

Business
“คนตายแว่นยังอยู่” ปลุกชีวิตและตัวตนผ่านแว่นตา ARTY & FERN มรดกสุดท้ายที่ถ่ายทอดความเป็นคุณ
By: unlockmen March 12, 2018 95857
มีคนเคยเปรียบเปรยไว้ว่าการแสดงความคิดที่ต่างกันก็เหมือนการสวมแว่น เราสวมกรอบที่ต่างกันจึงมีมุมมองต่างกัน แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งจะมีคนคู่หนึ่งหยิบ “แว่น” จากคำเปรียบที่จับต้องไม่ได้มาสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง ถอดคาแรคเตอร์คนสวมมาสร้างเฟรมแห่งตัวตน ชนิดที่ไม่ว่าจะสวมหรือวางไว้บนโต๊ะก็รู้ว่าเป็นตัวเรา ที่สำคัญมันยังสามารถกลายเป็นมรดกส่งต่อให้คนรอบข้างได้นึกถึงในวันที่เราไม่อยู่ในโลกใบนี้แล้วด้วย เพราะถ้าเก็บรักษาให้ดีก็มีอายุขัยมากกว่าคนสวมเสียอีก!
อาร์ท – ชนกันต์ อุโฆษกุล และเฟิร์น – อานิกนันท์ เอี่ยมอ่อง คือ 2 นักดีไซน์ที่จบจากคณะมัณฑนศิลป์ รั้วศิลปากร ทำงานด้านครีเอทีฟและกราฟิกดีไซน์เนอร์ก่อนผันมาเป็นเจ้าของ Arty & Fern Eyewear ร้านแว่นแบรนด์ไทยมากเอกลักษณ์สไตล์ custom-made ร้านที่เปลี่ยนสโลแกนจากการ วัด “สายตา” ประกอบแว่น ให้ no limit ไปอีกขั้นด้วยการ วัด “สไตล์” ประกอบแว่น จนใครก็พร้อมใจเข้าคิวอยากเป็นเจ้าของ
แม้หลายคนอาจจะเคยเห็นทั้งอาร์ตและเฟิร์นผ่านสื่ออื่น ๆ แต่สิ่งที่อาจไม่รู้มาก่อนคือ ทั้งคู่เป็นคนที่มีค่าสายตาน้อยมาก ๆ ดังนั้นความหลงใหลเรื่องแว่นที่พาพวกเขาให้ก้าวมาเปิดร้านจึงไม่ใช่เรื่องของทัศนมาตรศาสตร์ หรือเรื่องของการมองเห็นแต่เป็นเรื่องของดีไซน์ล้วน ๆ โดยเริ่มต้นจากความชอบแบบนักใส่นักสะสม ผสมกับความรู้เรื่องการดีไซน์ที่ร่ำเรียน จนกลายเป็นการเล่นสนุกตอบสนองความชอบตัวเองผ่านการทำแว่นไร้สายตาที่พวกเขาชื่นชอบกันอย่าง “แว่นกันแดด” ซึ่งแม้มันจะเป็นก้าวแรกของการสร้างแบรนด์แบบสนุก ๆ ที่ดันรุ่งโดยไม่ตั้งใจ แต่ก็มาพร้อมความติดค้างว่าต้องหาความจริงบางอย่างเพิ่มเติม
“มันเกิดจากว่าเราสะสมแว่นหลายแบบ หลายอัน แว่นเก่าแว่นใหม่ แล้วเราเรียนดีไซน์มาด้วย เราก็เลยมีความคิดว่าเราอยากออกแบบแว่นได้เอง คือง่าย ๆ ก็เหมือนเราเริ่มจากชอบ แล้วก็เริ่มทำโดยที่ยังไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นธุรกิจด้วยซ้ำ เราแค่อยากได้แว่นที่เราออกแบบเอง แล้วก็ทดลองคิดเทคนิกต่าง ๆ ไปเรื่อยๆ แต่พอทำแล้ว feedback ดี ทุกคนบอกลองทำขายเลย ลองทำขายดู
ซึ่งมันทำได้ ออกแบบแว่นได้ แต่ยังไม่ฟังก์ชั่น คือกระบวนการผลิต เราก็ทดลองโดยการที่ไปใช้ไม้บ้าง ใช้จิลเวอรี่บ้าง ใช้โลหะทองเหลืองทำเป็นงานดีไซน์ไป แต่สุดท้ายแล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แว่น ไม่ฟังก์ชั่น มันใช้งานจริงไม่ได้ ใส่แล้วรู้สึกหนัก รู้สึกเจ็บ รู้สึกไม่พอดี เพราะมันไม่ใช่วัสดุอุปกรณ์ในการทำแว่นจริง ๆ คนที่เขาใส่แว่นมานานเป็น 10 ปี เขาลองใส่ดูจะรู้สึกว่ามันใส่แล้วสวยดี แต่ว่าใส่แล้วไม่สบาย ก็คือสำหรับเรามันเป็นแค่เครื่องประดับ มันไม่ใช่แว่น ณ ตอนนั้น”
Morez – France
“ตอนนั้นไม่เชิงรู้สึกว่ามันไม่ดี เพียงแต่แค่รู้สึกว่า เรายังไม่เจอคำตอบที่เราคุยกันว่าจริงๆ แล้วการทำแว่นที่ถูกต้องมันคืออะไรวะ มันคือแว่นแฮนด์เมดทั่วไปหรอ หรือว่าเราต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง เราเริ่มรู้สึกว่าอยากเจออะไรที่มันจริงกว่านั้น ถูกต้องกว่านั้น”
“มันน่าจะมีศาสตร์ของการทำแว่นเลย เหมือนทำจิลเวอรี่หรือทำเฟอร์นิเจอร์ คือการคิดเองเออเอง มันทำมาได้ แต่เราทำไปจนถึงจุดที่ว่า เอ้ย! มันก็มีศาสตร์อย่างนี้จริง ๆ เราลองไปหาข้อมูลว่าทำยังไง หาในเน็ตก่อนเรื่องวิธีการทำแว่น แต่ว่ามันก็ไม่ค่อยมีข้อมูลเท่าไร search หาจนเจอว่ามันมีโรงเรียนที่เปิดรับสอนทำแว่น ก็เลยสนใจ แล้วก็ไปเรียนที่ฝรั่งเศส”
“เราไปเพราะเราแค่อยากรู้ว่าทำยังไง ซึ่งเรารู้แล้ว 1-2-3 จากที่เรียน แต่เหมือนเราไปเจอแก่นใจความสำคัญที่แท้จริงว่า แว่นมันมีไว้ทำไม หรือการออกแบบแว่นที่ดีมันต้องนึกถึงอะไรบ้าง เขาไม่ได้แค่ทำแว่นเพื่อความสวยงาม เขาทำแว่นเพื่อแก้ปัญหาให้กับคน เหมือนการเข้าร้านตัดสูท คนที่สรีระผิด หรือว่าอ้วนไปผอมไป เขาตัดให้มันพอดี เพื่อให้สุดท้ายมันดูดี แว่นก็เช่นเดียวกัน คนที่มีปัญหาเรื่องหูไม่เท่ากัน หรือว่าจุดลูกตาไม่เท่ากัน เราก็ต้องออกแบบเพื่อให้เขาใส่แว่นได้ มีเคสที่เด็กหัวกะโหลกเล็ก 8 ซม. มันไม่มีแว่นในตลาดอยู่แล้ว ใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่ได้ หรือว่าทำเลสิคก็ไม่ได้อยู่แล้ว อาจารย์ที่สอนเราจะเป็นคนทำแว่นเล็ก ๆ เพื่อไปแก้ปัญหาให้เขา
ซึ่งอันนี้มันก็ตรงกับความรู้สึกเรา คือเรามีแว่นหลายยี่ห้อ หลายแบบ มันจะมีแว่นอันที่ใส่สบายแล้วก็ใส่ไม่สบายอยู่แล้วเพราะว่าดีไซน์มันก็ต่างกัน เราก็รู้สึกว่าถ้าแว่นสวย ๆ เราอยากใส่ให้สบาย เราต้องทำยังไง อันนี้แหละคือฟังก์ชั่น เราต้องรู้ว่าแบบไหนใส่สบาย แป้นจมูกตำแหน่งไหน ขาแว่นยาวเท่าไร โครงเท่าไร องศาเท่าไร เราต้องมา apapt เราก็เลยกลับมาทำ โดยที่บอกกับลูกค้าว่า ลูกค้าจะได้แว่นที่สวยด้วยและใส่สบายด้วย หรือลูกค้าต้องการแว่นที่ใส่สบายแล้วมันก็ต้องสวยด้วยนะ
ถ้าสังเกตคือแว่นที่ใส่สบายมักจะเชย เราก็ไม่อยากใส่ ต้องชั่งใจยอมเจ็บตัว เพื่อใส่แว่นสวย เราเลยเอา 2 อันนี้มารวมกัน ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ”
ขณะที่เราถามไปลุ้นไปว่านานแค่ไหนถึงจะได้กลับมาเปิดร้านอีกครั้ง คำตอบที่ได้ยิ่งทำให้สัมผัสถึงความคราฟต์ไม่แพ้การทำแว่น เพราะทุกกระบวนการไม่ได้เกิดขึ้นแบบรีบร้อนแต่วางแผนด้วยความตั้งใจและรอจนพร้อมแล้ว ทั้งคู่ใช้เวลาในการเรียนไป 5 คอร์สราวครึ่งปี พอกลับมาก็รับงานฟรีแลนซ์ทยอยเก็บเงินเพื่อใช้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรทุกชิ้นที่ล้วนต้องนำเข้าเนื่องจากเป็นชิ้นส่วนเฉพาะ ผสมกับการลงทุนสร้างร้านที่เรากำลังเก็บภาพอยู่นี้เพิ่มอีกครึ่งปี กับช่วงเวลาผลิตที่ลองผิดลองถูกไปอีก 60 ชิ้น!
“เครื่องมือการผลิตแว่นมันค่อนข้างเฉพาะทาง มันไม่ได้จิ๋วไปถึงขั้นทำจิลเวอรี่ประดับเพชรพลอย แต่มันก็ไม่ได้ถึกแบบเครื่องมือทำไม้ มันเลยเหมือนเราต้องใช้เวลากับการไป modify เครื่องที่มีอยู่ให้มันตอบโจทย์การใช้งานของเรา อะไหล่ต่าง ๆ เราต้องสั่งจากต่างประเทศหมดเลย เพราะว่าแค่น็อตตัวเดียว ต่าง quality กัน มันก็ทำให้อายุการใช้งานแว่นมันต่างกันแล้ว
ด้วยความที่เราชอบแว่น เราสะสมแว่น เราจะดูแว่นออกว่าแว่นเกรดนี้ราคาเท่านี้ มันทน ส่วนอันที่เราชอบแล้วราคาไม่แพง บางทีมันก็พังง่าย ถึงเวลาผ่านไป 5 ปีมันก็เสื่อมสภาพ เราเลยอยากทำแว่นที่ได้คุณภาพด้วยแล้วก็สวยงามด้วย ต้นทุนเราเลือกที่ต้องนำเข้าทุกอย่าง ต้นทุนสูง ซึ่งมันก็คุ้มค่าในระยะยาว เพราะว่าจะมีหลาย ๆ เคสเลย ที่ลูกค้ามีสายตา แล้วแค่เลนส์คู่นึงก็เป็นหมื่น สองหมื่น สามหมื่น เขาคงไม่อยากไปซื้อเฟรมที่อันละ 100 หรือ 200-300 เขาก็ลงทุนด้วยการซื้อแว่นดีๆ ไปเลย”
“ช่วงแรกเราก็ยังใหม่ ๆ อยู่ เรียนมาก็ยังไม่ได้ฝึกฝนอะไรมาก ลูกค้าจะเป็นพวกญาติพี่น้อง เป็นเพื่อนกันมาทำมากกว่า เราก็ได้ทดลองวิธีการทำ ลองอะไหล่ หลาย ๆ แบบ หลาย ๆ เจ้า มีจากฝรั่งเศส จากญี่ปุ่น ลองว่าแบบไหนดี สักประมาณ 50-60 ชิ้นแรก เริ่มอยู่ตัวแล้ว เริ่มรู้เทคนิกวิธีการปรับเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่าง”
บรรดาแว่นที่เรียงรายในร้านอาจจะทำให้เราสงสัยว่า custom ตรงไหน ? แก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่าเมื่อมันหน้าตาคล้ายกันไปหมด แต่ถ้าลองดูให้ละเอียดอีกทีเรารู้ได้ทันทีว่าในความคล้ายนั้นไม่เหมือน เพราะกรอบมีความต่าง ถ้าไม่นับเรื่องแบบที่อาจจะแตกต่างกันเป็นพิเศษอยู่แล้ว ตัวเลขที่สลักริมขาแว่นนี่แหละที่บอกเราถึงระยะความห่างฉบับ individual ที่วัดไว้เฉพาะใบหน้าของแต่ละคนแบบมิลต่อมิลฯ ใกล้เคียงความจริงที่สุด ทั้งกรอบหน้า ตำแหน่งที่ขาแว่นโค้งมาล็อคด้านหลังหู กับอีกหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนความคิดเรื่องมาตรฐานการเลือกแว่นในใจเราไปอย่างสิ้นเชิงเลย คือ การวางแว่นลงกับพื้นแล้วเบี้ยวไม่ตรง ไม่สมมาตร!
“ลูกค้าหลายท่านจะเข้าใจว่าแว่นที่ไม่เบี้ยว คือการมาเทสวางบนโต๊ะแล้วมันต้องตรง แล้วก็เอามาใส่ อ้าวทำไมไม่สบาย จริง ๆ เราต้องลองมาดูตอนที่แว่นอยู่บนหน้าคนใส่ แล้วก็ดูว่ารู้สึกยังไง เพราะบางทีมันไม่ได้เท่ากัน สิ่งที่จะเช็กได้ดีคือตัวเรา ใช้ความรู้สึกเราไม่ใช่เอาวางไว้บนโต๊ะแล้วดูว่าเท่ากันไหม
ปกติตอน set มาเราจะทำมาที่เท่ากันอยู่แล้ว แต่ว่าลูกค้าแต่ละท่านต่างกันตรงที่พอมาลองแล้วข้างนี้รั้ง ข้างนี้หลวม เราก็ปรับใหม่ วัสดุที่เราใช้มันสามารถปรับและดัดได้ โดยที่ใช้ความร้อน และมันมีความยืดหยุ่นแล้วก็ทนทาน”
credit photo: Arty&Fern Eyewear
“ถ้าเป็นเกี่ยวกับสรีระหรือโครงสร้างหน้า ส่วนใหญ่ผู้ชายจะมีเกี่ยวกับช่วงขมับ ขมับด้านหน้ากว้าง แล้วชอบดีไซน์ที่เล็ก ๆ หน่อยญี่ปุ่นหน่อยแล้วมันจะบีบที่ขมับ ซึ่งมันไม่มีขายในท้องตลาด มันก็จะเป็นไซส์มาตรฐาน ไซส์กลาง ๆ ใส่ไปแล้วขาก็จะถ่างบ้าง กดไปบ้าง ซึ่งบางท่านเขาก็ชอบสไตล์นี้ คือเขาไม่ใส่สไตล์อื่น เขาก็มาหาแว่นสไตล์นี้ แต่เป็นไซส์เขา”
ถึงทุกอย่างจะดูมีค่าใช้จ่ายไปเสียหมด จนคิดว่าน่าจะต้องรู้สึกท้อ เมื่อคราฟต์ต้องใช้เวลาผลิตต่อชิ้นค่อนข้างมากกว่าการทำแว่นปกติหลายเท่า ยอดต้องต่างจากซื้อมาขายไปแบบอุตสาหกรรม หากความจริงความต่างของงานคราฟต์ ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์ทางใจ แต่ก็มีข้อดีสำหรับคนทำธุรกิจด้วยใจอย่างพวกเขาทั้งคู่
“คืออย่างอันนี้ข้อดีของมันคือ สมมติเราอยากทำแว่นขึ้นมา เราสั่งโรงงานผลิตมา 200-300 ชิ้น เราก็จะมีความเสี่ยงว่าจะขายหมดหรือเปล่า แต่ว่าข้อดีของเราคือเราสั่งเป็นวัสดุ ถ้ามีออเดอร์เพิ่ม มีคนมาสั่งทำเมื่อไหร่ เราก็ทำเมื่อนั้น วัสดุมันก็ไม่ได้เสียอะไรไป แรก ๆ ก็อาจจะเฉลี่ยเดือนนึงมีอยู่ 2-3 คน หรือ 4 คน มันก็ค่อยๆ เพิ่ม มันเหมือนเป็นการกระจายวงกว้างมากกว่า คือพอมีคนที่ 1 มาทำ เขาก็ไปบอกอีก 2 คน 2 คนก็มาทำ ทุกวันนี้เดือนนึงก็ประมาณ 20 ประมาณ 15-20 คน
แต่ว่าถ้าพูดถึงว่าปัญหาที่เจอ ทุก ๆ ครั้งที่มีลูกค้าใหม่เข้ามา เหมือนมีโจทย์ใหม่ เราก็จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ หรือวิธีการแก้ปัญหาอะไรใหม่ ๆ ทุกครั้งเลย อันนี้มันจะกึ่ง ๆ เป็นปัญหา แต่ว่าก็จะยิ่งทำให้เรามีประสบการณ์”
“คือจริง ๆ เราเป็นคนออกแบบให้ลูกค้าทั้งหมดเลย หรือมีอยู่คนนึง คือเป็นเพื่อน เป็นนักวาดภาพประกอบ เขาวาดแบบมาให้เราทำ เราจะบอกว่าลิขสิทธิ์มันเป็นของเราหมดเลย มีเคสนึงที่ลูกค้าทำแล้วบอกว่าชอบ จะเอาไปผลิตเอง เราขายลิขสิทธิ์ให้ หรือตอนแรกเราเป็นคนออกแบบ ตอนหลังคือเขามาขอซื้อ เพราะแบบนี้เขาอยากได้คนเดียว ไม่ได้อยากให้ใครมาทำเหมือน เราก็ขาย ซึ่งงานทุกอันเราชอบหมด มันไม่ได้เป็นงานประเภทในศาสตร์อื่นซึ่งลูกค้ามาบรีฟจนเราไม่เหลือความเป็นตัวตน สุดท้ายเราเป็นคนทำให้เขาเลือกแล้วก็ปรับแก้กันว่าลูกค้าอยากได้แบบไหน
เราได้โจทย์จากลูกค้า แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นคนดีไซน์และรู้ว่าเบื้องหลังมันต้องคำนึงถึงอะไรบ้างให้ได้แว่นที่ออกมาดีและสวย เราสามารถบอกลูกค้าได้เลยว่าขอให้มั่นใจและเชื่อในเรา ซึ่ง 80% ของลูกค้าเขาจะเชื่อในเราคือช่วยแนะนำหน่อยว่าอันไหนดีสำหรับเขา
จุดที่เป็นเราอีกอย่างนึงนอกจากเรื่องตัวแว่นแล้วคือเป็นเรื่องความใส่ใจ หรือการ service ที่ลูกค้าเห็นภาพนี้จะรู้เลยว่าเป็นเรา เช่น เวลาที่ลูกค้าเข้ามา เราคุยกันแบบเป็นเพื่อน เป็นคนรู้จัก เป็นครอบครัว และในวันที่มารับ เขามารับแว่นไป เขาจะรู้สึกเลยว่าเรารู้จักเขาจริงๆ จากแว่นอันนั้น เพราะว่าพอเราส่งมอบให้เขาแล้ว เขาจะรู้สึกเลยว่าแว่นนั้นคือตัวเขาจริง ๆ นะ แล้วเราก็จะมีรูปวาดเป็น complementary เป็นของขวัญให้เขาด้วย เป็นเรื่องดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่รวมๆ แล้วนั่นแหละมันคือความเป็นเรา”
ทุกอย่างในโลก วันหนึ่งจะหายไป แต่การทำให้คนกลับมาพูดถึงและฝังในความทรงจำ มันทำให้ของเหล่านั้นยังคงอยู่ จึงไม่แปลกที่สิ่งที่อยู่ในอดีตจะส่งผ่านมาถึงคนรุ่นเราอีกครั้งในรูปแบบมรดก ซึ่งสามารถเก็บไว้ในรูปแบบของโบราณวัตถุ โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ หรือ “แว่น” ก็ย่อมได้
มรดกตัวตน
“อันนี้เป็นสิ่งที่เฟิร์นรู้สึกตั้งแต่ตอนแรก ๆ ที่ทำ custom เลยค่ะ ตอนแรกที่เราเริ่มทำให้เพื่อน ๆ ก่อน ด้วยกลุ่มคนที่เรียนดีไซน์หรือว่าอยู่ในแวดวงศิลปิน เขาจะมีความชัดเจนในตัวว่าตัวเองเป็นสไตล์ไหน เอกลักษณ์ในตัวเองมันจะออกมาในแว่นนั้นชัดมาก ถึงขั้นว่าพอเอาแว่นทุกตัวที่ทำเสร็จแล้วมาวางเรียง แล้วให้เพื่อนทาย เพื่อนหรือคนในวงที่รู้จักกันเขาสามารถนึกได้หรือ remind ขึ้นมาได้เลยว่า อันนี้ของคนนี้เลย อันนี้คนนี้แน่ คนนี้ต้องเป็นฟีลนี้แน่ ๆ เหมือนมันออกมาเลย ทั้งสี ทั้งทรง เป็นดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่รู้สึกได้เลย ยกตัวอย่าง แว่นสีขาว-ดำ ตัดกันแบบเป็นเส้นเฉียง เรารู้เลยว่าผู้หญิงคนนนี้ต้องเป็นผู้หญิงมั่น เปรี้ยว แน่นอน ชัวร์ หรืออีกอันเป็นแว่นทรงกลม เป็นหยัก ทำเป็นลูกไม้แน่นอนว่าเขามีอารมณ์ความเป็นผู้หญิงมากหน่อย เฟมินีนหน่อย แล้วก็ในทุก ๆ ดีเทลมันก็จะสะท้อนแหละว่าเจ้าของแว่นเขาเป็นยังไง
“คือแว่นทุกวัสดุ ทุกประเภทเลยนะ ถ้าพูดถึงกลาง ๆ ก่อน มันจะอายุนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าคนใช้ ใช้แล้วรักษาดีแค่ไหน ถูกวิธีแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่นเวลาถอดใส่แว่นถูกไหม ส่วนใหญ่ก็จะถอดมือเดียว ตรงขาแว่นจะชอบหัก เป็นปัญหาที่เจอบ่อยๆ กับลูกค้า หรือไม่ใช้ผ้าเช็ดแว่น ล้างด้วยสบู่หรืออะไรที่ไม่ควรใช้ก็จะทำให้เลนส์เสีย ขึ้นอยู่กับคนใช้นะว่าดูแลแค่ไหน
แต่ถ้าพูดถึงของเราตัว Cellulose acetate ที่ใช้เป็นวัสดุมันมีความแข็งแรงมากกว่าแว่นทั่ว ๆ ไป อย่างแว่นพลาสติกเนี่ย จริงๆ มันมีหลายประเภทใช่ไหม แต่ว่าพลาสติกอันนี้ผลิตจากธรรมชาติ มีความเหนียวยืดหยุ่นกว่าพลาสติกที่เป็นลักษณะที่ขึ้นบล็อกแล้วฉีดอันเข้าไปในบล๊อก แบบนั้นจะมีความกรอบ แตกง่าย แต่อันนี้มันจะมีความเหนียว ความหยุ่น เลยใช้ได้นานกว่า สมมตินั่งทับเบี้ยวมันก็ดัดกลับเข้ามาได้ แล้วพวกแว่นวินเทจต่าง ๆ หรือแว่นที่เราสะสม พวกแว่น made in France สมัยก่อน แบบเก่าๆ ยุค 50-60 มันก็ทำจาก Cellulose acetate ซึ่งมันก็ยังอยู่ถึงทุกวันนี้ คิดว่า ๆ เผลอ ๆ อายุยาวกว่าเราอีก ถ้าเก็บดี ๆ”
มรดกสังคม
“อันที่เป็นแว่นธงชาติ ตอนนั้นปลายปี 2013 อย่างที่ทุกคนทราบว่ามีสถานการณ์เกี่ยวกับการเมืองในบ้านเรา ตอนนั้นจริง ๆ ทุกคนก็พยายามแสดงออกทางความคิดของตัวเองในวิธีต่าง ๆ ด้วยความที่เราอยู่ในช่วงที่เราทดลองทำแว่น เราก็เลยอยาก present idea ที่เรามีตรงนี้ออกไป ตอนนั้นเรากำลังคิดเทคนิกการย้อมเลนส์อยู่ ให้เป็นแถบสีหรือให้เป็นกราฟิก เพราะในยุคนั้นยังไม่มีดีไซน์เรื่องเลนส์สักเท่าไร เราก็เลยไปย้อนดู เริ่มจากเป็นธงชาติไทย
ตอนนั้นเราก็ลองเล่น เพราะว่าช่วงนั้นเรายังทำแว่นไม่ได้ (ก่อนจะไปเรียนที่ฝรั่งเศส) เราก็เลยดีไซน์เป็นกราฟิกที่เลนส์ ในระยะที่ใกล้ตาแค่ไม่กี่มิล เราจะไม่เห็นสีแดงด้านบนและด้านล่างเลย จะเห็นแค่เหมือนเป็นใส่แว่นสีน้ำเงินปกติ คือเราเหมือนทำเป็น มินิมอล ทำเหมือนเป็นงานศิลปะ แล้วก็ทำแพ็คเกจเป็นลิมิเต็ด มีแค่ 50 ชิ้น
credit photo: Arty&Fern Eyewear
ตอนนั้นที่เราทำเราเอารายได้ไปบริจาคให้สภากาชาด คนซื้อก็เหมือนได้ช่วยกัน คือก็ทำอะไรก็ได้ที่มีความเป็นยูนิตี้ มีความเป็นไทย แล้วมันก็เป็นจังหวะที่เราทำเป็นคอลเลคชั่นแรก จริง ๆ มันก็มีแค่ 50 ชิ้น พอทำหมดก็ไม่มีแล้วเพราะเราไม่ได้ทำเฟรมเอง เฟรมอันนั้นจะเป็น old stock ที่บ้านเฟิร์นที่มีไม่กี่ชิ้น เราก็เอามาดัดแปลงปรับ ซึ่งตอนนั้นเราก็มีชิ้นเลนส์ คือออกแบบเลนส์ก่อน คิดว่าที่ลูกค้าเรามาอุดหนุน อาจจะเป็นที่เขาอินกับสถานการณ์ตอนนั้นหนึ่ง สองคือไม่เคยเห็นแว่นอันไหนที่เป็นแบบ เป็นการย้อมสีเลนส์แบบนั้น”
มรดกในสมุดข่อยสู่ “เนตรวิฬาร์” (ตาแมว)
ชิ้นนี้ขุดลึกถึง “สมุดข่อย” หยิบเรื่องเก่ามาเล่าใหม่แบบสากลให้เนี้ยบ เฉียบ และได้ใจของนักใส่ที่ต้องการงาน ready to wear ไม่ต้องรอ custom แต่ยังวาดลวดลายได้เป๊ะตามเสน่ห์ของครีเอทีฟ
“เรามีข้อมูลมาจากคนที่ทำ custom ประมาณ 80% เลยของผู้หญิง เขาอยากได้ทรง cat eye ในตลาด cat eye ก็มีเยอะ สวยนะแต่พอมาใส่มันก็จะรู้สึกว่าไม่สวย ซึ่งเรารู้สึกว่าถ้าเราจะทำคอลเลคชั่นเราจะทำ cat eye ขาย แต่ว่าถ้าเราจะทำ cat eye ในตลาดเราจะไปขายแข่งกับเขายังไง ในความเป็นแบรนด์ของเรา เราก็อยากครีเอท หรือหาอะไรใหม่บางอย่าง ซึ่งพออ่านข้อมูลไปเจอว่ามันมีแมวในสมุดข่อยในบทกลอนสมัยอยุธยา จะมีพันธ์ุแมวไทย ชื่อวิเชียรมาศ สีสวาท ซึ่งทุกคนก็พอรู้จัก และพันธุ์อื่น ๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ที่เราเลือกมาเป็นแมวมงคล ตอนแรกเราเลือกมา 9 พันธุ์ ออกแบบจากคาแรคเตอร์มัน เช่น วิเชียรมาศ ขนสีครีม มีม้าสีดำสีน้ำตาล ตาสีฟ้า จากในกลอนที่เราต้องแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาไทยอีกทีนึง เราก็ตัดทอนออกแบบ ออกมาเป็นรูปร่างลักษณะด้วย
credit photo: Arty&Fern Eyewear
แล้วอีกจุดนึงทีน่าสนใจคือ นอกจากดีไซน์ที่เขาแสดงออกถึงตัวตนแล้ว มันคือเรื่องความเชื่อ คนไทยสมัยก่อนจะเชื่อว่าแมวบางสายพันธ์ุมันจะให้โชคดีกับเราในบางเรื่อง เช่น วิเชียรมาศจะให้ร่ำรวย ศุภลักษณ์จะให้มีชื่อเสียง ยศถาบรรดาศักดิ์ มุลิลาจะให้เรื่องการเรียน การทำงาน มันเป็นกิมมิค หรือเป็นอะไรที่น่ารักอีกอย่าง ที่เราใส่ความเชื่อลงไปในไอเทมที่มันแฟชั่นมาก ๆ
ความจริงเราไม่ได้เน้นว่าลูกค้าจะมาใส่แว่นนี้แล้วโชคดี คือมันเป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ สุดท้ายเราทำความเป็นไทย เราปรับเปลี่ยนให้มันดูโมเดิร์น แว่นทุกอันเราไม่ได้มาทำให้มันดู traditional มาก ๆ เป็นแมว แม๊ว แมว คือลูกค้าใส่แล้วสวย ใช้งานได้จริง แค่นั้นจบแล้ว ซึ่งคอนเซ็ปต์กับทรงแว่นมันฟิตกันพอดี เลยทำให้เราได้รางวัล Design excellent ปีที่แล้ว
เราคิดว่าการดึงคอนเซ็ปต์หรืออะไรที่เป็นไทย ๆ มาใช้เดี๋ยวนี้มันเป็นที่นิยม แต่จริง ๆ เราไม่ต้องถ่ายทอดมันไปในความไทย แบบที่เอิงเอยก็ได้หนิ คือบิดหรือ twist นิดเดียวเพื่อที่จะให้มันพูดได้กว้างขึ้น เพื่อที่จะพูดให้มันสากลขึ้น เราอาจจะเอาแค่แก่นของมันมา แล้วก็มา simplify มันหน่อยเพื่อให้มันเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”
“2 ปีที่ผ่านมา ที่เราทำแว่นมาประมาณ 200 ชิ้น คร่าวๆ คือลูกค้า 200 ท่านเข้ามาด้วยปัญหาที่ต่างกัน แล้วก็จบที่ต่างกันไม่เหมือนกันสักคนเดียวเลย คนที่มามองหาแว่นที่ตอบโจทย์หรือบ่งบอกคาแรคเตอร์เขา คือมีความเป็นตัวเองมาแล้วแต่ยังไม่เคยเจอแว่นที่เป็นตัวเองเลย มาให้เราดีไซน์ให้มันเกิดขึ้นจริง กับแบบที่ 2 คือเป็นคนรักแว่น ใส่แว่น มีแว่นเยอะ ใส่แว่นประจำ รู้ตัวอีกทีคือขาดแว่นที่ใส่พอดีมาก ๆ หรือหยิบใส่ได้ทุกวัน แล้วก็สบาย คือเขาขาดอันนั้น โจทย์มันก็ค่อนข้างเยอะ”
Manga lover
อาร์ต : “ก็จะมีโจทย์เป็นตัวการ์ตูนครับ เป็นหุ่นยนต์ ก็มานั่งเปิด google กันดู ตัวนี้ ชื่อนี้ สีนี้ ต้องมีลักษณะอย่างนี้ก็นั่งคุยนั่งสเก็ตช์กันหลายชั่วโมงมาก คืออยากได้แว่นที่เป็นคาแรคเตอร์นี้ จากหุ่นยนต์ เหมือนลูกค้าเป็นแฟนการ์ตูนตัวนึง แล้วก็อยากได้แว่นที่เป็นคาแรคเตอร์นั้น เราก็ต้องมาดูว่ามันจะมีคิ้ว จะมีอะไรเหลี่ยม (หัวเราะ) ก็นั่งวาด ตรงนี้ต้องมีสีแดงนะ ตรงนี้ต้องเป็นสีดำ ตรงนี้ต้องเป็นสีเทา เราก็มานั่งเลือกวัสดุกัน แล้วก็เอามาวาด แล้วก็ทำใส่
คือสุดท้ายแล้วเรามารู้สึกว่าอันนี้มันจะใช่แว่นหรือเปล่ามันจะใส่ได้หรือเปล่า อันนี้คือเคสที่แปลก แต่สุดท้ายเราก็ปรับอยู่ 2 รอบ รอบแรกลูกค้าใส่แล้วรู้สึกว่ามันติดไป คือแว่นมันจะเหลี่ยมมาก ใส่แล้วเหมือนเป็นตาหุ่นยนต์ ก็ปรับอยู่ 2 รอบ ปรับแป้นจมูกปรับขาให้เล็กลง สุดท้ายมันก็ได้ ได้แว่นที่ตอบโจทย์ลูกค้า”
Special Size
เฟิร์น : แล้วก็มีเคสลูกค้าที่หน้าค่อนข้างกว้าง ปกติถ้าเอาแบบทั่ว ๆ ไปเนอะ ประมาณ 135-140 ช่วงความกว้างของหน้าแว่น แต่ลูกค้าท่านนี้ 160 ซึ่งเขาบอกว่าตามหาแว่นที่หน้ากว้างมาแบบทุกประเทศในโลกนี้แล้ว ไปเจอมาที่ญี่ปุ่น แต่ว่ามันก็มีปัญหาอยู่ว่าความกว้างได้แล้ว แต่ใส่แล้วยังไหล คือมันไม่ได้แก้ปัญหาให้ได้สุด เขาก็เลยคิดว่า custom นี่แหละมันจะไปแก้ทุกจุดของเขา
Hospital to Runway
เฟิร์น : เคสหมอทำคลอด ผู้ช่วยทำคลอด คือคุณหมอเวลาอยู่ในห้องทำคลอดจะต้องมีอะไรที่ protect อยู่แล้ว เพราะว่าจะมีพวกเชื้อโรคหรือสารอะไรกระเด็นเข้าหน้าเข้าตา เขาเลยต้องใส่แว่น คุณหมอเขาก็เลยอยากได้แว่นที่ cover หมดเลยช่วงตาให้มันปิดได้ แว่น oversize ที่ปิดได้ครอบคลุม เขาเล่าว่ามีเคสนึง ทำคลอดแล้วน้ำคร่ำเข้าตา คือมันอันตรายในการติดเชื้อ ซึ่งมันเป็นจริงมันเกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นจริงกับลูกค้า เราก็รู้สึกว่ามันมีจุดเล็ก ๆ อย่างนี้ด้วยเนอะ แว่นมีจุดประสงค์ เราก็รู้สึกว่าก็จริงเนอะคือถ้าไปหาแว่นข้างนอก มันก็จะแบบเป็นแว่นอ็อกซ์เหล็กซึ่งก็ไม่ได้ คุณหมอคนนี้มีความชอบแต่งตัวอะไรด้วย ซึ่งเขาก็คงไม่อยากใส่แว่นที่เป็นแว่น protection ปกติ เขาก็อยากได้อะไรที่ เขาบอกโจทย์มาว่า ออกจากห้องคลอดแล้วไป runway ต่อได้เลยอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) ประมาณนั้น คือมันต้องกว้าง
เรื่องเลสิคกับคอนแทคเลนส์ไม่ใช่ศัตรูที่น่ากลัวของคนทำแว่น เราเองก็เพิ่งรู้ แถมพอพิจารณาดี ๆ ด้วยเหตุผลที่มาที่ไปแล้ว ต้องยอมรับว่าพื้นที่ตลาดของแว่นที่ก็สุดแสนสดใสใช่ย่อยเลย เพราะอาร์ตกับเฟิร์นได้สรุปมาถึงเหตุผลที่น่าสนใจแถมเป็น fact น่าคิดด้วย
“บริษัทแว่นเขาขอบคุณพวกเทคโนโลยีการผลิตจอขึ้นมา ทุกอย่างมันเป็นจอไปหมดแล้ว ไอแพด จอทุกอย่าง มีคนเคยบอกว่าตาเราไม่ได้ถูกผลิต ไม่ได้ถูกสร้างมาให้มองแหล่งกำเนิดแสง คือให้มอง สมมติไฟตกกระทบลงตรงนี้เราก็จะมองตรงนี้ใช่ไหมครับ (ชี้จุดที่แสงกระทบ) เราไม่ได้มองแหล่งกำเนิดแสง เช่น มองไฟ มองพระอาทิตย์ ตามันไม่ได้รองรับ แต่อันนี้ จอไอแพด มือถือ หรือคอมพิวเตอร์มันเป็นแหล่งกำเนิดแสง มันเข้าโดยตรง ซึ่งคนที่ใช้มาก ๆ เขาก็จะมีปัญหาได้ คนไม่มีสายตาอย่างเราก็ไปซื้อเลนส์ตัดแสงสีน้ำเงิน ตัดแสงยูวีอะไรมาใส่ป้องกันไว้ก่อน เพราะไม่รู้ ถ้าเกิดใช้งานหนัก ๆ บางท่านก็จะเป็นต้อได้”
เสียงมุ่งมั่นแสดงความตั้งใจที่ตอบกลับมา ทำให้เราแน่ใจความคิดนี้น่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้แน่ ๆ เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีของชาว UNLOCKMEN ทั่วประเทศหรือต่างประเทศที่มีสิทธิเข้าถึงแว่น custom ผ่านขั้นตอนง่าย มินิมอล ๆ
“เชื่อไหมครับว่าคนต่างจังหวัดน่ะ โทรมาไลน์มาว่าอยากทำ custom ทำยังไงดี มาไม่ได้จริง ๆ เราก็ขอให้เขาถ่ายรูปเขาแล้วเอาไม้บรรทัดทาบ คือวัดมาให้เราหน่อยให้ได้มากที่สุด เพราะบางคนเขาไม่ได้สะดวกเข้ากรุงเทพ แต่เขาต้องการแว่นที่มันสวยและมันดีสำหรับเขา เราก็เลยคิดว่าน่าจะทำเป็น service ที่มันกว้างขึ้น ตามหัวเมือง ตามภาคเหนือ ตามเชียงใหม่ หรืออีสานหรือภาคใต้ เราอยากขยายไปในเชิงนั้นมากกว่า ใน custom นะครับ คือเรารู้สึกว่า ไอ้แว่นมันก็มีเยอะมากในตลาด แต่ว่าอันนี้มันเป็นทางเลือกให้ลูกค้า ซึ่งแก้ปัญหาเขาได้ ก็อยากทำ
แต่ก็ไม่ได้เชิงเฟรนไชน์ อาจจะค่อย ๆ ขยาย เริ่มจากที่นี่ หาคนเพิ่ม หาทุกอย่าง หรืออาจจะคิดวิธีการ service ที่ทำยังไงให้กว้างกว่าเดิม อาจจะเป็น application หรือเป็นเว็บไซต์ที่คนอยู่อีกมุมหนึ่งของโลกเขาก็มา custom กับเราได้ เราต้องการแค่วัดเท่านั้นกับเรื่องวัสดุ คือใช้ space แบบเมตรคูณเมตรก็ได้ ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีร้าน เราก็เลยคิดว่าทำแอปหรือเปล่า? หรือในอนาคตทำเว็บที่เปิดกล้องแล้วคำนวณได้เลยว่าหน้าไซส์เท่าไหร่
(อาจจะต้องส่งกลับมาดัดอีกทีไหม?) ปกติปรับไม่ได้มากเท่าไหร่ บางทีลูกค้าอยู่ต่างจังหวัด เขาเจอว่าใส่แล้วมันหลวม เพราะเราไม่ได้เป็นคนฟิตติ้งให้เขา เขาก็สามารถไปให้ร้านแว่นช่วยปรับช่วยดัดให้พอดีได้ แต่ถ้าเป็นมากเราก็ต้องมาดูว่าเกิดจากอะไรแล้วแก้ไขกันครับ”
ถึงเวลาตาวาว สำหรับคนที่มีคำถามมาตลอดการอ่านว่าต้องทำยังไงถึงจะจะมีแว่น custom กับเขาได้ นี่ในหัวปั้นสีทีมบอลที่ชอบมาพร้อม แล้วถ้าอยากได้แคปเฌอมาเป็นคาแรคเตอร์แว่นให้สายโอตะจะทำได้ไหม หรือผมอยากจะเสริมลุคเป็นพี่ลีโอนาโดมาดนี้ครับ อ่ะ! จัดมาให้แล้วก่อนเข้าร้านจะได้เตรียมตัวกัน
คิดเยอะช่วยได้ คิดไม่ออกไม่มีปัญหา
สำหรับเพื่อน ๆ ที่คิดออกมาก่อนแล้วว่าอยากได้แว่นแนวไหน แน่นอนว่าความคิดนั้นจะถูกกลั่นออกมาเฉียบเหมาะกับใบหน้าของคุณที่สุด แต่คนที่ไม่มีบรีฟแต่อยากมีสไตล์เป็นของตัวเองก็อย่ากลัวที่จะเดินเข้ามานั่งคุยกัน เพราะสไตล์ที่แฝงอยู่ของเราจะได้รับการขุดค้นจนเจอแบบที่ใช่จนได้ จากนั้นก็ส่งเข้าสู่ขั้นการผลิตแบบถ่ายทอดตรง ไม่มีลัดให้ส่วนไหนตกหล่นไประหว่างทางแน่นอน เพราะตั้งแต่แป้นจมูกถึงปลายขาแว่นทุกขั้นตอนคิดและลงมือทำด้วยตัวเองล้วนทุกกระบวนการ
“แว่นอันนึง ถ้าให้มาแตกละเอียดไปเลยมันจะมีประมาณ 260 ขั้นตอนที่เราจะทำออกมาได้แว่นหนึ่งอัน อันนี้ยังไม่นับถ้ามันดีไซน์ที่แปลกไป มันไม่มีทางลัดเลยในการที่ทำแว่นแฮนด์เมดอันนึง มันคราฟต์ทุกขั้นตอนจริง ๆ”
เวลาต่อคน ต่อชิ้นนานไหม ?
โดยประมาณอยู่ที่ราว 1 เดือน อาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม สำหรับ UNLOCKMEN เราคิดว่ามันไม่มากไม่น้อยเกินไปหากคุณเป็นคนที่หาแว่นที่ใช่มานานแต่ยังไม่เจอสักที ส่วนคนที่สงสัยว่าเวลาหายไปกับขั้นตอนไหนบ้าง บอกสังเขปคร่าว ๆ ตามลำดับดังนี้
ประกันการใช้งาน ?
ยิ่งกว่าเรื่องออกแบบต้องยกนิ้วให้กับการ service ดีไม่ทิ้งกัน เพราะเขารับประกันตัวแว่น custom ด้วยตลอดชีพ! ฟังไม่ผิดหรอก ถ้ามีปัญหาอะไรก็กลับมาปรึกษาได้ตลอด หรืออยากจะขัดเงา จะล้าง ก็สามารถบอกได้ทั้งหมดด้วย
หวังว่าจะถูกใจชาว UNLOCKMEN ทุกคน เพราะครั้งนี้เราเฟ้นเรื่องน่าสนใจมาแบ่งปันกันหมดเปลือกแบบ Raw material, Raw thinking ใครที่อยากสัมผัสของจริงให้เข้าไปที่ซอยด้านข้างตึกมหาทุน เดินทางสะดวกใกล้ BTS สถานีเพลินจิต หรือเข้าไปส่องแบบของเขาได้ก่อนทาง facebook
จะ Raw กว่านี้ก็แบกโจทย์เรื่องแว่นไปเจอพวกเขาที่ร้านนะ รับรองแก้ได้ทุกเม็ด ไม่เชื่อก็ลองไปดู