Business

จอมืดแล้วไปไหน? RESTART อีกทีได้ไหม?: เจาะ ‘BRIGHT TV’ ช่อง 20 ที่อำลาจอมาบุกออนไลน์

By: anonymK August 17, 2019

อุตสาหกรรมจอแก้วที่เคยรุ่งเรืองในตลาดสื่อสารมวลชนไทยยุคหนึ่ง วันนี้มีแต่ข่าวดับจอเหมือนเป่าเทียนวันเกิดกันเป็นแถว เรื่องนี้ไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ เพราะเราเห็นปรากฏการณ์ถอยทัพมาเป็นระลอกเรื่อย ๆ ทั้งช่องหลักที่ออกลูกออกหลานมา และช่องหน้าใหม่ทั้งหลายที่ต้องการทางเลือกที่ดีกว่า

แน่นอนว่าตามข่าวเขาบอกว่ามีทั้งหมด 7 ช่องที่จะต้องลาจอไป 3 ช่องคือช่องสื่อที่เป็นข่าว แต่เหตุผลที่เราเลือกหนึ่งในช่องสื่อสารมวลชนอย่างช่องของ Bright TV มานั่งโขลกเรื่องธุรกิจออกมานั้น เพราะมองแล้วว่าแนวทางของเขาค่อนข้างน่าสนใจ เป็นช่องเล็กเหงา ๆ ที่ฝ่าฟัน เติบโต ปิดตัว แต่ไม่ยอมแพ้โดดไปเล่นสายใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและตอนนี้ก็เกิดใหม่ในอีกเส้นทางเรียบร้อยแล้ว

กำเนิด BRIGHT TV

แม้คุณอาจจะไม่รู้จักหรือเพิ่มเรตติ้งให้ช่องนี้เท่าไหร่ แต่จะประมาทความเล็กที่กล้าโดดเข้ามาประมูลช่องแบบนี้ไม่ได้ อันที่จริงทีมไบรท์ไม่ใช่ผู้เล่นหน้าใหม่ของสาขาโทรทัศน์ แต่บริษัท ไบรท์ทีวี จำกัด ในชื่อ บริษัท 3 เอ มาร์เก็ตติ้ง มีประสบการณ์ในการผลิตรายการให้กับ ททบ. 5 มายาวนานตั้งแต่ยุคแอนะล็อก ไม่ว่าจะเป็นรายการ ข่าว 5 หน้า 1, บันเทิง 5 หน้า 1 และ Gossip บันเทิง 5 จึงถือเป็นบริษัทของคนสื่อมากประสบการณ์ผลิตรายการเดิมที่ต้องการออกมาจับจองอาณาจักรเป็นของตัวเอง

“ชีวิตดี ดูไบรท์ ทีวี” คือสโลแกนใต้ร่มช่อง อารมณ์เดียวกันกับ “ช่อง 7HD ทีวีเพื่อคุณ” หรือ “คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่องสาม” ที่เราจำได้ มองจากรูปแบบรายการเดิมที่บริษัทเคยผลิตก็บอกได้เลยว่าจุดยืนของไบรท์เป็นเรื่องการนำเสนอข่าวสารแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นข่าวรายวัน ข่าวบันเทิง เรียกได้ว่ามาแนวนี้แบบเข้มข้น เจาะประเด็นดังที่ผู้คนให้ความสนใจ โดยบริษัท ไบรท์ฯ รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ในหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ถือกำเนิดเริ่มทดลองออกอากาศภายใต้ชื่อช่อง Bright TV เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

หากเทียบกับช่องหลักนับได้ว่า Target รายการค่อนข้างแตกต่างอย่างชัดเจน ผังรายการที่เป็นช่วงบันเทิงจากช่วงแรกที่มีละครพื้นบ้านไทย ค่อย ๆ เปลี่ยนสัดส่วนเป็นการจัดรายการซีรีส์อินเดีย จนกลายเป็นช่องที่มีซีรีส์อินเดียออกอากาศมากที่สุดและกลายเป็นเอกลักษณ์ช่องไปทันที (เปิด ๆ ไปเจอหนังอินเดียเดาได้ว่าไบรท์แน่นอน)

สำหรับเหตุผลที่ Bright TV ที่เคยผลิตรายการให้ ททบ. 5 กลายเป็นสื่อสุดเงียบเมื่อโดดเข้าสนามดิจิทัล ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือความเบาบางด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาดที่ไม่มากพอ ส่วนแม่เหล็กรายการต่าง ๆ ที่มีเองก็ยังไม่แข็งแรงเมื่อเทียบกับช่องอื่นในภาพรวม ยังไม่นับรวมเทคโนโลยีที่นำมาประกอบรายการซึ่งอาจยังไม่โดดเด่นมากนัก

 

สัญญาณเตือนก่อนวันคืนช่อง

ภาพและข้อมูลจากหนังสือ 5 ปีบนเส้นทางทีวีดิจิตอล บทเรียน และ การเปลี่ยนแปลง 2562

ตามที่บอกไปว่า PR ไม่ดี เรตติ้งจึงนอนมา (นอนมาในแนวราบ) รั้งอันดับท้ายตารางมาเสมอ ทีวีช่อง 20 ไม่เคยติดอันดับ 1 ใน 10 ของช่องทีวิดิจิทัลมาตลอด 5 ปี เกาะอันดับสูงสุดคืออันดับ 19 ในปี 2560 และต่ำสุดในอันดับ 25 หรือ Top 5 จากบ๊วย ใน 3 ปีแรกของการฉาย

ข้อสำคัญคือแม้เรตติ้งรวมเฉลี่ยของช่องทุกปีจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นตัวเลขเหงา ๆ ที่ไม่เคยแตะถึง 0.5 เลยสักครั้ง ยิ่งปีที่แล้วเรตติ้งก็ยังขยับลงไปจากปีก่อนหน้าด้วย ดังนั้น ก็เป็นเหมือนระฆังเตือนเบา ๆ ว่าถึงจะพยายามต่อไปก็อาจจะไม่คุ้มทุน ไบรต์ทีวีจึงได้คืนใบอนุญาตประกอบการธุรกิจทีวีดิจิทัลเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และยุติการออกอากาศในวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา

 

คน Bright ไปไหน?

แม้ว่าข่าว Bright TV คืนช่องไปจะโด่งดัง แต่ข่าวปลดพนักงานกลับไม่ดังเหมือนการคืนช่อง แล้วคนไบรท์เขาไปไหนกันในวันจอดับ ?

ใครที่ตามข่าวอาจจะได้เห็นว่าช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ (2560) มีกระแสข่าวเรื่อการปลดคนของ Bright TV แต่ตอนหลังผู้บริหารสถานีคนริมถนนแจ้งวัฒนะกล่าวว่าปลดจริงเพียง 3 คนเพราะมีการปรับโครงสร้างและได้จ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ที่เหลือคือพนักงานใหม่ที่ก้าวออกมาหลังได้ประสบการณ์ทำงานเพื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่

Bright TV ประกาศย้ายแพลตฟอร์มลงตลาดออนไลน์ภายใต้ชื่อใหม่ Bright Today : photo by Bright Today Facebook

การปรับโครงสร้างที่ว่า คาดว่าคงเป็นการกรุยทางก่อนมาถึงวันนี้ เพราะผู้บริหารช่อง 20 ตื่นตัวจากจอแก้ว เริ่มหันไปขยายเส้นทางไปลงแพลตฟอร์มออนไลน์จากจอเล็กอย่างมือถือไว้ พอถึงช่วงจังหวะเหมาะกับการคืนช่อง (ก่อนที่จะไม่มีสิทธิ์คืน) เขาก็พร้อมคว้าโอกาสโดดเข้าสู่เส้นทางออนไลน์แบบเต็มตัว พนักงานที่มีก็เทไปอยู่ขาออนไลน์ด้วย มีแชนแนลข่าวเหมือนเดิมที่พร้อมฉาย 24 ชั่วโมง และได้เงินกลับมาจากค่าชดเชยเยียวยาหลังคืนใบอนุญาตวันนี้เป็นจำนวน 273 ล้านบาท ดังนั้น ข่าวปลดพนักงานเบาเหมือนเสียงกระซิบ (ไม่รู้ว่าปลดเพิ่มไหมเพราะเงียบอยู่) ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อธิบายการโยกคนได้ด้วยคลิปเพียงคลิปเดียวที่ฉายนี้

 

จากคนมาขอลงช่อง วันนี้ช่องต้องวิ่งหารายการลง
หนึ่งความท้าทายในโลกทีวี

ประเด็นน่าสนใจหนึ่งที่เราคิดว่าควรนำมาพูดถึงคือกฎแห่ง Demand Supply ที่น่าจะอธิบายวงการทีวีวันนี้ได้ดีขึ้นว่าผู้ผลิตช่องทีวีเงินไหลไปไหนหมด? ส่วนหนึ่งต้องบอกว่านอกจากคู่แข่งที่บุกข้ามสายมาอย่างพวกช่องทางออนไลน์ต่างแพลตฟอร์มแล้ว มันมาจากโปรแกรมต่าง ๆ ของช่องที่ต้องนำมาลงในวันที่ช่องเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดด้วย กฎเหล็กของการทำทีวีและซื้อช่องคือจอห้ามดับ ต้องวิ่งข้ามวันข้ามคืน ดังนั้นโปรแกรมที่เพียงพอให้เรากดรีโมตเลื่อนดูไปเรื่อย ๆ แบบไม่ซ้ำนั่นแหละที่กลายเป็นตัวดูดเงิน

ย้อนไปในวันวาน สมัยทีวีของเรายังคงอยู่ในระบบดาวเทียม มีช่องให้เลือกแค่ 3, 5, 7, 9 อย่างมากก็ไม่เกิน 10 ช่อง เจ้าของช่องอยู่กันแบบเสือนอนกิน ไม่ต้องอัดรายการเข้าช่องเท่าวันนี้ ไม่ต้องซื้อซีรีส์มาเสริมให้มันมากมาย เพราะจู่ ๆ อาจจะมีผู้จัดคนไหนหรือนักผลิตหน้าใหม่ที่อยากสร้างสรรค์งานต้องการใช้พื้นที่โชว์ของ วิ่งเข้ามาหาเพื่อทำข้อตกลงกัน เช่นเดียวกับโฆษณาที่ต่างก็ต้องวิ่งเข้าช่องทางนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้โปรดักส์มันแมสสุด ๆ ติดตาคนดู เอาเป็นว่าผู้บริหารไม่ต้องเหนื่อยเรื่องการสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาลงจอเอง

พอคู่แข่งเยอะ คนเสนอรายการมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเท่าที่เห็นส่วนใหญ่ก็โดดเข้าออนไลน์กันหมดแล้ว ต่อให้เป็นทีวีดิจิทัลก็ต้องมีช่องออนไลน์เป็นของตัวเองเหมือนกันเพื่อตรึงคนยุคใหม่ไว้ เพื่อสร้าง Signature ช่องและต้องการให้งานเพียงพอกับการ Feed ขึ้น แต่ละช่องจึงต้องลงทุนสร้างโปรแกรมรายการเป็นของตัวเอง เท่ากับว่าค่าเช่าสัญญาวันนี้ต้องเบิ้ลขึ้นไปอีก คนซื้อโฆษณาก็น้อยลงเพราะไปกระจายตัวเลือกในช่องทางอื่น เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ยังลุกมาสร้างโฆษณา in-house กันเอง จ้างเอเจนซี่สร้างแคมเปญไวรัล ฯลฯ เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้เราเปิดทีวีช่องไหนแล้วไม่มีโฆษณาคั่น ก็อย่าได้ดีใจกับมันมาก เพราะอีกไม่นานก็อาจจะถอนตัวออกไปหรือเจอวิกฤตใหญ่กับเขาเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลดลงจากการเปลี่ยนแพลตฟอร์ม จาก Bright TV เดิมที่มาเกิดใหม่ในคราบ Bright Today จะช่วงชิงพื้นที่ในสนามออนไลน์ได้มากน้อยแค่ไหน เติบโตสู้สื่ออื่นที่รุดหน้ามาก่อน หรือสื่อหลักเจ้าถิ่นที่กินพื้นที่ทั้งจอทีวีและมือถือได้ไหม เรื่องนี้ยังคงเป็นโจทย์ยากที่ต้องจับตามอง

แต่เรื่องที่รู้ ๆ เราคิดว่าหาก Bright TV มุ่งลง Online อย่างเต็มตัว คงต้องมีการปรับดีไซน์หรือรูปแบบรายการเยอะขึ้นเพื่อดึงดูดคนจากแพลตฟอร์มใหม่ เพราะพฤติกรรมของคนโลกออนไลน์วันนี้ต้องการความสร้างสรรค์สดใหม่ตลอดเวลาระดับวินาทีท่ามกลางทางเลือกข้อมูลที่มีมาก และส่วนใหญ่ดูเหมือน User เหล่านั้นจะไม่ใช่เดิมของ Bright สักเท่าไหร่

 

สุขสันต์วันเกิด Bright Today มีเดียเพื่อนบ้านใหม่ของเราทุกคน

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำ นักงาน กสทช.). / 2562. 5 ปีบนเส้นทางทีวีดิจิตอล บทเรียน และ การเปลี่ยนแปลง 2562. กรุงเทพฯ: กสทช

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line