Life

‘ไม่กล้าเปิดใจให้ใคร เพราะกลัวเจ็บ’ จะทำอย่างไรดีเมื่อเรากลัวการใกล้ชิดกับคนอื่น

By: unlockmen March 16, 2021

เวลาจะสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคน ‘การเปิดใจ’ ดูเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์ที่เกิดใหม่นั้นเติบโตและมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น แต่บางคนก็มีปัญหาเรื่องการเปิดใจให้คนอื่น เพราะกลัวว่าถ้าเปิดใจให้คนอื่นแล้วตัวเองจะต้องพบเจอกับอนาคตที่เจ็บปวด จึงสร้างเกราะป้องกันขึ้นมาไม่ให้ตัวเองมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับใคร และเมื่อพวกเขาปิดกั้นตัวเอง ไม่สนใจคนอื่น พวกเขาก็มักไม่มีความสุขกับความสัมพันธ์มากนัก เราอาจเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นคนที่ ‘กลัวความใกล้ชิด’ และจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาจะต้องเอาชนะความกลัวของตัวเอง


WHAT IS FEAR OF INTIMACY ?

กลัวความใกล้ชิด (Fear of Intimacy) คือ อาการที่เราไม่สามารถมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนอื่นได้ เพราะกลัวว่าถ้ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนอื่นแล้ว จะไม่ได้รับการยอมรับ ถูกทอดทิ้ง หรือ ถูกควบคุมมากเกินไปจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความกลัว โรควิตกกังวล ความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ ไปจนถึง ประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศในวัยเด็ก

โดยคนที่กลัวความใกล้ชิดมักมีลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ เดทกับหลายคนพร้อมกัน เพราะไม่ชอบการผูกมัดกับใคร เป็น perfectionist เพราะคิดว่าตัวเองไม่สมควรได้รับความรักหรือความเคารพจากใคร จึงต้องพยายามพิสูจน์ว่าตัวเองสมบูรณ์แบบอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ได้ เพราะคิดว่าตัวเองไม่ควรได้รับความช่วยเหลือจากใคร ไปจนถึง มีพฤติกรรมทำลายความสัมพันธ์ เช่น พยายามทำตัวน่ารังเกียจ หรือ จงใจผิดใจกับคู่รัก เพื่อตอกย้ำความคิดของตัวเองและผลักอีกฝ่ายให้ออกห่าง

ด้วยอาการเหล่านี้เอง คนที่กลัวความใกล้ชิดจึงมักมีปัญหาเรื่องความมั่นใจในตัวเอง การเข้าสังคม การสร้างความสัมพันธ์ ไปจนถึง การทำงานร่วมกับคนอื่น

อย่างไรก็ตาม คนที่กลัวความใกล้ชิดอาจเป็นคนที่ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใครอยู่แล้ว หรืออาจเป็นคนที่ต้องการความสัมพันธ์ประเภทนั้นมาก ๆ ก็ได้ แต่ความกลัวได้ทำให้พวกเขาสร้างกำแพงกับคนอื่นโดยที่รู้หรือไม่รู้ตัว


HOW TO COPE WITH FEAR OF INTIMACY ?

ความกลัวมักทำให้เราละทิ้งความรับผิดชอบ ขัดขวางความก้าวหน้า และทำลายการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญต่อการสร้างชีวิตที่มีความสุข และเมื่อมันหายไป ความทุกข์ก็มักเกิดขึ้นตามมาเสมอ ดังนั้น คนที่กลัวความใกล้ชิดจึงต้องเอาชนะความกลัวของตัวเองให้ได้ เพื่อความสุขที่มากขึ้น เราอยากให้ทุกคนลองทำวิธีเหล่านี้กัน

เข้าใจผลของการกระทำของตัวเอง

การทำตามความกลัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ทำร้ายจิตใจคนรัก หรือ ปิดตัวเองไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร มักทำให้เรารู้สึกดีและลดความกังวลของเราได้ แต่มันก็ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ และการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้อย่างรุนแรงเหมือนกัน เพราะคงไม่มีใครที่ชอบคนที่ไม่คิดถึงคนอื่นสักเท่าไหร่ ดังนั้น เพื่อให้ทุกอย่างมันดีขึ้น เราควรเข้าใจความกลัวของตัวเอง และเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญ เช่น เริ่มเปิดรับความรักจากคนอื่นให้มากขึ้นทีละน้อย แล้วเราจะพบว่า ความกลัวจะเริ่มมีผลต่อเราน้อยลงไม่มากก็น้อย

ยอมรับในความไม่แน่นอน

หลายคนที่กลัวความสัมพันธ์ มักกลัวอนาคตด้วย เช่น กลัวว่าความสัมพันธ์จะมีจุดจบที่ไม่ดี หรือ มีปัญหาระหว่างทาง ซึ่งการคิดถึงอนาคตในแง่นี้ มักสร้างความเครียดให้กับพวกเขาอย่างหนัก เมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์เสมอ การคิดถึงอนาคตในแง่นี้จึงมีแต่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ และไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนัก เราเลยควรเอาเวลาในการจม มาใช้ในการวางแผนและทำตัวเองให้ดีเพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดในอนาคตจะดีกว่า

ทบทวนอดีตของตัวเอง

บางครั้งสิ่งที่เราทำกับครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก เราอาจทำมันกับคนอื่นด้วย เช่น ถ้าเราโตมาในครอบครัวที่เคร่งระเบียบ เราถูกบังคับและถูกคาดหวังในหลาย ๆ เรื่อง มันก็ส่งผลให้เราปิดซ่อนความต้องการของตัวเอง และพยายามทำให้คนอื่นประทับใจตลอดเวลาได้เหมือนกัน ดังนั้น เราอาจต้องย้อนกลับไปดูว่า ความสัมพันธ์ของเรากับครอบครัวพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง ถ้าเราเพิกเฉยต่อเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต มันก็มีโอกาสสูงที่เราจะทำตามความกลัวของตัวเองไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด

ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์

คนที่กลัวความใกล้ชิด บางทีก็ทุ่มเทให้กับงานมาก ๆ เพื่อละความสนใจจากความกลัวและกังวลของตัวเอง พฤติกรรมแบบนี้มักส่งผลให้เราเพิกเฉยต่อความสัมพันธ์ของตัวเอง และทำสิ่งที่ไม่ควรทำได้โดยไม่รู้สึกอะไร ดังนั้น แทนที่จะโฟกัสอยู่กับเรื่อใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ เราควรฝืนตัวเองมาโฟกัสกับเรื่องความสัมพันธ์บ้าง และเมื่อเราเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์มากขึ้นแล้ว การเอาชนะความกลัวก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้ากับความกลัวด้วยตัวเองมักเป็นเรื่องที่หนักหน่วงสำหรับคนหนึ่งคน ดังนั้น พยายามหาเพื่อนร่วมทาง ไม่ว่าจะเป็น คนรัก หรือ คนในครอบครัว ไปเผชิญกับความกลัวของเราด้วยกันจะดีกว่า


Appendixs: 1 / 2 /3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line