Work

สมรภูมิฟรีแลนซ์ไทย! ไขปริศนาทำไมบางคนเงินดี มีอิสระ แต่บางคนยังกินมาม่า ใช้ชีวิตเหมือนโดนขัง

By: anonymK May 16, 2019

วงการฟรีแลนซ์เป็นวงการที่มี range แบ่งเรตเงินกว้างมาก ๆ ดังนั้น พอพูดถึงชีวิตคนรอบข้างที่เป็นฟรีแลนซ์เราอาจจะไปเจอคนที่ใช้ไลฟ์สไตล์โคตรชิล ลงรูปกินดีอยู่ดี สภาพเหมือนได้เที่ยวตลอดเวลาจนรู้สึกอิจฉา แต่กับบางคนเราเจอสเตตัสฟรีแลนซ์ที่ตาโหล นอนดึก สาปแช่งชะตาชีวิตและกินมาม่าให้เห็นประจำ ทำไม “ฟรีแลนซ์” ถึงเป็นอย่างนั้น แล้วสถานการณ์ของคนที่อยากจะเข้าวงจรฟรีแลนซ์ต้องทำอย่างไร มาดูไปพร้อมกัน

ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ณ เดือนธันวาคม 2018 เผยสถิติหลายเรื่องที่น่าสนใจหลายด้านจากการสำรวจฟรีแลนซ์ทั้งแง่ของอาชีพ รายได้ เวลาในการทำงาน พร้อมความจริงที่ช่วยดันทำให้เราได้กลายเป็นฟรีแลนซ์เงินดีด้วยว่าเราต้องเสริมสิ่งไหนเข้าไปกันแน่

ฟรีแลนซ์ไทยเขาทำอาชีพอะไรกัน

ก่อนอื่นถ้าพูดถึงฟรีแลนซ์ หลายคนคงอยากรู้ว่าตอนนี้วงการไหนบ้างที่มีฟรีแลนซ์แทรกซึมอยู่ คงต้องบอกว่ามีหลากหลายประเภทตั้งแต่อาชีพสร้างสรรค์งานที่ทำงานรวดเร็ว จบเป็นงาน ๆ ไปอย่าง นักแสดง ช่างแต่งหน้า งานวิจัย ไปจนถึงอาชีพหนัก ๆ อย่างหมอ นักบัญชี ฯลฯ  แต่ปัจจุบันเขาแบ่งงานออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 5 ประเภทที่รับผิดชอบตามลักษณะตามลำดับจากมากไปน้อย ดังต่อไปนี้

  • อันดับ 1 งานรับจ้างทั่วไป ไม่ระบุรายละเอียด สากกระเบือยันเรือรบ 34%
  • อันดับ 2 งานสอนและงานวิจัย 11%
  • อันดับ 3 พนักงานขาย 10%
  • อันดับ 4 สายครีเอทีฟ 10%
  • อันดับ 5 ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 9%

เส้นทางการเติบโตของอาชีพไม่ประจำระบุว่าบรรดากลุ่มฟรีแลนซ์เกินครึ่งจากการสำรวจ ใช้วิธีหางานผ่านคอนเนคชั่นมากกว่าการหาทางโซเชียลหรือเอเจนซี่ แต่ทั้งสองช่องทางนี้ก็ตอบโจทย์กลุ่มฟรีแลนซ์ที่ต่างกัน เพราะพวกหน้าใหม่อาจจะยังไม่มีคอนเนคชั่นมากมายจำเป็นต้องใช้โซเชียลก่อน เพื่อสร้างโปรไฟล์ให้เป็นที่รู้จัก ส่วนหน้าเก่าที่มีคอนเนคชั่นอยู่แล้วก็เน้นได้จากการผูกปิ่นโตไปมายาว ๆ ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร

เวลาเป็นเงินเป็นทอง แต่ใช่ว่าฟรีแลนซ์ทุกคนจะได้เงินคุ้มเวลา

บางคนบอกว่าฟรีแลนซ์ใช้เวลาน้อยกว่างานประจำแต่ได้เงินเยอะกว่า ชีวิตเราวันนี้มันต้อง Work smart กำกับชีวิตได้ตามต้องการได้ แต่ชีวิตของฟรีแลนซ์ไทยที่สำรวจมาได้กลับให้คำตอบในทางตรงกันข้าม โดยยืนยันว่า

“งานเยอะ ไม่ได้แปลว่าเงินเยอะ”

ปกติฟรีแลนซ์ไทยใช้เวลาราว 3-8 ชั่วโมงในการทำงานต่อวัน เมื่อนำมาแบ่งช่วงเวลาเทียบกับจำนวนรายได้ที่กำหนดตัวเลขไว้ที่ 3 ช่วง ได้แก่ ต่ำกว่า 15,000 บาท ระหว่าง 15,000 – 49,999 บาท และ 50,000 บาท พบว่าคนที่ใช้เวลาทำงานน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วนสูงถึง 26% นั่นก็แปลว่าโอกาสของรายได้ไม่ได้อยู่กับความมากน้อยของเวลาอย่างที่เข้าใจ แต่ขึ้นอยู่กับคุณค่ากับมูลค่าของงานชิ้นนั้นและการบริหารเวลามากกว่า เพราะการโหมใช้ร่างนอนเช้าอาจจะเป็นการทำงานแบบสูญเปล่า ต่อให้หาเงินได้ก็ต้องเอาเงินไปหาหมอ หรือคุณภาพงานห่วยลงจากความหนืดของร่างกาย ซึ่งสุดท้ายมันจะวนลูปกลับมาที่การกดราคางานทำให้ตกต่ำไปเป็นทอด ๆ

ฟรีแลนซ์ค่าจ้างสูงหรือต่ำวัดจากอะไร

เวลาไม่เกี่ยวแล้วอะไรที่ทำให้ฟรีแลนซ์บางคนได้ค่าจ้างเยอะกันแน่ เรื่องนี้เราได้สรุปปัจจัยที่ส่งผลกระทบแล้ว 2 เรื่องหลัก ๆ ซึ่งเชื่อว่าหลายเรื่องบางคนเองอาจจะยังเข้าใจกันผิดอยู่ต่อไปนี้

  1. เรียนสูงเงินก็สูงตาม : คนส่วนใหญ่คิดว่าประสบการณ์คือเหตุผลหลักเดียวที่ทำให้คนจ้างสู้ราคาต่อรองของฟรีแลนซ์ แม้มันจะจริง แต่เรื่องระดับการศึกษาก็มีเช่นเดียวกัน เพราะการสำรวจพบว่าฟรีแลนซ์ที่มีรายรับหลักแสนต่อเดือนเป็นฟรีแลนซ์ที่จบปริญญาโทขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 13% ขณะที่ปริญญาตรีที่ได้รายรับหลักแสนมีเพียง 4% เท่านั้น หรือโอกาสน้อยกว่าราว 3 เท่า
  2. คอนเนคชั่นดีกว่า เงินก็ดีกว่า : เรามักจะได้ยินคำบ่นว่าคนกันเองชอบกดราคา แต่ถ้าเทียบกับการลงไปแข่งขันในโซเชียลแล้ว โอกาสโดนกดเงินจะมากกว่าเพราะคู่แข่งเยอะกว่า ดังนั้น เราจึงเห็นว่างานสร้างสรรค์บางชิ้นกดไปจนเหมือนแทบทำงานฟรีไม่ได้อะไรเลย และทำให้มาตรฐานราคาต่ำลงจนทั้งวงการย่ำแย่เพื่อให้ได้รับเลือก

ทุกวันนี้ “ฟรีแลนซ์” กลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน เพราะเห็นภาพเพียงมุมเดียวจากคนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ประสบความสำเร็จ บางคนพอเข้ามาในวงการนี้ แล้วเก็บกระเป๋ากลับบ้านไปอย่างผิดหวังเพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของงานก็มี เราหวังว่าสถิติจากการสำรวจครั้งนี้จะทำให้ชาวฝิ่นทุกคนปรับตัวได้ ไหวตัวทัน และหาเงินหาทองกลับมาได้เยอะ ๆ และใช้ชีวิตโลดแล่นแบบมีความสุข อิสระได้อย่างที่ต้องการ

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line