Life

“พูดด้วยความหวังดี หาว่าไม่เข้าใจกันซะงั้น” วิธีการทำให้คนอื่นเข้าใจเรามากขึ้น

By: unlockmen November 17, 2020

รู้สึกไหมว่าจิตใจมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง เราไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอะไรอยู่ และแทบไม่รู้ว่าคนอื่นคิดยังไงกับเราบ้าง บางครั้งเราพูดอะไรออกไป เราคิดว่าคนอื่นจะเข้าใจเรา และก็ต้องผิดหวัง เมื่อคนอื่นไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูดเลย การสื่อสารที่แย่ ไม่ได้นำมาซึ่งความไม่เข้าใจกันเพียงอย่าง แต่อาจร้ายแรงถึงขั้นทะเลาะกันจนความสัมพันธ์ร้าวฉานได้ในที่สุด ซึ่งในสังคมที่พลุกพล่านไปด้วยคนที่แตกต่างกันทางความเชื่อ และความคิด ทักษะการสื่อสารที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่เราพูดเป็นสิ่งสำคัญมาก ในบทความนี้ UNLOCKMEN มีคำแนะนำที่จะช่วยทุกคนในเรื่องนี้ได้


ทำไมเราถึงอยากให้คนอื่นเข้าใจเรา ?

Abraham Maslow

ว่ากันว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อเอาตัวรอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เราออกล่าสัตว์ – หาอาหารกันเป็นกลุ่ม เราค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน เราสร้างสังคมที่มีคนจำนวนมากอยู่ร่วมกัน จนถึงตอนนี้เราก็ไม่ได้ละทิ้งความเป็นสัตว์สังคมไป เราต้องพึ่งพาร้านข้าวแกงที่อยู่ปากซอยหน้าบ้าน เรายังต้องพึ่งพาขนส่งมวลชนเพื่อเดินทางมาทำงาน เรายังต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานของเรา เรายังต้องพึ่งพาการสนับสนุนต่างๆ จากคนในครอบครัว

เราเลยต้องมีสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเอาชีวิตรอด และเป็นธรรมชาติที่เราจะต้องการอยู่ในสังคมอยู่เสมอ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) นักจิตวิทยา ได้แบ่งความต้องของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น ตามทฤษฎี ‘hierarchy of needs’ ได้แก่

  • ความต้องการทางกายภาพ (physiological need) เป็นปัจจัยที่มนุษย์ต้องการเป็นอย่างแรก และทำให้ชีวิตของมนุษย์ดำเนินต่อไปได้ หรือ สะดวกสบายมากขึ้น เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
  • ความต้องการความปลอดภัย (safety need) เป็นความต้องการลำดับที่ 2 เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงในชีวิต เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราจะกังวล และรู้สึกว่าชีวิตไม่ราบรื่น
  • ความต้องการทางสังคม (social belonging need) เมื่อความต้องการทางกายภาพได้รับการตอบสนอง และเรามีความปลอดภัยในชีวิตแล้ว สิ่งที่เราต้องในลำดับต่อมา คือ การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
  • ความต้องการมีคุณค่า (self-esteem need) มีสังคมอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องการการยอมรับจากคนในสังคมด้วย เช่น เกียรติยศ ชื่อเสียง ฯบฯ เพื่อให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีตัวตนอยู่ในสังคม และจะทำให้เรามีพรรคพวกมากขึ้นด้วย
  • ความต้องการสูงสุด (self-actualization need) เมื่อมนุษย์ เต็มไปด้วยความต้องการและความปราถนาในเรื่องต่างๆ การทำให้ความปราถนาและความต้องการทั้งหมดที่สามารถเป็นจริงได้ เป็นจริงได้ ถือเป็นความต้องการที่อยู่ในขั้นนี้ และการบรรลุความต้องการในขั้นนี้จะทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์แบบ

ทำอย่างไรคนอื่นถึงจะเข้าใจเรา ?

เราคงรู้สึกหงุดหงิด เวลาที่คนไม่ฟังเรา หรือ ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูด บางคนเฟลไปเลยก็มี ทักษะการสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจเรา และรับฟังเรา จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญเพื่อให้ชีวิตมีความสุข เราจะพูดต่อไปว่ามันมีหลักการอะไรบ้าง

ก่อนอื่นเลย เราต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่า เราไม่สามารถควบคุมมุมมอง หรือ การกระทำของคนอื่นได้ และคนเรามักจะไม่รับฟังคนที่พยายามควบคุมเราเสมอ เหมือนที่เคยได้ยินกันมาว่า “ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ” เมื่อเรายอมรับได้แล้ว เราก็ต้องพร้อมเปิดใจรับฟังคนอื่น เพราะถ้าอีกฝ่ายรู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขาเหมือนกัน มันก็ยากที่เขาจะเริ่มเข้าใจเรา เราเลยต้องมั่นใจก่อนว่าเราเข้าใจดีแล้ว

ทักษะที่สำคัญต่อการเข้าใจคนอื่น คือ การฟัง เราต้องเข้าใจก่อนว่าการเป็นผู้ฟังที่ดี ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง การเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ใช่แค่เงียบขรึมตลอดเวลาที่คนอื่นพูด แต่รวมไปถึง การมี eye-contact กับผู้พูด ประมวลสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างตั้งใจ และตอบโต้ในเวลาที่เหมาะสม

ข้อควรระวังในการตอบโต้กับคนอื่น คือ เวลาเราฟังคนอื่นพูด เราจะรู้สึกอยากพูดแทรกอยู่เสมอ เมื่อรู้สึกเช่นนั้น เราอยากให้ทุกคนอดทนไว้ก่อน และ ไม่พูดเรื่องที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คนอื่นพูด เพราะจะส่งผลเสียต่อบทสนทนาและความรู้สึกของคู่สนทนา ลองถามต่อจากสิ่งที่คนอื่นพูด แสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คนอื่นพูด เพื่อแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่า เราพยายามเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดจริงๆ

ต่อมาก็ต้องรู้วิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง เรื่องนี้เราอยากแนะนำว่า เวลาจะพูดอะไร อย่าใส่น้ำ หรือ สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราพูดมากเกินไป เพราะเราคงไม่อยากฟังอะไรนานๆ แต่ได้ประโยชน์ไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป เราควรพูดให้ตรงประเด็น และสั้นกระฉับมากที่สุด เพื่อให้คนอื่นใช้เวลาในการฟังน้อยที่สุด และจะทำให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งเราพูดมากขึ้น และง่ายขึ้นด้วย

แต่การสื่อสารด้วยคำพูดอย่างเดียวคงไม่พอ ภาษากายก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะบางอย่าง เช่น การกอดอก หรือ การเอามือล้วงกระเป๋า อาจทำให้อีกฝ่ายมองว่า เราไม่รับฟังเขา หรือ ไม่น่าไว้ใจได้ และส่งผลให้พวกเขาไม่รับฟังเราได้ เราเลยอยากแนะนำว่า พยายามผ่อนคลายร่างกาย และเปิดตัวให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นมากที่สุด จะช่วยให้คนอื่นรับรู้เราอย่างถูกต้องมากขึ้น

สุดท้าย เราอยากให้ทุกคนระลึกไว้เสมอว่า เราทำให้ทุกคนเข้าใจเราไม่ได้ แต่เราทำให้ทุคนอยากฟังและเข้าใจเราได้ ลองนำคำแนะนำข้างต้นไปปรับใช้ตามสไตล์ของเราดู แล้วลองดูว่าเวิร์กหรือไม่เวิร์กอย่างไร


Appendixs: 1 / 2 / 3

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line