Life

คิดงานแทบตาย สุดท้ายหัวโล่ง! รู้จัก CREATIVITY KILLER ที่ทำให้เราไร้ความคิดสร้างสรรค์

By: unlockmen October 30, 2020

โอ๊ย! เครียดจัง! อยากทำงานให้เสร็จไวๆ แต่ดันคิดไอเดียไม่ออกสักที เราเชื่อว่าหลายคนที่ทำงานสร้างสรรค์คงเคยเจอปัญหานี้ และกลัวมันมาก เพราะมันเป็นปัญหาที่ทำให้งานไม่คืบหน้า แถมอาจทำให้เราคิดจนเครียดได้ด้วย

ในบทความนี้ UNLOCKMEN อยากช่วยเหลือทุกคนที่คิดงานไม่ออก ให้เจอทางมากขึ้น เลยจะแนะนำให้รู้จักกับสิ่งที่ทำให้เราไม่มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมวิธีการรับมือกับมัน

ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน ?

วิทยาศาสตร์พยายามศึกษาวิธีการทำงานของความคิดสร้างสรรค์ในสมองของเรามาตลอด ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความกระจ่างมากขึ้นแล้วว่า ความคิดสร้างสรรค์ อาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของเครือข่ายในสมอง โดย ผู้เชี่ยวชาญ ได้สร้างทฤษฎีที่กล่าวว่า สมองของเราประกอบไปด้วย 3 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายปกติ (default network) หมายถึง ช่วงที่สมองอยู่ในสภาวะเฉื่อยชา เครือข่ายบริหาร (executive network) คือ ศูนย์ควบคุมการตัดสินใจและอารมณ์ และสุดท้าย เครือข่ายเด่น (salience network) ที่กำหนดว่าสิ่งใดที่เราควรจะสังเกตเห็นอยู่เสมอ และสิ่งใดไม่ควร ซึ่งความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาจากการทำงานร่วมกันของ 3 เครือข่าย

ทฤษฎีนี้ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2018) ซึ่งใช้เทคโนโลยี Magnetic Resonance Imaging (MRI) เพื่อวัดระดับความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วมการทดลอง หลังจากที่นักวิจัยได้เปรียบเทียบภาพสแกนสมองของคนที่ทำงานใช้ความคิดสร้างสรรค์ และคนที่ไม่ได้ใช้ ก็ได้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเครือข่ายทั้งสามกับความคิดสร้างสรรค์

นักวิทยาศาสตร์พบว่า เครือข่ายของสมอง เกี่ยวข้องกับ การมีความคิดสร้างสรรค์สูง และความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 เครือข่าย ได้แก่ default network ทำหน้าที่ผลิตไอเดีย executive network ทำหน้าที่ประเมินไอเดีย และ salience network จะช่วยหาว่าไอเดียไหนจะถูกส่งต่อไปยัง executive network

ความคิดสร้างสรรค์อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและประสบการณ์ของเรา โดยในงานวิจัยชิ้นเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองอีกอันหนึ่ง โดยใช้ MRI และ AI เพื่อเดาระดับความคิดสร้างสรรค์ของคน และพบว่า ความคิดสร้างสรรค์อาจเป็นผลลัพธ์จากพันธุกรรมและประสบการณ์

แนวคิดนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยหลายชิ้น เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มักจะมีส่วนที่เชื่อมโยงระหว่างสมองทั้งสองซีก หรือที่เรียกว่า Corpus Callosum เล็ก และยังมีงอีกหลายชิ้นที่พบว่า คุณสมบัติเรื่องหัวใจแห่งการสร้างสรรค์ (Creative Mind) ของมนุษย์ มีความเกี่ยวข้องกับ สมองเนื้อสีเทา (gray brain matter) และ เซโรโทรนิน

แม้ความคิดสร้างสรรค์อาจเป็นสิ่งที่แต่ละคนมีติดตัวไม่เท่ากัน แต่มันเป็นเรื่องที่เราสามารถพัฒนากันได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ ได้บอกกับเราว่า ทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองอย่างเท่าเทียมกัน


 

ข้อจำกัดที่ขัดขวางความคิดสร้างสรรค์

ข้อจำกัดอาจช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และมีงานวิจัยที่สนับสนุนเรื่องนี้เช่นกัน อย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ใน Journal of Consumer Research (2015) ได้ทำการสำรวจความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วมการทดลอง 60 คน และพบว่า การมีทรัพยากรจำนวนมากเป็นสิ่งทำลายความคิดสร้างสรรค์ ในทางกลับกัน ความขาดแคลนกลับช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

แต่บางครั้งข้อจำกัดภายนอก อย่าง กฎระเบียบ กติกา วัฒนธรรม ส่งผลเสียต่อความคิดสร้างสรรค์ของเราได้เหมือนกัน เพราะมันทำให้เรามีกรอบ ไร้อิสระในการคิด ส่งผลให้ไฟสร้างสรรค์ดับมอด ต่อให้คิดไอเดียที่แปลกแหวกแนว และน่าสนใจมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถนำไปใช้จริงได้

ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้  เริ่มจากหาว่า เงื่อนไขอะไรที่กำลังกดทับความคิดสร้างสรรค์เราอยู่ เช่น กฎระเบียบของบริษัทที่เข้มงวด หัวหน้า หรือ เพื่อนร่วมงานที่ไม่เปิดรับความคิดใหม่ๆ เป็นต้น เมื่อเจอแล้ว เราจะหาวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไปได้ เช่น พูดคุยกับคนที่เป็นปัญหา หรือ ดึงปัญหาที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมขึ้นมาอยู่ในสปอตไลท์

 

ขาดความหลากหลายของข้อมูล

การอยู่ในกลุ่มสังคม หรือ เพื่อนร่วมงาน ที่มีนิสัยเหมือนกัน ความชอบเหมือนกัน เข้าขากันได้ดีในทุกเรื่อง อาจทำให้เราไม่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะการอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีความหลากหลาย เราจะได้รับแต่ข้อมูลเดิมๆ มุมมองความคิดเห็นแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ที่จะมากระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเรา

นอกจากนี้ การรับข้อมูลด้านเดียวในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้สมองไม่สามารถคิดไอเดียใหม่ๆ ด้วย เราเลยอยากแนะนำทุกคนที่เจอปัญหานี้อยู่ ให้พยายามหาข้อมูลหลายแหล่ง และหลายด้าน เพื่อให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น คิดอะไรได้มากขึ้น และเปิดใจรับฟังและพูดคุยกับคนใหม่ๆ ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเรามากขึ้น

 

จมอยู่กับความผิดพลาด

เราสามารถทำให้ตัวเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นกัน อย่างคนที่มองโลกในแง่ลบมักจะโทษตัวเองเวลาความผิดพลาดเกิดขึ้น และไม่รีบแก้ไขความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น เพราะกลัวว่าจะผิดซ้ำอีก ส่งผลให้พวกเขาไม่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา แต่อาจเลือกที่จะหนีปัญหาแทน หรือ คนทั่วไป บางครั้งพอไอเดียไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีในครั้งแรก ก็จะรู้สึกเฟล และไม่ยอมใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนามันต่อไปได้

ดังนั้น ใครที่เจอปัญหานี้อยู่ เราอยากแนะนำว่า อย่ายอมแพ้จนกว่าจะแก้ไขความผิดพลาดได้สำเร็จ หันมามองโลกในแง่ดีมากขึ้น เช่น หามุมดีๆ ในเรื่องที่ไม่ดี หรือ ปรับเปลี่ยนความคิดลบเป็นความคิดเชิงบวกมากขึ้น อาจช่วยให้เราคิดอะไรออกมากขึ้น และอย่าให้ความรู้สึกแย่ๆ มาหยุดยั้งความคิดสร้างสรรค์ของเราได้

 

ทำหน้าที่ที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง

การทำงานที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง อาจมีผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ของเราเหมือนกัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ใน Social Indicators Research (2012) ชี้ให้เห็นว่า เราจะทำงานได้ดีที่สุด เมื่อเรายุ่ง แต่ไม่ได้ถึงขั้นต้องรีบปั่นงานให้เสร็จ ในขณะเดียวกัน การทำงานผิดตำแหน่ง จะทำให้เรามีอุปสรรค์ในการทำงาน และเกิดอาการแพนิกที่อาจส่งผลเสียต่อความคิดสร้างสรรค์ได้

เราเลยจำเป็นต้องทำงานที่เหมาะสมกับตัวเอง และรู้จักปฏิเสธงานที่เราคิดว่าทำไม่ได้ เพื่อให้ความสามารถของเราเป็นประโยชน์ต่องานมากที่สุด และความคิดสร้างสรรค์จะเบ่งบานได้มากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะซึมเศร้า หรือ โรคจิตเภท อาจกดทับความคิดสร้างสรรค์ของเราได้เช่นกัน เราเลยจำเป็นต้องดูแลสุขภาพจิตของเราอยู่เสมอ และควรไปพบผู้เชี่ยวชาญ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


 

Appendixs: 1 / 2 / 3

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line