DESIGN

“ผมเคยกลัวแต่ตอนนี้ผมสู้”คุยกับ HEADACHE STENCIL ศิลปินผู้ท้าชนอำนาจเผด็จการด้วยศิลปะ

By: PSYCAT June 28, 2018

“สำหรับประชาชนทุกคนที่ถูกรัฐบาลรังควาน ผมว่า เฮ้ย! คุณต้องสู้ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณกลัว เขาจะยิ่งไล่ต้อนคุณไปเรื่อย ๆ ” ประโยคนี้จาก Headache Stencil ทำให้เรานิ่งคิด ถ้าเราเป็นประชาชนแต่ถูกรัฐบาลรังควานไม่ว่าจะในรูปแบบของการมาข่มขู่ตรง ๆ หรือภายใต้รูปแบบการบริหารงานที่ตรวจสอบไม่ได้ ทำไมเราต้องนิ่งเฉยล่ะ ? ทำไมเราต้องปล่อยให้เขาทำอะไรกับประเทศเราก็ได้ล่ะ ?

แน่นอนว่ามีคนที่เลือกนิ่งเฉย แต่ก็แน่นอนว่ามีคนที่ไม่กลัว มีคนที่ไม่ยอมถูกไล่ต้อนและลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม หนึ่งในคนที่กล้าลุกมาปะทะกับรัฐบาลทหารคราวนี้ต้องมีชื่อของ Headache Stencil อยู่ด้วยแน่นอน

Headache Stencil อาจเป็นชื่อที่บางคนรู้จักเป็นอย่างดี แต่ก็อาจเป็นชื่อที่บางคนเกาหัวแกรก ๆ แล้วถามว่า “ใครวะ?” แต่ถ้า UNLOCKMEN แปะผลงาน Political Art ฝีมือเขาให้ดู เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องร้องอ๋อแน่นอน เพราะผลงานเขาที่แผลงฤทธิ์ด้วยการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองได้แบบดุเดือดชนิดที่เป็นคนไม่สนใจการเมืองก็ต้องเคยเห็นเพื่อนแชร์งานเขาผ่านตามาแน่ ๆ

ถ้าจะให้พูดแบบสั้น ๆ Headache Stencil คือศิลปินสตรีทอาร์ตที่ทำงาน Political Art เพื่อตั้งคำถามกับความไม่ปกติในสังคม แต่ถ้าจะเอาฉบับจุใจ เราก็ชวนคุณมาเสพความคิดของเขาผ่านการพูดคุยครั้งนี้ไปด้วยกัน แต่ถ้าอ่านจบแล้วมันปลุกพลังบางอย่างในตัวคุณให้เดือดพล่านจนดับไม่ลง วันเสาร์นี้ (30 มิถุนายน 2561) เขาจะมีงานแสดงศิลปะแบบเดือด ๆ ท้าชนอำนาจสารพัดรูปแบบให้คุณไปตามเสพ แต่ที่ไหน ยังไง ขอให้ไปกดไลก์เพจ Headache Stencil  ได้เลย เดือดไม่เดือด แต่เขาก็แค่บอกเราว่าอย่างแย่ที่สุดก็คือ “คงมีคนมาบุกปิดตั้งแต่วันแรกครับ”

แม้งานแสดงศิลปะครั้งนี้จะดูหวือหวา และหนักแน่นไปด้วยการท้าชน แต่ชีวิตการทำงานของ Headache Stencil เริ่มต้นแบบคนทั่วไป แม้จะจบการศึกษาด้านศิลปะมา แต่เขาก็เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนี่ง กระทั่งเจอจุดพลิกผันที่ให้เขากลับมาทำงานศิลปะในช่วงหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557

จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 4 ปึแล้วที่เขาเดินหน้าสร้างงานศิลปะเพื่อส่งข้อความบางอย่างออกไปสื่อสารกับผู้คน แต่ทำไมต้องพูดเรื่องการเมือง เรื่องอื่นไม่มีให้พูดเหรอ ? อะไรคือจุดเริ่มต้นของการทำ Political Art ของเขากันแน่ ? UNLOCKMEN เชื่อว่าไม่ได้มีแค่ UNLOCKMEN ที่สงสัย เราจะมานั่งคุยกับเขาไปพร้อม ๆ กัน

ทุกอย่างเริ่มจาก “การตั้งคำถาม”

จุดเริ่มต้นของงานศิลปะที่ตั้งคำถามกับสังคม เริ่มต้นตั้งแต่เขายังเด็ก เขาเป็นคนชอบติดตามข่าวสารมาตั้งแต่เด็ก ๆ ประกอบการที่พ่อสอนเขาว่าไม่ควรเชื่ออะไรหมดจรดจากด้านเดียว วัฒนธรรมในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์จึงเริ่มงอกเงยขึ้นจากตรงนั้น รวมถึงหน้าข่าวการเมืองที่กินพื้นที่หน้าแรก ๆ ของหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ยิ่งผลักดันให้เขาสนใจเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

“เป็นคนสนใจข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอด ด้วยความที่คุณพ่อเป็นอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน ทำให้เราได้เสพ ได้ซึมซับข่าวมาตั้งแต่เด็ก ๆ เหมือนผมได้เรียนนิเทศศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ๆ มันเลยทำให้เราอ่านข่าวเยอะ พ่อสอนให้เสพข่าวหลาย ๆ หัวเสมอเพราะการที่เราเสพข่าวหัวเดียว มันทำให้เราได้รับข้อมูลฝั่งเดียว”

“คนที่พูดว่า เราอย่ารับข้อมูลฝั่งเดียว ง่ายที่สุดคือต้องอ่านข่าวจากหลาย ๆ หัว หลาย ๆ ฝั่ง แล้วใช้วิจารณญาณในการตัดสินข่าวหรือกรองเอาข้อมูลความจริงที่คิดว่ามันเป็นไปได้โดยไม่คิดเข้าข้างตัวเอง” ยิ่งการทำงานที่ได้คลุกคลีกับข่าว ยิ่งทำให้เขาดิ่งลึกลงไปในสถานการณ์บ้านเมืองอย่างแยกไม่ออก

การเมืองคือเรื่องของทุกคน คุณเกลียดมัน มันก็เดินมาหาคุณ

เราอดชวนคุยไม่ได้ว่าเราแยกการเมืองออกจากชีวิตไม่ได้เลยเหรอ ? “ทองขึ้น น้ำมันขึ้น ภาษีขึ้นลง ค่านั่นค่านี่ขึ้นลง ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการเมืองทั้งนั้นเลยครับ มีคนเยอะมากที่บอกว่า โอ๊ย เบื่อการเมือง ไม่ยุ่งแล้วเรื่องการเมือง แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างรอบตัวคุณมันคือการเมือง คุณไม่ยุ่งไม่ได้หรอก”

“จังหวะที่มีการรัฐประหาร ผมอยู่ทึ่เชียงใหม่ ผมไปพักระหว่างรอเริ่มงานใหม่ ด้วยความที่เชียงใหม่เป็นที่ที่ฝรั่งมาเที่ยวกันเยอะ แล้วผมไปอยู่ตรงโซนท่าแพที่มีแต่ฝรั่ง เราเลยเห็นความเปลี่ยนแปลงชัด ๆ เลยว่าความสบาย ความมีความสุขของคนมันหายไป มันกลายเป็นความตึงเครียดที่มีเจ้าหน้าที่มาเฝ้า คอยบอกให้คนกลับบ้าน บอกให้คนเลิกทำนั่นทำนี่ ผมเลยลุกขึ้นมาทำกราฟฟิตี้รูปท่านผู้นำเล่น ๆ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มแรกเลย” ยิ่งยืนว่าต่อให้คุณไม่ยุ่งกับการเมือง การเมืองก็จะเสนอหน้ามายุ่งกับคุณเองอยู่ดีนั่นแหละ

ศิลปะควรพูดถึงการเมืองได้เป็นปกติ

ศิลปะบางชิ้นทำเพื่อให้คนได้เสพความงดงามของมัน แต่ Headache Stencil ยืนยันหนักแน่นว่าเขาชอบศิลปะที่ได้พูดอะไรบางอย่างกับคน สำหรับเขา Street Art ที่ชัดเจนว่าเป็น Political Art มันจึงตอบโจทย์ความชอบและเมล็ดพันธุ์แห่งการตั้งคำถามต่อชนชั้นปกครองที่เดือดพล่านอยู่ในตัวเขาทึ่สุด

“ผมชอบดูความหมายหรือข้อความที่ส่งออกมาจากงานศิลปะ เมืองนอกเขามีศิลปะแบบนี้เป็นเรื่องปกติมากอยู่แล้ว ในไทยเราอาจพูดว่าเราศิวิไลซ์แล้ว เราก็น่าจะมีศิลปะที่พูดถึงการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงมีปัญหากับศิลปะกัน ?” เขาทิ้งท้ายประโยคไว้ด้วยคำถามที่รัฐบาลเผด็จการคงต้องมีแสบ ๆ คัน ๆ กันบ้าง รวมถึงกระทุ้งให้ประชาชนตาดำ ๆ อย่างเรา ๆ อดตั้งคำถามตามเขาไม่ได้ว่า เออว่ะ ศิลปะที่ว่าด้วยการเมืองนึ่มันทำลายความมั่นคงของชาติได้ขนาดที่บรรดาคนใหญ่คนโตกลัวจริง ๆ หรือ ?

ผู้มีอำนาจอาจจะกลัว หรือไม่พอใจ หรือรู้สึกถูกตั้งคำถาม เราไม่แน่ใจ แต่มันไม่ใช่แค่การสั่งลบงาน แต่สิ่งที่ Headache Stencil เจอคือมีเจ้าหน้าที่ที่ควรปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ มาตามคุกคามเขาถึงที่พัก “ชิ้นที่มีปัญหาที่สุดคือชิ้นนาฬิกาของคุณประวิทย์นั่นแหละครับ จริง ๆ ความหมายที่เราต้องการจะสื่อคือ เฮ้ย เรื่องราวของนาฬิกาคุณมันปลุกสังคม แต่เขาคงเจ็บใจเล็ก ๆ ลึก ๆ หรือเขาคงมองว่าคนมาล้อเลียนหรือมาแซวเขา เขาจึงไม่พอใจ”

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นคือผมโดนเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาบุกที่พักเต็มไปหมด โดยที่ไม่มีหมายอะไรทั้งสิ้น อ้างแค่ว่า ‘นายสั่งมา’”

“สำหรับผมเขาไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่ปกครองบ้านเมืองนี้ด้วยซ้ำ”

ศิลปะกับการเมืองไทย หายไปไหนหมดวะ ?

“ศิลปินแต่ละคนก็มีแนวทางเป็นของตัวเอง มีหลักการในการทำงานของตัวเอง บางคนอาจทำศิลปะเพื่อความสวยงาม บางคนอยากพูดเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ ผมเชื่อว่าทุกคนมีเมสเสจของตัวเองที่อยากสื่อสาร เพียงแค่ผมเลือกที่จะสื่อสารประเด็นการเมือง”

เราอดสงสัยไม่ได้ว่าในไทยมันมีคนที่ทำศิลปะเพื่อพูดเรื่องการเมืองเยอะไหม “ศิลปะก็แตะการเมืองไทยมาตลอดนั่นแหละ ศิลปินรุ่นใหญ่มากมายก็พูดถึงการเมือง” เขายกตัวอย่างช่วงการชุมนุม กปปส. ที่มีศิลปินมากมายที่ออกมาต่อต้านยิ่งลักษณ์ ทักษิน หรือพรรคเพื่อไทย “แต่ตอนนี้พวกเขาหายไปเฉยเลย”

“ไม่รู้ว่าจิตวิญญาณของศิลปินเหล่านั้นที่เคยเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง ที่เคยทำงานศิลปะที่สื่อสารออกมาสู่ประชาชนให้ได้คิด ให้ได้ตั้งคำถาม ไม่รู้ว่าตกลงศิลปินเหล่านั้นแค่เลือกข้างที่จะวิจารณ์ หรือพวกเขาแคร์สังคมจริง ๆ ?”

“ถ้าคุณบอกว่าคุณแคร์สังคม แต่คุณเลือกที่จะหลับตาแล้วทำเป็นไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ คุณก็อย่าไปทำว่าสนใจศิลปะด้านการเมือง อย่ามาอวดอ้างสรรพคุณว่าทำเพื่อสังคมอีกเลย มันน่าอายว่ะ”

แล้วเคยมีคนว่าว่าเราทำให้ศิลปะแปดเปื้อนด้วยเรื่องการเมืองไหม ? เราอยากบอกอะไรกับเขา ? “เรื่องของกู”

ยิ่งระบอบประชาธิปไตยปลอม ๆ เราต้องยิ่งออกมาพูด

บนสนทนาดำเนินมาอย่างดุเดือดจนเราสูดปาก เราก็อดถามต่อไม่ได้ว่าสำหรับเขาแล้วศิลปินมันต้องต่อรอง ต่อสู้กับอำนาจเสมอไปหรอ ? “ผมว่าไม่ใช่แค่ศิลปินหรอก ผมทำศิลปะ ผมถึงเลือกส่งข้อความออกไปในแบบที่ผมถนัด  คุณจะทำอาชีพอะไรก็ได้ สิ่งที่ผมอยากให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ ทึ่สุด คือคนทุกคนควรจะกล้าพูด กล้าตั้งคำถามกับรัฐบาล” สำหรับเขาเรื่องการเมืองจึงไม่ได้ถูกพูดขาดว่าต้องเป็นนัการเมืองเท่านั้นถึงจะพูดเรื่องการเมืองได้ ต้องเป็นปัญญาชนเท่านั้นถึงจะตั้งคำถามกับรัฐบาลได้ หรือต้องเป็นศิลปินเท่านั้นถึงจะสื่ออะไรบางอย่างสู่สังคม แต่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพควรจะกล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับการเมืองที่ตัวเองสงสัย หรือรู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันไม่ปกติแล้วนะโว้ย ไม่ใช่ปล่อยให้ความผิดปกตินั้นดำเนินต่อไป จนเราต่างเข้าใจกันไปเองว่านี่คือเรื่องปกติ

“คุณจะอาชีพอะไรก็ได้ คุณแค่ต้องเลือกวิธีพูดในแบบของคุณ คุณจะขายก๊วยเตี๋ยว คุณจะเป็นนักโฆษณา คุณจะเป็นนักทำหนังหรือนักอะไรก็ได้ ผมว่าคุณมีวิธีพูดของคุณ ถ้าคุณคิดอยู่ในใจแล้วไม่กล้าพูด ผมก็อยากบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่คุณจะพูด เพราะนี่มันนานมากแล้วที่เราต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยปลอม ๆ”

ไม่น่าเชื่อว่าคำว่าประชาธิปไตยปลอม ๆ จากปากเขา ดังก้องอยู่ในหัวเราอีกหลายชั่วโมง

ศิลปะในยุคกลุ่มปล้นอำนาจแบบ Official

“มันไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ แต่ความเปิดกว้างของรัฐบาลนี้มันไม่แฟร์กับสักเรื่องอยู่แล้ว” เขาตอบชัดเมื่อเราถามถึงการทำงานศิลปะในยุครัฐบาลเผด็จการ “จริง ๆ เขาไม่แฟร์ตั้งแต่เรียกตัวเองเป็นรัฐบาลด้วยซ้ำต้องเรียกตัวเองว่ากลุ่มปล้นอำนาจแบบ Official”

“ผมว่ามันน่าอายที่คุณเป็นถึงผู้นำ เป็นถึงชนชั้นปกครองของประเทศ แต่คุณกลับเลือกให้พวกเดียวกับคุณเท่านั้นที่พูดได้ คุณกลับเลือกที่จะฟังแต่สิ่งที่คุณอยากฟังเท่านั้น”

“ผมว่าไม่มีคนไหนที่ออกมาพูดถึงปัญหาของประเทศหรือถึงกลุ่มคนที่ปกครองอยู่ แบบคิดร้ายต่อประเทศหรอก ทุกคนเกิดในประเทศนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะรักประเทศของตัวเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทุกคนมีสิทธิออกมาชี้ว่า เฮ้ย ตรงไหนของประเทศที่มันไม่ดี หรือตรงไหนที่มันเป็นปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่มีคนออกมาชี้ว่าประเทศมีปัญหา แต่ถูกปฏิบัติเหมือนกับว่าเขาเป็นคนสร้างปัญหาให้กับประเทศเสียเอง ผมว่ามันไม่ถูก”

“คนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ คุณควรทำยังไงกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ คุณก็ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นไม่ใช่หรอว่าคุณเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่ผลักคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณไปเป็นปัญหา ยัดข้อกฎหมายให้เขา ซึ่งมันไม่มีทางจบ”

ยิ่งการมาคุกคามเขาเพียงเพราะเขาพ่นรูปนาฬิกา เขายิ่งอยากถามผู้มีอำนาจว่าคุณเลือกบังคับใช้กฎหมายกับคนที่เห็นต่างกับคุณเท่านั้นหรือเปล่า ?

“คุณเอาเจ้าหน้าที่ 13 คนมาบุกคอนโดผมโดยไม่มีหมาย เพียงเพื่อจะจับคนพ่นกราฟฟิตี้ จะมาอ้างว่านายโกรธมาก มันฟังไม่ขึ้น” การพ่นกราฟฟิตี้แล้วเป็นการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ เขายืนยันว่ามีอัตราปรับที่ชัดเจนอยู่ แต่การข่มขู่ว่าจะแจ้งข้อหาพ.ร.บ. คอม เพื่อให้เขากลัวไม่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง “พอถึงเวลาผมมีหลักฐานเป็นรูปเจ้าหน้าที่ที่มาบุกแบบผิดกฎหมาย เขาก็ยอมลดความผิดเหลือเป็นทำลายทรัพย์สินสาธารณะ” ตกลงเรามีกฎหมายไว้สร้างมาตรฐานการอยู่ร่วมกันในสังคม หรือมีกฎหมายไว้กลั่นแกล้งรังแกคนที่เราคิดว่าเขาไม่มีทางสู้กันแน่  เขายืนยันว่าต่อให้เป็น พ.ร.บคอม เขาก็ควรมีสิทธิที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนสิ้นสุด ไม่ใช่ถูกเจ้าหน้าที่มาคุกคามแบบนี้ การทำงานศิลปะ หรือแม้แต่การแสดงออกในยุคของกลุ่มคนที่ปล้นอำนาจมาในสายตาเขามันจึงแสดงออกชัด ๆ ว่าเขาพร้อมฟังแต่คำชม แต่ไม่พร้อมฟังคำวิจารณ์

“คุณเดือดร้อนอะไรนักหนา ถึงต้องส่งคนมาตามล่าผมขนาดนี้ ?”

“ผมเคยกลัวนะ รอบนาฬิกา ผมต้องหนีไปถึงชายแดน” แต่เมื่อเขาตั้งหลักได้ว่าการพ่นกราฟฟิตี้ของเขา แม้จะผิดเรื่องทำลายทรัพย์สินสาธารณะ แต่กฎหมายก็ระบุชัดเรื่องอัตราโทษปรับ เขาไม่ได้ทำอะไรร้ายแรงอย่างที่เจ้าหน้าทึ่พยายามทำให้เขากลัว “สำหรับประชาชนทุกคนที่ถูกรัฐบาลรังควาน ผมว่า เฮ้ย คุณต้องสู้ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณกลัว เขาจะยิ่งไล่ต้อนคุณไปเรื่อย ๆ ”

“ปัญหาคือภายใต้รัฐบาลที่เราอยู่ตอนนี้เป็นรัฐบาลทหาร หลายครั้งมีผลกระทบกลับมามาก มีคนส่งข้อความมาด่าก็เยอะ เสื้อแดงบ้าง รับเงินทักษินบ้าง ผมใช้เวลากับคนเหล่านี้เยอะมากนะครับ ผมไม่ปล่อยให้ใครมาด่า แล้วก็ไป” เราอึ้ง ถามเขาต่อว่านี่ไล่อธิบายกับทุกคนที่มาด่าเลยหรอ? “ใช่” เขาตอบเสียงดังฟังชัด “ถ้าด่าแค่ผม ผมไม่เป็นไร แต่ผมไม่โอเคกับการด่าไปถึงครอบครัวผม ผมต้องอธิบายกับทุกคนที่เข้ามาด่า”

เมื่อเราถามว่าแต่ละชิ้นใช้กระบวนการคิดจนถึงลงมือทำจนเสร็จนานไหม เขาตอบแบบยิ้ม ๆ ว่า “แล้วแต่ความโกรธเลยครับ อย่างงานนาฬิกาผมใช้เวลา 2 ชั่วโมงเอง” เราเลยอดถามต่อไม่ได้ว่าโกรธมากหรอ ทำไมใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง แล้วทำไมถึงโกรธมากขนาดนั้น “มันทุเรศนะครับ มันเหมือนเด็กอนุบาลหลอกเพื่อน ผมไม่ได้โกรธที่ใครจะโกหกนะ แต่ผมโกรธที่เขาดูถูกสติปัญญาคนในประเทศว่าต้องเชื่อข้อมูลชุดนี้ที่เขาให้มา มันเหมือนเขาด่าคนในประเทศว่าโง่ เราจะเรียนหนังสือกันมาทำไมขนาดนี้ ถ้าวันหนึ่งเราต้องโดนชนชั้นปกครองบอกว่านาฬิกายืมเพื่อนมา”

WELCOME TO THE DARK SIDE : งานที่พูดในสิ่งที่คนอยากพูด

หลังจากตระเวณทำงานในหลาย ๆ ที่ครั้งนี้เขาตัดสินใจแสดงงานศิลปะของตัวเองเป็นครั้งแรก โดยมีไอเดียเริ่มต้นว่าหลาย ๆ สิ่งที่คนคิดแต่ไม่กล้าพูดออกมา ถ้ามาที่ WELCOME TO THE DARK SIDE งานศิลปะของเขาจะพูดในสิ่งที่คนอยากพูด “งานเราเป็น Political Art มันอาจมีคนที่คิดคล้าย ๆ เรานะ ถ้าเราทำออกมา แล้วเขามาถ่ายรูป มาแชร์ออกไป ประเด็นมันก็จะถูกส่งต่อออกไป ผมบอกเลยว่าผมก็เดาไม่ได้เลยว่ามันจะถูกส่งต่อออกไปกว้างแค่ไหน”

เราถามเขาต่อว่าเดาสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่จะเกิดกับงาน WELCOME TO THE DARK SIDE ไว้ว่าอย่างไร ? “คงมีคนมาบุกปิดตั้งแต่วันแรกครับ”

“เพราะเรามีประสบการณ์มาแล้ว เมื่อมีศิลปินที่ทำงนเกี่ยวกับการเมือง ล้อการเมือง เขาก็จะมาสั่งให้ปลดงาน หรือให้ปิดงาน”

เพราะไม่รู้จะโดนบุกมาปิดเมื่อไหร่ หรือศิลปะที่แสดงออกไปจะส่งแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างขนาดไหน รวมถึงความกวนส่วนตัวของเขา จึงทำให้ Headache Stencil ตัดสินใจยังไม่เปิดเผยสถานที่จัดงาน WELCOME TO THE DARK SIDE แต่ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้เขาจะส่งข้อความแบบสุ่มหาแฟนเพจตัวเองว่างานจัดที่ไหน ใครอยากสัมผัสความเดือดเรื่องสังคมการเมือง การท้าชน และการท้าทายอำนาจเผด็จการแบบไม่มีถอย ก็ติดตามเขาไว้ให้ดี ศิลปะที่มีรากมาจากความไม่กลัวที่จะตั้งคำถามแบบนี้ UNLOCKMEN เชื่อว่าในประเทศนี้มีไม่กี่คนจริง ๆ

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line