Life

ไอ้นั่นก็ดี ไอ้นี้ก็โดน !! รู้จัก Analysis Paralysis เมื่อมีชอยส์มากเกินไป ทำให้เราเลือกไม่ได้สักอย่าง

By: unlockmen April 7, 2021

หลายคนเวลาต้องเลือกซื้ออะไรบางอย่างที่มีตัวเลือกเยอะ เช่น บอร์ด Surfskate แผ่นแรก หรือ โทรศัพท์เครื่องใหม่ ต้องคิดแล้วคิดอีก กว่าจะตัดสินใจซื้อได้สักทีก็ใช้เวลาในการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจนานพอสมควร เพราะกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้เลือกสิ่งที่ดี่สุด บางทีก็เกิดความเครียด จนในตอนท้ายอาจตัดสินใจไม่ซื้อไปเลย เพื่อไม่ให้สมองระเบิดไปก่อน อาการนี้อาจเป็นอาการคิดมากประเภทหนึ่งที่ชื่อว่า อัมพาตจากการวิเคราะห์ (Analysis Paralysis) ซึ่งมักเกิดขึ้นในเวลาที่เราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดจากหลายตัวเลือก แต่บางครั้งเราไม่มีข้อมูลมากพอที่จะฟันธงได้ว่าตัวเลือกไหนดีที่สุด จึงเกิดเป็นอาการสตั๊นท์ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ขึ้นมา

Analysis Paralysis ทำร้ายเราได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็น ทำให้เกิดความเครียด ความกังวล และไม่มีความสุข UNLOCKMEN เลยอยากช่วยให้ทุกคนตัดสินใจได้ดีขึ้น โดยการแนะนำวิธีเอาชนะ Analysis Paralysis เพื่อฟื้นฟูสกิลในการตัดสินใจและนำความสุขของทุกคนกลับมาอีกครั้ง


ทำไมยิ่งมีตัวเลือกเยอะถึงยิ่งทำให้เราเครียด ?

เวลาจะต้องตัดสินใจเรื่องอะไรก็ตาม ยิ่งมีทางเลือกเยอะมากก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เราเจอตัวเลือกที่ดีที่สุดได้มากขึ้น แต่บางครั้งการมีชอยส์เยอะเกินไปก็ทำให้เราเครียดมากเกินไปได้เหมือนกัน เพราะเราอาจไม่มีข้อมูลมากพอที่จะฟันธงตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่งได้ หรือ ไม่มั่นใจว่าตัวเองตัดสินใจได้ดีพอ ภาวะนี้เรียกว่า Paradox of Choice ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อว่า Barry Schwartz คิดขึ้นมาจากการทำงานวิจัย ทฤษฎีนี้ได้อธิบายว่า ยิ่งเรามีตัวเลือกมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งวิตกกังวล ไม่สามารถตัดสินใจได้ เป็นอัมพาต และ ไม่มีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ซึ่ง make sense อยู่ เพราะเวลาเราตัดสินใจเลือกอะไรบางอย่าง เรามักพิจารณากันทีละตัวเลือก ดังนั้น ยิ่งตัวเลือกเลือกเยอะ การตัดสินใจก็ยิ่งยากขึ้น ต้องใช้สมองมากขึ้น จึงไม่แปลกที่เราจะเครียดและไม่มีความสุขมากขึ้นตามมาด้วย


เราจะเอาชนะ Analysis Paralysis ได้อย่างไร ?

ก่อนอื่น เราต้องดูก่อนว่า อะไร คือ สาเหตุที่ทำให้เราเกิดอาการคิดมาก เพราะก่อนหน้านี้เราตัดสินใจผิดพลาดจนเราจำฝั่งใจรึเปล่า หรือ เรากังวลว่าการตัดสินใจของตัวเองจะทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่ เมื่อเราเข้าใจและรับรู้ถึงสาเหตุแล้ว การแก้ปัญหา Overthinking จะเป็นเรื่องที่ง่ายดายมากขึ้น

ต่อมาเราต้องยอมรับผลของการตัดสินใจของตัวเองให้ได้ในทุกกรณี โดยเฉพาะเมื่อการตัดสินใจของเราให้ผลร้ายออกมา ไม่จมกับมัน และลองคิดว่าทุกเหตุการณ์ในชีวิตเป็นบทเรียนให้เราได้เสมอ แล้วเราจะลุกขึ้นมาจากปัญหาได้ง่ายกว่าเดิม

ถ้าเราเป็นคนที่มักคิดมากอยู่เสมอ สิ่งที่เราควรฝึก คือ การตัดสินใจเรื่องเล็ก ๆ อย่างรวดเร็ว เช่น การเลือกเมนูอาหารกลางวัน หรือ การเลือกซื้อเครื่องดื่มสักแก้ว ฯลฯ ซึ่งตอนแรกที่ฝึก เราอาจรู้สึกไม่สบายใจ แต่ยิ่งเราทำนานเท่าไหร่ เราจะยิ่งเคยชินมากขึ้น การฝึกแบบนี้จะส่งผลให้เราตัดสินใจเรื่องใหญ่ขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นด้วย ส่งผลให้เราคิดมากน้อยลงตามมา

เวลาเราอยากทำอะไรบางอย่าง เรามักฉุดตัวเองไว้ เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อม ยังขาดประสบการณ์ หรือ ไม่มีความมั่นใจ ฯลฯ สุดท้าย เราก็อาจไม่รู้ว่าตัวเองพร้อมเมื่อไหร่ และไม่ตัดสินใจลงมือทำสักที บางทีเราไม่จำเป็นต้องทำให้ตัวเองพร้อมก่อนที่จะลงมือทำอะไรสักอย่างเสมอไป มันสำคัญตรงที่ว่า เราได้ลงมือทำ พร้อมเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

บางทีเราก็มองหาตัวเลือกที่ดีที่สุด ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ในเวลาแบบนี้ เราควรมองหาตัวเลือกที่เข้าท่าที่สุดมากกว่า เพราะการคิดไปเรื่อย ๆ คงไม่ช่วยให้เราเจอกับคำตอบ แถมยังทำให้เราหมดแรงไปเปล่า ๆ ด้วย

เมื่ออินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้แทบจะไม่จำกัด มักก็ส่งผลให้เรารับข้อมูลมากเกินไป จน overwhelm และตัดสินใจได้ยากขึ้นเหมือนกัน ดังนั้น เลยต้องมีการกำหนดขอบเขตในการหาข้อมูลกันหน่อย ไม่ใช่ว่าหาไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้จุดหมายปลายทาง เช่น คิดก่อนว่าเราต้องการรู้อะไรบ้าง ราคา คุณภาพ รีวิว แล้วโฟกัสที่การหาข้อมูลมาตอบคำถามเหล่านั้น หรือ คิดไปเลยว่าจะหาข้อมูลจากกี่ที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เราหาข้อมูลจากหลายที่มากเกินไป ฯลฯ แบบนี้จะช่วยลดเวลาและความเหนื่อยในการหาข้อมูลได้

อาการคิดมากสามารถแก้ไขได้ด้วยการคุยกับคนอื่นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน คนในคนครอบครัว แฟน หรือ ผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ลองเปิดใจดูจะดีกว่าเก็บไว้คนเดียว


Appendixs: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line