะมันดูยิบย่อยและดูเหมือนคนคนนั้นมีปัญหามากไปเอง และนั่นก็เป็นที่มาของความเจ็บปวดอีกอย่างหนึ่งของคนเก่ง

ทำงานเก่งไปทำไม เก่งแค่ไหนก็ได้แค่เท่า ๆ กัน

อีกหนึ่งความหดหู่คือต่อให้เราคิดว่าเราทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่าคนอื่น ทำงานดีกว่าคนอื่น ทำงานปริมาณมากกว่าคนอื่น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสังเกตเห็นเลย กว่าจะถึงตอนเลื่อนขั้น ปรับ KPI ก็ผ่านไปเป็นปี ๆ แต่สุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ต้องทนฟันฝ่ากับงานที่สาหัสกว่าคนอื่นที่แลกไปก็ดูเหมือนจะไม่คุ้มเอาเสียเลย

ทำไมเราถึงบอกว่า “เก่งแค่ไหนก็เท่า ๆ กัน” เพราะงานสำรวจชิ้นหนึ่งออกมาสำรวจว่าพนักงานแต่ละคนรู้ตัวไหมว่าเขามีระดับการทำงานของตัวเองอยู่ในระดับไหน ? ปรากฏว่าพนักงานกว่า 36% บอกว่าเขาไม่รู้หรอกว่างานที่เขาทำออกมาแต่ละวันมันอยู่ในระดับไหน (ดีหรือไม่ดี) ซึ่งแปลว่าไม่ว่าคุณจะเป็นคนทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพ ความรู้สึกก็เท่า ๆ กัน (คือไม่รู้เลยว่าที่ตัวเองทำมันเป็นยังไง ดีแล้วหรือยัง) ดังนั้นคนทำงานไม่มีประสิทธิภาพก็มีสิทธิจะคิดว่าที่ตัวเองทำอยู่ทุกวันมันดีแล้ว และคนที่ทำงานมีประสิทธิภาพก็อาจคิดว่าที่ทำอยู่มันยังไม่ดีพอ แต่ทำไมมันเหนื่อยกว่าคนอื่นขนาดนี้วะ ?

ยิ่งเห็นว่าเพื่อนร่วมงานเหนื่อยน้อยกว่า แต่ก็ยังมีความสุขดีที่ทำงาน คนทำงานมีประสิทธิภาพจะเริ่มคิดว่า แล้วเราจะเหนื่อยกว่าไปทำไม ? งานที่ได้รับก็กดดันกว่า เสนออะไรองค์กรก็ไม่รับฟัง ความหดหู่จะยิ่งเข้าครอบงำ (ถ้าฮึดกัดฟันทนต่อได้ด้วยตัวเองก็ดีไป) หลายครั้งก็จบลงที่คนทำงานเก่ง ๆ จะหมดไฟ เพราะไม่รู้ว่าจะทำให้ดีกว่าคนอื่นไปทำไป ยิ่งรู้ว่ายิ่งทำดีแล้วไม่มีความสุข ขออยู่นิ่ง ๆ ไม่เติบโต แต่มีความสุขดีกว่า

การเป็นคนทำงานเก่งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องมีศักยภาพ ความมุ่งมั่นและจิตวิญญาณนักสู้ไม่ถอยส่วนตัวแล้ว สิ่งแวดล้อมอย่างเพื่อนร่วมงาน และวัฒนธรรมในองค์กรก็มีส่วนอย่างมากที่จะส่งเสริมคนเก่ง ๆ ให้มีความสุขที่จะเก่งต่อไป หรือสุดท้ายระบบในองค์กรเองที่กลืนกินคนทำงานเก่งให้กลายเป็นคนหมดไฟเข้าไปในสายพานอีกคนหนึ่ง

UNLOCKMEN คิดว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของคนทำงานเก่งที่ต้องบุกสู้กับความท้าทายไปลำพัง หรือเป็นแค่หน้าที่ขององค์กรที่จะต้องซัพพอร์ตทุกอย่าง แต่ทั้งบุคลากรและองค์กรเองต้องรับฟังกันและกัน แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกันไป เพื่อให้การเป็นคนเก่งในที่ทำงานไม่ใช่ความเจ็บปวดอีกต่อไป

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line