Life

DEFENSE MECHANISMS: กลไกทางจิตใจที่ทำให้เราหลอกตัวเองและไม่ยอมรับความจริง

By: unlockmen February 12, 2021

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ชอบความรู้สึกแย่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด ความเศร้า หรือ ความกังวล เราจึงมีกลไกทางจิตที่เรียกว่า ‘กลไกป้องกันตนเอง’ เพื่อใช้ในการหนีจากความความรู้สึกเหล่านี้  ปัญหา คือ บางครั้งกลไกเหล่านี้ก็ทำให้เราแก้ปัญหาชีวิตได้แย่ลงเหมือนกัน UNLOCKMEN จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจเรื่องกลไกป้องกันตนเองมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เรารับมือกับมันได้ดีขึ้นด้วย


กลไกป้องกันตนเอง คือ อะไร?

กลไกป้องกันตนเอง (defense mechanisms) เป็นทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันโด่งดัง แนวคิดนี้จะพูดถึงกลยุทธ์ทางจิตที่กระตุ้นให้ มนุษย์ แสดงพฤติกรรมอะไรบางอย่างเพื่อหลีกหนีจากเหตุการณ์ ความคิด หรือ การกระทำที่ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่พอใจ หรือ ยากที่จะยอมรับได้ ซึ่งกลยุทธ์ทางจิตนี้จะเป็นตัวช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากภัยคุกคาม และหลังจากที่ ฟรอยด์ ทำให้โลกรู้จักทฤษฏีนี้แล้ว มันก็ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ และมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยว่ากันว่า กลไกป้องกันตนเองที่เราพบเห็นได้บ่อยมีทั้งหมด 10 แบบ ได้แก่

ปฏิเสธ (Denial) – มันคือการที่เราไม่ยอมรับความจริงหรือข้อเท็จจริงอะไรเลย เพราะเรากลัวว่าถ้าให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านั้นแล้ว มันจะทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด หรือ ไม่มีความสุข ยกตัวอย่างเช่น สามีที่ไม่ยอมรับว่าภรรยานอกใจ เพื่อรักษาความสุขของการมีชีวิตคู่ไว้

เก็บกด (Repression) – บางครั้งการคิดถึงประสบการณ์อันเลวร้าย ความทรงจำ หรือ ความคิดแย่ ๆ ก็ทำให้เราอารมณ์เสียได้เหมือนกัน เราจึงเลือกที่จะซ่อนมันเอาไว้ เพื่อจะลืมความเจ็บปวดเหล่านั้นได้ในสักวัน ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เคยเจอกับความรุนแรงในครอบครัว มักเลือกที่จะกดความทรงจำเหล่านั้นไว้ ซึ่งข่าวร้าย คือ ความทรงจำที่ถูกกดไว้มักส่งผลต่อพฤติกรรมของพวกเขาเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และทำให้พวกเขามีปัญหาในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

ฉายความรู้สึก (Projection) – บางครั้งความคิดหรือความรู้สึกที่เรามีต่อคนอื่นก็ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจได้เหมือนกัน เราจึงโยนความรู้สึกนั้นไปให้คนอื่นแทน ยกตัวอย่างเช่น ความจริงเราไม่ชอบเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง แต่เราเลือกที่จะคิดว่าเขาไม่ชอบเรา เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องรับภาระจากความรู้สึกแย่ ๆ

ระบายกับสิ่งอื่น (Displacement) – เมื่อเราเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้อารมณ์เสีย เราอาจใช้วิธีการระบายอารมณ์นั้นใส่คนหรือวัตถุแทน เพื่อให้เรารู้สึกดีขึ้น วิธีนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการเผชิญหน้ากับต้นตอของปัญหาตรง ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่เครียดเรื่องงาน แล้วไปทำร้ายเด็ก การลงไม้ลงมือกับเด็กช่วยให้พวกเขาไม่ต้องไปเผชิญหน้ากับหัวหน้าโดยตรง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาที่ยิ่งใหญ่มากกว่า เช่น โดนไล่ออกจากงาน หรือ โดนกลั่นแกล้งในที่ทำงาน

ถอยหนี (Regression) – การเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกกังวล เครียด หรือ ไม่สบายใจ อาจทำให้เราพยายามหนีจากมัน ยกตัวอย่างเช่น บางคนเวลาเจอกับปัญหาชีวิต อาจกลับไปมีพฤติกรรมเหมือนตอนเด็ก เช่น นอนกอดตุ๊กตา กินอาหารที่ชอบแบบไม่บันยะบันยัง สูบบุหรี่ พวกเขามักหลีกเหลี่ยงการสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันหนักหน่วงเกินไป

หาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง (Rationalization) – บางคนพยายามอธิบายพฤติกรรมที่ตัวเองไม่ชอบ ด้วยเหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง เพราะการหลอกตัวเองช่วยให้เกิดความสบายใจมากกว่าการยอมรับความจริง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไม่ได้งานที่อยากทำ อาจบอกกับตัวเองว่า “ไม่ได้อยากทำงานนี้ตั้งแต่แรก” เพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดหวังกับมันมาก

เปลี่ยนความรู้สึกให้กลายเป็นสิ่งที่ดี (Sublimation) – กลไกนี้จะมีความคล้ายกับ Displacement แต่ต่างกันตรงที่เราจะเอาความรู้สึกไม่สบายใจมาใส่ในกิจกรรมหรือสิ่งที่เหมาะสม และไม่เป็นอันตรายกับคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น คนที่เลือกออกกำลังกายเพื่อระบายอารมณ์ แทนที่จะไประเบิดอารมณ์ใส่คนอื่น

ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้สึก (Reaction formation) – คนที่ถูกความลบจู่โจมมาก ๆ อาจทำในสิ่งตรงกันข้าม เพื่อหักล้างความรู้สึกแย่ ๆ ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คนที่รู้สึกว่าการแสดงความโกรธ หรือ ความเศร้า ออกมาให้คนอื่นเห็นเป็นเรื่องต้องห้าม อาจเลือกที่จะทำให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองมีความสุขตลอดเวลา เพื่อทดแทนการแสดงความรู้สึกที่ซ่อนอยู่

แยกส่วนชีวิต (Compartmentalization) – การแบ่งชีวิตออกเป็นคนละส่วน เช่น แยกบุคลิกตอนทำงานออกจากตอนอยู่กับครอบครัว อาจทำให้บางคนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คุณครูบางคน อาจเป็นคนดูแลเอาใจใส่และตามใจคนอื่นตลอดเวลาเมื่ออยู่กับครอบครัว แต่พออยู่กับนักเรียน กลับเป็นคนหัวแข็งไม่ยอมฟังความคิดเห็นใคร

สนใจเหตุผลมากกว่าอารมณ์ (Intellectualization) – บางคนเวลาเจอกับปัญหาที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี อาจหันมาแก้ปัญหาด้วยวิธีการกำจัดอารมณ์ และทุมเทความสนใจไปที่ข้อมูลและเหตุผลอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น คนที่รู้สึกผิดหลังจากลาออกจากงาน อาจหันมาใช้เวลาในการวางแผนและศึกษาเรื่องการหางานใหม่อย่างจริงจัง เพื่อให้ตัวไม่สนใจความรู้สึกที่เกิดขึ้น


กลไกป้องกันตนเองไม่ได้ดีเสมอไป

แม้กลไกทางจิตเหล่านี้จะมีข้อดีตรงช่วยให้เราปลอดภัยจากความเครียด ความกังวล และความรู้สึกแย่อื่น ๆ แต่บางกลไกก็มีข้อเสียเหมือนกัน เช่น Denial หรือ Rationalization เพราะมันทำให้เราติดอยู่ในภาวะ ‘หลอกตัวเอง’ (self-decption) ไม่สามารถยอมรับความจริงได้ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องรู้เท่าทันกลไกเหล่านี้ โดยการหันมาทำความเข้าใจตัวเอง ยอมรับความเป็นจริงให้มากขึ้น หรือ ลองพูดคุยกับคนอื่นเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาดู สิ่งเหล่านี้จะเป็นก้าวแรกที่ทำให้เรารับมือกับจิตใจของตัวเองได้ดีขึ้น และอาจส่งผลให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ตามมา


Appendixs: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line