Life

“กลัวว่าเพื่อนจะแบนและตามคนอื่นไม่ทัน” รู้จัก FOMO อาการกังวลว่าเราจะพลาดสิ่งดี ๆ

By: unlockmen February 16, 2021

เพราะเรามีโซเชียลมีเดีย เราเลยชอบเปรียบเทียบกันและแข่งขันกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมถึง การใช้ชีวิต ปรากฎการณ์นี้อาจทำให้คนรุ่นใหม่เจอกับอาการ FOMO และไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขดังเดิมได้ เพราะมันนำมาซึ่งปัญหาด้านความรู้สึกที่หนักหน่วง


FOMO คืออะไร ?

อาการ FOMO มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Fear Of Missing Out คือ อาการที่เรากลัวว่าตัวเองจะพลาดโอกาสดี ๆ ที่คนอื่นกำลังเจออยู่ ไม่ว่าจะเป็น กลัวว่าเพื่อนจะไปเฉลิมฉลองกันโดยที่ไม่ชวนเรา หรือ กลัวว่าคนอื่นกำลังทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกัน ๆ โดยที่ไม่มีเราอยู่ในนั้น ซึ่งปัญหานี้มักเกิดขึ้นเพราะความอิจฉา และส่งผลให้เรามีความภูมิใจในตัวเอง หรือ self-esteem ต่ำลงด้วย

โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Instagram ดูจะเป็นตัวการที่ทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น เพราะมันทำให้เราเห็นเรื่องราวชีวิตของคนอื่นมากขึ้น และแน่นอนว่ามันก็ทำให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่นมากขึ้นเช่นกัน เราอาจเห็นภาพของเพื่อนที่กำลังใช้เวลาดี ๆ ร่วมกันได้ง่ายขึ้น เช่น กำลังปาร์ตี้กันอยู่ หรือ กำลังจะได้เลือนขั้น แต่เรายังนั่งทำงานอยู่ และมองไม่เห็นอนาคตเลย นำไปความรู้สึกว่าตัวเองกำลังขาดอะไรบางอย่างอยู่ หรือ ความกังวลว่าตัวเองกำลังถูกกีดกันออกจากกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม FOMO เป็นคอนเซ็ปท์ที่มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ และเริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังหลังปี 1996 โดย Dr.Dan Herman นักกลยุทธ์การตลาด ทำงานวิจัยที่ค้นพบอาการกลัวพลาด (fear of missing out) ในมนุษย์ และเผยแพร่มันในวารสาร The Journal of Brand Management ปี 2000

Patrick J. McGinnis ได้ทำให้คำว่า FOMO กลายเป็นที่นิยมในปี 2004 โดยเขาได้เขียนถึงมันในบทความที่เผยแพร่ในนิตยสาร The Harbus ของ Harvard Business School บทความความนี้เขาพูดความกลัวที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคมโรงเรียน ได้แก่ FOMO และ FoBO ( Fear of a Better Option ) หรือ อาการที่เรากลัวความคิดเห็นที่ดีกว่าตัวเอง


มันส่งผลเสียต่อเราอย่างไรบ้าง

นอกจากจะทำให้เรามองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง และเป็นทุกข์กับชีวิตแล้ว FOMO อาจทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงามากกว่าปกติด้วย อ้างอิงจากงานวิจัยที่เผยแพร่ใน Journal of Social and Personal Relationships ฉบับเดือนธันวาคมปี 2020

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 419 คน เป็นผู้ชาย 98 คน ส่วนใหญ่เป็นคนขาว และมีช่วงอายุระหว่าง 14 – 47 ปี พวกเขาจะต้องทำแบบทดสอบหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น แบบทดสอบวัดระดับ self-compassion (Self-compassion scale) แบบทดสอบวัดการใช้งานโซเชียลมีเดีย (Social media engagement) แบบทดสอบวัดระดับความภาคภูมิใจในตัวเอง (Rosenberg Self-Esteem Scale) รวมถึง แบบสำรวจอาการกลัวพลาดโอกาส (Fear of Missing Out Survey)

ข้อมูลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า FOMO เกี่ยวข้องกับ ความโดดเดี่ยว ความภาคภูมิใจในตัวเอง รวมถึง self-compassion ที่ต่ำลงโดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุ โดยคนที่มีอาการ FOMO สูงมักจะรู้สึกโดดเดียวเปลี่ยวเหงามากกว่าคนอื่น รวมถึงมองตัวเองแย่ ไม่ค่อยยอมรับในตัวเอง (less self-acceptance) และไม่ค่อยใจดีกับตัวเอง (less self-kindness)


จะก้าวข้ามอาการ FOMO ได้อย่างไร ?

เมื่อคนที่เป็น FOMO ไม่รักตัวเอง ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง ไม่ยอมรับในตัวเอง และไม่แคร์ความต้องการของตัวเอง พวกเขาก็จะเป็นทุกข์จากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา ดังนั้น ใครที่มีอาการ FOMO อยู่ก็คงต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว ซึ่งอาการ FOMO ที่เราพบบ่อย ได้แก่ อยากทำทุกอย่างและอยากอยู่ในทุกที่ แต่ไม่รู้สึกผูกมัดกับสิ่งที่เราอยากทำหรือสถานที่ที่เราอยากไป ถ้ามีสิ่งที่ดีกว่าเราก็เปลี่ยนได้อย่างง่ายดาย, ดูโซเชียลมีเดียตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น อีเมล์ เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือ อินสตราแกรม, รู้สึกแย่เมื่อเราพลาดอะไรบางอย่างไป, ประสบการณ์ใหม่ ๆ ดึงดูดความสนใจเราได้เสมอ และรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถตามคนอื่นทันได้

เบี่ยงเบนความสนใจของเราไปยังเรื่องอื่น

คนที่เป็น FOMO มักโฟกัสไปที่สิ่งตัวเองขาด เกิดอาการอิจฉาสิ่งที่คนอื่นมี ซึ่งส่งผลให้พวกเขาเป็นทุกข์ ถ้าพวกเขาหันมาโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองมีจะช่วยให้ทุกอย่างมันดีขึ้นได้ อาจเริ่มจากการกำจัดสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแย่บนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนที่ชอบโอ้อวด หรือ เพจต่าง ๆ ที่ชอบขายฝัน เมื่อสิ่งที่ทำให้เราเกิดอาการ FOMO มีน้อยลงแล้ว เราจะพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่มากขึ้น และมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นตามมา

พบปะผู้คน

ถ้าเราเสียเวลาไปกับการไถ่โซเชียลมีเดีย และดูหน้าฟีดของเพื่อน ๆ อาจยิ่งทำให้เราเป็น FOMO และรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงามากขึ้นได้ พยายามเจอกับผู้คนแบบต่อหน้ามากขึ้น และมีความสัมพันธ์กับผู้คนบนโซเชียลมีเดียให้น้อยลง จะช่วยให้เรารู้สึกตัวคนเดียวน้อยลง และไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลัง missing-out เพราะเราได้ใช้เวลาร่วมกับคนอื่นจริง ๆ

เรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

เวลาเราเปรียบเทียบกับคนอื่น เรามักจะสนใจแต่สิ่งที่คนอื่นมี และสิ่งที่ตัวเองขาด จนไม่สามารถชื่นชมในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเป็นทุกข์ ดังนั้น คนที่เป็น FOMO จึงควรฝึกฝนการรักตัวเอง หรือ self-compassion ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเลิกนิสัยชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น

เลิกคิดว่าเรามีโอกาสเพียงครั้งเดียว

บางเรื่องถ้าเราพลาดไป มันก็ยังมีโอกาสที่เราจะทำมันได้ใหม่ในครั้งหน้า ไม่ว่าจะเป็น การไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน หรือ การกินเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องกังวลหรือเศร้า ถ้าเราพลาดโอกาสที่จะมีช่วงเวลาดี ๆ แถมบางครั้งเราอาจจะไม่ได้อยากทำเรื่องเหล่านั้นด้วย แต่เราต้องทำ เพราะเราอิจฉาเพื่อน ดังนั้น การพลาดโอกาสนั้นไปก็อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เราคิดทบทวนเกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น

ที่สำคัญเราต้องอย่าลืมว่า ทุกคนมีข้อจำกัด และไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง เราไม่สามารถไปเจอกับเพื่อนได้ทุกครั้งที่มีการนัด เพราะวันนั้นเราอาจงานยุ่งจนไม่มีเวลาว่าง และยอมรับความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยให้เส้นทางชีวิตของเรากลายเป็นเส้นทางแห่งความสุขได้


Appendixs  1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line