Life

วิธีการบาลานซ์เหตุผลและอารมณ์ เพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

By: unlockmen September 15, 2020

เราควรตัดสินใจด้วยอารมณ์ไหม?

.

.

คำถามนี้หลายคนพยายามหาคำตอบกันมาตั้งแต่อดีต และปัจจุบัน เริ่มมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่า การตัดสินใจด้วยเหตุผลอย่างเดียวอาจไม่เวิร์ก… ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น UNLOCKMEN จะอธิบายให้ฟัง

ความเป็นเหตุผลเป็นผลทำให้เราสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ อยู่บนฐานของความเป็นจริงมากที่สุด เช่น หลักฐานหรือข้อมูล หลายคนจึงพยายามข่มอารมณ์ เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ อย่างที่คิดว่าควรจะเป็น

แต่ที่จริงอารมณ์ก็ช่วยให้ความสามารถในการตัดสินใจของเราเพิ่มขึ้นได้เหมือนกันนะ ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการรับรองทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ความสุข (ช่วยให้เราเห็นตัวเลือกในการตัดสินใจที่มากขึ้น และทำให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น) หรือความกลัว (ทำให้เราตัดสินใจได้อย่างระมัดระวังมากขึ้น)

นอกจากนี้ อารมณ์ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้เฝ้าระวังความผิดปกติด้วย ซึ่งจะทำให้เรารับรู้ปัญหาและแก้ไขได้ตรงจุด

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอยกตัวอย่างสถานการณ์หนึ่ง เป็นการนำเสนอโปรเจกต์ของคนอื่นที่เราต้องนำไปต่อยอด และเราในฐานะผู้ชี้เป็นชี้ตายโปรเจคนั้น ขณะฟังและคิดตาม อยู่ ๆ ก็รู้สึกอึดอัดแบบไม่ทราบสาเหตุ นั่นคืออารมณ์กำลังเตือนเราว่ากำลังมีสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้น และเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องหาที่มาและวิธีการแก้ไข

อาจเริ่มจากการตั้งคำถาม เช่น เรามีอคติกับคนพูดหรือเปล่า? หรือ การบรรยายโปรเจกต์นั้นมีข้อผิดพลาดอะไรรึเปล่า?

เมื่อเราเข้าใจ เราก็จะตัดสินใจเกี่ยวกับโปรเจกต์นั้นได้อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น เช่น ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีอคติกับคนพูด เราก็อาจจะถามความเห็นจากคนอื่นเกี่ยวกับโปรเจ็กต์นั้นมากขึ้น หรือ ถ้ารู้ว่าโปรเจ็กต์นั้นมีข้อผิดพลาด ก็อาจจะยังไม่ลงมือทำ แต่พยายามคิดหาทางแก้ไข หรือ ล้มเลิกโปรเจ็กต์นั้นไปเลย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอารมณ์ที่ส่งผลดีต่อการตัดสินใจ เพราะบางอารมณ์ก็เป็นอุปสรรค์ต่อการตัดสินใจได้เหมือนกัน เช่น ความโกรธเกลียด อาจทำให้เกิดความลำเอียงในการตัดสินใจ หรือ ความเศร้ารุนแรง ก็อาจทำให้เราไม่มีกระใจจะลงมือทำ

ทำให้การใช้อารมณ์ในการตัดสินใจบางครั้งก็อาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นไปตามคาดหวังได้ อีกทั้งการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มากเกินไปก็อาจทำให้เรามองข้ามความจริงได้

การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ จึงต้องเกิดจากความสมดุลระหว่างเหตุผลและอารมณ์ ซึ่งสามารถทำได้หากเรามีความเข้าใจในอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น หรือทักษะที่เราเรียกกันว่า “ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence)” ซึ่งเราจะอธิบายต่อไปว่า มันคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร

Emotional intelligence คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น แยกแยะและระบุอารมณ์ได้อย่างชัดเจน รวมถึงสามารถบริหารจัดการอารมณ์ หรือนำอารมณ์มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ซึ่ง emotional intelligence มีองค์ประกอบทั้งหมด 5 อย่าง ตามที่ แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาและนักเขียนหนังสือชื่อดังอย่าง ‘Emotional Intelligence’  ได้ระบุไว้ว่า

  • ตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness) สามารถเข้าใจในข้อดีข้อเสีย ความรู้ความสามารถ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ของตัวเองได้อย่างหมดจด การตระหนักรู้ในตัวเองเป็นผลดีต่อการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เพราะ ถ้าเข้าใจศักยภาพของตัวเอง ก็จะสามารถใช้ประโยชน์ตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม ตัวอย่างเช่น ถ้ารู้ว่าตัวเองมีนิสัยตรวจงานช้า ก็อาจจะวางแผนการทำงาน ที่ทำให้เรามีเวลาตรวจงานมากขึ้น ได้ เป็นต้น
  • ควบคุมตัวเอง (self-regulation) เมื่อเข้าใจในตัวเองแล้ว ก็ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ เพื่อไม่ให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีใส่ลูกน้องด้วย เช่น ด่าทอลูกน้องทุกครั้งที่ไม่พอใจ หรือใช้ความรุนแรง เพราะจะทำให้เกิดความไม่พอใจ และความตรึงเครียดในการทำงานระหว่างหัวหน้าและลูกน้องได้ ซึ่งเป็นอุปสรรค์ใหญ่หลวงต่อการทำงานเป็นทีม
  • แรงจูงใจ (motivation) คนที่มีแรงจูงใจในการทำงานย่อมมีความทะเยอทะยานสูง และอยากพัฒนางานที่ตัวเองทำให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะฉะนั้นการตัดสินใจต่างๆ ก็มีคุณภาพตามไปด้วย เพราะเป็นการตัดสินใจภายใต้ความต้องการผลงานที่ดี หากหัวหน้าไม่มีแรงจูงใจ เช่น อาจทำงานเพื่อหวังเงินเดือนไปวัน ๆ การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ทำเพื่อให้งานผ่านไป ผลที่ออกมาก็อาจจะไม่ค่อยดีมากนัก
  • เห็นอกเห็นใจ (empathy) ความเข้าใจในความคิดและความรู้สึกของผู้ร่วมงานจะช่วยให้ทำงานเป็นทีมได้ดี เพราะผู้นำสามารถมอบหมายงานให้กับคนที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ ได้ อีกทั้งการเข้าใจความหลากหลายของคน ยังช่วยให้การสื่อสารกับคนในทีมมีประสิทธิภาพด้วย เพราะไม่เกิดการสื่อสารที่สร้างความขัดแย้งในทีม ลูกน้องแต่ละคนกล้าพูดถึงปัญหาของตัวเอง และหัวหน้าก็มีข้อมูลเพื่อการพัฒนาทีมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
  • ทักษะทางสังคม (social skill) เมื่อผู้นำไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ร่วมกับคนในทีมอีกหลายคน ดังนั้นทักษะการเข้าสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการสร้างความผูกผันกับคนในทีม จะช่วยให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้นาน และทีมที่ทำงานร่วมกันได้นาน ย่อมเกิดความคุ้นเคยกันและมีความเข้าขากันมากกว่าทีมที่เพิ่มตั้งใหม่และสมาชิกยังไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก

Emotional Intelligence ยังเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จด้วย เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี้ ที่ระบุว่า คนที่ประสบความสำเร็จด้านการเงิน 85% เกิดจากบุคลิกภาพ ความสามารถในการสื่อสาร การเจรจา และความเป็นผู้นำ ส่วน 15% เกิดจากทักษะทางเทคนิค หรือ งานวิจัยโดย McClelland (1999) ที่ระบุว่า หลังกลุ่มนักธุรกิจเกี่ยวกับพืชเข้ารับการฝึกฝนทักษะด้านอารมณ์ อาทิ การเป็นผู้ฟังที่ดี ปรากฎว่า การเกิดอุบัติเหตุจนต้องหยุดงานลดลง 50% รวมไปถึง มีเรื่องร้องทุกข์เข้ามาน้อยลงจาก 15 เรื่อง/ ปี เหลือ 3 เรื่อง/ปี

เมื่ออารมณ์และเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เมื่อจะตัดสินใจอะไรต่างๆ emotional intelligence จึงเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อการทำงาน ทุกคนควรหาความรู้ และพัฒนาทักษะด้านนี้ไว้ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตัวเอง (เคยมีการทำนายว่า emotional intelligence จะเป็นทักษะที่สำคัญต่อการสมัครงานในปี ค.ศ.2020 ด้วย)

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line