Life

‘Emotional Baggage’ เมื่อความทุกข์จากอดีตล้นใจ จนก้าวไปข้างหน้าไม่ได้

By: unlockmen October 4, 2021

ชีวิตของมนุษย์มักไม่สมบูรณ์ แต่ละคนล้วนเจอเรื่องดีและเรื่องร้ายปะปนกันไปในชีวิต ประสบการณ์ที่ดีมักทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิต ส่วนความทรงจำที่เลวร้ายอาจบั่นทอนชีวิตของเราได้หลายระดับ บางคน move on จากปัญหาได้เร็ว บางคน move on ได้ช้า จึงโดนความทรงจำทำร้ายอย่างหนักหนาสาหัญมากกว่าคนอื่น

UNLOCKMEN จึงอยากมาแนะนำวิธีรับมือกับ Emotional Baggage เพื่อให้ทุกคนสามารถ move on จากอดีตได้เร็ว ขึ้นและสามารถกลับมามีชีวิตแบบปกติอีกครั้ง

 

อะไร คือ สัมภาระอารมณ์ (Emotional Baggage)

Emotional Baggage หมายถึง มวลอารมณ์ลบที่เราสะสมจากประสบการณ์ที่ย่ำแย่ในอดีต เช่น เคยอกหักรักคุด เคยสูญเสียคนสำคัญในชีวิต เคยทำผิดพลาดครั้งใหญ่จนตกงาน หรือ เคยมีช่วงชีวิตที่ย่ำแย่ในวัยเด็ก เป็นต้น ซึ่งถ้าเราไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ลบเหล่านี้ได้อย่างดี มันอาจพัฒนาเป็นปมด้อยที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้หลายอย่าง เช่น ทำให้มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง มองโลกในแง่ลบ หรือ ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง เป็นต้น

Emotional Baggage เป็นคำเปรียบเทียบของอารมณ์ตกค้าง หรือ Trapped emotion ซึ่งมักเกิดขึ้นเวลาที่เราเจอกับเรื่องสะเทือนใจ เพราะผลของเหตุการณ์ อาจทำให้เรารู้สึกช็อคจนไม่สามารถประมวลผล ยอมรับ หรือ แสดงอารมณ์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และเก็บซ่อนความรู้สึกที่เกิดขึ้นเอาไว้ในใจโดยที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว

วิทยาศาสตร์เชื่อว่า สุขภาพจิตและสุขภาพกายของมนุษย์มีความเชื่อมต่อกัน กล่าวคือ หากสุขภาพจิตเสีย สุขภาพกายก็เสีย หรือ ถ้าสุขภาพกายเสีย สุขภาพจิตก็เสียตามมาเหมือนกัน อารมณ์ติดค้างสะสมทำให้เรารู้สึกตรึงหรือปวดเมื่อกล้ามเนื้อ เกิดความไม่สบายกายและไม่สบายใจ เกิดความเครียด และความเหนื่อยล้า จนสุดท้ายเราอาจเบิร์นเอ้าท์และซึมเศร้าได้ง่ายกว่าปกติ

ความรู้สึกจึงเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักไม่ต่างจากสัมภาระที่อยู่ในกระเป๋าของเรา เราไม่สามารถเก็บมันไว้ได้นาน  ตอนแรกเราอาจแบกมันไหว เพราะยังมีแรงอยู่ แต่สุดท้ายเราก็ต้องเหนื่อยและหมดแรงอยู่ดี ทางที่ดี คือ ควรรีบวางสัมภาระเหล่านั้นลงจะดีกว่า


วิธีรับมือกับ Emotional Baggage

หากใครไม่สามารถ move on จากเหตุการณ์แย่ ๆ ในอดีต และยังได้รับผลกระทบจากมันจนถึงปัจจุบัน UNLOCKMEN อยากจะมาแนะนำวิธีการรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง และกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติตามเดิมกัน

เข้าใจความรู้สึกตัวเอง – ยิ่งเรามีความรู้เกี่ยวกับอารมณ์ของตัวเองมากเท่าไหร่ เรายิ่งจะจัดการกับมันได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์บอกว่า การติดฉลากอารมณ์ (Emotional Labeling) สามารถลดความรุนแรงของอารมณ์ลงได้ กล่าวคือ ถ้าเราสามารถรับรู้ประเภทของอารมณ์ สามารถตั้งชื่อให้มัน และจัดสรรมันออกกลุ่มบวกลบได้ มันก็มีโอกาสที่อารมณ์เก็บกดจะมีความรุนแรงน้อยลง

จัดการกับปมปัญหาในอดีต – วิธีรับมือกับความรู้สึกจากความทรงจำในอดีตที่ดีที่สุด ยังคงเป็นการเผชิญหน้ากับมัน เพราะหากเราเข้าใจว่าประสบการณ์แย่ ๆ เช่น การเติบโตในครอบครัวที่เลี้ยงดูเราไม่ดี หรือ การอกหัก ส่งผลให้เรารับมือกับอารมณ์แย่แบบไหน เช่น ด่าตัวเอง หลีกหนีผู้คน หรือ ใช้ชีวิตอย่างโศกเศร้า เราก็สามารถปรับปรุงพฤติกรรมรับมือของเราให้มีปัญหาน้อยลงได้

ค้นหาด้านมืด – เรามักซ่อนอารมณ์ที่ยอมรับได้ยากเอาไว้ในใจ เช่น ในเวลาที่อยากร้องไห้ เราอาจเก็บอารมณ์และไม่ร้องไห้ออกมา เพราะเราได้รับการสั่งสอนว่าเป็นลูกผู้ชายห้ามร้องไห้ เป็นต้น ซึ่งอารมณ์เหล่านี้อาจกลายเป็นด้านมืดที่ซ่อนอยู่ในใจ จนทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ แต่ข่าวดี คือ มันสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยเทคนิคที่เรียกว่าการ ‘ค้นหาด้านมืด’ หรือ Shadow Work ซึ่งมีหลายวิธีมาก หนึ่งในนั้นคือ การพูดถึงปัญหาของตัวเองให้คนที่เรารัก หรือ นักบำบัด มันจะช่วยให้เรายอมรับมันได้มากขึ้น และสมเพศตัวเองน้อยลง

เคลื่อนไหวร่างกาย – การเต้น การเล่นโยคะ การฝึกศิลปะการต่อสู้ การเดินสมาธิ หรือ การฝึกรำไทเก๊ก ล้วนทำให้เรารับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายเหล่านี้มักทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ช่วยให้สมองของเรารับรู้ความแตกต่างระหว่างความเครียดและการผ่อนคลาย แถมยังช่วยให้เราปลดปล่อยอารมณ์ที่เก็บกักเอาไว้ออกมาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ฝึกอยู่นิ่ง – การอยู่นิ่งจะทำให้เราเกิดภาวะ “self-generated cognition” หรือภาวะที่เราสามารถอยู่กับความคิดและความรู้สึกของตัวเองในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง โดยไม่ได้รับการรบกวนจากสิ่งอื่น (คล้ายกับการฝันกลางวัน) ภาวะนี้จะทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกับความคิด อารมณ์ และความต้องการของตัวเองได้มากขึ้น พร้อมมกับทำให้อารมณ์ที่ซ่อนอยู่ ปรากฎตัวให้เราเห็นได้ง่ายขึ้น และจะจัดการกับมันได้ง่ายขึ้นตามมา หากใครอยากฝึกฝนการอยู่นิ่ง ขอแนะนำให้ลองทำสมาธิ หรือ ฟังเพลงที่สร้างความรู้สึกผ่อนคลายดู

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการจัดการกับอารมณ์ตกค้างอย่างง่าย ที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองไปทำกัน หวังว่ามันจะทำให้ทุกคนสามารถก้าวข้ามความผิดพลาดในอดีต และกลับมามีชีวิตที่ยอมเยี่ยมได้เหมือนเดิมอีกครั้ง


Appendix: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line