Life

LIFE DECISIONS: สิ่งที่ต้องถามตัวเองก่อนเสมอ แล้วค่อยตัดสินใจตอบใครไปว่า “YES” หรือ “NO”

By: PEERAWIT August 10, 2018

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีเงื่อนไขมากมาย ทำให้เรามักจะต้องตัดสินใจอะไรภายใต้ความซับซ้อนทางความคิด แยกแยะกันน่าดูระหว่างตรรกะ และความรู้สึก สุดท้ายกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ตัดสินใจนั้นถูกหรือผิดก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

ที่เกริ่นนำมาอาจจะดูเครียดไปหน่อย เอาเป็นว่าลองนึกถึงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น หัวหน้าของคุณชวนไปดินเนอร์ หรือดื่มเพื่อคอนเนกชั่นกับคนที่คุณไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ก็มีคนจากบริษัทดังติดต่อขอนัดเจอเพื่อคุยกันเรื่องตำแหน่งงาน หรืออาจารย์ที่เคยสอนคุณสมัยมัธยมโทรมาขอให้ช่วยกลับไปบรรยายเรื่องอาชีพให้กับรุ่นน้อง แบบนี้คุณจะตอบ “ตกลง” หรือ “ปฏิเสธ” ไปดี ?

Shonda Rhimes โปรดิวเซอร์และผู้เขียนบทรายการทีวีชื่อดัง ได้ถ่ายทอดผ่านหนังสือ Year of Yes ว่า เธอได้ say “yes” ตอบตกลงกับทุกสิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี และมันเปลี่ยนชีวิตเธอไปทุกอย่าง เธอยินดีที่จะสัมผัสทุกประสบการณ์ในทุกโอกาส โดนชักชวนให้ไปพูดท่ามกลางฝูงชนก็ไป ซึ่ง Rhimes ยังบอกอีกว่า การได้ทำให้สิ่งที่เธอหวาดหวั่น ทำให้เธอสามารถเอาชนะความกลัวได้ และทำให้ชีวิตของเธอมีความหมายยิ่งขึ้น

แต่ถ้าใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Yes Man ที่นำแสดงโดย Jim Carrey ก็อาจจะพอได้แง่คิดที่ว่าการที่เรา yes กับทุกสิ่งอาจไม่ดีเสมอไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม ชีวิตนี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ทุกอย่างล้วนมีข้อจำกัด และเหตุผลที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจึงควร “ชั่งน้ำหนักให้ถูกทาง” ก่อนที่จะตัดสินใจเสมอ จะได้มีทั้งสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต และไม่โดนความเกรงใจ หรือสิ่งเร้าทางสังคมมาบงการชีวิตเราเสมอไป

 

จงเป็น Yes Man เวลาเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิต

ในบางสถานการณ์ของชีวิต การตอบตกลงกับทุกสิ่งก็เป็นสิ่งที่ควรทำ  Regan Walsh ผู้บริหารดีกรี NYU และ life coach แสดงความเห็นต่อวิธีการของ Rhimes ว่า การ say YES กับทุกสิ่ง น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังเริ่มต้นใหม่กับบางสิ่งในชีวิต เช่น เพิ่งเข้าสู่สังคมใหม่ หรือธุรกิจใหม่ ที่ต้องการสร้างเน็ตเวิร์กจากศูนย์ แต่ไม่สามารถใช้วิธีการนี้ได้ในระยะยาว ถ้าเป็นคนง่าย ๆ ไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งคุณจะพบว่าอยาก say NO กับหลายสิ่งเหลือเกินเพราะว่าความใจดีเกินไปของคุณ สุดท้ายมันจะกลายเป็นการรับปากเกินความสามารถจนภาระล้นเกินตัว พาลหมดไฟทำงาน (burnt out) ไปเลยก็เป็นได้

 

“YES” มากไป อาจทำให้หลงทาง

บางทีการ “YES” กับทุกสิ่งก็อาจทำให้เราใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่ทำให้เราก้าวต่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เวลาที่เรา say YES กับบางอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเส้นทางหรือความสนใจของเรา เท่ากับว่าเรากำลังให้ความสำคัญกับภารกิจของคนอื่นมากกว่าตัวเอง และการทำเช่นนี้บ่อย ๆ จะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ช้าลง แถมยังสุมความเครียดเข้าไปอีก

เรื่องนี้ Walsh ให้ความเห็นว่า การเป็น Yes Man อาจจะทำให้เราสูญเสียตัวตน และบั่นทอนพลังใจที่จะบันดาลแรง ทำให้การตัดสินใจดี ๆ นั้นทำได้ยากขึ้น รวมถึงเป็นการทำร้ายครอบครัว, มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

คำถามที่ควรถามตัวเองก่อน say “YES”

ก่อนที่จะตอบตกลงไปตามนัดคุยงาน หรือออกไปสร้างเน็ตเวิร์ก  Walsh แนะนำให้ใช้เวลาทบทวนตัวเองก่อนสักพัก อาจเป็น 30 นาที หรือทั้งวันก็ได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่คุณถึงจะพร้อมแล้วกับการตอบตกลงหรือปฏิเสธ โดยระหว่างเตรียมใจ ให้ถามตัวเองว่า…

  1. โอกาสที่ได้มามันหาได้ยากใช่หรือไม่ ? ถ้าต้องสร้างโอกาสนี้เอง เราต้องใช้เวลามากมายใช่หรือไม่ ?
  2. อะไรที่ทำให้การตอบตกลงในครั้งนี้มีความหมายกับเรา ? โอกาสนี้มันดึงดูดใจเราไหม ? หรือเป็นเพราะ “ความปราถนาภายนอก” เช่น ถ้าทำอย่างนี้จะทำให้ใครบางคนดีกับเรา ?
  3. ถ้าคิดว่าการตอบตกลงครั้งนี้เพราะความปรารถนาภายนอก แล้วถ้าเราปฏิเสธมันไปล่ะ จะเกิดผลอะไร ? เพราะว่าทุกการตอบตกลงในบางสิ่ง มันคือการปฏิเสธบางอย่างเสมอ

การตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น การตอบ YES หรือ NO จะเป็นธรรมชาติมากขึ้น การตกลงทำอะไรใหม่ ๆ ก็จะช่วยปลดล็อกเส้นทางที่ใกล้กว่าในการพาตัวเองไปสู่เป้าหมาย

 

Say “NO” หากเป้าหมายของคุณชัดเจนพอ

การโฟกัสกับการจัดลำดับความสำคัญ จะทำให้เรารู้จักการปฏิเสธได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโอกาสที่ขัดต่อเป้าหมายของเรา ข้อดีของการเป็น No Man บ้างก็คือ เราจะเข้าใจได้ดีว่าการ say NO กับบางสิ่งที่อยู่นอกลู่ของชีวิต จะทำให้เรามีเวลาและพื้นที่ในการโฟกัสกับการเดินสู่เป้าหมายของตัวเอง ถ้าอยากจะถึงที่หมายได้เร็วกว่า ก็ควรปฏิเสธสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการก้าวเดิน นี่คือทางออกที่น่าจะดีที่สุด

 

อย่าเป็น No Man จนมีแต่คน say “NO”

แม้ว่าเราจะพิจารณาดีแล้วว่าควร say “NO” กับโอกาสตรงหน้า แต่ก็อย่าปฏิเสธมันทุกอย่างแบบพร่ำเพรื่อ เพราะมันอาจจะกลับมาเล่นงานคุณได้ บางคนอาจจะเลิกเสนอโอกาสดี ๆ ให้กับคุณไปเลย ไม่ก็ไม่ชวนมาร่วมงานสังคม เพราะคิดว่ายังไงคุณก็คงปฏิเสธ

หากคิดจะสร้างกฏของตัวเองในเรื่องนี้ ก็ควรจะแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างจริงใจและเหมาะสม เพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจในตัวเรา รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราน่าจะตอบตกลง และอะไรที่เราจะต้องปฏิเสธแน่ ๆ เพื่อป้องกันการทำร้ายจิตใจกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ลดอัตราเสี่ยงในการสูญเสียโอกาสดี ๆ ในชีวิต

หากต้องการปฏิเสธ ลองใช้ถ้อยคำปฏิเสธที่ไม่ทำให้บัวช้ำน้ำขุ่นประมาณว่า “ขอบคุณมากครับที่นึกถึงกัน ผมปลาบปลื้มกับข้อเสนอนี้ที่คุณมอบให้ แต่ผมคิดว่าผมคงไม่สามารถรับไว้ได้จริง ๆ ครับ” เป็นต้น การตอบดี ๆ แบบนี้อาจส่งผลที่อีกอย่างก็คือ คุณอาจจะได้รับการแนะนำโอกาสอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับตัวคุณมากกว่า แล้วก็ย่าลืมพัฒนาตัวเองเสมอเพื่อเพิ่ม value  แม้ว่าจะยังไม่เจอสิ่งที่ใช่ก็ตาม

 

คำถามที่ควรถามตัวเองก่อน say “NO”

ก่อนที่จะปฏิเสธโอกาสที่อยู่ข้างหน้า ควรถามตัวเองก่อนว่า…

  1. เรากำลังกลัวอะไรอยู่หรือเปล่า ? เช่น เรากำลังจะปฏิเสธการเป็นวิทยากรในงานนั้น เพราะว่าเรากลัวการพูดท่ามกลางฝูงชนใช่หรือไม่ ?
  2. ถ้าความกลัวนั้นไม่ได้อยู่ในปัจจัย เราควรจะ say “YES” ดีมั้ย ?
  3. มีรายละเอียดอะไรในโอกาสตรงหน้าที่สามารถปรับเปลี่ยนได้มั้ย เผื่อจะได้เปลี่ยนการปฏิเสธให้เป็นการปฏิบัติ  ? และมีบางอย่างที่สามารถปรับให้เข้ากับเป้าหมายของเราได้หรือเปล่า ?

ถ้าเราสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ก็พอจะมั่นใจได้ว่าการ say NO ของเรานั้นมาจากเหตุผลที่ใช่ และมาจากตัวตนที่แท้จริง

ทุกการตัดสินใจ say YES หรือ NO ในชีวิตล้วนมีผลกับเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าเสมอ จึงต้องคิดให้ดีก่อนที่จะให้คำมั่นออกไป อย่างไรก็ตามชีวิตนี้ไม่มีผิดมีถูก บางอย่างที่พลาดพลั้งก็ต้องเรียนรู้กันไป บางอย่างที่ใช่ก็ให้จดจำไว้ว่าแบบไหนคือถูกทาง ที่สำคัญที่สุดก็คือเราต้องเข้าใจตัวเองให้มากที่สุด อย่าประมาทในทุกทางแยก และเตรียมใจกับทุกสิ่งที่ไม่แน่นอนในชีวิต

อย่างที่บางท่อนของเพลง “วิชาตัวเบา” ของ Bodyslam บอกไว้ว่า “ความจริงไม่เคยตรงกับใจ เฝ้าบอกตัวเองว่าต้องเรียนรู้ไป”

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line