

Life
“ทำไมเงินคนอื่น แต่หนักหัวเรา” ความเครียดจากการเปรียบเทียบฐานะในยุค SOCIAL MEDIA
By: unlockmen June 17, 2021 201847
ในขณะที่เรากำลังใช้ชีวิตตามปกติ เราเริ่มจะรู้สึกโอเคกับของที่ใช้ รายได้ที่มี แต่เมื่อเราเปิด Instagram หรือ Facebook เราก็ได้เห็นผู้คนใช้ชีวิตหรูหรา ทุกคนขับ Porsche ราวกับเป็นรถเริ่มต้นที่คนควรจะมี หรือทริปเรือ yatch กลางทะเลเป็นกิจกรรมวันหยุดปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน ทันใดนั้นจากความสุข เรากลับรู้สึกทุกข์เพราะคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ยังไม่พอ
มันทำให้เราเกิดความสงสัยว่าคนอื่นมีรายได้เท่าไหร่ จากไหน และใช้เงินทำอะไรมากน้อยแค่ไหน และกลายเป็นความเครียดจากการเปรียบเทียบด้านการใช้เงิน ซึ่งเป็นความเครียดที่มีเพิ่มมากขึ้นในยุคที่ผู้คนนิยมเปิดชีวิต (ด้านดี) ผ่าน Social Media เป็นยุคที่ความอิจฉาเกิดขึ้นได้ง่าย อิจฉาได้ทุกเรื่อง คนนั้นทำงานน่าอิจฉา คนนู้นมีรถน่าอิจฉา คนนี้กินอาหารหรูน่าอิจฉา
Aristotle เคยพูดไว้ตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนว่า มนุษย์รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีกว่า ขนาดในยุคที่ไม่มี Social Media ไม่มีการสื่อสาร เจ้าเมืองต่าง ๆ ยังยกกองทัพไปตียึดครองเมืองกันเพราะเห็นว่าอีกฝ่ายมีชีวิตที่ดีกว่า
Ethan Kross, professor of psychology, University of Michigan บอกว่าทุกวันนี้ Social media ที่ควรจะมีไว้ให้ผู้คน connect กัน กลับกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้คนเกิดการเปรียบเทียบ ความอิจฉาเกิดขึ้นได้ง่ายถึงขีดสุด เพราะพวกเราโดนถล่มด้วยชีวิตที่ดีกว่าทุกวินาที และมันทำให้พวกเราเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว จากยุคก่อนที่ผู้คนอิจฉาได้แค่เพื่อนบ้าน ตอนนี้กลับต้องมาเห็นชีวิตที่ดีกว่าของผู้คนทั่วโลก หลายคนเครียดจนต้องพบจิตแพทย์เพราะคิดว่าชีวิตของตัวเองผิดปกติ รู้สึกเครียดและกลัวว่าจะไม่สามารถไปใช้ชีวิตแบบที่คนอื่นมีได้
สิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือ Content จำนวนมากจาก YouTuber และ Blogger กลับยิ่งโชว์ความร่ำรวย จนไม่มีผู้ใช้ Social Media คนไหนหนีจากความรู้สึกเปรียบเทียบไปได้ ขนาดผู้ใหญ่ที่มีสติสัมปชัญญะยังควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงไม่แปลกที่เด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นในยุคนี้จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบการกระทำของคนที่พวกเขาดูว่าร่ำรวย ประสบความสำเร็จ ความรู้สึกอยากจะใช้ชีวิตแบบนั้นบ้าง ทำให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมที่เห็นบน Social Media
ทฤษฎีทางจิตวิทยาบอกเราว่า มนุษย์ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องของฐานะการเงิน สติปัญญา และความสำเร็จ ในกรณีที่เลวร้าย การเปรียบเทียบสามารถพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้
Patricia Polledri นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือชื่อ “Envy in Everyday Life” บอกว่า ความอิจฉาที่น่ากลัวคือการอยากเห็นชีวิตคนอื่นล้มเหลวพังทลาย ใจที่คิดว่าตัวเองไม่มี คนอื่นก็ไม่สมควรได้ ซึ่งคนที่อารมณ์หลุดไปถึงขั้นหวังร้าย เกลียดชัง สาปแช่งให้คนที่เหนือกว่าบาดเจ็บ ล้มตาย นั้นมีจำนวนมากขึ้นอย่างน่ากังวลใน Social Media
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมื่อคนที่เราเห็นว่าใช้เงินฟุ่มเฟือยโดนดำเนินคดี หรือธุรกิจล้มละลาย จะมีทัวร์ลงรุมถล่มสมน้ำหน้า ด่าแบบไม่สนใจเหตุผลอย่างหนักระดับพิเศษใส่ไข่ นั่นเป็นเพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกอยากเห็นคนที่อยู่สูงกว่าพลาดพังลงมา เพื่อปลอบใจตัวเองว่าชีวิตที่เป็นอยู่นั่นแหละดีอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับวิธีการใช้เงิน ไม่สำคัญว่าจำนวนเงินมากหรือน้อย การที่เรารู้ว่าซื้อของบางอย่างได้ในราคาถูกกว่าคนอื่น เราจะรู้สึกดี แต่ถ้าซื้อของมาในราคาแพงกว่า จะรู้สึกเครียด เพราะกรณีแรกทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นผู้ชนะ ส่วนกรณีหลังทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นผู้แพ้
การเข้ามาของเทคโนโลยี เช่น โซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่น หรือ เว็บไซต์ต่าง ๆ ทำให้เรามองเห็นวิธีการใช้เงินของคนอื่นได้ง่ายขึ้น และทำให้การเปรียบเทียบเป็นปัญหามากขึ้นเหมือนกัน เพราะผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักเปิดเผย โพส หรือ ตั้งสเตตัส แต่เรื่องราวแง่บวกของตัวเอง (เช่น ประสบการณ์ท่องเที่ยว กินอาหารสุดหรู หรือเอาเงินล้านพร้อมนาฬิกา Rolex มากองตรงหน้า แต่มานั่งบอกว่ามีเงินแต่ไม่มีความสุข)
ไม่มีใครใน Social Media อยากจะแสดงออกในด้านแย่ ๆ ของตัวเอง ส่งผลให้ผู้ใช้งานที่ไม่มีโอกาสหรือกำลังสู้ชีวิตอยู่ ยิ่งรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในตัวเองมากกว่าเดิม และคิดว่าความแตกต่างของสังคมกับคนอื่นมันช่างห่างไกลเหลือเกิน
นอกจากเราจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นแล้ว เราอาจชอบตัดสินคนอื่นจากวิธีการใช้เงินด้วย เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเชื่อเรื่องการใช้เงินของตัวเองว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว เช่น เชื่อว่าเงินจำนวนเท่านี้ควรนำไปลงทุนกับ Cryptocurrency ถึงจะฉลาดที่สุด พอเห็นคนที่คิดต่าง หรือไม่ได้ทำตามความเชื่อของเรา เราอาจจะด่าว่าพวกเขาช่างไร้ปัญญา ใช้ชีวิตแบบไร้แก่นสาร คิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่า และการที่คนอื่นใช้เงินไม่เหมือนตัวเองเป็นเรื่องแปลก (ซึ่งจริง ๆ แล้วคนอื่นอาจจะเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าก็ได้)
นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เวลาเราเจอคนเห็นต่าง เรามักพยายามโน้มน้าวหรือบีบบังคับให้เขาเชื่อในสิ่งเดียวกันกับเรา ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เราผิดใจกับคนอื่นได้เหมือนกัน
เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องเปรียบเทียบและตัดสินคนอื่นอยู่เสมอ ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา คือเราจะไม่สามารถมีความสุขกับการใช้เงินของตัวเองได้ เพราะเราจะกังวลหรือคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะหาเงินมาใช้ชีวิตให้หรูหราเท่าคนที่เราติดตามบน Social Media ได้หรือไม่ เราจะใช้เงินได้คุ้มค่ากว่าคนอื่นหรือไม่ หรือใช้แล้วไม่ดูโง่ในสายตาคนอื่นหรือไม่ ฯลฯ กลายเป็นพฤติกรรมที่สร้างความเครียด และอาจทำให้กลัวการใช้เงินได้
มีข้อสรุปจากหลายนักวิจัยว่า คนที่แพ้ต่อการแสดงออกทาง Social Media ของผู้อื่นจนเกิดความทุกข์ใจ มักจะเป็นคนที่มีความพึงพอใจในตัวเองต่ำ (Low self-esteem) เมื่อเราไม่รู้สึกดีกับตัวเองจริง ๆ จึงบอบบางและง่ายต่อการเปรียบเทียบ
แม้การเปรียบเทียบจะช่วยให้เรามองเห็นสิ่งที่ควรพัฒนาต่อ และเกิดแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองมากขึ้น แต่ถ้าเราเปรียบเทียบในเรื่องที่ไม่ควรเปรียบเทียบ เช่น เรื่องรสนิยมในการใช้เงิน มันก็อาจจะเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดีได้ ดังนั้น เราควรระมัดระวังเวลาจะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น
การมองเห็นคุณค่าในตัวเองจะช่วยให้เราเลิกเปรียบเทียบได้ เพราะถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีดีอะไรบ้างแล้ว เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องยึดคนอื่นเป็นหลักอีกต่อไป เราควรระลึกไว้เสมอว่าแต่ละคนมีพื้นฐานต่างกัน การได้มาซึ่งเงินของแต่ละคนยากง่ายต่างกัน ทุกคนมีความจำเป็นต้องใช้เงินต่างกัน ดังนั้นจึงมีวิธีการใช้เงินต่างกัน และมองเห็นความคุ้มค่าในการใช้เงินต่างกัน
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องนามธรรม เป็นเรื่องส่วนตัว และไม่มีผิดมีถูก การตัดสินเรื่องเหล่านี้และคิดว่าตัวเองด้อยกว่า จึงเป็นพฤติกรรมที่ผิด มีแต่จะทำให้เครียดเปล่า ๆ
ลองนึกถึงตอนที่เราจะต้องสอนลูกของเราเรื่องปัญหาของความอิจฉาจากการเปรียบเทียบดู แล้วเราอาจจะพบว่าจริง ๆ แล้วเรารู้สาเหตุของความเครียดดี อยู่ที่ว่าเราจะฝึกฝนจิตใจให้ก้าวผ่านสิ่งเหล่านั้นได้หรือไม่