Work

ตีลูกให้ถึงดวงจันทร์ พลาดก็อยู่ท่ามกลางดวงดาว! ส่องเหตุผลทำไมเรายิ่ง AIM HIGH ยิ่งไปได้ไกล

By: anonymK December 12, 2018

ตั้งความหวัง ผิดหวัง ถือเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกผิดหวังมันอยู่ยาวนานกว่าความสุขเสมอ ดังนั้น เมื่อเจ็บในปีนี้ หลายคนจึงลดทอนเป้าหมายหรือบอกตัวเองว่า “ช่างแม่ง” เลิกทำมันซะเลย…ถ้าเราช่างแม่งแบบไม่เรียนรู้ความผิดพลาด โหมด “ฉิบหาย” ก็รอคอยเราอยู่อย่างแน่นอน

เพื่อให้ผู้ชายเราเติบโตขึ้น 100% ครบทั้ง 3 ด้านของชีวิต คือ ตัวเอง การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เราจึงต้องตั้งเป้าหมายแทนการนั่งทำกิจวัตรเดิมไปวัน ๆ เพราะไม่อย่างนั้นกว่าจะรู้ตัวอีกทีภาพก็ตัดมาที่ปลายปีแล้ว และเมื่อเราถามตัวเองว่า “ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร” คำตอบที่ได้แต่ก็คือ “ไม่รู้ว่ะ ก็เหมือนปีที่แล้วแหละ” แล้วก็เดินหน้าทำแบบเดิมต่อไปในปีหน้า

ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร เราจะไม่ตัดสิน แต่อยากให้คุณตั้งหลักใหม่ด้วยวิธีการเหล่านี้ จะได้ตอบตัวเองได้ชัดขึ้นว่าปีที่ผ่านมาเราดีขึ้นหรือแย่ลง และจะทำอย่างไรในปีหน้า

ความหวังที่สูงมันเจ็บ แต่ความหวังต่ำทำให้ย่ำอยู่กับที่

คนที่เคยดูโฆษณาสิงห์ เมื่อหลายปีก่อนโน้นคงจำประโยคเด็ดจากโปรกอล์ฟท่านหนึ่งที่พูดถึงเส้นทางความสำเร็จได้ว่า “ตีลูกให้ถึงดวงจันทร์ ถึงพลาดก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว” ซึ่งหมายถึงการตั้งความหวังให้โคตรสูงชนิดที่มองแล้วบอกตัวเองว่าไม่สำเร็จ ถึงจะพลาดมันก็ยังสูงกว่าที่ต้องการอยู่ดี

เรียกง่าย ๆ ว่าถ้าเราคาดไว้ว่าเราทำงานแค่ผ่านเกณฑ์ก็พอใจ โอกาสสำเร็จและพลังความพยายามฝึกซ้อมของเรามันจะล้อไปกับเป้าหมาย แปลว่าอย่างดีก็คือผ่านเกณฑ์แต่โอกาสสำเร็จในอัตราที่ดีกว่านั้นแทบจะไม่มีอยู่เลย

ขณะที่การตั้งเป้าหมายไว้สูงกว่าเดิม 2-3 เท่า แล้วมุ่งมั่นฝึกไปเรื่อย ๆ และลงมือทำมัน นับเป็นสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเกิดการตั้งเป้าหมายระยะยาวที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพจากขีดจำกัดได้ และแม้จะเฟล เราก็ยังอยู่ในระดับมาตรฐานหรือสูงกว่านั้น แต่รับประกันว่าไม่ต่ำเท่าการตั้งเป้าแบบแรก ซึ่งเหตุผลความแตกต่างของผลลัพธ์มันมาจาก mindset

 

อย่าตั้งเป้าไว้ในใจ แต่จงใช้ “PDCA” ติดตามมันไป

ใครที่ตั้งเป้าหมายเก่ง ดี แต่ไปได้ไม่ถึง ส่วนหนึ่งมันเกิดจากนิสัย “ทำเป้าหมายหล่นหายระหว่างทาง” เพราะเวลาที่เราเดินหน้าทำมันไปเรื่อย ๆ จำมันไว้คร่าว ๆ เรามักผ่อนปรนและเข้าข้างตัวเองเสมอ จึงไม่แปลกที่เวลาทำพลาดสมองจะบอกว่า “เฮ้ย นายทำดีที่สุดแล้ว” และในเมื่อมันดีที่สุดแล้ว เราก็ทำอะไรกับมันไม่ได้

เพื่อแก้อาการนี้ สิ่งที่เราควรทำคือการติดตามแผนที่ตั้งไว้อย่างต่อเนื่อง เช่น ถ้าตั้งเป้าว่าต้องออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน ก็สร้างอออร์แกไนซ์ไว้เช็กทีละวันเลยว่า เราทำตามหรือไม่ทำตาม

สุดท้ายปลายปีถึงตัวเลขตรงหน้าจะทำให้รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังแค่ไหน แต่เราจะไม่สามารถหลอกตัวเองได้อีกต่อไปว่าทำได้ดีแล้ว ซึ่งข้อมูลนี้จะผลักให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแบบจริงจังขึ้นสักที เพราะการอ่านหนังสือเล่มเดิมแล้วคิดว่าตอนจบจะเปลี่ยนแปลง เรารู้กันดีว่ามันแทบไม่เกิดขึ้นในชีวิตจริง

“PDCA” คือ วงจรการบริหารงานคุณภาพที่ผู้ชายเราต้องการ เพราะมันเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และกลไกมีลอจิกส์แบบที่รับได้ วงจรนี้คิดต้นโดย Walter Shewhart นักบุกเบิกการใช้สถิติสำหรับวงกรอุตสาหกรรมแต่สุดท้ายโด่งดังจากการที่ W.Edwards Deming นักบริหารชั้นเซียนเอามาเผยแพร่เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานพนักงานให้ดีขึ้น หาอุปสรรคที่แท้จริงเจอและเอาชนะมันได้สำเร็จ ใช้ได้กับทุกกิจกรรม

หลักการของ PDCA แบ่งไปตามตัวอักษรของมันที่ย่อมาจาก Plan, Do, Check และ Action เรียงตามลำดับดังนี้

  • P (PLAN) คือการวางแผน หรือการตั้งเป้าหมาย ไม่ว่ามันจะเป็นเป้าหมายอะไรก็ตามเราก็ควรตั้งไว้ และควรตั้งไว้ให้ครบทั้ง 3 อย่างตามที่เราบอกตอนแรกคือ เป้าหมายที่มีต่อตัวเอง การทำงาน และการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะทั้ง 3 เรื่องนี้คือสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าคุณภาพชีวิตวันนี้เราดีแล้วหรือยังถ้ามัวเทน้ำหนักให้งาน แฟนหาย ไม่ได้ดูแลครอบครัว เพื่อนฝูงเลิกชวนไปสังสรรค์ หรือสุขภาพทรุดโทรมไม่ว่าค่าตอบแทนจะดีแค่ไหนชีวิตก็ยับเยิน
  • D (DO) คือการทำงานตามแผนที่วางไว้ ตามขั้นตอนและวิธีการและเวลาที่ระบุ แต่ตอนทำก็อย่าสักแต่ว่าทำ จำไว้ด้วยว่าหนทางที่ดีที่สุดที่เราทำมันคือทางไหนและเก็บข้อมูลไว้ใช้
  • C (CHECK) คือการตรวจสอบงานที่ทำไปแล้วจากช่อง DO ว่าพอทำจริงเราทำได้ตามแผนและมาตรฐานที่วางไว้ไหม ได้เพราะอะไร ไม่ได้เพราะอะไร ระบุเหตุผลให้ครบ เช่น เข้ายิมไม่ได้ เพราะติดงาน หรือเหนื่อยมาทั้งวัน และจากนั้นข้อมูลน้ีมันจะกลับไปสู่ช่องสุดท้าย ซึ่งเป็นช่องที่แสดงให้เห็นว่าเราจะโตขึ้นได้จริงไหม ทั้งความคิดและการกระทำ
  • A (ACTION) คือช่องที่ถัดมาจาก CHECK หมายความว่าเมื่อรู้ว่าข้อดีข้อเสียของสิ่งที่เราเจอจากการตรวจสอบแล้ว เราจะ ACTION กับมันต่ออย่างไร ถ้าแย่เรามีวิธีปรับปรุงงานหรือพฤติกรรมในโปรเจ็กต์หน้าไหม หรือถ้าดีแล้วจะพัฒนามันต่อไปได้อย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพได้ดีกว่าเดิม

จะเห็นได้ว่ารหัสทั้ง 4 นี้คือเครื่องมือช่วยพัฒนาชีวิตผู้ชายเราให้ได้คุณภาพเต็มขั้น ลำดับความสัมพันธ์ทุกอย่างแบบเป็นหลักการ ไม่ทิ้งอะไรไว้ข้างหลัง ซึ่งถ้าเราตั้งเป้าไว้สูงลิบ แม้จะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่สุดท้ายเราจะได้เรียนรู้อะไรจากมันกลับไป ขณะเดียวกันก็ยังสร้างโอกาสให้เราได้ทำมันให้ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดบอดของการตั้งเป้าคือการไล่บี้ตัวเอง อย่าไปซ้ำเติมตัวเองถ้ามันไม่สำเร็จ หากเราตั้งเป้าสูงโคตรแต่ไปไม่ถึง แต่ให้มองว่าเราไปได้ไกลกว่ามาตรฐานที่คิดว่าจะทำได้และให้กำลังใจตัวเองปรับปรุงมันไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องเร่งร้อน รับรองว่าในสนามแข่งขัน “ความคิด” ที่ดีจะพาให้คุณไปได้ไกลกว่าคนอื่นอย่างแน่นอน

อย่าลืมเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์จากตัวเอง และคนรอบข้าง แล้วเราจะได้ AIM HIGH ไปพร้อม ๆ กัน

 

SOURCE: 1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line