Life

“แค่คิดถึงเรื่องงานก็เครียดแล้ว” รู้จัก Ergophobia โรคกลัวการทำงานที่หัวหน้าทุกคนควรระวัง

By: unlockmen June 2, 2021

มีหลายสาเหตุที่ทำให้หลายคนไม่อยากทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ความเหนื่อยล้าจากการต้องเผชิญหน้ากับปัญหา COVID-19 เป็นเวลานาน ความเครียด และอื่น ๆ เช่น โรคกลัวการไปทำงาน หรือ Ergophobia ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้เรามากกว่าที่คิด และคนที่เป็นเจ้าของบริษัท ธุรกิจ หรือ องค์กร ควรให้ความสนใจกับมัน

Ergophobia คืออะไร ?

Ergophobia คือ ภาวะที่เรากลัวและกังวลเกี่ยวกับการทำงานหรือการอยู่ในที่ทำงานอย่างหนัก จนส่งผลให้เราเกิดความผิดปกติ เช่น ไม่สามารถไปทำงานได้ มีความทรมานในการทำงาน ต้องออกจากงานกลางครัน หรือ ไม่สามาถเริ่มหางานใหม่ได้ เป็นต้น

โดยสาเหตุที่ทำให้คนเป็น Ergophobia มีทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ พวกเขาอาจเคยประสบกับประสบการณ์ที่น่ากลัวในการทำงาน หรือ อาจเคยเห็นคนอื่นประสบกับเหตุการณ์ที่น่ากลัวในการทำงาน ส่งผลให้พวกเขาเอาประสบการณ์ที่เลวร้ายเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกับที่ทำงาน และพัฒนาอาการ Ergophobia ขึ้นมา

ซึ่งคนที่เป็น Ergophobia มักมีอาการเหล่านี้

  • กลัวหรือกังวลเรื่องงานอย่างหนัก
  • ไม่สามารถหยุดความกังวลหรือความกลัวในเรื่องงานได้
  • มีความกังวลหรือกลัวเรื่องงานเกินจริง
  • มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงหรือหลบหนีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
  • กลัวการถูกจ้างงาน (Fear of Finding Employment)
  • กลัวว่าตัวเองจะทำงานได้ไม่ดี (Fear of Performing Well)
  • กลัวว่าจะทรมานจากการทำงานหนัก (Fear of Distress From Overwork)
เราจะแก้ปัญหา Ergophobia ได้อย่างไรบ้าง ?

เมื่อ Ergophobia เป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และสามารถทำลายความสามารถในการทำงานของพนักงานได้อย่างหนักหน่วง ดังนั้น ผู้นำจึงต้องสามารถหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นกับพนักงานได้ ซึ่งเราอยากให้ทุกคนลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู

ใส่ใจกับการทำงานของพนักงาน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานมีโอกาสเป็น Ergophobia  คือ พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าต่อที่ทำงาน อาจเพราะพวกเขาได้รับการใส่ใจไม่มากพอ จนรู้สึกว่าต่อให้ทำงานหนักหรือดีแค่ไหนก็ไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม จนเกิดความกังวลและความกลัวเรื่องการทำงานขึ้นมา

ปัญหานี้ผู้นำสามารถแก้ไขได้โดยการให้ความสนใจกับพนักงานที่ทำงานหนักมากขึ้น เช่น ให้คำชมแก่พวกเขามากขึ้น หรือ ให้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อมากขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าความพยายามในการทำงานของพวกเขาไม่สูญเปล่า และเกิดแรงจูงใจในการทำงานต่อไป

พัฒนาสกิลของพนักงาน

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานเกิด Ergophobia คือ พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถในการทำงาน  ดังนั้น ถ้าหัวหน้ารับรู้ว่าพนักงานควรพัฒนาหรือเรียนรู้สกิลในด้านใด ก็ควรจัดการฝึกฝนสกิลด้านนั้นให้กับพวกเขา การพัฒนาทักษะ นอกจากจะช่วยให้พนักงานมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากขึ้นแล้ว มันจะส่งผลดีต่อองค์กรในระยะยาวด้วย เพราะพนักงานมีความสามารถในการทำงานมากขึ้น

จัดกิจกรรมผ่อนคลาย

การทำงานเป็นเวลานานโดยไม่มีการพักผ่อน อาจทำให้พนักงานเกิดความเครียด และรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ องค์กรจึงควรจัดกิจกรรมสันทนาการที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดของพนักงาน อาทิ การจัดทริปนอกสถานที่ทำงานทุกเดือน การจัดกิจกรรมผ่อนคลายไม่ได้แค่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้พักเท่านั้น มันยังช่วยให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้นกับการทำงานมากขึ้นด้วย

จัดสรรเวลาทำงานให้ดี

สาเหตุที่ทำให้พนักงานสุขภาพจิตเสียจากการทำงาน คือ พวกเขาไม่สามารถจัดการเวลาในการใช้ชีวิตและการทำงานได้ ส่งผลให้พวกเขาเกิดปัญหาในการใช้ชีวิต ดังนั้น ผู้นำควรจะรับรู้ว่าถ้าพนักงานนำงานหรือความเครียดกลับไปที่บ้าน พวกเขาจะไม่สามารถโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่ และสร้างนโยบายในการทำงานที่จัดสรรเวลาพักผ่อนที่เพียงพอสำหรับพนักงานทุกคน

เชิญนักพูดให้กำลังใจมาพูดที่บริษัท

ถ้าหัวหน้าไม่สามารถให้กำลังใจลูกน้องได้ด้วยตัวเอง การใช้ตัวช่วยอย่างนักพูดให้กำลังใจก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเหมือนกัน เพราะพวกเขามีความเชื่ยวชาญในด้านการจูงใจคนให้มองโลกในแง่บวก และการสร้างแรงจูงใจให้กับคน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเรา

อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดว่าพนักงานหรือหัวหน้ามีอาการ Ergophobia ที่รุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เราขอแนะนำให้ใช้บริการนักบำบัดหรืผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อรับการวินิจฉัยอาการ และการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป


Appendix: 1 /2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line