Business

“BANK RUN” ศัพท์การเงินน่ารู้ กับประวัติศาสตร์การแห่ถอนเงินในไทย

By: anonymK April 2, 2020

ช่วงนี้หลายคนแห่กันไปถอนเงิน ขายกองทุน ขายหุ้น ไปออกันหน้าธนาคารสีต่าง ๆ มันทำให้เราอดคิดถึงศัพท์ทางการเงินตัวนึงที่เรียกว่า “Bank Run” ไม่ได้

Bank Run คืออะไร? คนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องเศรษฐกิจการลงทุนเท่าไร อาจจะไม่คุ้นหูกับคำนี้นัก แต่คนที่อยู่ในวงการลงทุน คลุกคลีกับธนาคารอยู่บ้าง ได้ฟังคำนี้แล้วคงสยองน่าดู เพราะอะไร มาทำความรู้จักไปพร้อมกัน

BANK RUN คือวิ่งไปแบงก์…ไปเอาเงินออก

คำว่า “Bank Run” มันเป็นสัญญาณอันตรายตัวหนึ่ง ที่คนแห่กันไปสถาบันการเงินเพื่อถอนเงินออกมา เพราะขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินที่ฝาก ว่าง่าย ๆ ว่าเรากลัวสถาบันการเงินนั้นล้มละลายนั่นแหละ หรืออาจจะเพราะผลกระทบอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อไหร่ที่มันมีสัญญาณพะงาบ ๆ ต้องกู้คนอื่น โดนคนอื่นกู้ หรือดูทรงจะไปไม่ไหวก็หมายความว่าโอกาสจะล้มอาจจะสูง จนเงินที่เราฝากไว้มลายหายไปต่อหน้า

งั้นจะรออะไรล่ะ…ถ้าเราเป็นเจ้าของเงินที่รู้สึกเสี่ยง เราก็วิ่งไปเอาเงินออก ก่อนจะเอาเงินออกมาไม่ได้อยู่แล้ว

เอาจริง ๆ ถ้าให้อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ เราคิดว่ามันเป็นกลไกนึงของพฤติกรรมมนุษย์ที่มีกลิ่นความคล้ายพฤติกรรมการลงทุนปกติ เวลาที่ตลาดตกใจ คนจะก็แห่ไปเทขายหุ้นหรือกองทุนที่ตัวเองลงทุน แต่ลองคิดภาพตามดี ๆ สิ ว่าถ้าทุกคนไปที่แบงก์ เพื่อถอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมดมันจะน่ากลัวขนาดไหน

ถ้าคนแห่มาถอนเงินทั้งหมดไปพร้อมกัน

หลายคนถามว่าก็แค่คนไปถอนเอาเงินเขาออกมา เศรษฐกิจมันจะล่มสลายเลยหรือไง ธนาคารนี้ไม่มีเงินธนาคารอื่นก็มีป่ะ ? อันที่จริง ถ้ามองย้อนกลับไป เราต้องมานั่งคิดว่าสถาบันการเงินเขามีไว้เพื่อทำอะไร

  1. มีเพื่อฝาก ถอน เก็งกำไร
  2. มีไว้เพื่อกู้ซื้อโดยใช้เงินในอนาคต

เอาแค่ 2 อย่างหลัก ๆ นี้ ที่คุณได้ประโยชน์ คุณคิดว่าธนาคารเขาได้เงินมาจากไหน? ตามปกติ เงินของพวกเราที่ฝากและลงทุนไป ทุกบาททุกสตางค์จะเกิดกำไรได้ก็ต่อเมื่อธนาคารนำเงินก้อนนั้นไปลงทุนสร้างผลกำไร ไม่ว่าจะเป็นการขายโปรดักต์ของธนาคารเพื่อหาเงิน อย่างการขายประกัน การให้บริการบัตรเครดิต การปล่อยสินเชื่อ

เม็ดเงินดอกเบี้ยที่เก็บจากลูกหนี้เหล่านั้นจะกลับมาเป็นเงินปันผลกำไรให้ แต่ไม่ถ้าไม่มีเงินทุนพวกนั้นเพราะเราถอนออกไปกันหมด ก็แปลว่า ธนาคารจะไม่สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาได้ หลังจากนั้น ธนาคาร A ที่เกิด Bank Run ก็จะวิ่งไปหาธนาคาร B เพราะตามปกติ ธนาคารแต่ละแห่งจะฝากเงินของตัวเองไว้ที่ธนาคารอื่นด้วย ดังนั้น พอ B โดนถอน คนที่ฝากเงินไว้ในธนาคาร B รู้เข้าก็อาจจะมาถอน B เพราะรู้ว่า A เอาเงินออกไปแล้ว กลัวจะไม่ได้เงิน ส่วน B พอเจอผลกระทบ ก็จะวิ่งไปถอนธนาคารอื่นที่ฝากไว้ตาม ล่มกันระหว่างสถาบัน โค่นในระบบโดมิโน จึงเกิดเป็นวิกฤตทางการเงินขึ้น

ประวัติศาสตร์การ BANK RUN ของบ้านเรา

ย้อนอดีตบ้านเรากันบ้าง บางคนคิดไม่ออกว่า Bank Run เคยเกิดขึ้นกับบ้านเราหรือเปล่า อันที่จริงถ้าพอจะจำได้ เหตุการณ์เมื่อราว 6 ปีที่แล้วก็ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ในความทรงจำของใครหลายคน

ปี 2557 เกิดเหตุการณ์ Bank Run ขึ้นจาก “เงินกู้อินเตอร์แบงก์” ที่กระทรวงการคลังตัดสินใจใช้ช่องการกู้เงินระหว่างธนาคารโดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อไปจ่ายชาวนา ด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลในยุคนั้น

จากสภาพความเชื่อมั่นที่มีตอนนั้นที่มีต่อนโยบายนี้ กลายเป็นกระแสต่อต้านทางสังคม (เราขอไม่เคลมว่ามันดีหรือไม่ดีเพราะแน่นอนว่าทุกนโยบายจะมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เสมอ) จนทำให้คนแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคารทันที ส่วนธนาคารแห่งอื่น พนักงานก็ลุ้นกันตัวโก่งว่าจะเอาด้วยไหม ถ้าผู้บริหารว่าไม่ ก็มักจะมีภาพพากันเฮยกธนาคาร

“คนแห่เงิน 1.05 แสนล้านบาทใน 4 วัน” เรียกว่าเป็นตัวเลขที่ชวนขวัญผวากันเลย อาจจะเรียกว่าเป็นสถิติหนึ่งที่ธนาคารออมสินจะต้องจำไว้อีกนานแสนนาน เพราะความรุนแรงของระดับการถอนเวลาตอนนั้น ต้องบอกเลยว่า “ธนาคารบางสาขา” ถึงกับเงินสดหมดเกลี้ยงจนต้องจ่ายเป็นเช็คแทน

นอกจากนี้ “ปิดดอกเบี้ยเอาเงินคืน” ได้กลายเป็นคีย์เวิร์ดที่มีคนสอนเป็น Tutorial ในอินเทอร์เน็ตจนคนทำตามจำนวนมาก

สุดท้ายการปิดเกมนี้ทำให้นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ตัดสินใจลาออกเพื่อกู้ศรัทธากลับคืนมา ควบคู่กันบอร์ดออมสินมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกวงเงินกู้อินเตอร์แบงก์ที่ให้แก่ธ.ก.ส. และเรียกเงินที่เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้กลับคืนมาและเปลี่ยนบอร์ด

ตัวอย่างปัจจัยอื่น มีอะไรบ้าง ที่จะทำให้มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ Bank Run

  1. ดอกเบี้ยลด เมื่อดอกเบี้ยได้น้อยเสียยิ่งกว่าการลงทุนด้านอื่นเอง สำหรับหลายคนที่มีเงินฝากจึงหมดแรงจูงใจจะฝากไว้กับธนาคารและคิดว่าการเก็บสดไว้กับตัวยังมีประโยชน์กว่า
  2. เงินอ่อนค่าลง ปกติเรามักจะคำนวณอัตราเงินเฟ้อไว้ก่อนแล้วเพื่อวางแผนเกษียณ แต่ถ้าเกิดเหตุวิกฤตหรือสถานการณ์ใดทางเศรษฐกิจที่ทำให้เงินสกุลที่เราถือ อ่อนค่าลงหรือเรียกง่าย ๆ ว่า มีค่าน้อยลง หลายคนก็จะรู้สึกว่า ตั้งแต่ส่อเค้าจะย่ำแย่เราควรจะถอนเงินออกมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นแล้วถือไว้ดีกว่า
โอกาสของ BANK RUN ในโลกไฮเทค

หลายคนอยากรู้ว่ามันจะเกิด Bank Run ขึ้นอีกไหม? แม้เราจะการันตีไม่ได้ แต่ก็คิดในใจว่าก็คงไม่เกิดในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน เว้นแต่มีสถานการณ์ใดฉุกเฉินหรือสื่อเริ่มกระพือข่าวไหนที่น่ากลัวออกมา

ความไฮเทคของยุคออนไลน์ ข่าวปลอม หรือสื่อที่ไวเกินกว่าจะควบคุม โลกที่คนเห็นอะไรเรียลไทม์ไปหมดอย่างนี้ก็อาจจะทำให้เกิด Bank Run ได้เหมือนไฟลามทุ่ง

โอกาสที่สถาบันการเงินจะทำ BANK RUN ด้วยตัวเอง

ปิดท้ายด้วยอีกมุมมองที่เป็นประโยชน์ของ Bank Run ถึงเราจะบอกไปแล้วว่ามันจะทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องของกระแสเงินสดไป แต่บางเวลาธนาคารก็เอาด้วยกับนโยบายการทำ Bank Run เหมือนกันเพราะมันมีประโยชน์ต่อนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้คนเอาเงินออกมาใช้

หนึ่งในนั้นคือข่าวเศรษฐกิจโลกเมื่อปีที่แล้วที่เราเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบางประเทศปรับลดลง บางที่ถึงขั้นติดลบ สำหรับคนที่มีเงินฝากก็ต้องคิดแล้วว่า ถ้าเราถือเงินสดไว้กับมือแล้วดอกเบี้ยเป็น 0% แต่ฝากธนาคารดันเงินลด แน่นอนว่าจะต้องกระตุ้นให้คนรู้สึกว่าจะฝากเพื่ออะไร? แล้วเอาเงินออกมาใช้

แต่ด้วยความเป็นสังคม cashless society มาก ๆ ในวันนี้ มันอาจจะยากเหมือนกันสำหรับคนยุคนี้ เพราะเวลาจะใช้จ่ายต้องโอนเข้าบัญชีเพื่อจ่าย จะให้ต้องหอบหิ้วเงินสดเข้าแบงก์ก่อนจ่ายให้มันเสียเวลาหรืออาจจะเสี่ยงโดนขโมย สู้ฝากเงินแล้วโดนหักเล็กน้อยเพื่อรักษาไว้จะดีกว่า

ทั้งหมดนี้ คือสรุปตัวอย่างที่คงทำให้หลายคนเข้าใจกันมากขึ้น สถานการณ์การเงินแบบนี้ รัดเข็มขัดแล้วต้องคอยฟังสัญญาณการเงินให้ดี ฟังศัพท์การเงินติดหูไว้บ้างอย่างเข้าใจ จากนั้นพินิจพิเคราะห์ทุกสิ่งก่อนตัดสินใจอย่างมีสติตามความเหมาะสม ยังไงเสียเราจะก็รอดจากเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line