

Business
OR ซื้อหุ้น “โอ้กะจู๋”: ถอดโมเดล Inorganic Growth + case study แบรนด์ที่ใช้แล้วเวิร์กและไม่เวิร์ก
By: unlockmen March 23, 2021 197772
เมื่อช่วงที่ผ่านมา OR ได้เข้าซื้อหุ้น 20% ของกิจการ “โอ้กะจู๋” ร้านอาหารสุขภาพเน้นวัตถุดิบคุณภาพ เหมาะกับคนชอบกินผักและสเต๊ก โดยบอร์ดบริหารของกลุ่ม ปตท. ได้วางแผนธุรกิจที่จะขยายแบรนด์ร้านดังกล่าวให้อยู่ในปั๊มน้ำมันในเครือของตนและคาเฟ่อเมซอน แน่นอนว่าการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้เป็นที่กล่าวถึงและได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทำธุรกิจที่เรียกว่า Inorganic Growth
Image Source: Sibmpune
นี่คงเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์น่าจับตามองของแวดวงธุรกิจ วันนี้เลยอยากพาชาว UNLOCKMEN มาทำความรู้จักแนวคิดโมเดลธุรกิจ Inorganic Growth ว่าเป็นอย่างไร แล้วเคยมีเคสไหนที่ทำแล้วเวิร์กและไม่เวิร์กบ้าง
เมื่อวางแผนทำธุรกิจขึ้นมาสักอย่าง หลายคนคงตั้งเป้าวัดผลความสำเร็จจากการวิเคราะห์ผลการทำงานพื้นฐานอย่างยอดขายหรืออัตราการเติบโตทางธุรกิจ กว่าจะมาถึงปลายทางดังกล่าวได้ ก็ต้องวางกลยุทธ์ทำการตลาดหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำแคมเปญโปรโมทต่าง ๆ ออกไลน์โปรดักส์ใหม่ หรือพัฒนาการให้บริการลูกค้า ทั้งหมดนี้ถือเป็นการทำธุรกิจที่เน้นสร้างจุดแข็งและการเติบโตจากภายใน หรือที่เรียกว่า Organic Growth
จริงอยู่ที่แนวทางการทำธุรกิจแบบ Organic Growth ให้ผลลัพธ์ยั่งยืนกว่า ถึงอย่างนั้น หากเราต้องการขยายฐานการเติบโตของธุรกิจในเวลารวดเร็ว การทำธุรกิจแบบ Inorganic Growth ก็เป็นอีกวิธีที่แบรนด์ดังหลายเจ้ามักใช้กัน
Inorganic Growth ว่าด้วยแนวคิดทำธุรกิจที่ควบรวมบริษัทหรือกิจการอีกเจ้า เพื่อขยายฐานการทำธุรกิจขององค์กร วิธีนี้ช่วยให้เจ้าของธุรกิจที่เข้าซื้อกิจการอื่นมีโอกาสขยายและเจาะตลาดกลุ่มใหม่ได้กว้างขึ้น ถือเป็นวิธีขยายธุรกิจที่เร็วกว่าแนวคิดแบบ Organic Growth
นอกจากเข้าซื้อหุ้นและบริหารแบบควบรวมกิจการแล้วนั้น การขยายสาขาในพื้นที่ต่าง ๆ หรือเปิดร้านเพิ่มขึ้นก็ถือเป็นการทำธุรกิจแบบ Inorganic Growth เช่นกัน ซึ่งนิยมกันมากในธุรกิจร้านค้าปลีกหรือแบรนด์แฟรนไชส์ แม้ว่าจะช่วยขยายฐานธุรกิจได้เร็ว Inorganic Growth ก็เป็นแนวทางทำธุรกิจที่ท้าทายไม่น้อย เพราะคาดการณ์แนวโน้มการทำกำไรยากกว่าการทำธุรกิจแบบ Organic Growth ที่วิเคราะห์ได้จากยอดขายโดยตรง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรีโมเดลกิจการที่ซื้อมานั้นก็สูงพอสมควร
ส่วนธุรกิจค้าปลีกหรือแฟรนไชส์ที่เน้นขยายสาขาใหม่มีอัตราเติบโตสูงในกรณีที่เปิดในทำเลดี ๆ แต่ก็เสี่ยงยอดขายตกได้เช่นกันหากเจ้าของธุรกิจเลือกไปเปิดในทำเลที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจของแบรนด์หรือไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง
หากจะย้อนกลับมาที่คำถามว่า “แล้วการทำธุรกิจแบบนี้ดีหรือไม่” หรือ “ระหว่าง Inorganic Growth กับ Organic Growth แบบไหนดีกว่ากัน” คงไม่มีคำตอบสำเร็จตายตัว เพราะแนวคิดทั้งสองแบบต่างมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของธุรกิจวางเป้าหมายไว้อย่างไร โดยแนวคิด Inorganic Growth จะช่วยบูสต์การขยายธุรกิจในเวลาอันสั้น ในขณะที่แนวคิด Organic Growth เน้นสร้างธุรกิจให้มั่นคงและยั่งยืน อีกทั้งยังทำกำไรได้ดีกว่าแม้อยู่ในยุคเศรษฐกิจถดถอย
คราวนี้ถ้าจะลงลึกการทำธุรกิจแบบ Inorganic Growth แล้วนั้น ก็ต้องบอกว่าโมเดลนี้จะช่วยขยายตัวแบรนด์เดิมให้ใหญ่ขึ้น ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น คนในองค์กรมีโอกาสพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งระดมทุนได้ นี่เองที่ทำให้โมเดลนี้ถูกนำมาใช้ในกรณีที่เจ้าของธุรกิจต้องการขยายแบรนด์ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในเวลาอันสั้น
แม้แนวคิด Inorganic Growth จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีความเสี่ยงในการลงทุนเช่นกัน เพราะแนวทางทำธุรกิจอาจปรับได้ตลอด เสี่ยงเกิดหนี้ และความเสี่ยงอื่น ๆ อันเกิดจากการเติบโตที่เร็วเกินไป ที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายในการสร้างแบรนด์ที่ควบรวมนั้นมีมากแน่นอน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของการทำธุรกิจดังกล่าว
Image Source; Intercom
ถึงอย่างนั้น โมเดลธุรกิจก็เป็นเพียงทฤษฎี หากอยากรู้ว่าใช้แล้วได้ผลเป็นอย่างไรก็ต้องลงมือทำจริง วันนี้เราเลยอยากแชร์กรณีศึกษาของ Microsoft บริษัทเทคชื่อดังที่ทุกคนต่างคุ้นเคยและใช้โปรดักส์ของแบรนด์นี้อยู่แล้ว มาดูกันว่าเคสควบรวมกิจการกับแบรนด์ไหนที่ทำแล้วเวิร์กและไม่เวิร์กบ้าง
Image Source: Techcrunch
Microsoft เข้าซื้อ LinkedIn ด้วยมูลค่า 26.2 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2016 โดยพวกเขาเริ่มปล่อยแอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่ออกมา ทำให้ผู้ใช้งานลิงก์อินเพิ่มขึ้น สร้าง business insights ดีขึ้น รวมทั้งออกแพลตฟอร์มแนวการเรียนการสอนชื่อว่า Lynda ออกมาตีตลาดใหม่ หากจะสรุปผลลัพธ์ของการควบรวมกิจการครั้งนี้ ก็พอจะสรุปได้คร่าว ๆ ว่า
จำนวนผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มขึ้น 9% (มากกว่า 105 ล้านราย)
จำนวนผู้ใช้งานผ่านมือถือเพิ่มขึ้น 49% – 60%
จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 52% (660 ล้านราย)
ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น 6.75 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2019
การเติบโตของทั้งสองบริษัทถือว่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก เพราะองค์กรทั้งสองได้รวมเอาแนวทางการทำธุรกิจที่ต่างกันมาไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดแนวทางทำธุรกิจใหม่ที่เชื่อมต่อผู้คนได้อีกมาก โดยไมโครซอฟท์นำเทคโนโลยีคลาวด์มารวมเข้ากับเครือข่ายที่ลิงก์อินถืออยู่ในมือ จึงไม่แปลกเลยที่จะเปลี่ยนวิถีการทำงานไปสู่ระดับโลกได้ขนาดนี้
หากพูดถึงกรณีควบรวมกิจการที่ประสบความสำเร็จของไมโครซอฟท์ คงไม่พูดถึงการเข้าซื้อ Hotmail ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการรวมแบรนด์ที่ยังคงมีผู้ใช้งานมากเสมอจวบจนปัจจุบัน ย้อนกลับไปเมื่อปี 1990 นับเป็นยุครุ่งเรืองของไมโครซอฟท์ก็ว่าได้ โดยทุกคนต่างยกให้เป็นบริษัทเทคทรงอิทธิพลที่พัฒนา PC ไม่เพียงเท่านั้น บิลล์ เกตส์ ยังยกระดับธุรกิจด้วยการใช้แนวคิด Inorganic Growth เข้ามาขยายอาณาจักรตัวเองด้วย หนึ่งในนั้นคือการเข้าซื้อ Hotmail ในปี 1997
Image Source: Bitdefender
ต้องยอมรับว่านี่เป็นการควบรวมกิจการที่ทรงพลังเป็นอย่างมาก เพราะ Hotmail ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้คนใช้ติดต่อสื่อสารไม่น้อยในตอนนั้น ในขณะที่ทุกคนต่างหันมาใช้ PC จากไมโครซอฟท์อย่างล้นหลาม แน่นอนว่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ทำให้ไมโครซอฟท์กลายเป็น “ตัวเก็ง” ในแวดวงธุรกิจของยุค 2000 เลยทีเดียว
แม้ปัจจุบัน Gmail จะเข้ามาลงเล่นแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดกับ Hotmail ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็น Outlook ไปแล้วนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต่างยังต้องใช้โปรดักส์ภายใต้เครือนี้อยู่ด้วยเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่าการควบรวมกิจการระหว่างไมโครซอฟท์และ Hotmail เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการประยุกต์แนวคิด Inorganic Growth ที่น่าสนใจมาก ๆ
แม้การเข้าซื้อลิงก์อินจะได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร แต่การเข้าควบรวมกิจการกับสไกป์และโนเกียก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิดไว้ เพราะสไกป์ต้องทำกำไรให้ได้มากถึง 32 เท่า ส่วนโนเกียก็มีปัญหาในการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบใหม่ ๆ ออกมารองรับการใช้งานของผู้คน
กรณีสไกป์แสดงให้เห็นถึงการทำธุรกิจแบบ Inorganic Growth ที่ไปได้ไม่ค่อยสวยนัก เริ่มจากโปรแกรมหรืออุปกรณ์ที่เป็น 3rd party ของสไกป์ถูกถอดออกหมด ส่งผลให้ฝั่งไอทีที่ใช้ Pidgin Miranda หรือ imo เกิดปัญหา ต้องเชื่อมต่อแอปพลิเคชันมากมายเข้ากับโปรโตคอลหลายตัว
Image Source: Dispatch
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนต้องแบกรับภาระในการใช้งานสไกป์ เพราะแบรนด์รื้อสร้างสไกป์เวอร์ชัน desktop และ mobile แถมสไกป์แบบ Business ก็ไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานกับแอปฯ สไกป์แบบทั่วไป ส่งผลให้คนที่ใช้สไกป์คนละเวอร์ชัน (ระหว่างแบบ Business กับแบบทั่วไป) ติดต่อคอนเฟอร์เรนซ์หรือ business call ด้วยกันไม่ได้
สุดท้ายแล้ว ไมโครซอฟท์ตัดสินใจปิดออฟฟิศสไกป์ในสวีเดนไปเมื่อปี 2017 แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสร้างกำไรให้ได้ แต่กลยุทธ์การทำธุรกิจไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างอัตราการเติบโตของแบรนด์หรือสร้างรายได้ระยะยาว
ส่วนกรณีไมโครซอฟท์ควบรวมกิจการของโนเกียก็นับเป็นมหากาพย์บทใหม่ของการทำธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน
แรกเริ่มเดิมทีโนเกียคือแบรนด์โทรศัพท์มือถือทรงอิทธิพลในช่วง 90-2000 แต่เมื่อยุคสมาร์ทโฟนอย่าง Apple เข้ามาในปี 2007 ส่วนแบ่งการตลาดของโนเกียก็ลดลงรวดเร็ว แม้โนเกียจะเคยคาดการณ์ไว้ว่า “สมาร์ทโฟน” เป็นเพียงของใหม่ที่อยู่ในกระแส เดี๋ยวก็ตกรุ่นไป คนต้องกลับมาใช้โทรศัพท์มือถือแบบเดิมอยู่ดี ทว่าทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะ “สมาร์ทโฟน” ไม่เพียงเป็นกระแสใหม่ แต่ได้กลายเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมมือถือไปอย่างสิ้นเชิง แถมคราวนี้ยังมีซัมซุงเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ ตอกย้ำนวัตกรรม touch-screen ของโทรศัพท์มือถือ และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมโนเกียเช่นกัน
Image Source: DW
เมื่อปี 2010 โนเกียได้จ้าง Elop จากไมโครซอฟท์ เพื่อให้เข้ามาช่วยวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและพัฒนาโปรดักส์ให้ตอบโจทย์ตลาดในอนาคต ไม่นานโนเกียก็ได้ปล่อยสมาร์ทโฟนตัวใหม่ออกมาในปี 2012 ชื่อว่า Lumia ซึ่งเพิ่มยอดขายได้ในช่วงเริ่มต้น
ถึงอย่างนั้น ก็ครองส่วนแบ่งการตลาดเหมือนเก่าไม่ได้ เพราะ Apple และซัมซุงถือครองอยู่เป็นส่วนใหญ่ จนไมโครซอฟท์ตัดสินใจซื้อโนเกียเข้ามาด้วยเงิน 7.2 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 โดยวางแผนพัฒนาโทรศัพท์มือถือโนเกียให้เป็นสมาร์ทโฟนเต็มรูปแบบ ทั้งในเรื่องของระบบ ดีไซน์ ข้อตกลงต่าง ๆ รวมไปถึงจ้างพนักงานใหม่อีกประมาณ 32,000 คน เพื่อลงแข่งกับ Apple และกูเกิลอย่างเต็มรูปแบบ จนกลายมาเป็น Microsoft Lumia ในปี 2014
ท้ายที่สุดแล้ว องค์กรก็จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานไปในปี 2014 และปี 2015 รวมทั้งประกาศขายโนเกียให้กับ HMD Global และ Foxconn Technology ในราคา 320 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2016 ไมโครซอฟท์ประกาศว่าจะไม่ผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ออกมาแล้ว ถือว่าเป็นเคสควบรวมกิจการที่ล้มเหลวพอตัว นั่นก็เพราะความแตกต่างของวัฒนธรรมองค์กรของไมโครซอฟท์และโนเกียส่งผลต่อกระบวนการทำงานและแนวคิดต่าง ๆ ที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ยาก
และนี่ก็เป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจแบบ Inorganic Growth จะเห็นได้ว่าองค์กรเดียวกันแต่ผลลัพธ์ในการใช้แต่ละครั้งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการแบรนด์และองค์กรทั้งสองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ดี ไมโครซอฟท์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การทำธุรกิจคือสนามทดลองขนาดใหญ่ เราไม่มีทางรู้ผลลัพธ์ว่าจะดีหรือไม่ดีจนกว่าจะได้ลงมือทำมันด้วยตัวเอง