Life

ทำไมเราจึงไม่ควรอารมณ์เสียต่อหน้าคนอื่น ? เข้าใจหลักการ ‘Emotional Contagion’ และวิธีการป้องกัน

By: unlockmen September 28, 2020

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาคนอื่นรู้สึกเครียด เราถึงรู้สึกเครียดไปด้วย? ทั้งๆ ที่บางครั้งเรื่องที่คนอื่นเครียดก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรา เช่น เวลาเราเห็นเจ้านายกำลังทำงานด้วยสีหน้าเคร่งเครียด เราถึงได้รู้สึกเครียดตามเจ้านายไปด้วย เรื่องนี้อาจอธิบายได้จาก ธรรมชาติของมนุษย์มี่ชอบปรับตัวให้เข้ากับคนในสังคม โดยหนึ่งในวิธีการปรับตัวของมนุษย์ คือ การเรียนรู้พฤติกรรมของคนอื่นผ่านการเลียนแบบ และทำให้เกิดปรากฎการณ์การส่งต่ออารมณ์ไปยังผู้อื่น หรือที่เรียกว่า ‘Emotional contagion’ ต่อไป

ในบทความนี้ UNLOCKMEN อยากเล่าให้ทุกคนฟังว่า Emotional contagion เกิดขึ้นได้อย่างไร และเราจะป้องกันการติดอารมณ์ด้านลบจากคนอื่นได้อย่างไรบ้าง

 

Emotional contagion คืออะไร ?

การติดต่อทางอารมณ์ (Emotional contagion) คือ สถานการณ์ที่อารมณ์หรือพฤติกรรมของคนหรือกลุ่มเป็นตัวกระตุ้นให้คนอื่นเกิดอารมณ์และแสดงพฤติกรรมที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็น การเลียนแบบท่าทาง การแสดงออก การเคลื่อนไหว ซึ่งการส่งต่อพฤติกรรมและอารมณ์แบบนี้ อาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะงานวิจัยหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่า คนเรามักจะจับอารมณ์ของคนอื่นได้บ่อยๆ การส่งต่ออารมณ์จึงเกิดขึ้นได่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งต่ออารมณ์ด้านลบหนักหน่วงที่มีการแสดงออกมาอย่างชัดเจน จะง่ายกว่าการส่งต่ออารมณ์อื่นๆ กล่าวคือ ถ้าเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานของคุณเครียดหนีอย่างเห็นได้ชัด มันก็มีโอกาสสูงที่คุณจะเครียดตามหัวหน้าได้นั่นเอง

 การทำงานของ Emotional contagion มักเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว เริ่มจาก การเลียนแบบการแสดงออกทางหน้าตา ภาษากาย และน้ำเสียงของคนอื่นโดยอัตโนมัติ จากนั้นการเลียนแบบจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับอารมณ์ของเรา กล่าวคือ เราไม่ได้แค่ยิ้ม หรือ ขมวดคิ้วตามคนอื่น แต่การยิ้มหรือขมวดคิ้วทำให้เรารู้สึกมีความสุข หรือ โกรธ 

การมีอยู่ของ ‘พฤติกรรมการเลียนแบบคนอื่นแบบอัตโนมัติ’ ยังได้รับการยืนยันจากงานวิจัย ซึ่งพบว่า คนเราแสดงสีหน้ามีความสุขหรือเศร้า เพื่อตอบสนองตัวละครในภาพยนตร์ หรือ รูปถ่ายที่แสดงความรู้สึกเดียวกัน คนจะหาวหรือหัวเราะเมื่อเห็นคนอื่นทำพฤติกรรมเดียวกัน การเลียนแบบพฤติกรรมครอบคลุมไปถึงจุดที่ คนเคาะเท้า พูดตะกุกตะกัก หรือ แสดงความเจ็บปวดตามคนอื่น แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ขอบเขตที่คนจะรู้สึกถึงอารมณ์ที่คล้ายกับคนอื่นผ่านการเลียนแบบอยู่ตรงไหน (หรือ การเลียนแบบจะทำให้เรารู้สึกถึงอารมณ์ที่คล้ายกับคนอื่นได้มากแค่ไหน)        

มีหลายปัจจัยเหมือนกันที่ทำให้เราไวต่อการติดต่อทางอารมณ์  ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกเชื่อมต่อกับอีกฝ่าย (อาทิ มีประสบการณ์คล้ายกัน) เก่งเรื่องการอ่านพฤติกรรมคนอื่น นิสัยชอบเลียนแบบพฤติกรรมคนอื่นบ่อยๆ เป็นคนอ่อนไหวต่อเรื่องเล่าประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนอารมณ์ (emotional) เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม การติดต่อทางอารมณ์อาจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตอนที่เราเจอหน้ากันเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ได้ด้วย กล่าวคือ ถ้าเราอ่านสเตตัสเฟสบุ๊คเศร้าๆ ของเพื่อน เราก็อาจรู้สึกเศร้าตามเจ้าของสเตตัสได้ เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก งานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่าง 3 องค์กร ได้แก่ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และเฟสบุ๊ค ซึ่งพบว่า สถานะทางอารมณ์จากคนหนึ่งสามารถส่งต่อไปยังคนอื่นบนโลกออนไลน์ได้ ผ่าน Emotional contagion ทำให้พวกเขามีอารมณ์เดียวกันโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว 

ในงานวิจัยชิ้นนี้นี้  ทีมวิจัยได้ทดลองโดยการควบคุมให้ ผู้ใช้เฟสบุ๊คจำนวนกว่า 689,003 ราย ดูโพสเฟสบุ๊คที่มีเนื้อหาในแง่ดีและร้าย และหลังจากทีมวิจัยได้วิเคราะห์ผล และพบว่า เมื่อมีการลบโพสที่มีเนื้อหาในแง่ดีจากหน้าฟีดของใช้เฟสบุ๊ค พวกเขามีแนวโน้มที่จะโพสเนื้อหาเชิงบวกน้อยลง และโพสเนื้อหาเชิงลบมากขึ้น และเมื่อทำกลับกัน คือ ลบเนื้อหาเชิงลบ ผลก็ออกมาตรงกันข้าม คือ โพสเนื้อหาเชิงลบน้อยลง และโพสเนื้อหาเชิงบวกมากขึ้น การทดลองนี้จึงอาจแสดงให้เห็นว่า อารมณ์ของเนื้อหามีผลต่อกระทบต่ออารมณ์ของผู้ใช้เฟสบุ๊ค และ Emotional contagion บนเฟสบุ๊คมีอยู่จริง   


เราจะป้องกันการติดอารมณ์ด้านลบจากคนอื่นได้อย่างไร ?

ว่ากันว่า Emotional contagion เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการเข้าสังคม เพราะมันทำให้เราสามารถประสานอารมณ์ของตัวเองกับของคนอื่นได้ นำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจคนอื่น (empathize) เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น ทำให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิด และผูกพันกับคนอื่น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสัมพันธ์เหนี่ยวแน่นกับคนอื่น แต่แน่นอนว่า Emotional contagion ก็มีโทษเหมือนกัน เพราะถ้าเราติดอารมณ์ด้านลบ เช่น ความเครียด หรือ ความเศร้า ของคนอื่นบ่อยๆ ก็มีโอกาสที่เราจะเสียสุขภาพจิตได้ เราเลยต้องมีการเตรียมตัวรับมือกับ Emotional contagion บ้าง ซึ่งเราขอนำ 5 วิธีรับมือกับ Emotional contagion มาอธิบายให้ทุกคนฟังดังนี้

 

ป้องกันตัวเองก่อน!

เมื่อทั้งอารมณ์ด้านบวกและลบ สามารถส่งต่อจากคนหนึ่งไปยังคนอื่นๆ ได้ เหมือนเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เราเลยต้องมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองไว้ก่อน แล้วคนอื่นจะได้รับการป้องกันด้วย ซึ่งการฉีดวัคซีนที่เราพูดถึง แน่นอนว่าไม่ได้หมายถึงการฉีดยา แต่เป็นการทำให้ตัวเองไวต่อการติดต่ออารมณ์ลบน้อยลง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ การพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เป็นต้น ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะทำให้เราอ่อนไหวต่ออารมณ์ด้านลบน้อยลง และจะทำให้คนรอบข้างเรามีความสุขมากขึ้นด้วย   

 

ซ่อนอารมณ์ด้านลบ

 ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะอารมณ์เสียบ้างเป็นบางครั้ง เพราะไม่มีใครเจอเรื่องดีๆ ตลอดเวลา แต่เราอยากบอกว่า การแสดงอารมณ์ด้านลบออกมาโดยไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์บ่อยๆ ส่งผลเสียทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เพราะ การไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ทำให้คนอื่นมองว่าเราเป็นคนที่มีวุฒิภาวะต่ำ ไม่เป็นผู้ใหญ่ ไม่น่าคบหา แถมยังทำให้คนอื่นรู้สึกไม่สบายใจตามไปด้วยอีก เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ เวลารู้สึกแย่ อย่าแสดงออกมาให้คนอื่นเห็น แต่ย้ำว่า เราไม่ได้แนะนำให้ทุกคนเก็บอารมณ์ด้านลบของตัวเองเอาไว้ตลอดนะ แค่อยากให้ระบายมันออกมาให้ถูกที่ ถูกเวลา ต่างหาก ! 

 

เลือกคบเพื่อน

ถ้าเราเลือกคบเพื่อนที่ปล่อยรังสีมาคุออกมาตลอดเวลา แน่นอนว่า เราไม่น่ามีความสุขเวลาอยู่ร่วมกับเพื่อนคนนี้ เพราะเรารับอารมณ์ด้านลบของเพื่อนมามากเกินไป แต่ถ้าเราคบกับเพื่อนที่ดี อยู่ด้วยแล้วสบายใจ ก็อาจให้ผลตรงข้าม ดังนั้น ถ้าเราอยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เราก็อาจต้องเลือกคบเพื่อนหน่อย ซึ่งวิธีการเลือกคบเพื่อน อาจเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า “ใครที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกดี” “ใครที่ช่วยส่งเสริมจุดแข็งและคุณสมบัติที่ดีที่สุดของเรา” “อยู่กับใครแล้วเราสามารถเป็นตัวของตัวเองที่ดีที่สุดได้” หากมีใครสักคนที่เข้าหมวดหมู่เหล่านี้แล้ว คุณควรจะรักษาเขาไว้ให้นานๆ 

 

กระตุ้นอารมณ์ด้านบวก

การกระตุ้นให้ตัวเองมีความสุข สามารถทำได้จากข้างใน เช่น การมองโลกในแง่ดี หรือ การควบคุมอารมณ์ด้านลบของตัวเอง แต่บางทีการกระตุ้นจากภายในก็ไม่เวิร์ก หรือ ทำได้ยาก เราเลยอาจต้องใช้ตัวช่วยจากภายนอกแทน เช่น การฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูหนัง  เทคนิคนี้ได้รับการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ อย่าง James H. Fowler ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดของอารมณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ เคยกล่าวไว้ว่า เขาเริ่มฟังเพลง upbeat pop ในระหว่างที่เขากำลังเดินทางกลับบ้านจากที่ทำงาน เพื่อให้ตัวเองอยู่ในสภาวะใจหวิวๆ (giddy state) เวลาเจอหน้าลูกๆ ทั้งสองของเขา    

 

ถามคนอื่น

แน่นอนว่า ในความสัมพันธ์มันไม่ได้มีแค่เราคนเดียว แต่มีคนอื่นอยู่ด้วย ฉะนั้น เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้คงอยู่นานที่สุด เราเลยต้องคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำมีผลกระทบกับคนอื่นอย่างไรด้วย เราควรถามคนที่อยู่ในความสัมพันธ์เดียวกันกับเรา เช่น แฟน เพื่อน หรือ พ่อแม่ ว่าเราได้แสดงพฤติกรรมอะไรที่บ่งบอกถึงอารมณ์ด้านลบมากเกินไปหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ควรมีการจัดการกับอารมณ์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ความเศร้า ความโกรธ และความวิตกกังวล และหากพบว่าปัญหาของตัวเองมีความซับซ้อนและแก้ไขได้ยาก ก็ควรไปพบกับผู้เชี่ยวชาญ  

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line